บันทึกทัศนคติและความคิดเห็นจากการออกภาคสนามวิชาสังคมศึกษาระดับชั้นม.๕
ณ ต.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ระหว่างวันที่ ๖-๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐
น.ส.อภิชญา อภิรักษ์โชติศิริ ม.๕/๑ (ดีดี)
การออกภาคสนามครั้งนี้เป็นระยะที่สั้นที่สุดที่เคยไป(ที่อยู่ร.ร.รุ่งอรุณ) แต่เป็นภาคสนามที่เหนื่อยที่สุดที่เคยไป โดยส่วนตัวแล้วเพราะเลือกที่จะทำงานหนัก จึงต้องใช้แรงมากหน่อย แต่ก็เป็นประสบการณ์ที่ดีเพราะในชีวิตประจำวันแล้วคงไม่มีโอกาสมาทำเช่นนี้
การทำงานก่อสร้างอาคารนั้นใช่ว่าจะได้แค่ความสนุกสนาน แต่ได้รับรู้ความรู้สึกของคนงานก่อสร้าง ความเหนื่อยล้าจากการทำงานแค่ ๓วันนี้ก็ทำให้ร่างกายอ่อนเพลียจนถึงเป็นไข้ได้ ณ ตอนนี้เทียบกับพวกกรรมกรนั้นคงไม่ได้เพราะคงเกินกว่าคำบรรยายว่าลำบากลำบนแค่ไหน และไม่สามารถเลือกอาชีพที่ดีกว่าได้ เพราะเกิดมาในสถานะที่มีโอกาสและทางเลือกน้อย ที่อยู่และบุตรหลานต้องย้ายที่ไปที่ต่างๆ เพื่อรับจ้างก่อสร้าง ย้ายโรงเรียนบ่อย ซึ่งไม่มีหลักประกัน และการศึกษาที่ไม่ต่อเนื่อง (ปัจจุบันแต่ละโรงเรียนสอนไม่เหมือนกัน)
พูดถึงการศึกษาที่ไร้จุดประสงค์ หรือเรียกว่าไร้สาระ หรือมีสาระน้อยนิดสำหรับอนาคตต่อไปของเยาวชน ซึ่งหมายความว่า เรียนไปทำไม ไม่ได้เอาไปใช้เลย ใช้เพียงมันสมองแค่ระยะสั้น เพื่อเรียนให้ได้ปริญญาซึ่งเอาไปสมัครงานทำเท่านั้นชีวิต แต่ก็จริงเพราะคนเรา ณ ปัจจุบันนั้นวงจรก็เป็นเช่นนี้ เพราะสังคมกำหนดให้เป็นไป เกิด เรียน เอ็นทรานซ์ ทำงาน หาเงิน เก็บเงิน มีครอบครัว มีลูก และ ทำงานๆๆๆๆ เพื่อหา “เงิน”
สำหรับลักษณะของชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่อยู่ในฐานะยากจน ซึ่งใช้แรงงานหาเงินจำพวกรับจ้างในโรงงานอิฐ ที่พบเห็นได้จากลูกสาว ลูกชายของคุณยายแร ทำงานรับจ้างที่นั่นด้วย เป็นการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เห็นได้ชัด โดยพื้นฐานเดิมอาชีพของชาวบ้าน ทำนา ปลูกข้าว แต่ปัจจุบันแม้แต่ที่นาสักผืนยังไม่มี บางคนรักที่จะขยัน สู้ชีวิต ก็ทำงานมาก หลายอาชีพ เช้า สาย บ่าย เย็น ค่ำ ทำเกือบทุกอย่าง เช่นคุณยายฟักที่ท่านได้เล่าเรื่องตอนที่ลูกชายท่านอยู่ว่าทำงานแทบทุกอย่าง ตั้งแต่เด็กไม่เคยขอเงินแม่เกินบาทหนึ่ง เพราะจะทำงานหาเงินเอง มื่อโตมาก็เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงให้ครอบครัว ด้วยความขยันนี้ทำให้มีเงินบ้าง คุณยายฟักคือคุณยายที่ลำบากมาก่อน และลูกชายที่ว่ามานี้ ได้เสียชีวิตไปเมื่อ ๓ปีที่แล้ว ซึ่งข้าพเจ้าได้มีโอกาสไปเยี่ยมคุณยาย ตอนนี้คุณยาอยู่กับลูกชายอีกคนที่เป็นโปลิโอ ดูเหมือนคุณยายไม่ต้องการอะไรในชีวิตนี้แล้ว “มีก็กิน ไม่มีก็ไม่กิน” แต่ถึงกระนั้นชีวิตก็ต้องดำเนินต่อไป เพราะถึงแม้คุณยายจะไม่จำเป็นต้องใช้เงิน แต่ลูกชายของคุณยายก็ต้องใช้ แม้จะมีเงินจากค่ากวาดขยะในตลาดจากลูกสาว แต่คงไม่พอกับค่าใช้จ่ายเมื่อต้องเข้าโรงพยาบาลครั้งหนึ่งๆ
ความเป็นทุนนิยม หรือ ความไม่เท่าเทียมกัน เกิดขึ้นในสังคมนี้ และทุกๆ สังคม เช่น แค่เงินซ่อมบ้านจากน้ำท่วม หรือเพียงแค่สร้างบันไดขึ้นบ้านใหม่ของชาวบ้านก็ไม่มี เทียบกับรถเก๋งของอ.บ.ต.นั้น เทียบกันไม่ติด หมายความว่า ความเหลื่อมล้ำในสังคมมีมากจน ไม่มีความยุติธรรมในโลก โลกสำหรับกรรมกรยังไม่มี
คุณยายเล่าว่าตอนไปรักษาตัวที่ร.พ. ตอนที่ผ่าตัดนิ่ว คุณยายต้องโกหกพยาบาล บอกว่าไม่มีบัตรประกันสุขภาพเพื่อจะได้รับการรักษาที่ดีขึ้น หากมีบัตรจะไม่ได้ผ่าตัด สุดท้ายเมื่อรักษาเสร็จจึงค่อยบอกและยื่นบัตรไปเสียเงินเพียง ๒๕ บาทเท่านั้น
สิ่งที่ผ่านเข้ามาทำให้เรารู้ว่า ความจริงไม่ใช่แค่ความฟุ้งเฟ้ออย่างเดียว แต่สิ่งที่ชาวบ้านเผชิญคือ วังวนของความยากจน และสิ่งล่อใจให้นำไปสู่ทางตันของความจน “เราจะช่วยอะไรได้บ้าง” “คอมมิวนิสต์หรือ”
ในความคิดส่วนตัวคือยังไม่กล้าการันตี หรือแม้จะเลือกวิธีการของคอมมิวนิสต์ เพราะบทเรียนที่ได้รับรู้จากประวัติศาสตร์ คือ การที่นำหลักการไปใช้แบบผิดๆ ทำให้คนล้มตายไปไม่น้อย
สิ่งที่ทำได้ตอนนี้ คือที่เราเข้าไปช่วยเขาอย่างนี้ แม้เราจะเป็นลูกนายทุนแต่ก็ประสงค์จะแบ่งปันแก่ผู้อื่นบ้าง
Friday, March 9, 2007
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment