Tuesday, February 27, 2007

ดวงใจที่ไม่มีใครรู้จัก : ครูอดิเรก




ดวงใจที่ไม่มีใครรู้จัก
อดิเรก สมบัติวงค์

ในบุพพัณหสมัยใกล้สางของปลายเหมันตฤดู แสงสุริยาอ่อน ๆ กำลังแผ่ขยายส่องผ่านม่านหมอกใสบริสุทธิ์ผุดผ่อง ความยะเยือกเย็นหนาวในนภากาศกำลังแผ่ซ่านไปทั่วโลกธาตุกำลังสดชื่นระรื่นรมณีย์ยิ่งนัก เมฆหมอกสีขาวราวปุยนุ่นปกคลุมไปทั่วพื้นพสุธาดังทิพยวิมานบนสรวงสวรรค์ หยาดน้ำค้างประดุจน้ำตาของกาลเวลาค่อย ๆ พรมพราวไปทั่วพื้นปฐพี พระพายพัดโชยโปรยประทิ่นกลิ่นสุคันธชาติของมวลบุปผาหอมหวลไปทั่วนภากาศ

ในเหมันตฤดูเช่นนี้ หลายคนคงนึกถึงที่นอนอันอ่อนนุ่มและผ้าห่มหนา ๆ บางคนคงนึกถึงพระสงฆ์องค์เจ้ากำลังออกรับบิณฑบาต บางคนคงนึกถึงการตระเตรียมข้าวปลาอาหารสำหรับใส่บาตรพระสงฆ์ บางคนคงนึกถึงความสับสนวุ่นวายที่กำลังย่างกรายเข้ามาในชีวิต บางคนจะนึกถึงความดีงามที่จะบำเพ็ญเพียรต่อในฐานะที่เกิดเป็นมนุษย์และอยู่ใต้ร่มเงาของพระพุทธศาสนาที่ให้ความสงบร่มเย็น บางคนคงนึกถึงการอ่านหนังสือดีๆ เล่มหนึ่งบนที่นอนอันอ่อนนุ่นละมุนละไมดังคนรู้ใจที่อยู่ใกล้ชิด บางคนคงนึกถึงการนอนคลุมโปรงสบายๆ ดูดดื่มกับความหอมหวานของกลิ่นไอธรรมชาติที่ขจรขจายไปตามสายลมทั่วสารทิศ บางคนคงนึกถึงเสียงดุเหว่าที่เร่าร้องอยู่บนปลายแมกไม้ใหญ่อยู่เจื้อยแจ้วแล้วบินจากไป บางคนนึกถึงปลาทูสักตัวที่มาประทังชีวิตของตนและสัตว์เลี้ยงภายในบ้าน

ขณะที่ทุกคนต่างก็มีวัฏจักรของชีวิตผ่านวนเวียนเข้ามาในแต่ละวัน ได้มีครูกลุ่มหนึ่งที่เรียกตัวเองว่า กลุ่มจิตอาสา ที่ไม่ยอมหยุดนิ่งปล่อยเวลาอันมีค่าให้สูญหายไปดังสายหมอกที่กำลังสูญหายไปกับสายลม แม้ความห่วงหาอาทรในแสงศศิธรอันอ่อนหวานเย็นซาบซ่านเข้าไปในร่างกายและจิตใจมิอาจบั่นทอนความตั้งใจของพวกเขาได้แต่ประการใด พวกเขาได้ตื่นจากภวังค์แห่งการหลับสนิทประหนึ่งวิสัญญีได้อุทิศร่างกาย จิตใจ และเวลา นำพาตนไปฝึกฝนบนงานจิตอาสา ณ อำเภอเสนา อยุธยาเมืองเดิม
ข้าพเจ้าก็เป็นครูหนุ่มผู้หนึ่งที่มีจิตอาสาอยากจะช่วยเหลือผู้อื่นที่มีความลำบากยากแค้นมากกว่าตน อยากให้เขามีความสุขทั้งร่างกายและจิตใจ จึงอาสาร่วมทีมงานไปกับครูผู้เปี่ยมล้นไปด้วยเมตตาธรรมและอาสาทำในครั้งนี้

เช้าวันนั้น ข้าพเจ้าป่วยเป็นไข้หวัดเนื่องจากอากาศเเปรปรวน แต่ด้วยเจตจำนงอันแน่วแน่ ข้าพเจ้าไม่เคยปรวนแปรพ่ายแพ้ให้กับโรคภัยไข้เจ็บที่กำลังเข้ามารังครวนแต่อย่างใด วินาทีนี้ ยาทิฟฟี่คือเพื่อนสนิทมิตรสหายที่รู้ใจข้าพเจ้ามากที่สุด เมื่อทานเข้าไปก็เกิดอาการง่วงซึม แต่เดชะบุญที่เบาะท้ายรถตู้ว่างเปล่าสำหรับให้นอนพักผ่อนในยามนี้ ข้าพเจ้าจึงเอนกายลงบนเบาอ่อนนุ่ม กระเป๋าที่มีสีดำสำหรับใส่เสื้อผ้าไปเปลี่ยนคือหมอนอันวิเศษที่คอยรองรับศีรษะเหมือนคนรู้ใจที่คอยเอาใจใส่อยู่ใกล้ พอรถลงสะพานหรือตกหลุมคลื่นแต่ละครั้งแทบจะกระเด็นขึ้นลอยกระแทกหลังคารถ มาตื่นขึ้นมาอีกทีปรากฏว่ามาถึงเคหสถานของตาสีและยายลิ้มราวกับฝัน

ภาพที่ปรากฏอยู่ข้างหน้าของข้าพเจ้า เป็นภาพของบ้านไม้เก่าๆ มุงด้วยสังกะสีที่ดารดาษไปด้วยสนิมสีน้ำตาลแก่ๆ เป็นบ้านยกพื้นสูง ๒ ชั้น ๒ ห้อง จำนวนเสา ๙ ต้น และมีบันไดหน้าผุพังใช้การไม่ค่อยได้ ส่วนบันไดด้านข้างก็ผุพังเช่นกัน แต่ยังใช้เดินขึ้นลงได้บ้าง มุขหน้าบ้านมีห้องน้ำชำรุดใช้การไม่ได้ ท่อส้วมที่ก่อขึ้นจากพื้นดินไปชั้น ๒ ของบ้านมีรูแตกขนาดใหญ่เหมือนถูกทุบด้วยค้อนปอนด์ ไม้คานของชานหน้าบ้านหักเอนลงมาด้านล่าง ถุนใต้บ้านเต็มไปด้วยถุงพลาสติกทั้งเก่าและใหม่เป็นจำนวนมาก มองขึ้นไปจากใต้ถุนบ้านเห็นช่องไม้ที่เชื่อมต่อกันไม่สนิทและช่องสำหรับขับถ่ายอาจม ซึ่งมีหลักฐานปรากฏอยู่ตรงช่องนั้น กลิ่นอันไร้สุคันธรสของน้ำครำและน้ำมูตรเน่าฟุ้งไปทั่วอาณาบริเวณ




บนบ้านมีร่างของคุณยายและคุณตาอายุราว ๘๐ ปีกำลังนั่งอยู่นิ่ง ๆ คุณยายเอาห่มสีเขียวปกคลุมสรีระร่างกายเอาไว้เพียงเพื่อบรรเทาความหนาวในยามนี้ ก้มหน้าไม่ยอมพูดจากับใคร ช่วยเหลือตนเองไม่ค่อยได้ บางครั้งมีอาการผวาร้องขึ้นมาทันทีทันใด แต่เสียงนั้นก็แสดงให้เห็นถึงความดีใจที่อยากจะพูดกับพวกเรา นัยน์ตาของข้าพเจ้าได้มองไปที่นัยน์ตาของคุณยายคนนั้น จ้องมองด้วยความสงสารประมาณครู่ใหญ่ แววตาที่เปล่งประกายออกมาบอกให้ข้าพเจ้ารู้ว่า เขาดีใจที่พวกเรามาเยี่ยมและช่วยเยียวยาร่างกาย จิตใจ และที่อยู่อาศัยของเขา ประกอบกับรอยยิ้มที่อยากจะบอกอะไรบางอย่างกับพวกเรา

ส่วนคุณตาที่ไม่ค่อยพูดจาปราศรัยกับใครมานานหลายเพลา ลุกเดินไปมาได้ แต่จะอยู่เฉพาะบริเวณหลังบ้านที่กระดานแนบสนิทกันพอเดินได้สะดวก ขณะที่ข้าพเจ้ากวาดสายดูสภาพความเป็นอยู่ภายในบ้านกับหยากไย่ขาวดำผสมกลมกลืนกันเป็นยวงผูกพันกับพัดลมบนหลังคาบ้าน พื้นที่ของห้องบนบ้านเป็นห้องว่างเปล่าไม่มีสมบัติพัสถานอะไร มีเพียงเครื่องโทรทัศน์ขนาด ๒๑ นิ้วที่เปิดอยู่ แต่ไม่มีภาพ มีเพียงเสียงพอเป็นเพื่อนของคุณตาและคุณยายในบรรยากาศที่เหงาๆ เท่านั้น จานข้าวเก่าๆ คลุกด้วยผัดผัก ๑ ใบ มีช้อนส้อม ๑ คู่วางอยู่บนจาน เสมือนหนึ่งว่ามีคนเอามาวางไว้ให้คุณตาคุณยายได้รับประทานกัน ทราบภายหลังว่าข้าวจานนั้นเป็นข้าวที่ลูกๆ ที่อาศัยอยู่บริเวณนั้นนำมาให้พอประทังชีวิต ดูแล้วช่างน่าอเน็จอนาถใจเสียเหลือเกิน

คุณตาและคุณยายมีลูก ๕ คน บ้านของลูกก็อยู่ติดกัน แต่เหตุไฉน เขาจึงไม่ค่อยเอาใจใส่ดูแลแม้กระทั่งพ่อแม่ผู้บังเกิดเกล้าของตน ทั้งๆ ที่ทุกคนก็อยู่บ้านพร้อมหน้าพร้อมตากัน ขยะมูลฝอยและถุงพลาสติกจากโรงงานย่างปลาดุกลานหน้าบ้านของคุณตาคุณยายที่ถมด้วยดิน ราดด้วยปูนซีเมนต์สูงกว่าบ้านประมาณ ๑ เมตร รวมทั้งน้ำล้างปลาและเครื่องในปลาดุกถูกชำระล้างไหลลงมารวมเป็นน้ำครำอยู่ใต้ถุนบ้านของคุณตาคุณยาย แมลงวันนับหมื่นตัวมากินเศษอาหารเป็นภัตตาคารอันโอชะ ในขณะที่กลิ่นเหม็นฟุ้งไปทั่วอาณาบริเวณบ้าน ซึ่งเป็นภาพที่ทุกคนที่อาศัยอยู่บริเวณนั้นคุ้นชินจนกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา

ขณะที่ข้าพเจ้ายืนคิดอยู่นั้น คณะครูผู้เปี่ยมไปด้วยจิตอาสาไม่ได้นิ่งนอนใจกับภาพบรรยากาศเช่นนั้น กลับมองเห็นขยะเป็นอสุภารมณ์ และมองเป็นสุนทรียภาพ รีบคว้าถุงมือพลาสติกสีส้มคนละ ๑ คู่ พร้อมด้วยถุงพลาสติกสีดำที่ตระเตรียมไปคนละใบ แล้วเก็บขยะและถุงพลาสติกใบแล้วใบเล่าก็ไม่มีวันลดลง มีทั้งขยะเปียกและแห้ง จึงหาทางกำจัดขยะเปียกโดยการฝัง เบื้องต้นหาพื้นที่โล่งบนลานข้างบ้านซึ่งต่ำมาก คิดว่าน่าจะขุดง่าย แต่ให้ตายเหอะพอจอบขุดปักลงไปในดิน ๒ – ๓ หน จอบเกิดอาการท้อแท้ยอมจำนนกับดินที่แข็งราวกับหิน ต้องหักงอลงทันใด จึงหาที่ขุดใหม่
จนได้ที่เหมาะน่าจะขุดง่าย เลยปักจอบขุดลงไป แต่ดินก็แข็งไม่แพ้ไปกว่าหลุมแรก พอขุดลงไปได้ ๑ ฟุต ดินที่แข็งก็เปลี่ยนเป็นชั้นทรายเลยขุดง่าย ขุดลงไปราว ๑.๕ เมตร ชั้นน้ำเริ่มซึมออกมาตามหน้าดิน มดงานไม่ยอมหยุดต่างก็ช่วยขุดเอาขยะจากร่องน้ำมาลงหลุมครั้งแล้วครั้งเล่าอย่างสนุกสนาน มีการพูดคุยกันตลกเฮฮาบ้าง บางทีก็ต้องเอามือเก็บถุงพลาสติกจากร่องน้ำครำ

ขณะที่ลูกสาวของเจ้าของบ้านผู้ทิ้งขยะเหล่านี้กลับยืนดูอย่างเพิกเฉยทอดทิ้งธุระไปแบบมิใช่หน้าที่ ลุงทองหล่อซึ่งเป็นช่างจากพื้นที่อำเภอบางบาลมาช่วยงานพวกเราได้ถามข้าพเจ้าว่า “ครูต้องทำขนาดนี้เชียวหรือ” ข้าพเจ้านึกในใจสักพักแล้วตอบไปแบบเร้ากุศลว่า “ เราทำแล้ว เราได้ขัดเกลาใจตน ทำแล้วสบายใจ ก็ควรจะทำ" ทันใดนั้นลุงทองหล่อก็รีบยกมือทั้ง ๒ ข้างพร้อมกับอนุโมทนาสาธุกับกุศลเจตนาของครูทุกท่าน ข้าพเจ้าก็รีบยกมือสาธุกับคุณลุงไปด้วย แล้วต่างคนต่างก็ทำงานต่อไปด้วยความเบิกบาน

ในขณะที่เก็บขยะปฏิกูลอยู่นั้น หยาดเหงื่อก็ไหลออกมาตามรูขุมขนผสมผสานกับน้ำครำที่กระเซ็นมาเกาะตามมือและเท้าแทบแยกแยะไม่ออกว่า อันไหนคือกลิ่นเหงื่อ อันไหนคือกลิ่นน้ำครำ อันไหนคือกลิ่นขยะ รู้เพียงอย่างเดียวว่า บัดนี้ พวกเราได้ถอดเกราะของความเป็นครูมาเป็นเทศกิจผู้พิทักษ์สิ่งแวดล้อมของโลก

ถุงพลาสติกก็ค่อยๆ หายไปในหลุมขนาดใหญ่ บางส่วนที่แห้งก็ถูกบรรจุลงไปในถุงดำประมาณ ๓๐ ถุงใหญ่ และแล้วความสะอาดโล่งเตียนของบริเวณบ้านของคุณตาสีและคุณยายลิ้มก็กลับคืนสู่ความเป็นบ้านอันน่าอยู่อีกครั้งหนึ่ง

แมลงวันที่ตอมขยะเน่าเสียก็ค่อยๆ บินหายไปทีละตัวสองตัว กลิ่นอันไร้ความหอมหวนกลับมีสุคันธรสชาติ ภาพแห่งขยะแขยงที่เคยปรากฏแก่สายตาของพวกเรามาบัดนี้ได้อันตรธานหายไปแล้ว ความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าของพวกเราก็มลายหายไปพร้อมกับขยะเสมือนหนึ่ง พวกเราได้ขัดเกลาใจตนไปพร้อมกับการขจัดขยะกองมหึมาให้มลายหายไปด้วยสองมือและหนึ่งดวงใจที่พวกเราได้หลอมกันเป็นหนึ่งเดียว ลมหายใจแห่งธรรมชาติก็ได้กลับฟื้นคืนมาอีกครั้งหนึ่ง


ก่อนจะเดินทางกลับ ข้าพเจ้าได้ปลีกตัวไปเยี่ยมคุณตาแกละพร้อมกับนำเสื้อสีเหลืองของในหลวงไปฝากคุณตาด้วย คุณตามีอายุ ๘๖ ปี อาศัยอยู่บ้านเก่าๆ ลำพังเพียงคนเดียว บ้านของคุณตาจะอยู่ห่างจากบ้านของคุณตาสีและคุณยายลิ้มประมาณ ๑๐๐ เมตร ขณะที่ข้าพเจ้าไปถึงได้พบคุณตาแกละหย่อนเท้าทั้ง ๒ ข้างลงมาตามขั้นบันไดเหมือนจะรู้ว่ากำลังจะมีคนมาเยี่ยม ขณะเดียวกันก็มีสุนัข ๓ ตัว คอยอารักขาอยู่ใกล้ชิด

