Friday, March 9, 2007

ประสบการณ์ของดีดี

บันทึกทัศนคติและความคิดเห็นจากการออกภาคสนามวิชาสังคมศึกษาระดับชั้นม.๕
ณ ต.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ระหว่างวันที่ ๖-๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐
น.ส.อภิชญา อภิรักษ์โชติศิริ ม.๕/๑ (ดีดี)
การออกภาคสนามครั้งนี้เป็นระยะที่สั้นที่สุดที่เคยไป(ที่อยู่ร.ร.รุ่งอรุณ) แต่เป็นภาคสนามที่เหนื่อยที่สุดที่เคยไป โดยส่วนตัวแล้วเพราะเลือกที่จะทำงานหนัก จึงต้องใช้แรงมากหน่อย แต่ก็เป็นประสบการณ์ที่ดีเพราะในชีวิตประจำวันแล้วคงไม่มีโอกาสมาทำเช่นนี้
การทำงานก่อสร้างอาคารนั้นใช่ว่าจะได้แค่ความสนุกสนาน แต่ได้รับรู้ความรู้สึกของคนงานก่อสร้าง ความเหนื่อยล้าจากการทำงานแค่ ๓วันนี้ก็ทำให้ร่างกายอ่อนเพลียจนถึงเป็นไข้ได้ ณ ตอนนี้เทียบกับพวกกรรมกรนั้นคงไม่ได้เพราะคงเกินกว่าคำบรรยายว่าลำบากลำบนแค่ไหน และไม่สามารถเลือกอาชีพที่ดีกว่าได้ เพราะเกิดมาในสถานะที่มีโอกาสและทางเลือกน้อย ที่อยู่และบุตรหลานต้องย้ายที่ไปที่ต่างๆ เพื่อรับจ้างก่อสร้าง ย้ายโรงเรียนบ่อย ซึ่งไม่มีหลักประกัน และการศึกษาที่ไม่ต่อเนื่อง (ปัจจุบันแต่ละโรงเรียนสอนไม่เหมือนกัน)
พูดถึงการศึกษาที่ไร้จุดประสงค์ หรือเรียกว่าไร้สาระ หรือมีสาระน้อยนิดสำหรับอนาคตต่อไปของเยาวชน ซึ่งหมายความว่า เรียนไปทำไม ไม่ได้เอาไปใช้เลย ใช้เพียงมันสมองแค่ระยะสั้น เพื่อเรียนให้ได้ปริญญาซึ่งเอาไปสมัครงานทำเท่านั้นชีวิต แต่ก็จริงเพราะคนเรา ณ ปัจจุบันนั้นวงจรก็เป็นเช่นนี้ เพราะสังคมกำหนดให้เป็นไป เกิด เรียน เอ็นทรานซ์ ทำงาน หาเงิน เก็บเงิน มีครอบครัว มีลูก และ ทำงานๆๆๆๆ เพื่อหา “เงิน”
สำหรับลักษณะของชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่อยู่ในฐานะยากจน ซึ่งใช้แรงงานหาเงินจำพวกรับจ้างในโรงงานอิฐ ที่พบเห็นได้จากลูกสาว ลูกชายของคุณยายแร ทำงานรับจ้างที่นั่นด้วย เป็นการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เห็นได้ชัด โดยพื้นฐานเดิมอาชีพของชาวบ้าน ทำนา ปลูกข้าว แต่ปัจจุบันแม้แต่ที่นาสักผืนยังไม่มี บางคนรักที่จะขยัน สู้ชีวิต ก็ทำงานมาก หลายอาชีพ เช้า สาย บ่าย เย็น ค่ำ ทำเกือบทุกอย่าง เช่นคุณยายฟักที่ท่านได้เล่าเรื่องตอนที่ลูกชายท่านอยู่ว่าทำงานแทบทุกอย่าง ตั้งแต่เด็กไม่เคยขอเงินแม่เกินบาทหนึ่ง เพราะจะทำงานหาเงินเอง มื่อโตมาก็เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงให้ครอบครัว ด้วยความขยันนี้ทำให้มีเงินบ้าง คุณยายฟักคือคุณยายที่ลำบากมาก่อน และลูกชายที่ว่ามานี้ ได้เสียชีวิตไปเมื่อ ๓ปีที่แล้ว ซึ่งข้าพเจ้าได้มีโอกาสไปเยี่ยมคุณยาย ตอนนี้คุณยาอยู่กับลูกชายอีกคนที่เป็นโปลิโอ ดูเหมือนคุณยายไม่ต้องการอะไรในชีวิตนี้แล้ว “มีก็กิน ไม่มีก็ไม่กิน” แต่ถึงกระนั้นชีวิตก็ต้องดำเนินต่อไป เพราะถึงแม้คุณยายจะไม่จำเป็นต้องใช้เงิน แต่ลูกชายของคุณยายก็ต้องใช้ แม้จะมีเงินจากค่ากวาดขยะในตลาดจากลูกสาว แต่คงไม่พอกับค่าใช้จ่ายเมื่อต้องเข้าโรงพยาบาลครั้งหนึ่งๆ
ความเป็นทุนนิยม หรือ ความไม่เท่าเทียมกัน เกิดขึ้นในสังคมนี้ และทุกๆ สังคม เช่น แค่เงินซ่อมบ้านจากน้ำท่วม หรือเพียงแค่สร้างบันไดขึ้นบ้านใหม่ของชาวบ้านก็ไม่มี เทียบกับรถเก๋งของอ.บ.ต.นั้น เทียบกันไม่ติด หมายความว่า ความเหลื่อมล้ำในสังคมมีมากจน ไม่มีความยุติธรรมในโลก โลกสำหรับกรรมกรยังไม่มี
คุณยายเล่าว่าตอนไปรักษาตัวที่ร.พ. ตอนที่ผ่าตัดนิ่ว คุณยายต้องโกหกพยาบาล บอกว่าไม่มีบัตรประกันสุขภาพเพื่อจะได้รับการรักษาที่ดีขึ้น หากมีบัตรจะไม่ได้ผ่าตัด สุดท้ายเมื่อรักษาเสร็จจึงค่อยบอกและยื่นบัตรไปเสียเงินเพียง ๒๕ บาทเท่านั้น
สิ่งที่ผ่านเข้ามาทำให้เรารู้ว่า ความจริงไม่ใช่แค่ความฟุ้งเฟ้ออย่างเดียว แต่สิ่งที่ชาวบ้านเผชิญคือ วังวนของความยากจน และสิ่งล่อใจให้นำไปสู่ทางตันของความจน “เราจะช่วยอะไรได้บ้าง” “คอมมิวนิสต์หรือ”
ในความคิดส่วนตัวคือยังไม่กล้าการันตี หรือแม้จะเลือกวิธีการของคอมมิวนิสต์ เพราะบทเรียนที่ได้รับรู้จากประวัติศาสตร์ คือ การที่นำหลักการไปใช้แบบผิดๆ ทำให้คนล้มตายไปไม่น้อย
สิ่งที่ทำได้ตอนนี้ คือที่เราเข้าไปช่วยเขาอย่างนี้ แม้เราจะเป็นลูกนายทุนแต่ก็ประสงค์จะแบ่งปันแก่ผู้อื่นบ้าง

จิตอาสากับการเรียนรู้ของนักเรียน

จิตอาสากับการเรียนรู้ของนักเรียน
สุรพล ธรรมร่มดี

ในการเรียนการสอนสังคมศึกษา นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่๕ช่วงสองเทอมที่ผ่านมา ผมพบว่าแม้ว่านักเรียนจะได้เรียนรู้ถึงปัญหาสังคมอันเกิดขึ้นจากระบบสังคมที่มีความไม่เท่าเทียมในการแบ่งปันผลผลิต การเอารัดเอาเปรียบในการใช้แรงงานคนชั้นล่าง การรุกรานล่าอาณานิคมและสงครามโลกเพื่อสนองการเติบโตของระบบทุนนิยม ทว่าประสบการณ์เหล่านี้ยังไม่อาจนำพานักเรียนไปถึงคุณค่าของการเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยแก้ไขปัญหาสังคมได้ เพราะประสบการณ์เหล่านั้นยังเป็นสิ่งที่นักเรียนได้เรียนทางอ้อมผ่านการอ่าน การฟัง และการแลกเปลี่ยนในห้องเรียน จึงมีผลที่จะเปลี่ยนความเคยชินในการคิด และการกระทำประจำวันของนักเรียนได้น้อย
ทางออกทางหนึ่งต่อปัญหาดังกล่าวคือ ต้องนำพานักเรียนไปมีประสบการณ์ตรงในการสัมผัสกับปัญหาสังคมและได้เห็นบทบาทของตนต่อปัญหาดังกล่าว เมื่อนักเรียนมีประสบการณ์นี้แล้ว การเชื่อมโยงประสบการณ์ดังกล่าวไปสู่การตระหนักถึงปัญหาสังคมตามที่ได้เรียนมาก็ดี การทำความเข้าใจถึงสาเหตุของปัญหาก็ดี การคิดถึงทางออกต่อปัญหาสังคมนั้นโดยมีบทบาทของตนร่วมอยู่ด้วยก็ดี จึงเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การคลี่คลายจากประสบการณ์ไปสู่ความรับรู้ จากความรับรู้ไปสู่ความเข้าใจ จากความเข้าใจไปสู่คุณค่า และจากคุณค่าไปสู่การตกลงปลงใจปฏิบัติการในทางใดทางหนึ่ง เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ต้องอาศัยประสบการณ์เป็นปฐมฐาน ยิ่งเป็นประสบการณ์ตรงด้วยแล้ว ยิ่งเกิดความรู้ในเนื้อในตัวของนักเรียน(Tacit Knowledge) มากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้เองกิจกรรมที่ทำให้นักเรียนมีประสบการณ์ตรงจึงสำคัญอย่างมากในการเร้ากุศลให้นักเรียนสนใจใคร่รู้ และรักในคุณค่าที่ได้รับ
ด้วยการตระหนักถึงสิ่งนี้ ผมจึงวางแผนการสอนโดยจัดให้มีกิจกรรมที่นักเรียนได้มีโอกาสออกภาคสนามจิตอาสาช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาระหว่างวันที่ 6 – 8 กุมภาพันธ์ 2550
ในช่วงเวลาดังกล่าว นักเรียนทุกคนร่วมงานได้ดีโดยอาสาเข้าทำงานอย่างต่อเนื่อง เช่น ช่วงเช้าระหว่างรอทีมงานจากโรงเรียนเดินทางมา นักเรียนริเริ่มช่วยทำความสะอาดวัดอย่างแข็งขันที่บริเวณพระอุโบสถที่เต็มไปด้วยขี้นกพิราบ หรือช่วยกันล้างส้วมของวัดทั้ง10ห้องหลังจากที่ได้ใช้ตลอดช่วงที่ใช้วัดเป็นที่พัก จากนั้นจึงแบ่งหน้าที่กันไปช่วยงานซ่อมบ้าน ทำความสะอาดบ้านของชาวบ้าน ทำครัวเลี้ยงทีมงานทั้งหมด พาผู้ป่วยไปโรงพยาบาล เป็นต้น ทุกคนริเริ่มร่วมลงแรงอย่างเต็มที่และน่าประทับใจอย่างมาก
นอกจากนี้ในช่วงเช้าและหัวค่ำของทุกวัน นักเรียนยังได้ทำกิจวัตรเพื่อเรียนรู้ธรรมะผ่านการทำวัตรเช้าและเย็นทุกวัน โดยเป็นการสวดมนต์แปลซึ่งช่วยให้นักเรียนเข้าใจความหมาย และฝึกความอดทน ทั้งนี้พระอาจารย์ที่เป็นเจ้าอาวาสได้เมตตากรุณานำสวดและสนทนาธรรมทุกครั้ง
นักเรียนยังได้เรียนรู้มุมมองทางสังคมโดยผ่านการแลกเปลี่ยนสรุปงานก่อนนอนทุกวัน ประเด็นที่น่าสนใจและช่วงเปิดมุมมองได้แก่ ประเด็นคำถามที่ว่า ทำอย่างไรให้การช่วยเหลือของเรามีความยั่งยืน คือชาวบ้านสานต่อได้เช่น การช่วยทำความสะอาดบ้าน จะมีส่วนให้คนในครอบครัวของพวกเขาดูแลรักษาความสะอาดต่อไปได้อย่างไร เพราะบางครอบครัวก็ขาดหัวหน้าครอบครัว อยู่กันเพียงลุงกับหลานเล็กๆเช่นครอบครัวของเจมส์และกลิ้ง นักเรียนหลายคนร่วมอภิปรายปัญหานี้อย่างตั้งใจด้วยใจที่อยากให้ดอกผลของการช่วยเหลือยังคงชูช่อต่อยอดต่อไปอีก บางคนเสนอให้ไปแนะนำให้คุณครูของเจมส์กับกลิ้งคอยสั่งสอนและดูแลให้เด็กสองคนนี้ฝึกทำงานบ้านดูแลรักษาความสะอาด เป็นต้น
นอกจากนี้นักเรียนยังเรียนรู้ถึงปัญหาสังคมของชาวบ้านอีกด้วย อาทิ การพบว่าชาวบ้านที่ยากจนที่พวกเขาไปช่วยเหลือนั้นไม่ใช่ชาวนา แต่เป็นกรรมกรที่รับจ้างใช้แรงงาน เช่น ลูกคุณยายแรห์ทำงานในโรงทำอิฐ บางคนไปทำงานกวาดถนนที่ตลาดไท บางคนเป็นคนงานโรงงานทำรองเท้า เป็นต้น พวกเขาไม่มีที่นาเป็นของตนเอง ต้องเช่าที่วัดปลูกบ้านอาศัย และทำงานเช้าจรดค่ำ ได้ค่าจ้างไม่เพียงพอที่จะดูแลรักษาผู้ป่วยในบ้าน
