เปลี่ยวเหงาและเดียวดาย
โดย นิมิตร พลเยี่ยม
๑. เปลี่ยวเหงากลางฝูงชน
ก่อนเคารพธงชาติของเช้าวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๕๐ รถตู้สีขาวติดสติ๊กเกอร์ตราพระอาทิตย์ทอแสง สัญลักษณ์โรงเรียนรุ่งอรุณเป็นพาหนะให้คณะครูหลายชีวิตที่เปี่ยมด้วยจิตอาสาร่วมโดยสาร มีครูอ้อฝ่ายประชาสัมพันธ์ และครูสมชายฝ่ายอาคารสถานที่ เป็นหัวหน้าทีม มุ่งหน้าสู่กรุงเก่าอดีตราชธานีที่รุ่งเรืองมาหลายร้อยปี
‘จิตอาสา’ แน่นอนคำนี้ไม่ได้มีความหมายที่ข้องแวะกับการท่องเที่ยวแม้แต่น้อย ดังนั้นเป้าหมายของรถยนต์คันนี้จึงอยู่ที่ชุมชนหลังวัดบ้านแพน อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แทนที่จะเป็นโบราณสถานกลางเกาะตามโปรแกรมของผู้ชื่นชอบและใฝ่ศึกษาประวัติศาสตร์
เมื่อเข้าเขตชุมชน ถวิล ชายหนุ่มผิวคล้ำในชุดซาฟารีสีเข้ม ทำหน้าที่สารถีบังคับพวง มาลัยและปรับเส้นทางให้รถวิ่งลัดเลาะไปบนถนนแคบๆตามแนวกำแพงด้านนอกของวัดบ้านแพน แม้ระยะทางไม่ไกลมากแต่ก็เพียงพอที่จะให้ผู้โดยสารสังเกตเห็นความต่างของแนวกำแพงช่วงบนมีสีขาวสะอาดช่วงล่างมีรอยคล้ำ ซึ่งสามารถแปลความหมายได้ว่านั่นคือสัญลักษณ์ ที่ธรรมชาติทิ้งไว้เพื่อแจ้งบอกถึงระดับความตื้นลึกของอุทกภัยปีนี้ สัญลักษณ์เช่นนี้มีปรากฏตามอาคารบ้านเรือนและต้นไม้
ทันทีที่ล้อรถหยุดหมุน ผู้โดยสารทยอยก้าวลงจากรถ ผมสังเกตลักษณะทางภูมิศาสตร์ก็พอจะเดาได้ว่าชุมชนแห่งนี้ตั้งอยู่ในที่ลุ่มและน่าจะเป็นคลองน้ำมาก่อน มีต้นสะตือขนาดใหญ่ขึ้นเรียงรายเป็นแนวยาวอย่างมีระเบียบทิ้งระยะถี่ห่างที่เหมาะสมราวกับมีผู้จงใจกระทำให้เกิดความงดงาม
“ต้นสะตือเหล่านี้ ตั้งแต่ลุงจำความได้ก็เห็นมันโตเท่านี้แล้ว เมื่อก่อนอยู่ริมคลอง ตอนนี้คลองหายไปเพราะคนปลูกบ้านจนกลายเป็นชุมชนนี้”
ลุงแกละ เจ้าของบ้านอันเป็นเป้าหมายในการลงพื้นที่ครั้งนี้ บอกเล่าความเป็นมาซึ่งก็ไม่ต่างจากสมมติฐานที่ผมตั้งไว้มากนัก คือ พวกเขาสร้างที่อาศัยขวางทางเดินของน้ำ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องปกติเมื่อถึงฤดูน้ำหลากของแต่ละปี บ้านเรือนที่เป็นสมาชิกของชุมชนแห่งนี้จะจมอยู่ใต้น้ำ ซึ่งจะตื้นหรือลึกมากน้อยขึ้นอยู่กับสภาพที่ตั้งของแต่ละหลัง เกินมาตรฐานปกติก็เพียงเพราะปีนี้น้ำหลากมามากกว่าปีก่อนๆ จนทำให้บ้านบางหลังโผล่เหนือน้ำเฉพาะส่วนที่เป็นหลังคา มีหลายหลังที่ผ่านอายุการใช้งานมานานเมื่อจมอยู่ใต้น้ำเกือบ ๒ เดือนก็เกิดการผุกร่อนเสียหาย บ้านลุงแกละเป็นอีกหลังที่จะต้องได้รับการบูรณะเป็นกรณีเร่งด่วน
โดย นิมิตร พลเยี่ยม
๑. เปลี่ยวเหงากลางฝูงชน
ก่อนเคารพธงชาติของเช้าวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๕๐ รถตู้สีขาวติดสติ๊กเกอร์ตราพระอาทิตย์ทอแสง สัญลักษณ์โรงเรียนรุ่งอรุณเป็นพาหนะให้คณะครูหลายชีวิตที่เปี่ยมด้วยจิตอาสาร่วมโดยสาร มีครูอ้อฝ่ายประชาสัมพันธ์ และครูสมชายฝ่ายอาคารสถานที่ เป็นหัวหน้าทีม มุ่งหน้าสู่กรุงเก่าอดีตราชธานีที่รุ่งเรืองมาหลายร้อยปี
‘จิตอาสา’ แน่นอนคำนี้ไม่ได้มีความหมายที่ข้องแวะกับการท่องเที่ยวแม้แต่น้อย ดังนั้นเป้าหมายของรถยนต์คันนี้จึงอยู่ที่ชุมชนหลังวัดบ้านแพน อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แทนที่จะเป็นโบราณสถานกลางเกาะตามโปรแกรมของผู้ชื่นชอบและใฝ่ศึกษาประวัติศาสตร์