พอข้าพเจ้าปรากฏกายขึ้น คุณตายิ้มแย้มเหมือนมีญาติมาเยี่ยมพร้อมกับทักทายด้วยความเป็นกันเองกับข้าพเจ้า ข้าพเจ้ายืนคุยกับคุณตาอยู่ตรงบันไดหน้าบ้านได้สักพักหนึ่ง คุณตาก็เชิญขึ้นมาบนบ้าน พร้อมกับขังสุนัขไว้ระเบียงหน้าบ้านด้วยกระดานไม้อัดเก่าๆ และไม้ไผ่ ๒ ลำ ตอกตะปูกันเอาไว้ ปกติคุณตาจะไม่ยอมให้ใครขึ้นมาบนบ้าน เพราะเคยมีคนมาขโมยมาลักของ ดังนั้นจึงเลี้ยงสุนัขเอาไว้เพื่อป้องกันขโมยขึ้นบ้าน แต่คุณตาคงคุ้นเคยกับข้าพเจ้าเป็นอย่างดีจึงเชิญข้าพเจ้าขึ้นไปบนบ้าน ข้าพเจ้าไปช่วยหายาทาแก้ปวดแล้วเอามานวดตามลำแข้งของคุณตาที่เมื่อยล้าอยู่หลายวัน ขณะที่ข้าพเจ้านวดไป คุณตาก็จะถามสารทุกข์สุขดิบไปด้วย

ข้าพเจ้ามองเห็นเล็บมือและเล็บเท้าของคุณตายาวและดำมาก ข้าพเจ้าเลยขออนุญาตตัดให้ คุณตาก็ลุกขึ้นไปเอากรรไกรตัดเล็บพร้อมกับยื่นมาทีละข้าง เล็บของคุณตาหนามากและมีดินสีดำติดอยู่ตามซอกของเล็บ ข้าพเจ้าตัดด้วยความประณีตระมัดระวังที่สุด เพราะกลัวเล็บฉีก ข้าพเจ้าถามคุณตาว่า ไม่ได้ตัดเล็บนานหรือยัง คุณตาตอบว่านานแล้ว ตัดเองไม่ค่อยได้ ไม่ค่อยมีแรง ถ้าจะตัดทีก็ต้องค่อยๆ ตัด แต่ตัดแล้วเล็บก็ฉีก จึงไม่อยากตัด จะไม่ให้ฉีกได้ยังไงครับ ก็ในเมื่อเล็บของคุณตายาวและหุ้มหนังปลายเล็บไปราว ๑ ซม. แล้วก็แข็งเสียด้วย มาบัดนี้ ข้าพเจ้าก็รู้สึกว่าตัวเองทำได้แม้กระทั่งแต่งเล็บของคนแก่ได้อีกด้วย แต่ยังไม่ถึงกับมืออาชีพ

จากนั้น ก็ขออนุญาตให้กับคุณตา ตอนแรกคุณตาก็รู้สึกเกรงใจข้าพเจ้ามาก อ้างว่าน้ำเย็นบ้าง เกรงใจบ้าง ข้าพเจ้าบอกกับคุณตาว่า ไม่ต้องเกรงใจคิดเสียว่าเป็นลูกหลานของคุณตาคนหนึ่ง ตอนนี้แหละคุณตาก็รีบลุกขึ้นเปลี่ยนเสื้อผ้า นุ่งกางเกงเลเก่าๆ มานั่งอยู่ตรงบันไดด้านข้างของบ้าน ข้าพเจ้ายกมือไหว้ขอขมาโทษพร้อมกับตักน้ำราดไปบนร่างกายของคุณตาพร้อมกับลูบไล้ด้วยสบู่ตรานกแก้วสีเขียว อาบอยู่ ๓ รอบ จากนั้นก็ใช้ผ้าขนหนูสีเหลือง (พระสงฆ์จากวัดท่านให้คุณตามา) มาเช็ดตัวให้พร้อมกับเปลี่ยนกางเกงเลเป็นผ้าขาวม้าลายสก๊อต คุณตารีบขึ้นไปบนบ้านพร้อมกับนุ่งกางเกงสีกากีและเสื้อกล้ามสีขาวมาใส่ ดูแล้วคุณตาดูหล่อเหลาขึ้นมาก แม่ค้าที่นั่งขายก๋วยเตี๋ยวอยู่หน้าบ้านคอยแซวเป็นระยะ

เมื่ออาบน้ำเสร็จก็ได้ขอซักเสื้อแขนยาว ๒ ตัว และกางเกงเลที่คุณตานุ่งอาบน้ำ ต้องซัก ๔ น้ำแฟ๊บและล้างน้ำเปล่าอีก ๓ น้ำ จึงนำไปตากบนราวระเบียงหน้าบ้าน เสื้อผ้าของคุณตามีฝุ่นเยอะมากต้องซักหลายรอบจึงจะสะอาด เมื่อข้าพเจ้าตากผ้าเสร็จจึงไปนั่งคุยกับคุณตาต่อ


ทุกครั้งที่ข้าพเจ้าได้แวะเวียนไปเยี่ยมคุณตา คุณตาจะดีใจมาก สังเกตได้จากรอยยิ้มการพูดจาถามไถ่ และการขอให้อยู่พูดคุยเป็นเพื่อนนาน ๆ จากการที่พวกเราชาวจิตอาสาลงไปในพื้นที่ทุกครั้ง มักจะมีเรื่องดีๆ ที่ได้เรียนรู้และทำกันอยู่มิขาดสาย มีทั้งงานการฟื้นฟูทางจิตใจ การเยียวยารักษาโรคและการนำตัวส่งโรงพยาบาล การซ่อมแซมที่อยู่อาศัย การสอนวิชาชีพเย็บปักถักร้อย การปลูกพื้นสวนครัว ฯลฯ มีความเหน็ดเหนื่อยเป็นบางครั้ง แต่ทุกอย่างสอนให้เรารู้จักคุณค่าของความเป็นมนุษย์ผู้มีจิตวิญญาณของความใฝ่รู้กอปรด้วยเมตตาจิต เป็นการอบรมบ่มเพาะและขัดเกลาใจตนบนพื้นฐานของงานอาสาสมัคร ความทระนงหลงตัวเองค่อยๆ ลดลงทีละเล็กทีละน้อย ความหยิ่งผยองยโสโอหังว่า ตนมีฐานะเป็นครูผู้สอนหนังสืออันเป็นพันธนาการทางความคิดได้ถูกถอดออกไปด้วย มาบัดนี้พวกเราได้ดำเนินตามรอยวิถีของครูไทยในครั้งอดีตที่มีจิตวิญญาณอุทิศตนเพื่อผู้อื่นปราศจากเงื่อนไขของเงินตราและผลประโยชน์ส่วนตน และทำได้ทุกอย่างบนพื้นฐานความดีงาม เพื่อจรรโลงโลกใบนี้ให้มีแต่ความสงบสุขร่มเย็นตลอดจิรัฏฐิติกาล…

เปลี่ยวเหงาและเดียวดาย : ครูแจ๊ะ










เปลี่ยวเหงาและเดียวดาย
โดย นิมิตร พลเยี่ยม

๑. เปลี่ยวเหงากลางฝูงชน

ก่อนเคารพธงชาติของเช้าวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๕๐ รถตู้สีขาวติดสติ๊กเกอร์ตราพระอาทิตย์ทอแสง สัญลักษณ์โรงเรียนรุ่งอรุณเป็นพาหนะให้คณะครูหลายชีวิตที่เปี่ยมด้วยจิตอาสาร่วมโดยสาร มีครูอ้อฝ่ายประชาสัมพันธ์ และครูสมชายฝ่ายอาคารสถานที่ เป็นหัวหน้าทีม มุ่งหน้าสู่กรุงเก่าอดีตราชธานีที่รุ่งเรืองมาหลายร้อยปี
‘จิตอาสา’ แน่นอนคำนี้ไม่ได้มีความหมายที่ข้องแวะกับการท่องเที่ยวแม้แต่น้อย ดังนั้นเป้าหมายของรถยนต์คันนี้จึงอยู่ที่ชุมชนหลังวัดบ้านแพน อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แทนที่จะเป็นโบราณสถานกลางเกาะตามโปรแกรมของผู้ชื่นชอบและใฝ่ศึกษาประวัติศาสตร์

เมื่อเข้าเขตชุมชน ถวิล ชายหนุ่มผิวคล้ำในชุดซาฟารีสีเข้ม ทำหน้าที่สารถีบังคับพวง มาลัยและปรับเส้นทางให้รถวิ่งลัดเลาะไปบนถนนแคบๆตามแนวกำแพงด้านนอกของวัดบ้านแพน แม้ระยะทางไม่ไกลมากแต่ก็เพียงพอที่จะให้ผู้โดยสารสังเกตเห็นความต่างของแนวกำแพงช่วงบนมีสีขาวสะอาดช่วงล่างมีรอยคล้ำ ซึ่งสามารถแปลความหมายได้ว่านั่นคือสัญลักษณ์ ที่ธรรมชาติทิ้งไว้เพื่อแจ้งบอกถึงระดับความตื้นลึกของอุทกภัยปีนี้ สัญลักษณ์เช่นนี้มีปรากฏตามอาคารบ้านเรือนและต้นไม้

ทันทีที่ล้อรถหยุดหมุน ผู้โดยสารทยอยก้าวลงจากรถ ผมสังเกตลักษณะทางภูมิศาสตร์ก็พอจะเดาได้ว่าชุมชนแห่งนี้ตั้งอยู่ในที่ลุ่มและน่าจะเป็นคลองน้ำมาก่อน มีต้นสะตือขนาดใหญ่ขึ้นเรียงรายเป็นแนวยาวอย่างมีระเบียบทิ้งระยะถี่ห่างที่เหมาะสมราวกับมีผู้จงใจกระทำให้เกิดความงดงาม
“ต้นสะตือเหล่านี้ ตั้งแต่ลุงจำความได้ก็เห็นมันโตเท่านี้แล้ว เมื่อก่อนอยู่ริมคลอง ตอนนี้คลองหายไปเพราะคนปลูกบ้านจนกลายเป็นชุมชนนี้”
ลุงแกละ เจ้าของบ้านอันเป็นเป้าหมายในการลงพื้นที่ครั้งนี้ บอกเล่าความเป็นมาซึ่งก็ไม่ต่างจากสมมติฐานที่ผมตั้งไว้มากนัก คือ พวกเขาสร้างที่อาศัยขวางทางเดินของน้ำ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องปกติเมื่อถึงฤดูน้ำหลากของแต่ละปี บ้านเรือนที่เป็นสมาชิกของชุมชนแห่งนี้จะจมอยู่ใต้น้ำ ซึ่งจะตื้นหรือลึกมากน้อยขึ้นอยู่กับสภาพที่ตั้งของแต่ละหลัง เกินมาตรฐานปกติก็เพียงเพราะปีนี้น้ำหลากมามากกว่าปีก่อนๆ จนทำให้บ้านบางหลังโผล่เหนือน้ำเฉพาะส่วนที่เป็นหลังคา มีหลายหลังที่ผ่านอายุการใช้งานมานานเมื่อจมอยู่ใต้น้ำเกือบ ๒ เดือนก็เกิดการผุกร่อนเสียหาย บ้านลุงแกละเป็นอีกหลังที่จะต้องได้รับการบูรณะเป็นกรณีเร่งด่วน





ลุงแกละชายวัยไม้ใกล้ฝั่ง อยู่คนเดียวมาหลายสิบปีตั้งแต่ภรรยาเสียชีวิต ซึ่งลุงเองก็มีความจำรางเลือนเต็มทีกับเดือนปีที่แน่นอน อดีตเคยมีที่ทางทำมาหากินก็ถูกญาติฝ่ายภรรยานำไปขายแล้วเจียดเงินบางส่วนให้ลุงปลูกบ้านบนผืนดินของวัดบ้านแพนพอได้อาศัยหลับนอนในช่วงชีวิตที่เหลืออยู่บนโลกนี้ โดยลุงมีเงินสงเคราะห์คนชราจากประชาสงเคราะห์จังหวัด จำนวน ๓๐๐ บาท เป็นมาตรฐานตายตัวในการประทังชีวิตให้ผ่านไปได้แต่ละเดือน

เงินจำนวนนี้ หมายถึง อำนาจการจับจ่ายสินค้าเพื่อบริโภคซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่เท่านั้น ส่วนอีก ๓ ปัจจัยแทบจะไม่ต้องเอ่ยถึง กล่าวโดยย่อ คือ ลุงแกละสามารถซื้อปลาทูได้วันละ ๑ ตัว ในขณะเดียวกันก็ต้องใช้เทคนิคเชิงปริมาณเข้าช่วยด้วยการคลุกใส่ข้าวให้มากพอที่จะเผื่อแผ่ไปถึงเพื่อนต่างสปีชีส์ (species) อีก ๓-๔ ตัว ที่คอยส่งเสียงเห่าหอนขับไล่ความเงียบจากจิตใจได้ในห้วงยามที่เพื่อนเผ่าพันธุ์เดียวกันหมางเมินเหินห่าง

๓๐๐ บาท จึงถูกใช้อย่างจำกัดเฉพาะในสิ่งที่ขาดไม่ได้เท่านั้น และไม่มีที่ว่างให้กับความฟุ่มเฟือยแม้แต่บาทเดียว ปลาทูจึงเป็นอาหารราคาถูกที่สุดที่ลุงแกละพอจะมีปัญญาจ่าย แม้บางครั้งกลิ่นก๋วยเตี๋ยวจากร้าน (เพิง) หน้าบ้านจะโชยมาก็ทำได้แค่แอบกลืนน้ำลาย เพราะมันเป็นของแพง เป็นของฟุ่มเฟือย เป็นของต้องห้าม ลุงจะกินตามใจปรารถนาของตัวเองไม่ได้ พูดให้เข้าใจง่ายคือมีเพียงปลาทูเท่านั้นที่สอดคล้องกับค่าครองชีพมากที่สุด

ลำพังการประคองให้ชีวิตวัย ๘๗ ปี ให้ผ่านพ้นไปแต่ละวันก็นับว่าเป็นเรื่องใหญ่พออยู่แล้วสำหรับลุงแกละ สภาพของหลังคาบ้านถูกจำกัดให้ใช้ประโยชน์เฉพาะกันแดด ส่วนฝนกันไม่ได้มาหลายขวบปีแล้ว ซ้ำร้ายการซ่อมแซมยังต้องถูกจำกัดทั้งโดยสภาพร่างกายและงบประมาณ

ผมไปที่นั่นพร้อมกับกลุ่มครูจิตอาสา เพื่อรับภาระที่ไม่อยู่ในวิสัยของผู้เฒ่าจะจัดการเองได้ ด้วยจิตใจที่อยากสงเคราะห์เพื่อนมนุษย์คนหนึ่งให้ได้นอนหลับสบายในช่วงเวลาที่เหลือนับแต่นี้ โดยไม่ต้องสะดุ้งตื่นยามค่ำคืนเพื่อหลบฝนตามซอกมุมที่น้ำหยดน้อยที่สุดด้วยความทุกข์ทรมาน เหมือนช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา

ทุกข์... ใช่ คนเราแบกทุกข์มาตั้งแต่เกิดจริงๆ อาจจะกล่าวได้ว่าทุกข์ คือ เพื่อนร่วมน้ำสาบานของชีวิตทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นทุกข์จากการเจ็บไข้ได้ป่วย ทุกข์จากการหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ทุกข์เพราะกินไม่ได้ถ่ายไม่ออก ทุกข์เพราะอยากได้อยากมีอยากเป็น ทุกข์จิปาถะ ยิ่งชีวิตล่วงเลยสู่วัยดึกความทุกข์ยิ่งตอกย้ำบาดลึกเข้าไปในจิตวิญญาณ แค่มองไปเบื้องหน้าเห็นเงามืดหลังม่านดำบนเวทีของความตายก็ชวนให้หวั่นหวาดกับสิ่งที่รออยู่หลังม่านอันมืดดำนั้น

จะทำอย่างไรได้ในเมื่อทุกข์ คือ สัจธรรมที่ทุกรูปทุกนามซึ่งยังเวียนว่ายในห้วงวัฏสงสารปฏิเสธไม่ได้ หลีกก็ไม่พ้น
แต่ถ้าจะลดปริมาณความเข้มข้นของทุกข์ให้จางลงบ้างก็ใช่ว่าจะปิดโอกาสเสียทีเดียว มันขึ้นอยู่กับว่าสังคมที่เราเป็นสมาชิกมีสภาพเช่นใด เป็นสังคมที่อบอุ่นหรือเปลี่ยวเหงา เอื้ออาทรหรือเห็นแก่ตัว เป็นกัลยาณมิตรหรือเอาตัวรอด สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นเงื่อนไขที่จะอำนวยให้เราอดทนต่อทุกข์และก้าวข้ามห้วงทิวาราตรีบนโลกนี้ไปได้ง่ายดายหรือยากลำบาก…