นอกจากนี้ นักเรียนยังระบุปัญหาตามที่พวกเขาได้รับฟังจากชาวบ้าน เช่น มอสเล่าเรื่องราวของคุณยายแรห์สะท้อนถึงความยากจนที่ไม่สามารถมีเงินรักษาตาที่เป็นโรคต้อได้ทันท่วงที ทำให้ดวงตาข้างขวาใกล้จะบอดสนิทแล้ว ในขณะที่นักเรียนทั้งหมดได้รับฟังจากนายกอบต.ว่า ในเรื่องการช่วยเหลือชาวบ้านนั้น อบต.เองติดขัดระเบียบกฎเกณฑ์ของอบต.เอง ทำให้ไม่สามารถขยับลงมาช่วยเหลือได้อย่างเต็มที่ สิ่งเหล่านี้กระตุ้นให้นักเรียนตระหนักถึงปัญหาความเท่าเทียมทางสังคม และวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของภาครัฐ เป็นต้น
ประสบการณ์ที่ดีเหล่านี้ได้ช่วยปรับท่าทีการเรียนของนักเรียน กล่าวคือ เมื่อครูนำปัญหาความไม่เท่าเทียม และความเดือดร้อนของชาวบ้านมาเป็นประเด็นอภิปรายเข้ากับเนื้อหาการสอน นักเรียนสามารถเข้าร่วมอภิปรายได้อย่างกว้างขาง โดยระบุตัวอย่างที่สอดคล้องกับประเด็นความเห็นของตนได้ ยิ่งไปกว่านั้น ในกระบวนการแลกเปลี่ยน นักเรียนยังจะได้ค้นพบตนเองว่า ในขณะที่ตนเห็นด้วยกับหลักการเสรีภาพ เสมอภาคและภารดรภาพ แต่กลับเห็นว่า คนงานพม่าในกิจการของตนได้รับค่าจ้าง สวัสดิการ และเสรีภาพต่างๆดีแล้ว หรือบางคนอาจไม่เห็นด้วยหากคนงานพม่าลุกขึ้นมาเรียกร้องให้พวกเขาได้รับค่าจ้างขั้นต่ำเท่าเทียมกับคนงานไทย ด้วยเหตุผลว่าพวกเขาเป็นชาติพม่าไม่ใช่ชาติไทย เป็นต้น
ด้วยกระบวนการแลกเปลี่ยนเช่นนี้ ได้ทำให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้และทำความเข้าใจจากประสบการณ์ของตน จากนั้นเมื่อได้เทียบเคียงเหตุผลที่แลกเปลี่ยนกัน และได้ไตร่ตรองย้อนคิดมากขึ้น นักเรียนบางคนจะเกิดแง่มุมในใจ แง่มุมนี้แหละที่จะกระตุ้นให้พวกเขาเกิดความสนใจที่จะเรียนรู้เพิ่มเติม เช่น มะตูม มอส อาร์ต ภูมิ ธันว์ มักจะมาขอแลกเปลี่ยนกับครูเสมอๆแม้นอกเวลาเรียน เป็นต้น อาการความสนใจนี้ทำให้พวกเขาพาตัวเองไปเรียนโดยไม่ต้องรอการบอกกล่าวหรือจัดการจากครู ตรงกันข้าม เริ่มรู้จักพึ่งตนเองได้ และคิดถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้เพิ่มว่ามีความหมายกับตัวของพวกเขาอย่างยิ่ง
สำหรับสังคมศึกษาแล้ว จิตอาสาจึงเป็นประสบการณ์ที่ขาดเสียมิได้ในการเรียนการสอน กิจกรรมช่วยเหลือไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ล้วนเป็นห้องเรียนแบบใหม่ที่ไม่มีฝาห้องสี่เหลี่ยมมากางกั้น และไม่มีครูมาคอยเป็นผู้บอกกล่าวให้เชื่อตามแล้วรอการทดสอบความรู้ตามที่ถูกบอกมาจากครู ตรงกันข้าม มันคือกิจกรรมการเรียนรู้สังคมจากชุมชนด้วยการลงมือทำการช่วยเหลือจากแรงกายและแรงใจของตนเอง ดอกผลของสิ่งนี้คือ ประสบการณ์ที่จะนำไปสู่การต่อยอดเป็นความเข้าใจ และคุณค่าต่อไป คุณค่าที่สั่งสมในตัวนักเรียนนี้เองที่จะเป็นบ่อเกิดแห่งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและท่าทีในการเรียนรู้และใช้ชีวิตของตนในท้ายที่สุด
ดังนั้น จึงคงไม่เป็นการกล่าวที่เกินเลยว่า ถ้าขาดจิตอาสา มานุษย์และสังคมศึกษาย่อมไม่อาจเป็นเบ้าหลอมที่ดีได้