กว่าคณะครูจิตอาสาจะได้ลงมือทำงานเวลาก็ล่วงเลยเกือบพระฉันเพล เพราะต้องรอวัสดุอุปกรณ์จากทางร้านที่มาส่งช้ากว่ากำหนด กระนั้นก็ไม่เป็นอุปสรรคใดๆ ทุกคนล้วนพกพาจิตที่มุ่งมั่นและชัดเจนในเป้าหมายจึงไม่จำต้องแบ่งหน้าที่หรือตั้งกฎเกณฑ์ตายตัว ต่างช่วยกันจับช่วยกันแบกหามตามที่เห็นว่าสามารถทำได้ บรรยากาศการทำงานถูกปกคลุมด้วยความครื้นเครงจนไม่มีพื้นที่ให้ความกังวลใจใดๆ เข้ามาครอบครอง

กระเบื้องแตกๆ สังกะสีผุๆ ถูกแทนที่ด้วยวัสดุชิ้นใหม่ พวกเราทำงานท่ามกลางสายตาหลายสิบคู่ของคนในชุมชนที่มามุงดูโดยมีเจ้าของสายตาหลายคู่เข้ามามีบทบาทร่วมในกิจกรรมครั้งนี้ด้วย บ้างก็ช่วยเก็บกวาดพื้น บ้างก็ติดต่อประสานงานกับทางร้านวัสดุก่อสร้าง สรุปว่างานจบลงด้วยฝีมือของคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่เคยรู้จักมักคุ้นกับลุงแกละมาก่อน โดยมีกลุ่มคนที่สนิทสนมกับลุงแกละสมัครใจเป็นกองเชียร์และช่วยงาน

ผมก็ไม่กล้าคิดไปถึงว่าคนเหล่านี้เป็นลูกหลานของบรรพชนผู้ต่อสู้กับอริราชศัตรูปกป้องกรุงศรีอยุธยา หลั่งเลือดชโลมกายพลีชีพสังเวยแผ่นดินเพื่อรักษาบ้านเมืองไว้ มีหรือพวกเขาจะกล้าเฉยเมยกับความทุกข์ร้อนของคนคุ้นเคยใกล้ตัว ปล่อยให้ฝ่าวิบากตามยถากรรมอย่างไม่มีเยื่อใย
อย่างน้อยวันนี้...อยุธยายังไม่สิ้นคนดี

พวกเรามาที่นี่เพียงเพราะต้องการให้คนแก่คนหนึ่งนอนหลับเต็มตาได้ทุกฤดูกาล ต้องการแบ่งเบาความทุกข์ของคนแก่คนหนึ่งให้ลดความเข้มข้นลงบ้าง และต้องการให้คนแก่คนหนึ่งดำรงอยู่ได้ในสภาพที่สามารถก้าวผ่านวันคืนที่เหลือได้ง่ายขึ้น โดยพวกเราไม่ได้หวังสิ่งใดๆตอบแทน..แม้แต่คำขอบคุณ รอยยิ้มและแววตาที่เปี่ยมด้วยความสุขของลุงแกละเป็นรางวัลมากพอที่จะจ่ายค่าแรงครั้งนี้ ยิ่งได้ยินเสียงหัวเราะที่คนละแวกนั้นไม่ได้ยินมานานแล้วก็เท่ากับว่าเราได้โบนัสก้อนโตมาช่วยขับไล่ความเหน็ดเหนื่อยทางกายให้หายไปได้ รวมทั้งความอ่อนล้าทางจิตใจที่ได้สัมผัสสัจธรรมชีวิตที่ฉายผ่านม่านตาของลุงแกละ ใช่ มันคือความเงียบเหงาที่ต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวกลางชุมชน มีเพียงสุนัขคอยเป็นเพื่อนใกล้ชิด ความอ้างว้างเดียวดายไร้ญาติขาดมิตรช่างโหดร้ายกับลุงมากกว่าการตื่นขึ้นมาหลบฝนกลางดึกหลายเท่านัก


๒. เดียวดายใต้ถุนเรือน

ชีวิตของลุงแกละเป็นภาพเปรียบเทียบที่ฉายทาบทับกับหญิงชราคนหนึ่งซึ่งนั่งเดียวดายใต้ถุนบ้านริมฝั่งแม่น้ำน้อย อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จนแทบจะเป็นเนื้อเดียวกัน... ป้าสำแร คือ หญิงชราผู้มีพระอาทิตย์เป็นเพียงเครื่องมือบอกว่ากลางวันหรือกลางคืน นอกจากนี้แล้วก็ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียใดๆ กับการหมุนรอบตัวเอง ๑ รอบของโลก เพราะการก้าวข้ามเวลา ๒๔ ชั่วโมงของเธอถูกจำกัดเพียงการอยู่บนบ้านและใต้ถุนบ้านอย่างละครึ่ง

ชีวิตจำนวนเท่ากับโลกวิ่งวนพระอาทิตย์ ๘๑ รอบทำให้เห็นเรือนร่างของเธอเต็มไปด้วยร่องรอยที่ถูกกาลเวลากัดเซาะ เหลือเรี่ยวแรงพอได้ปีนขึ้นลงบันไดทุกเช้าเย็นอย่างทุลักทุเล เหลือความทรงจำกะท่อนกะแท่นไว้สื่อสารเรื่องราว ส่วนสภาพการมองเห็นและการได้ยินนับว่าเลือนรางแผ่วเบา แค่พอได้จดจำใบหน้า ได้ฟังเสียงของลูกสาวผู้ห่วงหาอาทรคอยป้อนข้าวป้อนน้ำและอุ้มลงสู่สายธารยามเย็น

ชีวิตของป้าสำแรวันนี้ คงความหมายที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง จากใครอีกหลายคนที่นอนรอวันพรุ่งนี้เพื่อเซ็นสัญญาทางธุรกิจนับร้อยนับพันล้าน แต่เธอเพียงนอนรอให้พระอาทิตย์ขึ้นเพื่อจะได้ลงไปนั่งใต้ถุนบ้านและนั่งรอให้พระอาทิตย์ตกเพื่อจะได้ขึ้นไปบนบ้าน วันเวลาของเธอทำได้เท่านี้...จริงๆ...



พวกเราชาวรุ่งอรุณมุ่งหน้ามาที่บ้านป้าสำแร ด้วยจุดประสงค์เช่นเดียวกับบ้านลุงแกละ จะต่างบ้างก็เพียงทีมงานที่สลับสับเปลี่ยนกำลังพล หัวหน้าฝ่ายช่างยังคงเป็นครูสมชาย ฝ่ายอาคารสถานที่ มีครูผู้หญิงจากฝั่งอนุบาลและประถมอีกหลายคนมารับงานตระเวนพื้นที่ชนบทเพื่อเยี่ยมเยียนเด็กๆ และคนชราตามบัญชีรายชื่อของฝ่ายสำรวจ

เป้าหมายคือแบ่งเบาความทุกข์แบ่งปันความสุข โดยมีจิตอาสา จิตที่มีความงดงามไปมอบให้ผ่านเนื้องานทางวัตถุและการกระทำอย่างคุณธรรมน้ำมิตร ด้วยความยึดมั่นศรัทธาว่าความดีงามเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการอยู่ร่วมกันของคนในสังคม จะแยกแยะว่าใครเมืองใครชนบทไม่ได้ หรือใครรวยใครจนก็ยิ่งไม่ได้ แค่มองหน้ากันได้อย่างอาทรไม่มีความหวาดระแวงมาเจือปนก็น่าจะเพียงพอ…

บ้าน..มีนัยบอกว่าใครบางคนต้องใช้เวลาเกือบทั้งชีวิตเพื่อให้ตัวเองมีที่อยู่ที่กิน กระทั่งมีที่ไว้นอนตาย
บ้าน..ถ้าใช้นิยามศัพท์เฉพาะว่าเป็นที่หลับนอนเพื่อรอเวลาให้พระอาทิตย์ขึ้นก็คงพอจะเอ่ยอ้างได้บ้างสำหรับที่อยู่ของป้าสำแร แต่ถ้าล้อมกรอบความหมายดั่งคฤหาสน์ของผู้มีอันจะกินแล้วไซร้ ที่อยู่ของป้าสำแร คงอยู่ห่างจากความหมายนี้ไกลโข
บ้านของป้าสำแรเป็นเพียงกระต๊อบโรงนา ยกตัวสูงหนีน้ำด้วยเสาขนาด ๕ นิ้ว ใช้สังกะสีเป็นหลังคาและฝากั้นพอคุ้มแดดคุ้มฝน บนบ้านนอกจากที่นอนหมอนมุ้งสมบัติอื่นก็นับชิ้นได้ การจมอยู่ใต้น้ำแรมเดือนทำให้เสาที่ผ่านการใช้งานมาหลายสิบปีทรุดเอียงและแตกร้าวเผยให้เห็นเหล็กเส้นชัดเจน มันเป็นลางบอกเตือนให้หญิงชราและคนรอบข้างรู้ว่าอันตรายใกล้จะมาถึงแล้ว

ที่ดิน..การถือครองที่ดินซึ่งในอดีตมีกฎเกณฑ์ตามชั้นยศในระบบศักดินาฐานันดร แต่ปัจจุบันเปลี่ยนมาถือสิทธิยึดครองได้อย่างเสรีตามอำนาจเงินตราเมื่อระบบทุนนิยมเข้าครอบงำ
ที่ดิน..เมื่อไม่มีทั้งยศถาบรรดาศักดิ์และทรัพย์สินเงินทองพอที่จะเข้าครอบครองสักผืน ป้าสำแรจำต้องเช่าที่ดินของวัดอนงคาราม เพื่อปลูกสิ่งที่เรียกว่าบ้านตามความหมายที่เข้าใจของคนทั่วไปเพื่อให้มีที่หลับนอน โดยจ่ายเงินค่าเช่าเป็นรายปีเช่นเดียวกับคนส่วนใหญ่ในละแวกนั้น ปริมาณมากน้อยกว้างยาวของพื้นที่จะเป็นตัวกำหนดราคาค่าเช่า

๓๐๐ บาทต่อปี สำหรับผู้หญิงที่มีเรี่ยวแรงเพียงขึ้นลงบันไดนับว่าเป็นเรื่องใหญ่และเกินกำลังจะหามาได้ จึงเป็นภาระของลูกสาววัย ๕๐ ที่มีรายรับจากการทำงานปั้นอิฐวันละ ๑๓๕ บาท เข้ามาแบกรับค่าใช้จ่ายแทนบุพการี ส่วนการซ่อมแซมบ้านเพื่อให้มั่นคงปลอดภัยพวกเราชาวชุมชนรุ่งอรุณรับทำหน้าที่นี้…

ต้องยอมรับว่าจิตวิญญาณของผมยังเป็นปุถุชนที่เต็มเปี่ยมด้วยกิเลส บางวันทำงานด้วยอาการท้อแท้ตามหน้าที่และความเคยชิน บางวันก็เอาเป็นเอาตายแทบไม่ลืมหูลืมตา แต่กับการที่ได้มีโอกาสช่วยคนแก่คนหนึ่งให้ได้มีที่อยู่อาศัยมั่นคงแข็งแรง ความรู้สึกกลับอยู่เหนือความเคยชิน อยู่นอกกรอบกติกาของหน้าที่ ทุกครั้งที่จอบกระทบปักลงพื้นขุดดินขึ้นมาให้เป็นหลุมตามมาตรฐานที่ฝ่ายช่างกำหนด วิญญาณของเรือจ้างที่วางไม้พายชั่วคราวเพื่อมาจับจอบเสียม ยังรู้สึกเหน็ดเหนื่อยเช่นทุกครั้งที่ออกแรงมากเกินปกติ ยังรู้สึกถึงความร้อนของเปลวแดดในวันที่ท้องนภาเกลี้ยงเกลาไร้เงาเมฆ แต่ความท้อถอยกลับไม่ย่างกรายปรากฏ

“เป่านกหวีดอยู่โรงเรียนยังเหนื่อยกว่านี้เลย” คำพูดทีเล่นทีจริงของครูตู่ ครูพละที่วันนี้แขวนนกหวีดมาจับค้อนตีตะปูเอ่ยขึ้นเพื่อสร้างบรรยากาศกลางไอแดด ถึงกระนั้นยังมีเสียงเปล่าลมออกจากปากอยู่บ่อยๆ ซึ่งแน่นอนไม่ใช่ภาวะความเคยชินกับนกหวีดจนติดเป็นนิสัย

เสียงเย้าแหย่ของกลุ่มจิตอาสาอย่างสนิทสนมคุ้นเคยมีอยู่ตลอดเวลาบ่งชี้ให้เห็นถึงสภาวะการส่งจิตเชื่อมสายใยอย่างแน่นแฟ้น ”เรียกพี่… เรียกน้อง” ได้สนิทปาก ทั้งที่จริงแล้วพวกเราก็เคยประสานงานร่วมกิจกรรมกันอยู่บ่อยๆในองค์กร ซึ่งก็ต่างทุ่มเทบริหารจัดการตามศักยภาพของตนเพื่อให้ภาระหน้าที่เกิดประสิทธิภาพสูงสุด แต่การยกมือไหว้ ส่งยิ้มทักทายกลับไม่เพียงพอที่จะก่อให้เกิดความอบอุ่นได้เท่ากับภารกิจพิเศษนี้

นับเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ ชีวิตที่ถูกกดทับด้วยหน้าที่บางครั้งอาจจะทำให้ต้องสำรวมเกินเหตุ ครั้นหลุดกรอบกรงที่อุปาทานกักขังพลันเริงร่าอิสระ ทุกขั้นตอนเคลื่อนไปอย่างราบรื่นเบิกบานจนเปิดพื้นที่อันอุดมสมบูรณ์เหมาะสมกับการไถหว่านพืชพันธุ์แห่งความทรงจำที่ดีให้งอกงามเพื่อเสริมสร้างปัญญาแห่งการเรียนรู้ร่วมกันในวันหน้า…

ที่แท้ปัญญาหาใช่เกิดเพราะความหนักเบาของเนื้องาน อยู่กลางแดดหรือห้องปรับอากาศ จิตอิสระต่างหากเป็นพรอันประเสริฐที่สวรรค์ประทานมา เพื่อให้มนุษย์มีปัญญานำไปใช้อะไรได้สารพัด การมุงหลังคาบ้านลุงแกละและเชื่อมต่อขื่อคานบ้านป้าสำแร ช่วยเสริมสร้างสายสัมพันธ์เชื่อมใจของพวกเราได้อย่างมีประสิทธิภาพ นับเป็นพฤติกรรมเชิงบวกที่อยู่นอกเหนือสมมติฐานของคนที่มองแต่เป้าหมายงานเป็นที่ตั้ง อย่างน้อยผมเป็นคนหนึ่งที่ไม่กล้าคิดถึงเรื่องอย่างนี้
ใช่ การมุงหลังคายกเสาบ้านทำให้ผมมีโอกาสได้ยกระดับปัญญาขึ้นมาได้บ้างจริงๆ..

คนเรารู้จักแต่การดูแลเรื่องภายนอกจนหลงลืมที่จะศึกษาภายใน มุ่งแต่จะแสวงหาสิ่งภายนอก รู้จักปล่อยนกปล่อยปลาแต่กับเพื่อนมนุษย์ด้วยกันกลับเว้นวรรคออกห่างจนเชื่อมต่อไม่ถึง ยึดถือครอบครองสรรพสิ่งจนลืมคนรอบข้าง กระทั่งลืมความชั่วคราวของชีวิต สุดท้ายการมีชีวิตชั่วคราวก็แห้งแล้งไร้ความหมาย.. ไร้ปัญญา บอกตามตรง รู้สึกดีใจที่ผมยังไม่สายเกินไปที่เกาะกลุ่มจิตอาสาขบวนสุดท้ายได้ทัน…

ภาพเวิ้งว้างของท้องทุ่งอันเขียวขจี ถูกทิ้งห่างออกไปตามอัตราเร่งของรถยนต์ขากลับ แม้จะเป็นภาพแทนค่าของความอุดมสมบูรณ์แต่ก็เป็นจิตรกรรมที่ชี้ชวนให้ความรู้สึกเปลี่ยวเหงามาเข้ายึดพื้นที่ในจิตใจได้ไม่น้อย “เมื่อไหร่จะมาอีก.. เมื่อไหร่จะมาอีก...” คำถามซ้ำแล้วซ้ำอีกของชายหญิงคู่นั้น ยังดังกึกก้องอยู่ในโสตประสาท แม้เขาและเธอจะอยู่ต่างสถานที่ กลับเอ่ยถามคำเดียวกัน เป็นคำถามสั้นๆ ง่ายๆ แต่ใช่ว่าจะตอบได้ตามแบบที่เคยชินหรือขอไปที ในเมื่อดวงตาของผู้ถามฉายแววจริงจังและอยากได้ยินคำตอบที่จริงใจ ดวงตาทั้งสองคู่จะหม่นหมองแค่ไหนถ้าได้ยินคำตอบที่น่าผิดหวัง

“ครับ...ผมจะพยายามมาเยี่ยมลุงป้าอีกถ้ามีโอกาส...” แม้จะไม่ได้เอ่ยตอบออกมาดังๆ แต่ผมจะเก็บคำตอบนี้ให้ก้องอยู่ในความทรงจำ
ลาก่อน...ลุงป้าผู้เปลี่ยวเหงาเดียวดาย...

Monday, February 26, 2007

จากใจอาสาสมัคร

ศิริลักษ์ พุทธโคตร (ครูจิ๋ม ตำรา)
"ความใจดีกับความใจร้ายของเรามันสู้กันจนสงบลงด้วยความเข้าใจว่า อ๋อ...นี่แหละเขาถึงเรียกว่าจิตอาสา ถ้าจิตเรามันไม่อาสามันทำไม่ได้จริงๆ ก็เรามาแค่ไม่กี่ชั่วโมงเรายังทนอยู่ในสภาพอย่างนี้ไม่ได้ แล้วคุณตา คุณยายอยู่กันได้ยังไง ทำไมลูกหลานถึงปล่อยปละละเลยอย่างนี้ รู้สึกคิดถึงพ่อแม่ขึ้นมาจับหัวใจ ลูกจะไม่มีวันทิ้งพ่อแม่ให้เป็นอย่างนี้เด็ดขาด"

อนุสสรา แกมเกตุ (ครูปุ้ย ห้องสมุด)
"เรื่องบางเรื่องที่เราทำลงไปโดยที่เราเองรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ไม่ได้ยากหรือลำบากอะไรที่เราจะทำ ก็แค่เจียดเวลาวันนึง นั่งรถชั่วโมงกว่าๆ ก็ถึงอยุธยาแล้ว แต่สำหรับครอบครัวที่เราไปหาไปพูดคุย – เยี่ยมเยียนแล้ว มันกลับกลายเป็นสิ่งดีๆ เป็นช่วงเวลาดีๆ ที่เขาได้มีในชีวิตของเขา ถึงแม้เราจะไม่ได้ไปช่วยเขาทำอะไร ไม่ได้มีอะไรล้ำค่าไปให้เขา แต่เขากลับแสดงความดีใจ – ความซาบซึ้ง – ความสุข ที่เราไปเยี่ยมให้เราเห็นได้อย่างชัดเจน บางคนย้ำแล้วย้ำอีกให้เราไปเยี่ยมอีกหลายๆ ครั้ง จนความสุขที่เขาได้รับจากเรามันก็สะท้อนกลับมาที่ตัวเราให้เรามีความสุขไปกับเขาด้วย"

แสงเดือน นนทเปารยะ (ครูเดือน โรงเรียนประถม)
"จากการไปงานจิตอาสาครั้งนี้พบว่าไม่ได้เป็นงานที่น่าเบื่อหรือลำบากอย่างที่คิดไว้เลย ตรงกันข้ามเรากลับพบว่าเป็นงานที่สนุก แถมยังได้ใช้สิ่งต่างๆ ที่มีอยู่ในตัวได้อย่างเต็มที่ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยกับยายแร การนั่งลงพับผ้า สอนวิธีพับผ้าให้เจมส์และกลิ้ง จัดบ้าน ได้เห็นบ้านที่เมื่อจัดให้สะอาดเรียบร้อยก็แสนจะน่าอยู่ การได้ทำงานร่วมกันกับเพื่อนครูที่อยู่ที่โรงเรียนอาจจะแค่ยิ้มแล้วก็ทักกันว่า "สวัสดีค่ะ " หรือ " วันนี้เสื้อสวยจังเลย" ได้ทำงานร่วมกันเป็นทีมซึ่งทำให้งานสำเร็จลงอย่างง่ายดาย และที่สำคัญที่สุดคือ ได้ใช้สิ่งที่เรียนรู้ฝึกฝนจากอาจารย์อมรา โดยไม่รู้ตัวจากเหตุการณ์ที่เราออกจากอยุธยาเย็นมากและต้องมาถึงโรงเรียนเกือบสองทุ่ม ความรู้สึกตอนนั้นคือใจที่พองฟูมีความสุขกลับแฟบลง แถมด้วยความคิดวูบขึ้นมาว่า ไม่น่ามาเลย แต่ความรู้ตัวที่มารวดเร็วมากเห็นอาการและความคิดของตัวเองว่าเราโกรธ เราคิดไม่ดี แปลกมากค่ะ เรากลับสงบลงและพูดกับตัวเองว่าไม่เป็นไรเย็นก็เย็น เดี๋ยวก็ถึงบ้าน เมื่อความกังวลหายไปใจสบายขึ้นนั่งคิดดูแล้วก็เห็นว่าถ้าไม่มีเหตุการณ์นี้เราก็ไม่รู้ตัวหรอกนะว่าการรู้ตัว การมีสติเป็นอย่างไร"

ภมร รักษาทรัพย์ (ครูต้น โรงเรียนมัธยม)
"ขณะทำงานมีภาพหนึ่งติดตาผม อันที่จริงก็เป็นภาพปกติทั่วๆ ไป คือ คุณยายเจ้าของบ้านนั่งอยู่หน้าบ้านแล้วก็มองออกไปข้างนอก แบบนั่งเหม่อลอย ก็กลับมาคิดถึงตัวเราเองว่าเรื่องบางเรื่องที่เราว่าเราเบื่อเราเซ็ง แต่ผมว่าคุณยายคงเบื่อและเซ็งกว่าเราหลายเท่า เพราะไปไหนก็ไม่ได้ ทำอะไรก็ไม่ถนัด เพราะเงินก็ไม่มี แรงกายก็ไม่มี เราโชคดีกว่าตั้งเยอะ เวลาเบื่อหรือเซ็งยังไปเที่ยวได้ หาอย่างอื่นทำได้ ที่เล่ามาก็เหมือนอยากจะเตือนใจตัวเองว่ายังโชคดีกว่าคนอีกมากมาย เหมือนให้กำลังใจตนเอง"

ขนิษฐา ดิลกภราดร (ครูแอน โรงเรียนเล็ก)
“ขณะที่เรารู้สึกทุกข์ยากเหลือเกินกับเรื่องการขึ้นเงินเดือน เรื่องการแต่งตัว เรื่องตัดสินใจไปเที่ยว เรื่องริ้วรอยบนใบหน้า แต่คนอีกหลายล้านคนไม่มีแม้แต่โอกาสคิดถึงเรื่องพวกนี้ ชีวิตของเขาอยู่เพื่อวันนี้ ตอนนี้ และเย็นนี้เท่านั้น จนดูเหมือนว่าพวกเขาจะเข้าใจในเรื่องของชีวิตและความเป็นปัจจุบันได้ดีกว่าเราเสียอีก”

(๒๐) คุณลุงบุญชอบ


อาสาสมัครเพิ่งได้ไปพบเมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐ ในช่วงที่ลงไปช่วยงานซ่อมแซมบ้านโครงการที่ ๑

ข้อมูลเบื้องต้นมีดังนี้

คุณลุงบุญชอบ ทรัพย์สง่า อายุ ๖๒ ปี

เลขที่ ๑๒ หมู่ ๑ ต.บางหลวง อ.บางบาล

มีลูก ๔ คน ทำงานที่นิคมสมุทรปราการ ส่งรายได้มาให้

เป็นอัมพาตครึ่งซีก (ด้านขวา) มา ๑๒ ปีแล้ว พูดสื่อสารไม่ได้ ไม่มีรายได้ ทั้งที่มีบัตรผู้พิการ

มีพี่สาว (ไม่มีอาชีพ) คอยดูแลเรื่องอาหารการกิน โดยคุณลุงสามารถช่วยเหลือตัวเองทานเองได้

ไม่ได้ไปโรงพยาบาลมา ๕-๖ปีแล้ว เพราะลำบากในการเดินทาง มีอสม.เคยมาวัดความดันให้สูงถึง ๑๘๐


บ้านที่อาศัยอยู่ต่อรวมกับบ้านพี่สาว เดิมเตี้ยภายหลังดีดขึ้นมา
ในการลงพื้นที่ครั้งต่อ อาสาสมัครควรเก็บข้อมูลเพิ่ม และนัดหมายพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพร่างกาย

(๑๙) คุณลุงสมัคร (พ่อของต๋อง)



คุณลุงสมัคร ประสันทะวงศ์
เป็นลูกชายของคุณยายธัญ สันทะวงศ์ (หมายเลข ๑๘) อายุประมาณ ๔๐ กว่าปี มีลูก ๒ คน ภรรยาทิ้งไป และนำลูกไปเลี้ยงด้วย ๑คน ส่วนต๋อง ลูกชาย ป.๔ วัย ๙ขวบ อยู่กับพ่อ
คุณลุงสมัครพิการเป็นอัมพาตทั้งตัวเนื่องจากโดนรถชน ไม่สามารถขยับตัวได้ ต้องนอนตลอดเวลาพร้อมใส่ถุงปัสสาวะ หากจับให้ลุกนั่งซักพักก็จะรู้สึกหน้ามืด
โชคดีมีคุณลุงเกษมซึ่งเป็นเพื่อนบ้านคอยจุนเจือ ช่วยดูแลเรื่องอาหารการกิน ทั้งคุณลุงสมัครและต๋อง
ในช่วงที่น้ำท่วมคุณลุงเกษมจึงขออนุญาตเจ้าอาวาสวัดน้ำเต้าย้ายคุณลุงสมัครเข้ามาอาศัยในกุฏิที่ยังว่างอยู่ เพื่อที่จะได้ดูแลได้สะดวกขึ้น
ขณะนี้น้ำลดแล้ว ก็มีแววว่าคุณลุงสมัครอาจจะอาศัยอยู่ที่กุฏิวัดต่อไป เพราะใกล้ทั้งร.ร.วัดน้ำเต้าที่ต๋องเรียนอยู่ และ ยังใกล้บ้านคุณลุงเกษมด้วย

คุณลุงสมัครเคยคิดจะฆ่าตัวตายหลายครั้ง แต่ไม่สำเร็จ ปัจจุบันหันมาสนใจศึกษาธรรมะ อ่านจากหนังสือบ้าง เราได้นำเครื่องเล่นวิทยุเทป พร้อมเทปธรรมะไปฝากบ้าง คุณลุงพยายามมองโลกในแง่ดี และนำบทเรียนชีวิตมาสอนลูกชาย คือ ต๋อง ซึ่งต่างเป็นบุญของพ่อลูกคู่นี้ เพราะต๋องเองก็เป็นลูกกตัญญูที่คอยดูแลคุณลุงสมัคร ไม่ทอดทิ้งรังเกียจหรือวางเฉย คุณลุงสมัครคุยสนุก ถ้าอาสาสมัครจะแวะไปเยี่ยมควรเผื่อเวลาไว้สักเล็กน้อย
การช่วยเหลือในส่วนของคุณลุงสมัครได้เปลี่ยนที่นอนให้ใหม่ เพื่อป้องกันการเกิดแผลกดทับ
ส่วนเรื่องการเปิดบัญชีออมทรัพย์เพื่อเป็นทุนการศึกษาและค่าใช้จ่ายจิปาถะให้ต๋อง เดือนละ ๕๐๐บาท มูลนิธิโรงเรียนรุ่งอรุณได้เปิดบัญชีที่มีชื่อเจ้าของบัญชี ๒ คน คือ ครูมาลัย (ครูประจำชั้นของต๋อง) และลุงเกษม (ผู้อุปการะต๋อง) อนาคตของต๋องหลังจากเรียนจบชั้นป.๖ แล้ว คุณลุงสมัครบอกว่าอยากให้ต๋องเรียนให้สูงที่สุดเพื่อที่จะได้มีงานดีๆ ทำ แล้วจะได้กลับมาดูแลพ่อได้ไม่ต้องรบกวนผู้อื่น

(๑๘) คุณยายทัน


คุณยายทัน ประสันทะวงศ์
บ้านเลขที่ ๗๑ หมู่ ๑ ตำบลน้ำเต้า อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อายุ ๗๐ ปี ตามีลักษณะเป็นแผ่นฝ้าขาวๆ เคลือบที่ตาทั้ง ๒ ข้าง มองเกือบไม่เห็นแล้ว คุณหมอพัชรพิมพ์ (จักษุแพทย์อาสา-ผู้ปกครอง) ได้ตรวจและซักอาการยาย พบว่าคุณยายน่าจะมีอาการของต้อแต่ยังไม่สามารถระบุชัดเจนว่าเป็นต้อชนิดใดโดยในระยะ ๑ เมตร คุณยายสามารถเห็นเป็นโครงสร้างแบบเลือนลางได้ แต่ถ้าไกลออกไปไม่สามารถมองเห็นได้แล้ว

อาสาสมัครได้ดำเนินการจนได้พาคุณยายไปตรวจที่ร.พ.อยุธยา ได้เพียงยาหยอดตามาบรรเทาอาการ

(***ทั้งนี้จะเห็นว่ามีผู้สูงอายุประสบปัญหาโรคต้อหลายราย คุณครูปุ้ยจึงกำลังรวบรวมข้อมูลเรื่องการรักษาต้อ ชนิดต่างๆ ในร.พ.และหน่วยงานของรัฐเพื่อนำเสนอแนวทางช่วยเหลือต่อไป***)

คุณยายอาศัยอยู่ในบ้านร่วมกับลูกสาวและลูกเขย ซึ่งในส่วนของการซ่อมแซมบ้านคุณแม่นก (ผู้ปกครองของน้องพิณและน้องพราว) ได้บริจาคเงิน ๔,๐๐๐บาท ฝากให้ทางชมรมดำเนินการซ่อมแซมหลังคาสังกะสีให้คุณยายทัน ซึ่งในโครงการที่ ๑ ฝ่ายช่างได้ดำเนินการซื้อวัสดุทั้งสังกะสี เสา ปูน เพื่อซ่อมแซมตามจำเป็นและมอบไว้ให้ลูกเขยของคุณยายได้ดำเนินการต่อไป และกำลังประสานงานเรื่องช่วงเวลาและแรงงานที่จะจัดลงไปช่วย

(๑๗) คุณลุงชาลี


คุณลุงชาลี รุ่งเรืองวิรัตน์กุล
อายุ ๖๑ ปี เดิมก่อนน้ำท่วมพยายามถีบสามล้อรับจ้าง ตอนนี้น้ำท่วมจึงหันมาพายเรือแทน ได้วันละประมาณ ๓๐-๔๐ บาท

อยู่ตัวคนเดียว ตาของคุณลุงไม่ค่อยดี เพราะตาข้างหนึ่งเส้นเลือดขาดพอมองเห็นได้เลือนลาง อีกข้างก็คัน นายกอบต. บอกว่าตาขยัน พยายามไม่รบกวนใคร

หลังจากน้ำลดแล้วคุณลุงเก็บสังกะสีเก่า ขวด เพื่อนำไปขายเป็นรายได้บ้าง

อาสาสมัครได้พาคุณลุงไปพบแพทย์เพื่อรักษาตาที่ร.พ.อยุธยา ได้ยาหยอดตามาบรรเทาอาการคัน แต่คุณลุงไม่ยอมอยากให้เราพาไปรักษาที่อื่น เพราะรู้สึกเข็ดกับการผ่าตัดที่เคยผ่าเมื่อหลายปีมาแล้วว่า เจ็บมากแต่ไม่หาย เวลาเราลงไปเยี่ยมคุณลุงจะดีใจแต่ก็เกรงใจพวกเรามากๆ รู้สึกไม่อยากให้ตนเองเป็นภาระ อยากให้เราไปช่วยคนอื่นๆ ที่ลำบากกว่าคุณลุง

(๑๖) คุณยายอุดม


บ้านเลขที่ ๕๘ อายุ ๗๓ ปี อยู่กับลูกสาว มือโดนเคียวบาดบริเวณนิ้วก้อยทำให้เกิดอาการกระดูกเคลื่อน ควักลูกตาทิ้งไป ๑ ข้าง คุณยายบอกว่าตอนนั้นมีอาการคันตาแล้วมีเลือดออก เสี่ยงที่จะเป็นมะเร็ง หมอเลยต้องผ่าตัดเอาลูกตาออก ส่วนตาที่เหลืออีกหนึ่งข้างมีอาการสายตายาว หมอเคยให้แว่นสำหรับสายตายาวมา แต่ยายทำตกน้ำหายไปแล้ว เราได้พาคุณยายไปพบแพทย์ วัดสายตาและทำแว่นตาใหม่ให้เรียบร้อยแล้ว

และได้มีการสำรวจบ้านคุณสุชาดา ลูกสาวของคุณยายที่ขอความช่วยเหลือเป็นสังกะสีเพื่อนำไปซ่อมแซมบ้าน ซึ่งฝ่ายช่างจะได้เสนองบประมาณเพื่อให้ความช่วยเหลือในโครงการที่ ๒ ต่อไป

(๑๕) คุณยายทองใบ และ พี่จุก


พื้นที่หมู่ ๖ คุณยายทองใบ ขาวเลิศ อายุประมาณ ๗๑ ปี อาศัยอยู่กับลูกชายชื่อ คุณสุริวงศ์ ขาวเลิศ อายุ ๔๓ ปี อาศัยอยู่กัน ๒คน แม่ ลูก
คุณยายทองใบมีอาการปวดขา ไปไหนต้องถัดไป และแพ้ยารักษากระดูกที่โรงพยาบาลจัดให้ โดยจะไอจนไม่ได้นอนทั้งคืน จึงไปหาหมอตามคลีนิก เมื่อยาที่คลีนิกหมดก็เอาตัวอย่างยาไปเทียบเพื่อหาซื้อเองที่ตลาดเสนา จ่ายค่ายาประมาณครั้งละ ๓๐๐-๔๐๐ บาท

คุณสุริวงศ์หรือ พี่จุกมีสภาพร่างกายไม่สมบูรณ์ คือแขนข้างซ้ายกุดตั้งแต่ส่วนก่อนข้อมือ (โดยตัดข้อมือ เพราะเคยจุดประทัดแล้วประทัดโดนมือบาดเจ็บ ๓ นิ้ว แล้วเกิดอาการติดเชื้อ หมอจึงตัดมือบริเวณข้อมือ อาชีพทำนา ปีละ ๒ ครั้ง (นาปี ๑ ครั้ง – นาปรัง ๑ ครั้ง) ตอนก่อนน้ำท่วมโชคดีที่เกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว นาที่ทำเป็นนาเช่าของคนอื่น มีเนื้อที่ ๑๔ ไร่ (ค่าเช่าไร่ละ 500 บาท / ปี) ในการทำนาจะทำร่วมกับลูกพี่ลูกน้องอีกคนหนึ่ง (จะเป็นลักษณะเอาแรงกัน พอเขาทำของเขา เราก็ไปช่วยเขา) รายได้จากการทำนาจะได้ประมาณครั้งละหมื่นกว่าบาท (หักค่าลงทุนออกแล้ว) ข้าวที่ได้มาส่วนใหญ่จะขายไม่ได้เก็บไว้กินเองเพราะในชุมชนไม่มีโรงสี (จึงต้องซื้อข้าวกินทั้งที่ทำนา) เวลาว่างจากการทำนา พี่จุกจะไปหารับจ้างก่อสร้างกับญาติที่รับเหมาก่อสร้าง ได้เงินวันละประมาณ ๒๐๐บาท แต่บางช่วงที่ว่างจากหน้านาก็ไม่มีงานเข้ามาก็จะไม่มีรายได้

ช่วงน้ำท่วมไม่มีรายได้อะไร เพราะงานรับเหมาเขาก็ยกเลิกไว้ก่อน ก็เลยออกหาปลา เก็บผักบุ้ง เก็บสายบัวมาสำหรับเป็นอาหารกินในบ้านหลังจากน้ำลดแล้ว คิดจะปลูกผักเล็กๆ น้อยๆ ไว้สำหรับกินเองในบ้าน แล้วหลังจากนั้นก็จะหาลู่ทางทำนาต่อไป

บ้านของคุณยายทองใบและพี่จุกเป็นภาคสนามอย่างดีที่คุณครูได้พานักเรียนไปเรียนรู้วิถีชีวิตชาวนาที่ยังคงเหลืออยู่ เด็กๆ ได้ไปช่วยบีบนวด พูดคุย เก็บกวาดบ้าน ให้คุณยายทองใบ และยังได้ออกไปหาปลากับพี่จุกด้วย

(๑๔) คุณลุงด้วง



คุณลุงด้วง ศิริอรรถ อายุ ๖๕ ปี บ้านเลขที่ ๑๕ หมู่ ๕ ต.ทางช้าง อ.บางบาล
มีอาการพิการคือขาลีบ เดินไม่ได้ เท้าบิดเบี้ยวตั้งแต่อายุ ๔ ขวบ ไม่มีครอบครัว อาศัยอยู่กับพี่สาวอายุประมาณ ๗๐ ปี
อาชีพตอนก่อนน้ำท่วม คือไปรับผักมาขายโดยเอาผักใส่รถเข็นออกขายผัก ช่วงน้ำท่วมหรือน้ำลดใหม่ๆ จึงค่อนข้างขัดสนเพราะยังไม่สามารถชื้อผักมาขายได้
ความช่วยเหลือที่ลุงอยากได้คือ อยากได้รับเงินสงเคราะห์ผู้พิการจากส่วนราชการบ้าง ขณะนี้บัตรผู้พิการที่หมดอายุ ทางผู้ใหญ่บ้านได้ช่วยดำเนินการต่ออายุแล้ว

ด้วยคุณลุงต้องต่อสู้ชีวิตมาตั้งแต่เล็ก ทำให้ไม่วางใจคนง่ายๆ และ มีความรู้สึกน้อยในใจในครอบครัว ที่ทำให้คุณลุงต้องพิการและลำบาก
ในทางกลับกัน พวกเรากลับเห็นคุณค่าในความเป็นนักสู้ของคุณลุง รู้สึกทึ่งและอยากให้คุณลุงภูมิใจในตนเองเช่นกัน
ดังนั้นสิ่งที่อาสาสมัครจะทำได้คือแวะไปเยี่ยมเยียนให้กำลังใจคุณลุงอย่างสม่ำเสมอ

(๑๓) คุณยายฟัก และ คุณสมชาย


นายสมชาย วงศ์ชมพู เลขที่ ๙/๒ ม.๕ อ.บางบาล อายุ ๓๖ปี ป่วยเป็นโปลิโอตั้งแต่อายุ ๑๒ปี
อาศัยอยู่กับแม่ คือนางฟัก รัตนินมงคล อายุ๖๖ปีซึ่งป่วยเป็นโรคเข่าเสื่อมเดินบนพื้นดินหรือพื้นที่ไม่เรียบไม่ได้จะล้ม ซึ่งเป็นผู้ดูแลหาอาหารให้


ครอบครัวมีรายได้จากพี่สาว อาชีพกวาดตลาดไท (พี่สาวมีลูกสาวอายุ ๑๐ปี เรียนที่ร.ร.วัดหัวเวียง)
คุณสมชายพยายามช่วยเหลือตัวเอง ตักข้าวกินเองได้ เวลาลุกนั่งต้องมีคนคอยดันหลังให้ ได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐเดือนละ ๒๐๐บาท
ครั้งแรกที่เราไปพบคุณสมชายความเจ็บป่วยเร่งด่วนมีอาการปอดอักเสบ ไอเป็นเลือด จึงได้ประสานงานส่งร.พ.เสนาเรียบร้อยแล้ว
ในครั้งต่อมาได้ดำเนินงานนำคุณยายฟัก ไปพบแพทย์กระดูกที่ร.พ.เสนา ซึ่งแพทย์แนะนำว่าควรมีญาติมาเรียนรู้วิธีการทำกายภาพบำบัดจากทางร.พ.เพื่อจะได้นำไปฟื้นฟูกล้ามเนื้อให้คุณยายก่อนที่จะอ่อนแรงไปมากกว่านี้ แต่ลูกสาวต้องไปทำงานทุกวัน อาสาสมัครอาจทำหน้าที่นี้แทน โดยการส่งต่อ หมุนเวียนกันลงไป


ทั้งนี้สภาพบ้านที่ชำรุดทรุดโทรม ขาดห้องน้ำที่ถูกสุขลักษณะ ได้ฝ่ายช่างและอาสาสมัครลงไปสำรวจและพูดคุยกับเจ้าของบ้านทั้งคู่แล้ว พบว่าการซ่อมแซมต่อเติมห้องน้ำบริเวณชั้นบน จะได้ใช้ประโยชน์มากกว่า ทำห้องน้ำที่ด้านล่าง เนื่องจากชั้นล่างเพดานต่ำ ลมไม่สามารถระบายได้ ซึ่งปัจจุบันทั้งคู่จะต้องนั่งอยู่ที่ชั้นล่างตั้งแต่เช้า โดยเฉพาะคุณสมชายจะขยับตัวได้อีกทีก็ตอนหลานกลับมาจากโรงเรียนแล้วเท่านั้น ประกอบกับใต้ถุนเป็นน้ำเสียชั้นล่างจึงมียุงเยอะ ส่วนการสร้างห้องน้ำใหม่ที่จะต่ออกจากชานเรือนชั้นบน ก็จะต้องมีระดับเดียวกันกับพื้นบ้านเพื่อให้สะดวกต่อคุณสมชายที่แทบจะไม่มีแรงยกตัวเองเลย
ทั้งนี้กำลังดำเนินการร่างแบบและขออนุมัติงบประมาณในการซ่อมแซม ก่อสร้างในโครงการที่ ๒ ต่อไป


(๑๒) คุณลุงสมชาย


ลุงสมชาย พรหมมาศ
ถูกภรรยายิงที่หลังเมื่อ ๑๔ ปีก่อน ตอนนี้ภรรยาเป็นโรคกระเพาะและเสียชีวิตมาหลายปีแล้ว อาศัยอยู่บ้านน้องสาวและน้องสาวเป็นผู้ดูแล อัมพาตครึ่งท่อนล่าง ขายกไม่ได้ ไม่มีความรู้สึก มีแผลกดทับเป็นบริเวณกว้างที่ก้นและที่ขาทั้ง ๒ ข้าง สภาพแผลอนามัยประจำตำบลบอกว่ายังเป็นแผลที่ดีอยู่เพราะยังไม่กลายเป็นแผลเนื้อตาย ใส่สายท่อปัสสาวะ – ถุงยูริกแบ็ค ส่วนบัตรต่างๆ เช่นบัตรทอง, บัตรผู้พิการถูกโรงพยาบาลเสนาเก็บไปประมาณ ๒ ปีแล้ว ตั้งแต่โรงพยาบาลเก็บบัตรไปก็ไม่ได้ไปติดต่อโรงพยาบาลอีก นอกจากนี้มีโรคประจำตัวคือโรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิต ตอนนี้รับประทานยาเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลและความดันโลหิตอยู่ ตอนที่น้ำยังไม่ท่วมจะไปเปลี่ยนสายท่อปัสสาวะและถุงยูริคแบ็คที่โรงพยาบาล ตอนนี้น้ำท่วมไม่สะดวกเดินทางไปโรงพยาบาลเองจึงให้พยาบาลที่รู้จักกันมาล้างทำความสะอาดสายท่อปัสสาวะและถุงยูริคแบ็คให้ มีค่าใช้จ่ายครั้งละประมาณ ๓๐๐ ส่วนร่างกายท่อนบนยังใช้การได้ดีอยู่ แขน – มือ ยังใช้การได้เป็นปกติ รับประทานข้าวและน้ำได้เป็นปกติ หลังจากน้ำลดแล้วลุงบอกว่าต้องย้ายลงไปอยู่กระต๊อบใกล้ข้างบ้านน้องสาวเพราะอากาศถ่ายเทดีกว่า เพราะฉะนั้นเรื่องที่เราจะหาทางทำราวไม้หรือราวเชือกไว้ให้คุณสมชายเหนี่ยวเพื่อให้สามารถพลิกตัวได้เองต้องรอดูสถานที่ให้ที่คุณสมชายจะไปอยู่ก่อน


ความช่วยเหลือที่เราช่วยไปแล้วคือให้ชุดทำแผล ชุดยังชีพ และอาหารปรุงสุก เกี่ยวกับเอกสารบัตรสิทธิเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลหาย ทางเรากำลังติดตามขอทำเอกสารใหม่ที่โรงพยาบาลเสนา ส่วนอาการโดยทั่วไปของลุงตอนนี้แผลกดทับที่ก้นและที่ขาดีขึ้นบ้างแล้ว แต่มีแผลกดทับใหม่ที่บริเวณหน้าอก เนื่องจากนอนคว่ำแล้วเอาหมอนมารองหน้าอก ถ้าแผลกดทับที่บริเวณก้นหายแล้วสามารถนั่งได้ลุงก็อยากได้รถเข็นที่มีที่โยก เพื่อที่จะไปไหนใกล้ๆ ได้เองบ้าง

(๑๑) คุณยายสำแร




คุณยายสำแร สุริยันต์
คุณยายแร อายุประมาณ ๗๙ ปี บ้านเลขที่ ๑๐๙ หมู่ ๘ ต.น้ำเต้า (ชุมชนหลังวัดโรงนา) สภาพบ้านอยู่ใกล้แม่น้ำ ตอนน้ำท่วมจึงถูกน้ำท่วมในระดับสูงทำให้เสาบ้านโดนน้ำพัดจนตัวบ้านและเสาเอียง เมื่อน้ำแห้งฝ่ายอาคารพร้อมด้วยอาสาสมัครนักเรียนชั้นม.๕ ห้องคุณครูอ๊อด ได้ไปลงแรงช่วยกันซ่อมแซม คือเปลี่ยนเสาปูนที่ชำรุดใหม่จำนวน ๖ ต้น ช่างได้ดีดบ้านที่แอ่นเอียงให้มั่นคง และทำห้องน้ำให้พร้อมใช้งานได้ และ เพิ่มราวเกาะบันไดที่มั่นคงให้คุณยาย
ในเรื่องความเจ็บไข้ได้ป่วยของคุณยายแรมี ๒ เรื่อง คือ หัวเข่าข้างขวาจะมีลักษณะบวมและปวดมากจนกลางคืนนอนไม่หลับ ได้แต่กินยาแก้ปวด เมื่อเดินแล้วจะปวดมาก มีเพื่อนบ้านใกล้ๆ ให้ไม้เท้าอะลูมิเนียมมา ๑ อัน เมื่อครูอาสาลงไปเยี่ยมมีคุณครูจูดี้ใช้วิชานวดช่วยผ่อนคลายความปวดให้คุณยายได้บ้าง และแนะนำว่าเราควรจัดหาชุดลูกประคบไปไว้ให้ลูกเลี้ยงของคุณยายได้ช่วยประคบให้เป็นประจำ ส่วนตาข้างซ้ายจะมีปัญหาเรื่องการมองเห็นคือจะมองเห็นได้เลือนลางมาก และตาทั้ง ๒ ข้างอาจจะมีต้อเพราะมีแผ่นฟิล์มขาวๆ เคลือบตาอยู่ การดำเนินการในเบื้องต้น ได้ทำเอกสารขอใบส่งตัวจากร.พ.เสนา และ คุณครูสมพรได้พาคุณยายไปพบจักษุแพทย์ที่ร.พ.อยุธยาแล้ว ได้รับยาหยอดตามาบรรเทาอาการ แต่ยังไม่ได้รับการนัดหมายเพื่อรักษาด้วยการผ่าตัดแต่อย่างใด

Friday, February 23, 2007

(๑๐) คุณลุงเตี้ย


นายวันชัย เฉลิมสิน
อายุ ๖๐ ปี อาศัยตัวคนเดียวบนบ้านเช่าชั้นบน มีเจ้าของบ้านเช่า คอยจุนเจือบ้าง อดีตเป็นช่าง พิการเนื่องจากกระดูกสันหลังบั้นเอวหลุด ขาซ้ายไม่มีแรง ลีบเล็กกว่าปกติ ต้องใช้ไม้เท้าเดิน หลังจากประสบอุบัติเหตุจึงปลูกสวนครัวหารายได้เล็กๆ น้อยๆ น้ำท่วมทำให้ขาดรายได้ ต้องฝากคนซื้ออาหารมาให้ เดิมเป็นโรคกระเพาะอยู่เดิม เมื่อเป็นโรคกระดูก ยาที่ได้รับทำให้โรคกระเพาะรุนแรงขึ้น นอกจากอาการปวดท้องยังมีอาการปวดกระดูก สันหลังบั้นเอวรุนแรง แพทย์แนะนำให้ผ่าตัดใส่เหล็กดาม เพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวด และ สามารถกลับมาทำงานหารายได้เลี้ยงชีพได้บ้าง
แต่คุณลุงไม่มีเงินที่จะชำระค่าผ่าตัด (ส่วนเกินจากบัตรทอง) มูลนิธิโรงเรียนรุ่งอรุณจึงรับเป็นเจ้าของไข้ให้คุณลุงได้ผ่าตัดรักษาเป็นจำนวนเงิน ๗,๗๘๘บาท
ซึ่งขณะนี้คุณลุงเข้ารับการผ่าตัดเรียบร้อยและไปพักฟื้นอยู่กับลูกสาวซึ่งทำงานโรงงานในเมืองชั่วคราว

(๙) คุณลุงบุญรอด-คุณป้าสมจิตร



นายบุญรอด ผ่องอรุณ
อายุ ๗๗ ปี ป่วยเป็นอัมพฤกษ์ ข้างขวาเดินไม่ได้ จากอุบัติเหตุตกสะพานเมื่อ ๒ ปี ที่แล้ว อยู่กับภรรยาชื่อคุณยายจิตร น้ำท่วมขังต้องยกพื้นและอยู่เฉพาะบนแคร่ เดินไม่ได้ มักนอนบนเตียงทั้งวัน ทำให้แขนขาไม่มีแรง หูไม่ดี การพูดไม่ชัดเจน ไม่สามารถดูแลตัวเองได้ ต้องรอคุณยายซึ่งมักไปปันอาหารจากวัด กลับมาดูแล


คณะแพทย์อาสา (ผู้ปกครอง) ได้เคยแวะไปเยี่ยมและให้คำแนะนำและกำลังใจในการทำกายภาพบำบัดให้ตัวเองอย่างง่าย แก่คุณลุงบุญรอด เชื่อว่าหากคุณลุงมีกำลังใจหมั่นใช้แขนข้างซ้ายยกแขนข้างขวาที่ไม่มีแรงขึ้น-ลง ทุกวัน จะช่วยฟื้นฟูสภาพกล้ามเนื้อได้ และ จะช่วยเบาแรงคุณป้าที่ต้องดูแลอีกด้วย


สำหรับคุณป้าสมจิตร เราได้พาไปพบแพทย์ที่ร.พ.เสนา ด้วย แต่คุณป้าไม่อยากไปรักษาต่อที่ร.พ.อยุธยา จึงไม่ได้ทำเอกสารส่งตัว เพียงแต่ปรึกษาแพทย์ถึงสุขภาพอื่นๆ ทั่วไป


เมื่อน้ำลดเราได้แวะไปเยี่ยมไม่พบคุณป้าเนื่องจากออกไปรับจ้างทำความสะอาด พบแต่คุณลุงบุญรอดนั่งพักอยู่ที่สะพานทางเดิน ข้างบ้านมีหลานคอยดูแลอยู่ ได้ให้กำลังใจคุณลุงให้หมั่นทำกายภาพ

(๗) คุณป้าสังเวียน-คุณลุงสนิท (๘) คุณลุงพิมพ์


บันทึกจากพ.ญ.สมบูรณ์ แพทย์อาสา(ผู้ปกครอง) ที่ลงพื้นที่ไปเยี่ยมชุมชนวัดบ้านแพนช่วงน้ำท่วม

นางสังเวียน คุ้มพิทักษ์
ความดันตาข้างขวาสูงมาก ควรพบแพทย์โดยด่วนเพื่อผ่าตัด

นายสนิท คุ้มพิทักษ์ (สามีป้าสังเวียน)
เป็นต้อเนื้อ เคยพบจักษุแพทย์ที่ร.พ.เสนา

นายพิมพ์ กระจ่างหล่ม
อายุ ๗๖ ปี เป็นต้อเนื้อ ควรรีบรักษาก่อนถึงตาดำ มีอาการหายใจเหนื่อย และคันที่หน้าอกหลังเวลาเหงื่อออก


ทั้ง ๓ ท่านนี้ อยู่บ้านใกล้กัน โดยคุณลุงพิมพ์เป็นพี่เขยของคุณลุงสนิท ในช่วงน้ำท่วมไม่สะดวกที่จะไปร.พ. อาสาสมัครจึงได้นำส่งร.พ.เสนา เพื่อตรวจสุขภาพ และ ทำเอกสารส่งตัวเพื่อไปรักษาโรคตาที่ร.พ.อยุธยา ซึ่งคุณลุงคุณป้าได้เดินทางไปตรวจแล้ว แต่ยังไม่ได้คิวผ่าตัดแต่อย่างใด
คณะอาสาสมัครกำลังประสานงานกับโรงพยาบาลและหน่วยงานของรัฐ เพื่อดำเนินการส่งผู้ป่วยโรคตาทั้ง ๓ คนนี้เพื่อให้ได้รับการดูแลรักษา ที่เหมาะสมต่อไปตามความจำเป็นเร่งด่วนต่อไป

(๖) คุณป้าจำลอง


คุณป้าจำลอง
เป็นหนึ่งในคนพายเรือให้อาสาสมัครในช่วงน้ำท่วม คุณป้าเป็นโปลิโอตั้งแต่เล็กเดินไม่ได้ ใช้เข่าคลานต่างขา และมีโรคอื่นๆ คือ เบาหวาน หัวใจ ความดัน อาศัยอยู่ตัวคนเดียวแม้จะมีลูกชายสองคนอยู่ในบริเวณใกล้กัน แต่ไม่ค่อยมาดูแลช่วยเหลือ คุณป้าต้องดูแลหาอาหารเอง โชคดีบ้านอยู่ติดน้ำจึงหาปลากินได้บ้าง เดิมมีรายได้วันละ ๒๐-๓๐บาท จากการช่วยทำปลาเค็ม และได้รับเงินช่วยเหลือคนพิการเดือนละ ๕๐๐บาท คุณป้าเป็นคนขยันจึงเช่าเรือเพื่อมีอาชีพรับจ้างพายเรือช่วงน้ำท่วม ซึ่งนับว่าช่วงน้ำท่วมทำให้คุณป้าไปไหนมาไหนได้สะดวกกว่าช่วงน้ำลดเสียอีก

สภาพบ้านทรุดโทรมหลังคาบ้านทะลุ หลังจากน้ำลดแล้วเราได้ช่วยกันซ่อมแซมบ้านให้คุณป้า ทั้งหลังคา และ พื้นบ้านบางส่วน มีเด็กๆ ป.๖ ไปทำอาหารเพื่อร่วมรับประทานกับคุณป้าด้วย

(๕) คุณยายส้มลิ้ม-คุณตาสี




คุณยายส้มลิ้ม
อายุ ๖๘ ปี เป็นพี่สาวของป้าจำลองป่วยเป็น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง เมื่อ ๒-๓ ปีก่อน ส่งผลให้ร่างกายซีกล่างเป็นอัมพาต เดินไม่ได้ ช่วยเหลือตัวเองไม่ค่อยได้ ซึมเศร้า เวลาถามตอบ มักพูดซ้ำๆ และร้องไห้ตลอดเวลา




คุณตาสี สามีของคุณยายส้มลิ้ม คุณตาเป็นต้อหินมองไม่เห็นแต่ยังเดินได้เคยพบแพทย์นานมาแล้ว และทางบ้านไม่ได้พาไปรักษาต่อ เนื่องจากคิดว่ารักษาไม่ได้แล้ว

ครั้งแรกที่เราไปพบเป็นช่วงน้ำท่วม คุณป้าจำลองซึ่งเป็นน้องสาวของคุณยายส้มลิ้มเป็นคนพายเรือรับจ้างได้พาอาสาสมัครไปแวะที่บ้านลูกเขย ซึ่งรับคุณตาและคุณยายไปอาศัยชั่วคราว เนื่องจากเกรงว่าสองคนตายายอยู่บ้านเองอาจจะตกน้ำได้ แต่สภาพห้องพักที่ไปอาศัยอยู่นั้นอึดอัดคับแคบ มืดและมีกลิ่นเหม็นจากปัสสาวะ ลักษณะห้องที่อยู่คล้ายห้องเก็บของ อยู่หลังห้องน้ำ อาจเนื่องจากคุณยายส้มลิ้มขาลีบต้องใช้การถัด จึงสะดวกสำหรับคนดูแลในการชำระล้างสิ่งขับถ่าย แต่คุณยายมีภาวะเครียดและซึมเศร้า เพราะบ้านเดิมนั้นมีพื้นที่กว้างขวางสามารถเคลื่อนที่ได้สบาย

ครั้งนั้นเราพบว่าคุณตามีปัญหาเรื่องตา เราจึงนัดกับคุณปรานี(ลูกสาว)ว่าจะขอนำคุณตาไปพบแพทย์ที่ร.พ.เสนา เพื่อขอใบส่งตัวไปตรวจรักษาที่ร.พ.อยุธยา เช่นเดียวกับคนชราอีกหลายรายที่เราไปพบ เนื่องจากร.พ.เสนา ช่วงนั้นขาดจักษุแพทย์ ลูกสาวอนุญาตให้เรานำคุณตาไปได้ การติดตามผลครั้งล่าสุดทางบ้านได้ใช้ใบส่งตัวจากร.พ.เสนานำคุณตาไปพบจักษุแพทย์ที่ ร.พ.อยุธยา แล้ว ได้คิวผ่าตัดเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๐



เมื่อน้ำลด... เราได้แวะไปเยี่ยมคุณตาและคุณยาย ซึ่งย้ายกลับมาอาศัยบ้านของตนเองแล้ว พบว่า สภาพบ้านซึ่งมีอายุ ๗๘ ปีทรุดโทรมมาก จุดที่เราซ่อมแซมให้คือ บริเวณบันได้ขึ้นลง ชานเรือนหน้าห้องน้ำ พร้อมพื้นห้องน้ำที่ผุทะลุเป็นอันตรายสำหรับคนตาบอด และ พิการท่อนล่างอย่างคุณตา คุณยาย และยังได้ตีไม้เป็นราวกันตกตรงระเบียงที่คุณตานอน

เราพบว่าแม้มีบ้านลูกหลานอยู่รอบๆ (คุณตาคุณยายมีลูก ๗คน) แต่สภาพแวดล้อมทั้งในและรอบๆ บ้านยังต้องการผู้ดูแลเอาใจใส่เรื่องสุขอนามัย เนื่องจากลูกสาวมีอาชีพทำปลาดุก ปลาหมึกขาย แต่ไม่มีระบบการระบายน้ำ จัดการขยะที่เหมาะสม ทำให้บริเวณโดยรอบมีกลิ่นเหม็นและแมลงวันจำนวนมาก รวมทั้งสภาพจิตใจของคุณยายที่ต้องการคนเอาใจใส่ดูแล เราได้ระดมกำลังอาสาสมัครช่วยกันเก็บกวาดขยะรอบๆ บ้านได้ถึง ๓๐ กว่าถุงดำ ฝังกลบขยะเน่าเหม็น ขุดทำท่อระบายน้ำให้เป็นทางไม่อุดตัน อาสาสมัครสามารถจัดการได้บางส่วน หากแต่คงต้องอาศัยเวลาในการที่จะสนับสนุนลูกๆ หลาน ให้เห็นถึงความสำคัญในการสร้างสุขอนามัยที่ดีให้ครอบครัวและชุมชนของตน เป้าหมายสูงสุดคือให้เกิดระบบการจัดการที่มาจากลูกๆ ที่ใช้พื้นที่บริเวณนั้นเอง

(๓) คุณยายทองหยิบ (๔) คุณยายสะอาด-ป้าแดง





(๓) คุณยายทองหยิบ เนื่องคำมา (พี่)
อายุ ๘๘ ปี อาชีพเก็บขวดขาย
ที่อยู่ตามบัตรประชาชน : ๗๒ หมู่ ๗ ต.สามกอ อ.เสนา จ.อยุธยา
สภาพบ้าน : มุงด้วยสังกะสี มีรู ไม่มีประตูบ้าน ช่วงที่ไปอากาศหนาว คุณยายต้องออกมานั่งตากแดดหน้าบ้าน มุ้งและที่นอนบางมาก ผ้าห่มมีผืนเดียว เสื้อกันหนาวก็ดูเก่ามาก ในบ้านมีฝุ่นเขรอะอาจจะไม่ได้ทำความสะอาดมานานแล้ว ใช้ตะเกียงซึ่งไม่มีฝาครอบ (น่าอันตรายมาก) ต้องหุงหาอาหารกินเอง บางครั้งก็ไปกินบ้านน้องสาว แต่ดูจากที่คุยไม่ค่อยถูกกับหลานสะใภ้เท่าไหร่
รายได้ : ไม่ได้ทำงานเพราะเดินไม่ค่อยได้แล้ว ถ้ามีรถไปตลาดชาวบ้านก็จะให้เงินมาบ้างเล็กน้อย ข้าวสารได้จากชาวบ้านที่ให้มา ไม่มีใครดูแล มีหลานสาว แต่ไปอยู่ชัยภูมินานๆ ถึงจะมาเยี่ยมสักครั้ง

********************************************************************************



(๔) คุณยายสะอาด สุ่มศรี (น้อง)
อายุ ๘๔ ปี (ปีพ.ศ.๒๔๖๒) เกิดที่บ้านแพ
อยู่กับลูกสะใภ้ชื่อแดง เมืองกริ่ม มาจาก จ.ชลบุรี อายุ ๖๐ ปี (ป้าแดง)
สามีได้เสียชีวิต เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๕ เป็นโรคนิ่ว และมะเร็งที่ลำคอ
สภาพบ้าน : มุงด้วยสังกะสีเก่า ๆ โครงสร้างไม่แข็งแรงแบ่งเป็น ๒ ห้อง คือ ห้องนอนและห้องเก็บของ (ไม่สามารถเข้าไปดูสภาพด้านใน) น้ำดื่มเอาจากคลองที่เลี้ยงเป็ดไก่ มาแช่สารส้มแล้วดื่ม มีการปลูกผักใส่ในถัง(ใบกะเพราและสะระแหน่) เก็บปลาที่ชาวบ้านให้มาจากที่เหลือกินนำมาตากแห้ง ใช้ตะเกียง
๒ เดือนที่ผ่านมาคุณณิชชัย คนเลี้ยงเป็ด ห่าน ได้ต่อไฟมาให้จากบ้าน ทำให้แกไม่ได้ใช้ตะเกียง (แต่วันไหนไฟตัดก็ใช้ตะเกียงเหมือนเดิม)
คุณยายสะอาด ไปซักผ้าให้คุณณิชชัยกับภรรยา ได้วันละ ๓๐ บาท แต่ต่อมาไม่ได้ไปซักแล้ว เพราะภรรยาได้หนีไปแล้วคุณณิชชัยจึงซักเอง
มีโรคประจำตัว คือ ความดันกับเบาหวาน (ต้อกระจกรักษาหายแล้ว) ที่ผ่านมาหมอนัดไปตรวจแต่ไปไม่ได้ เนื่องจากไม่มีเงิน
ปัจจุบัน ไม่มีรายได้จุนเจือครอบครัว ได้ข้าวสารมาจากตำรวจทางหลวง ๕ ถุง (ใกล้จะหมดแล้ว)
ที่ตั้งบ้านอาศัยที่หลวง อยู่ตรง สะพาน ๒ ถนนสุพรรณบุรี เสนา ฝั่งขวามือ ก่อนขึ้นสะพาน ตรงข้ามกับปากทางเข้าวัดเจ้าแปรก (ทางเข้าบึงปลาบึก)


คุณป้าแดง เป็นผู้ดูแลความเป็นอยู่ของคุณยายทั้งสอง ตัวป้าแดงเองเป็นลูกสะใภ้ของคุณยายสะอาด สามีเสียชีวิตไปแล้ว แต่ก็ยังไม่ทอดทิ้งคุณยาย
แม้ทั้งสามจะมีข้อขัดแย้ง กันบ้างตามประสาคนสูงอายุ ขี้น้อยใจ แต่ก็อยู่ด้วยกันมานานหลายปีแล้ว


********************************************************************************

เราไปพบบ้านสองหลังนี้จากพี่จอย คนแถววัดบ้านแพนเห็นว่าเราลงไปให้ความช่วยเหลือในชุมชนหลังวัด จึงมาชวนพวกเราไปดูสภาพความเป็นอยู่ของคุณยาย ที่ลำบากยากจนมากกว่าบ้านหลังไหนๆ ที่เราได้แวะเข้าไปช่วยเหลือ ทั้ง ๓ คน มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านของเจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยวเรือรสจ๊าบ (ร้านประจำที่คณะทำงานมักแวะทานช่วงที่ไปปฏิบัติงาน) จากการพูดคุยและเยี่ยมบ้าน ๒ หลังนี้ พบว่าปลูกสร้างอยู่บนที่ของหลวง-ชลประทาน และมีแนวโน้มว่าจะมีการตัดถนนในอนาคต ป้าแดงอยากให้เราสร้างบ้านใหม่ให้ริมคลอง แต่เป็นการบุกรุกที่หลวงประกอบกับ คุณยายทองหยิบไม่อยากย้ายไปอยู่บ้านรวมกัน อยากอยู่คนเดียวหลังเดิม ครูจอมจะสอบถามความเห็นของผู้ใหญ่บ้านก่อนที่จะสรุปแผนการช่วยเหลือที่เหมาะสมต่อไป


ส่วนสภาพบ้านเดิมที่ควรซ่อมแซมให้สามารถอยู่ได้ มีดังนี้


บ้านคุณยายทองหยิบ ปะ มุง สังกะสีที่รั่ว ติดประตูเพิ่ม



บ้านคุณยายสะอาด ดัน ดีด ยกเสาที่แอ่นเอียง ซ่อมแซมประตู หลังคา



ทั้ง ๒ หลัง ใช้น้ำจากคลอง ซึ่งปัจจุบันทางขึ้นลงสูงชัน ควรช่วยวางสะพานชั่วคราวให้สะดวก มั่นคงขึ้น


หมายเหตุการให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นที่ดำเนินการไปแล้ว
- นำข้าวสาร อาหารแห้ง น้ำสะอาด (พร้อมล้างโอ่ง) รวมทั้ง ผ้าห่ม ที่นอน หมอนมุ้ง ตะเกียง ไปมอบให้ทั้ง ๒ หลัง
- จัดทำแปลงผัก โดยคุณครูต้นพาน.ร.ม.ปลายชั้นคละ ไปทำให้จำนวน ๕ แปลง (แปลงที่อยู่หลังบ้านไกลน้ำค่อนข้างแห้งแล้ง ส่วนแปลงสุดท้ายที่ไปทำริมคลองมียอดอ่อนขึ้นแล้ว คราวหน้าน่าจะย้ายแปลงไปทำเพิ่มที่ริมคลอง)
- ครั้งหน้าควรนำข้าวสาร ถั่วเขียว ของแห้งที่มีประโยชน์ ไปฝากเพิ่มเติม
- คุณยายทองหยิบบ่นเหนื่อย เพลีย ตามประวัติไปพบแพทย์ที่เสนา (หมอวิวัฒน์) อยู่แล้ว อาจจะติดขัดเรื่องการเดินทางบ้าง

(๒) คุณยายบุญธรรม




คุณยายบุญธรรม ขาวลออ
ครั้งแรกที่พบคุณยายบุญธรรม ขณะนั้นคุณลุงอุดม ลูกชายคนกลางซึ่งมีอาชีพขับสามล้อในตลาดกำลังดำงม ของที่จมอยู่ใต้น้ำ เนื่องจากกลับมาเก็บของไม่ทันเมื่อน้ำมาในปริมาณมาก คุณยาย ลูกสะใภ้ และ หลาน นั่งอยู่บนพื้นที่ยกสูงหนีน้ำ ขาดแคลนทั้งน้ำสะอาด และ อาหารการกิน


เมื่อเราลงไปเยี่ยมอีกหลายครั้งจึงทราบว่า เรือนของคุณยายนั้นแยกออกจากเรือนของลุงอุดม แม้กำลังขาจะไม่มี ต้องใช้มือถัดพื้น เพื่อเคลื่อนที่ไปรอบๆ บ้าน คุณยายก็ยังต้องหุงหาอาหารทานเอง ในช่วงที่ลูกชายไปขี่สามล้อ ปริมาณข้าวที่ตวงหุงแค่พอทานมื้อสองมื้อ กับอาหารง่ายๆ อย่างไข่ดาว คุณยายก็ไม่เคยบ่น หูคุณยายไม่ดี เวลาจะพูดคุยต้องไปพูดข้างๆ หู นักเรียนป.๖ และคุณครูอาสา จึงมักแวะไปรับประทานอาหารกลางวันกับคุณยายในช่วงที่เราลงไปก่อสร้างในพื้นที่เสนา เมื่อมีเพื่อนคุยอาหารมื้อนั้นก็ดูอร่อยขึ้น คนทานมีชีวิตชีวาขึ้น ครูอาสาพากันไปทำความสะอาดทั้งในห้องครัว ห้องน้ำ ซึ่งมีกองทัพยุงอาศัยอยู่


บ้านของคุณยายได้รับการซ่อมแซมในส่วนของฝาผนัง ระเบียงบ้าน ตอนนี้คุณยายก็มีที่นั่งเล่นช่วงกลางวันที่มั่นคงแข็งแรงพอ แต่นั้นคงไม่ช่วยให้คุณยายแจ่มใสได้เท่ากับช่วงเวลาที่มีลูกๆ หลานๆ มานั่งคุย ดูแลข้าวปลาให้เป็นแน่

(๑) คุณตาแกละ


คุณตาแกะ อิ่มประยูร

อายุ ๘๕ ปี อยู่ตัวคนเดียว กระดูกสันหลังโค้งงอและรู้สึกเจ็บ ยืดไม่ได้ ช่วงที่น้ำท่วมมีลักษณะของภูมิแพ้เป็นผื่น คันและคัดโพรงจมูก อาจเกิดจากสัตว์เลี้ยงในบ้าน และการใช้น้ำที่ท่วมขังทำความ สะอาดร่างกาย

คุณตาเล่าให้ฟังว่าสมัยก่อนอยู่กับภรรยาและลูก เมื่อภรรยาเสียชีวิต ลูกก็แยกออกไปและไม่กลับมาหาอีกเลย ทุกวันนี้คุณตาอยู่กับหมาแมวหลายตัวที่เสมือนเป็นองครักษ์คอยดูแลไม่ให้คนแปลกหน้ามาวุ่นวายกับคุณตา แต่จากการที่เราลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ทั้งพาคุณตาไปพบแพทย์ที่ร.พ.เสนา ๒ ครั้ง ด้วยอาการเจ็บกระดูกที่โค้งงอ อาการภูมิแพ้ และไข้หวัด โดยลำดับ ประกอบกับช่างของเราไปซ่อมแซมหลังคาและชานบ้านให้คุณตาในช่วงที่น้ำลดแล้ว เหล่าองครักษ์ทั้งหลายจึงค่อยเป็นมิตร สงบปากลงบ้าง (เห่าเบาลง)

คุณตามีรถโยกสำหรับคนพิการ ๑ คัน ไว้โยกไปที่ตลาดเพื่อขอปันอาหารสำหรับตัวเองบ้าง เผื่อแผ่เหล่าองครักษ์บ้าง บางทีกล้ามเนื้อแขนก็รู้สึกหมดแรง โยกไม่ไปเสียอย่างนั้น ยังดีที่ข้างบ้านของคุณตาแกละ มีพี่น้อย ซึ่งเปิดร้านขายก๋วยเตี๋ยวอยู่หน้าบ้านของคุณตา ได้ปันมิเตอร์น้ำ มิเตอร์ไฟ ให้คุณตาใช้ด้วยโดยไม่คิดสตางค์ และรอบๆ ชุมชนหลังวัดบ้านแพน คุณตาก็ดูจะเป็นขวัญใจในชุมชนไม่น้อย เช่นคุณครูปิ่นหทัยจากร.ร.วัดบ้านแพน เดินเข้ามาขอบคุณทีมช่างที่ให้ความช่วยเหลือซ่อมแซมบ้านให้คุณตา ครูปิ่นว่าตาแกละเป็นคนที่สมควรได้รับการช่วยเหลือ

ส่วนคุณครูอาสาที่เป็นขวัญใจของคุณตาแกละ ก็คือ คุณครูอดิเรก ร.ร.มัธยมนั่นเอง คุณตามักถามว่า "วันนี้ไอ้อ้วนไม่มาหรือ?" อาจจะเป็นเพราะคุณครูอดิเรกเป็นคนแรกที่เข้าไปพบคุณตาในช่วงน้ำท่วม ตอนนั้นบ้านคุณตาเหมือนติดเกาะ เรือก็มีเพียงครึ่งลำ แต่คุณตาไม่ได้ทดท้อ กลับบอกว่าไม่ต้องเอาอะไรมาให้มากมาย แบ่งไปให้คนที่เขาลำบากกว่าเถอะ สิ่งที่คุณตาต้องการมากกว่าคือมีเพื่อนคุย ซึ่งคุณครูอดิเรกก็ทำหน้าที่นี้ได้เป็นอย่างดีจนคุณตาไม่อยากให้กลับชวนให้ค้างเสียด้วยกัน และในการเยี่ยมครั้งต่อๆ มา ครูอดิเรกก็พานักเรียนมัธยมลงไปจัดข้าวของ อาหารการกิน เท่าที่จะทำได้ในสภาวะน้ำท่วม ล่าสุดน้ำแห้งแล้ว พวกเราลงไปซ่อมแซมบ้านให้คุณตา มีทั้งนักเรียนป.๖ ครูอาสาหลายท่านทยอยไปเยี่ยมเยียนและปัดกวาดบ้าน จัดข้าวของให้เป็นระเบียบเข้าที่เข้าทาง และเมื่อคุณครูอดิเรกเดินทางไปเยี่ยมได้พาคุณตาทำความสะอาดร่างกาย อาบน้ำให้ คุณตาแกละหัวเราะชอบใจ ความรู้สึกของคุณตาคงเหมือนที่คุณครูเอผู้อยู่ในเหตุการณ์ได้เขียนบันทึกไว้ว่า "คุณตาคงรู้สึกเหมือนได้ลูกชายกลับบ้าน"

คุณตาแกละเป็นแบบอย่างของพวกเราในเรื่องการใช้วิถีชีวิตแบบสมถะ ไม่วุ่นวายเรียกร้องอะไรกับใคร มีน้ำใจ เอื้อเฟื้อ ถึงคนที่ลำบากกว่า เป็นคนอารมณ์ดี ช่างคุย จึงมิต้องแปลกใจที่อาสาสมัครคนไหนลงพื้นที่เสนา จะต้องจดจำคุณตาแกละได้อย่างแม่นยำ

รายนามคนชรา พิการ ยากจน

ทะเบียนประวัติบุคคล
กลุ่มผู้สูงอายุ เจ็บป่วย พิการ

อ.เสนา
(๑) คุณตาแกละ อิ่มประยูร
(๒) คุณยายบุญธรรม
(๓) คุณยายทองหยิบ
(๔) คุณยายสะอาด - ป้าแดง
(๕) คุณยายลิ้ม-คุณตาสี
(๖) คุณป้าจำลอง
(๗) คุณป้าสังเวียน-คุณลุงสนิท
(๘) คุณลุงพิมพ์
(๙) คุณลุงบุญรอด-คุณป้าสมจิตร
(๑๐) คุณลุงเตี้ย

อ.บางบาล
(๑) คุณยายสำแร
(๒) คุณลุงสมชาย (เบาหวาน-อัมพาต)
(๓) คุณยายฟัก - คุณสมชาย
(๔) คุณลุงด้วง
(๕) คุณยายทองใบ-พี่จุก
(๖) คุณยายอุดม
(๗) คุณลุงชาลี
(๘) คุณยายทัน
(๙) คุณลุงสมัคร (พ่อของต๋อง)
(๑๐) คุณลุงบุญชอบ ทรัพย์สง่า

แนวทางในการอุปถัมภ์

(๑) ดูแลเรื่องสุขภาพ พาไปพบแพทย์ ทำกายภาพ ฯลฯ
(๒) ดูแลเรื่องอาหารการกิน จัดสภาพแวดล้อม จัดเก็บทำความสะอาดบ้าน
(๓) แวะเยี่ยมเป็นประจำ เป็นเพื่อนคุย
(๔) จัดส่งเข้าบ้านพักคนชรา (หากจำเป็น)

Thursday, February 22, 2007

(๗) พลอย



พลอย
มีอาการ สั่น เริ่มชักกระตุก พูดจารู้เรื่อง น่าจะช่วยบำบัดให้สามารถดูแลตัวเองได้ และฝึกอาชีพ โรคที่เป็นอยู่รักษากับคลินิกใกล้หมอ (ง.10/18-19 ต.หอรัตนไชย) นพ.ประสงค์ โอนพรัตน์วิบูล(เจ้าของไข้) และ น.พ.ธานินทร์ สีวราภรณ์สกุล (รู้จักกับคุณต๊อก แปลน)
ข้อแนะนำ ๑.คุณนฤมลทดสอบร่างกายของพลอยพบว่า ยืนขาเดียวได้ กระดูกสันหลังยังตรงอยู่ มีอาการกระตุกเท่านั้น และได้สอบถามโดยตรงกับแพทย์เจ้าของไข้แล้วว่ายาที่พลอยได้รับอยู่ช่วยบรรเทาอาการกระตุกที่เป็นอยู่ และแพทย์ยืนยันว่าไม่ใช่โรคเดียวกับเพลง ควรสื่อสารให้พลอยเข้าใจและคลายความกังวลว่าตนจะมีอาการเหมือนพี่ในที่สุด (พลอยมีความกังวล ทำให้ปวดหัวบ่อย และนอนไม่หลับ)
๒.พลอยมีความสนใจเรื่องงานฝีมือ ที่ต้องเป็นงานที่ทำที่บ้านเพราะต้องดูแลพี่
ด้วย งานที่เคยทำ ก็สามารถทำได้ ไม่เคยทำเสียหาย อาชีพที่เป็นไปได้ รับงานปักชุน แก้เสื้อผ้า หรือรับงานโหลจากโรงงาน (ควรหาข้อมูลในพื้นที่มีร้าน ช่าง ให้พลอยเข้าไปเรียนรู้ได้หรือไม่)

- แนวทางการช่วยเหลือ

เบื้องต้น (๑) ซ่อมหลังคาบ้าน (จากหมดอายุ)
(๒) บ้านไม่มีห้องน้ำ ต้องอาศัยข้างบ้าน เสนอให้สร้างห้องน้ำให้เพื่อที่พลอยจะได้อยู่ที่บ้านนี้เพื่อดูและเพลงได้สะดวกขึ้น

ระยะต่อไป (๑) สนับสนุนให้พลอยได้เรียน หรือ ฝึกอาชีพ ประเภทการฝีมือ

ระยะยาว (๑) จัดหาครอบครัวอุปถัมภ์ให้พลอย-เพลง
(๒) สนับสนุนให้แม่นา-พลอย มีอาชีพที่ยั่งยืนเพื่อเพิ่มรายได้ในการดูแลเพลง

(๖) เพลง


น้องเพลง-น้องพลอย
ข้อมูลเมื่อ ตุลาคม ๒๕๔๙
สมาชิกในครอบครัวมีดังนี้
- เพลง เพศชาย อายุ ๒๗ เป็นกล้ามเนื้ออ่อนแรง ดูแลตัวเองไม่ได้เลย
- พลอย เพศหญิง อายุ ๒๕ปี เป็น CP ตั้งแต่กำเนิด มีอาการสั่น กระตุก บริเวณกล้ามเนื้อคอ รับจ้างทั่วไป เช่น ทำความสะอาด เสียบหมูปิ้ง เป็นผู้ดูแลเพลงสลับกับแม่นา (กลางคืนพลอยพักที่บ้านน้าเล็กที่อยู่ใกล้กัน)
- แม่นา ก่อนน้ำท่วมรับจ้างล้างจานในร้านก๋วยเตี๋ยว ซึ่งปัจจุบันพ่อของเจ้าของร้านไม่สบายจึงหยุดขาย ทำให้ขาดรายได้
- ป้าชิน เจ้าของบ้าน (พี่สาวแม่นา) มีอาชีพรับจ้างทำงอบรายได้ไม่แน่นอน มีโรคประจำตัว หัวใจ (เคยมีลูกเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเสียชีวิตเมื่ออายุ 6ขวบ)
- ลุงเอียด สามีของป้าชิน มีอาชีพเป็นยามที่หอพัก อายุ ๗๐ปี
มีรายได้วันละ ๑๗๕บาท
- พ่อของเพลงเป็นยาม (ทำที่เดียวกับลุงเอียด)
ทุกครั้งที่ไปเยี่ยม คุณลุงและคุณพ่อจะนอนพักตลอดเพื่อออกกะยามตอนกลางคืน
- น้าเล็ก อยู่บ้านข้างๆ เป็นโรคกระดูกสันหลังเสื่อม รักษาที่ร.พ.เอกชน (ยังไม่ได้ผ่าตัด)

เพลง
กล้ามเนื้ออ่อนแรง ไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่เล็ก เอ็น กล้ามเนื้อยึดไปทั้งร่างกาย สภาพร่างกายหงิกงอ มีศีรษะใหญ่ นอนอยู่บนพื้น การผ่าตัดเป็นไปได้ยากเนื่องจากไม่มีกล้ามเนื้อมารองรับ ลีบหมดแล้ว กู้ลำบาก ฟังรู้เรื่อง พูดตอบเป็นคำๆ ได้ ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เมื่อป้อนข้าวเสร็จ ต้องจับเรอเหมือนเด็กๆ ระบบย่อยทำงานไม่ดี แพทย์จ่ายยาช่วยย่อย
ข้อแนะนำ ๑. เพลงยังไม่ได้ทำเรื่องย้ายเข้า (น่าจะทำได้ที่ปลายทางคือบางปะหัน) เพื่อจะได้ใช้สวัสดิการคนพิการที่นี่ได้ ลดภาระค่ายา
๒.น่าจะหาอุปกรณ์ผ่อนแรงให้ผู้ดูแลเพลง ในการดำรงชีวิตปจว. เช่นเก้าอี้ช่วยพยุงขณะรับประทานอาหาร และควรมีผู้เชี่ยวชาญแนะนำท่ากายภาพบำบัดที่เหมาะสม

(๕) บุญมา


ข้อมูลเมื่อ ๒๙/๑/๕๐
ด.ญ.บุญมา ดำงาม
มารดาชื่อ นางสมจิตร ดำงาม อายุ ๓๔ ปี รูปร่างเล็กแคระ มีอาการชัก ตั้งแต่กำเนิด ปัจจุบันรับจ้างวัดทำงานมีรายได้ วันละ ๑๐๐-๑๕๐บาท (ไม่แน่นอน) สามีทิ้ง มีลูกสาว ๓คน คือ
๑. ด.ญ.บุญมา ดำงาม อายุ ๑๕ปี ม.๑ ร.ร.วัดสุทธาโภช(ครูประจำชั้นชื่อ นฤมล มณีกุล)
หากวันไหนแม่ไม่มีเงินค่ารถ เด็กจะอยู่บ้าน (ค่ารถไป-กลับ วันละ ๔๐บาท ค่าอาหารกลางวัน ๓๐บาท)
เคยขี่รถจักรยายไปร.ร.แต่ถูกฉุดลงข้างทาง แม่จึงให้นั่งรถมอร์เตอร์ไซด์แทน
ร.ร.ที่อยู่ใกล้บ้านระดับมัธยม ไม่มีเรียนฟรี (อยู่ห่างไป ๒กม.)
๒. ด.ญ.จามจุรี ศรีขมิ้น อายุ ๑๓ ปี ป.๕ ร.ร.วัดบ้านแพน
๓. ด.ญ.สุภาพร ศรีขมิ้น อายุ ๕ปี อ.๑ ร.ร.วัดบ้านแพน
ปัญหาที่พบ
- สภาพบ้านที่อยู่ขนาด ๒x๓ เมตร สังกะสีผุทั้งหลัง เมื่อครั้งน้ำท่วม ไม่สามารถอาศัยอยู่ได้ต้องไปอยู่ที่วัด
- มีรายจ่ายค่ากินอยู่ ไม่เพียงพอกับภาระ
- แนวทางการช่วยเหลือ
เบื้องต้น (๑) สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากทางร.ร.วัดสุทธาโภช เกี่ยวกับความประพฤติของ ด.ญ.บุญมา เพราะเท่าที่มีโอกาสพูดคุย เด็กไม่ค่อยอยากเรียนต่อ เนื่องจากหัวไม่ดีและอยากทำงานหารายได้ช่วยแม่
(ข้อมูลจากคุณครู อาจสนับสนุนให้เรียนจนจบม.๓ และ ฝึกงานอาชีพ เพื่อหารายได้ช่วยทางบ้าน)
(๒) ขอให้คุณสมชายฝ่ายอาคาร เสนองบประมาณเพื่อปรับสภาพบ้านให้สามารถอาศัยได้
(๓) สามารถสร้างรายได้ให้นางสมจิตร (กบ) ด้วยการให้เป็นอาสาสมัครในพื้นที่ช่วยงานของรุ่งอรุณได้ (มีเบี้ยเลี้ยงให้)
ขั้นต่อไป (๑) พิจารณาเรื่องการทุนการศึกษา และครอบครัวอุปถัมภ์ต่อไป

(๔) จอย


ข้อมูลเมื่อ ธันวาคม ๒๕๔๙
ด.ญ.บุญธิดา มงคลราษฎร์ (จอย) อายุ ๘ปี
ป.๒ ร.ร.บ้านน้ำเต้า (ไม่ทราบบ้านเลขที่ ม.๗ ต.บ้านคลัง อ.บางบาล)
บิดาชื่อ นายสมใจ มงคลราษฏร์
มารดาชื่อ นางจันทนา มงคลราฏร์
ครอบครัวมีอาชีพไม่มั่นคง แม่รับจ้างทำอิฐ ขาดรายได้ในช่วงน้ำท่วม พ่อรับจ้าง ติดเหล้า ทราบจากเพื่อนบ้านว่า เมื่อพ่อแม่ทะเลาะกันมักมาลงที่ลูก ทำโทษลูกรุนแรง ยิ่งเพื่อนบ้านไปห้ามเด็กยิ่งถูกตีรุนแรงขึ้น ทำให้ไม่มีใครอยากเข้าไปยุ่ง จอยมียายที่เคยอยู่ด้วยและเป็นที่พึ่ง แต่น้ำท่วมทำให้บ้านของยายพัง ต้องเข้ากรุงเทพไปหางานทำ
จอยมีปัญหาไม่ค่อยสบตาเวลาสนทนา แขน-ขา มีแผล ร่องรอยถูกตี จากการสอบถามคุณครูมาลัย เพ็ชชะ ครูร.ร.วัดน้ำเต้า เพิ่มเติมครูไม่ทราบว่าเด็กมีปัญหาทางบ้าน อยู่ร.ร.ทำกิจกรรมได้ แต่ไม่ค่อยปราดเปรียวนัก

ข้อมูลเมื่อ ๓๑/๑/๕๐
คุณครูแอน อนุบาล กับจนท.คมจ.คุณสุรางค์รัตน์ ได้พูดคุยกับน้องจอยพบว่า พฤติกรรมที่เข้าใจว่าน้องจอยอาจถูกพ่อแม่ทำร้ายรุนแรง มิได้เกิดขึ้นเป็นประจำ แต่อาจโดนดุ โดนตี (บ้างด้วยไม้แขวนเสื้อ) เพราะการเล่นซนบ้าง ส่วนรอยแผลที่แขนขา (วันที่ไป ไม่พบชัดเจน) เกิดจากรอยข่วนจากต้นไม้บ้าง เล่นซนบ้าง แต่ดูจากท่าทีไม่ใช่เด็กร่าเริงนัก
ข้อมูลจากครูมาลัย พ่อแม่เด็กยังหนุ่มสาว ประกอบอาชีพได้ แต่รายได้ไม่มั่นคง เด็กจัดอยู่ในกลุ่มยากจน

- แนวทางการช่วยเหลือ
เบื้องต้น (๑) ควรหาโอกาสแวะไปเยี่ยมที่บ้านเด็กเพิ่มเติม

ขั้นต่อไป (๑) นำเข้าที่ประชุมพิจารณาเรื่องการให้ทุนการศึกษาต่อไป

(๓) ต๋อง


ข้อมูลเมื่อ ตุลาคม ๒๕๔๙
ด.ช.วิศรุต ประสันทวงษ์ (ต๋อง) อายุ ๙ปี
บิดาชื่อ นายสมัคร ประสันทวงษ์ อายุ ๔๐ ปีกว่า มีอาการอัมพาตตั้งแต่ช่วงเอวลงไป เนื่องจากอุบัติเหตุรถชนเมื่อ ๒๕๔๒ ขามีอาการชา ขยับไม่ได้ กระดูกที่คอแตก ผิวหนังไม่มีความรู้สึกตั้งแต่ช่วงอกลงไป มือที่ปลายนิ้วหงิกงอ กล้ามเนื้อมือลีบช่วยเหลือตัวเองและประกอบอาชีพไม่ได้ ภรรยาทิ้งไปอยู่ระยองจะมาเยี่ยมปีละครั้ง มีลูก๒คน ภรรยาเลี้ยงดู ๑ คน ส่วนต๋องอยู่กับพ่อเรียนอยู่ระดับชั้นประถม ๔ มีเพื่อนบ้านชื่อลุงเกษมคอยจุนเจือเรื่อง อาหารการกินและค่าเล่าเรียน ขณะนี้ทั้งน้าสมัครและต๋องต้องย้ายมาอยู่ในกุฏิพระที่วัดน้ำเต้า เนื่องจากที่บ้านไม่มีคนดูแล
ต๋องได้รับความช่วยเหลือจากมูลนิธิมิตรมวลเด็กเดือนละ๑๖๕บาท และปัจจุบันมูลนิธิโรงเรียนรุ่งอรุณได้ช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายรายเดือนเป็นเงินเดือนละ ๕๐๐บาท ต๋องเป็นเด็กกตัญญู ดูแลพ่อเรื่องอาหารการกิน ความเป็นอยู่ตามกำลังที่เด็กจะทำได้ และยังเป็นนักเรียนที่ตั้งใจเรียน มีความประพฤติดี ลุงสมัครอยากให้ต๋องมีโอกาสได้เรียนในระดับสูงเพื่อจะได้มีอาชีพดูแลตัวเองและพ่อได้ต่อไป ซึ่งปัจจุบันต๋องใช้สิทธิ์เรียนฟรีใน ร.รน้ำเต้า ได้จนถึงระดับประถมศึกษาปีที่ ๖ หากจะเรียนในระดับมัธยมต้องหาทุนสนับสนุน

ข้อมูลเมื่อ ๓๑/๑/๕๐
อาสาสมัครได้พบทั้งต๋อง คุณลุงสมัคร และ คุณครูมาลัย เห็นว่าต๋องเป็นเด็กที่ควรให้การสนับสนุนทางการศึกษาต่อไป เพราะนอกจากจะมีผลการเรียนที่ดีแล้ว ยังมีความรับผิดชอบเป็นลูกศิษย์พระออกบิณฑบาตทุกเช้า กตัญญูกตเวทิตาดูแลลุงสมัครทั้งการกินอยู่ การขับถ่าย เชื่อฟังคำสั่งสอนของพ่อ ไม่กระหายอยากได้อยากมี ร่าเริง และมีสัมมาคารวะ
ตัวคุณลุงสมัครเองก็มีกำลังใจที่เข้มแข็งขึ้นมาก (จากเดิมเคยคิดฆ่าตัวตายหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ) นำบทเรียนของตนเองมาอบรมสอนลูก ไม่ให้เดินผิดพลาดอย่างตน มีคุณแม่ชีที่มาอยู่ในวัดคอยดูแลช่วยเหลือ เรื่องสุขอนามัยความเป็นอยู่ รวมทั้งคัดข้อธรรม คำสอน มาให้อ่านอยู่เสมอ



- แนวทางการช่วยเหลือ

เบื้องต้น (๑) จัดหนังสือสุขศึกษา ระดับ ป.๔ ไปให้ต๋อง
(๒) จัดหาวิทยุเล่นเทป พร้อมเทปธรรมะ ไปให้คุณลุงสมัคร
(๓) อาสาสมัครตัดเล็บให้คุณลุง พร้อมปัดกวาดที่พักในกุฏวัด
(๔) ฝากข้าวสารไปเยี่ยมคุณลุงเกษม เพื่อนบ้านที่คอยดูแลจุนเจือด้วย

ระยะต่อไป (๑) จัดหาครอบครัวอุปถัมภ์ดูแลต๋องและลุงสมัคร

ระยะยาว (๑) คุณลุงสมัครบอกว่าคุณลุงเกษมช่วยเก็บเงินช่วยเหลือที่รุ่งอรุณให้เพื่อเป็นทุนการศึกษาให้ต๋องจากเดินที่ตั้งใจว่าจะส่งได้ถึงม.๓ ขณะนี้คิดว่าน่าจะส่งได้ถึงปวช.
คณะทำงานเสนอว่าหากต๋อง โตขึ้นมีความใฝ่เรียนรู้ น่าจะสนับสนุนการศึกษาให้ต๋องได้ไปในระดับสูงสุดเท่าที่ต๋องมีศักยภาพ

(๒) เจมส์ และ กลิ้ง



ข้อมูลเมื่อ ธันวาคม ๒๕๔๙
สองคนพี่น้องกำพร้าพ่อแม่ ซึ่งเสียชีวิตจากโรคเอดส์ ทราบจากครูในพื้นที่ว่าเด็กไม่มีคนดูแล สังคมรังเกียจไม่ยอมรับ (ยังไม่เคยพบเด็ก ต้องลงพื้นที่หาข้อมูลเพิ่ม)

ข้อมูลเมื่อ ๓๑/๑/๕๐
เดินทางไปพบเด็กทั้ง ๒ คนที่โรงเรียน วัดบางปลาหม้อ เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก น.ร. ๓๕คน ระดับ อ.๑-ป.๖ มีคุณครู ๒ ท่าน และ ผ.อ.ชื่อสมพงษ์ อารีเจริญ ขณะที่ไปถึงนักเรียนทั้งร.ร.กำลังรับประทานอาหารร่วมกันเป็นครั้งแรก จากการทำอาหารร่วมกันของคุณครูและน.ร. เพื่อลดปัญหาเรื่องอาหารกลางวันของเด็กที่ยากจน ไม่ได้อาหารครบ ๕ หมู่ และยังเป็นการฝึกวินัย เรียนรู้เรื่องต่างๆ ผ่านการทำอาหารอีกด้วย ถือว่า ผ.อ.สมพงษ์มีความกระตือรือร้น และบริหารโรงเรียนเล็กๆ แห่งนี้เชิงรุก คณะทำงานได้พบกับคุณครูสุทธินี อุณห คุณครูประจำชั้นของเจมส์ ซึ่งอยู่ป.๕ เมื่อสอบถามข้อมูลของเด็ก ทราบว่า คุณครูได้พาเจมส์และกลิ้งไปเจาะเลือดเพื่อตรวจหาเชื้อ HIV แต่พบว่าทั้งคู่ไม่มีเชื้อเอดส์จากพ่อและแม่แต่อย่างใด (เจมส์และกลิ้งเป็นพี่น้องคนละพ่อ แต่พ่อของทั้งคู่เสียชีวิตเนื่องจากโรคเอดส์) เรื่องทางสังคมปัจจุบันเพื่อนๆ ให้การยอมรับ เห็นใจว่าเจมส์และกลิ้งมีความลำบาก ชาวบ้านก็คลายการตั้งข้อรังเกียจแล้ว เจมส์เคยมีประวัติขโมยเงินจากรถบรรทุกที่ให้โดยสาร แต่ไม่ได้เป็นพื้นนิสัยเดิม เกิดจากความไม่มี ซึ่งคุณครูก็ได้เฝ้าดูและตักเตือน กำกับเจมส์จนปัจจุบันไม่พบปัญหานี้แล้ว
ปัญหาปัจจุบันจึงอยู่ที่ ความเป็นอยู่ ซึ่งเดิมเจมส์และกลิ้ง เคยอยู่ในความดูแลของยายซึ่งอายุมากแล้ว ทราบจากยายเล็ก ที่อยู่ข้างบ้านว่าตอนที่ยายยังดูแลเจมส์ไม่ค่อยจะช่วยงานบ้าน พฤติกรรมเกเร ปัจจุบันยายไม่สบายมากไม่สามารถดูแลได้ และย้ายไปอยู่กับลูกสาวในหมู่บ้านแถวแยกวรเชษฐ์ (ซึ่งเจมส์จะขี่จักรยายพากลิ้งไปอยู่ที่นี่ในช่วงวันหยุด) ในวันที่ต้องไปโรงเรียน เจมส์และกลิ้งจึงต้องอยู่กับลุงซึ่งเป็นอัมพาต มีรายได้ไม่แน่นอนจากการให้เช่าพระเครื่อง สภาพบ้านที่เราแวะไปเยี่ยมทรุดโทรมทั้งภายนอก ไม่มีสุขา (อบต.จัดงบเรื่องห้องน้ำแล้ว) และ ภายในบ้านรกสกปรก ไม่ได้รับการจัดเก็บทั้งเสื้อผ้าและการขับถ่าย


- แนวทางการช่วยเหลือ

เบื้องต้น (๑) เด็กควรได้รับการดูแล แนะนำ และพาทำงานบ้าน เพื่อที่จะสามารถดูแลตัวเองได้ ทั้งการซักผ้า จัดเก็บกวาดบ้านให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ซึ่งจะจัดอาสาสมัครที่เป็นคุณครูพาเด็กทั้งคู่ทำ
(๒) ควรจัดให้มีการลงเยี่ยมครั้งต่อไป ให้ได้พบกับคุณลุงที่ดูแลอยู่ และ เยี่ยมคุณยายที่ไปอยู่กับญาติที่แยกวรเชษฐ์ เพื่อดูว่าครอบครัวของญาติมีกำลังทรัพย์ และใจที่จะดูแลเจมส์ และ กลิ้ง มากน้อยแค่ไหน
(๓) ประสานงานกับอบต.เรื่องสุขาที่ได้รับอนุมัติงบแล้ว หากต้องการกำลังช่างเพื่อให้งานดำเนินได้เร็วขึ้นทางเรายินดีช่วยเหลือ

ขั้นต่อไป (๑) การเงินสนับสนุนกรณีนี้ เสนอว่าควรให้โดยผ่านการจัดการของคุณครูสุทธินี ในรูปแบบค่าจ้างเจมส์ทำงานพิเศษที่ร.ร. เพื่อให้เด็กรู้ฝึกฝนการทำงาน ช่วยเหลือตนเอง และมองเห็นศักยภาพตนเองว่าสามารถทำงานสร้างรายได้ และยังฝึกนิสัยเก็บออม
(๒) สนับสนุนร.ร.วัดบางปลาหม้อในเรื่อง ทุนอาหารกลางวันสำหรับนักเรียน การทำแปลงเกษตร จัดกิจกรรมสันทนาการระหว่างพี่จากรุ่งอรุณ และ น้องที่บางปลาหมอ

ระยะยาว (๑) หาครอบครัวอุปถัมภ์ (หากจำเป็น)