เมื่อเข้าเขตชุมชน ถวิล ชายหนุ่มผิวคล้ำในชุดซาฟารีสีเข้ม ทำหน้าที่สารถีบังคับพวง มาลัยและปรับเส้นทางให้รถวิ่งลัดเลาะไปบนถนนแคบๆตามแนวกำแพงด้านนอกของวัดบ้านแพน แม้ระยะทางไม่ไกลมากแต่ก็เพียงพอที่จะให้ผู้โดยสารสังเกตเห็นความต่างของแนวกำแพงช่วงบนมีสีขาวสะอาดช่วงล่างมีรอยคล้ำ ซึ่งสามารถแปลความหมายได้ว่านั่นคือสัญลักษณ์ ที่ธรรมชาติทิ้งไว้เพื่อแจ้งบอกถึงระดับความตื้นลึกของอุทกภัยปีนี้ สัญลักษณ์เช่นนี้มีปรากฏตามอาคารบ้านเรือนและต้นไม้
ทันทีที่ล้อรถหยุดหมุน ผู้โดยสารทยอยก้าวลงจากรถ ผมสังเกตลักษณะทางภูมิศาสตร์ก็พอจะเดาได้ว่าชุมชนแห่งนี้ตั้งอยู่ในที่ลุ่มและน่าจะเป็นคลองน้ำมาก่อน มีต้นสะตือขนาดใหญ่ขึ้นเรียงรายเป็นแนวยาวอย่างมีระเบียบทิ้งระยะถี่ห่างที่เหมาะสมราวกับมีผู้จงใจกระทำให้เกิดความงดงาม
“ต้นสะตือเหล่านี้ ตั้งแต่ลุงจำความได้ก็เห็นมันโตเท่านี้แล้ว เมื่อก่อนอยู่ริมคลอง ตอนนี้คลองหายไปเพราะคนปลูกบ้านจนกลายเป็นชุมชนนี้”
ลุงแกละ เจ้าของบ้านอันเป็นเป้าหมายในการลงพื้นที่ครั้งนี้ บอกเล่าความเป็นมาซึ่งก็ไม่ต่างจากสมมติฐานที่ผมตั้งไว้มากนัก คือ พวกเขาสร้างที่อาศัยขวางทางเดินของน้ำ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องปกติเมื่อถึงฤดูน้ำหลากของแต่ละปี บ้านเรือนที่เป็นสมาชิกของชุมชนแห่งนี้จะจมอยู่ใต้น้ำ ซึ่งจะตื้นหรือลึกมากน้อยขึ้นอยู่กับสภาพที่ตั้งของแต่ละหลัง เกินมาตรฐานปกติก็เพียงเพราะปีนี้น้ำหลากมามากกว่าปีก่อนๆ จนทำให้บ้านบางหลังโผล่เหนือน้ำเฉพาะส่วนที่เป็นหลังคา มีหลายหลังที่ผ่านอายุการใช้งานมานานเมื่อจมอยู่ใต้น้ำเกือบ ๒ เดือนก็เกิดการผุกร่อนเสียหาย บ้านลุงแกละเป็นอีกหลังที่จะต้องได้รับการบูรณะเป็นกรณีเร่งด่วน
เงินจำนวนนี้ หมายถึง อำนาจการจับจ่ายสินค้าเพื่อบริโภคซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่เท่านั้น ส่วนอีก ๓ ปัจจัยแทบจะไม่ต้องเอ่ยถึง กล่าวโดยย่อ คือ ลุงแกละสามารถซื้อปลาทูได้วันละ ๑ ตัว ในขณะเดียวกันก็ต้องใช้เทคนิคเชิงปริมาณเข้าช่วยด้วยการคลุกใส่ข้าวให้มากพอที่จะเผื่อแผ่ไปถึงเพื่อนต่างสปีชีส์ (species) อีก ๓-๔ ตัว ที่คอยส่งเสียงเห่าหอนขับไล่ความเงียบจากจิตใจได้ในห้วงยามที่เพื่อนเผ่าพันธุ์เดียวกันหมางเมินเหินห่าง
๓๐๐ บาท จึงถูกใช้อย่างจำกัดเฉพาะในสิ่งที่ขาดไม่ได้เท่านั้น และไม่มีที่ว่างให้กับความฟุ่มเฟือยแม้แต่บาทเดียว ปลาทูจึงเป็นอาหารราคาถูกที่สุดที่ลุงแกละพอจะมีปัญญาจ่าย แม้บางครั้งกลิ่นก๋วยเตี๋ยวจากร้าน (เพิง) หน้าบ้านจะโชยมาก็ทำได้แค่แอบกลืนน้ำลาย เพราะมันเป็นของแพง เป็นของฟุ่มเฟือย เป็นของต้องห้าม ลุงจะกินตามใจปรารถนาของตัวเองไม่ได้ พูดให้เข้าใจง่ายคือมีเพียงปลาทูเท่านั้นที่สอดคล้องกับค่าครองชีพมากที่สุด
ลำพังการประคองให้ชีวิตวัย ๘๗ ปี ให้ผ่านพ้นไปแต่ละวันก็นับว่าเป็นเรื่องใหญ่พออยู่แล้วสำหรับลุงแกละ สภาพของหลังคาบ้านถูกจำกัดให้ใช้ประโยชน์เฉพาะกันแดด ส่วนฝนกันไม่ได้มาหลายขวบปีแล้ว ซ้ำร้ายการซ่อมแซมยังต้องถูกจำกัดทั้งโดยสภาพร่างกายและงบประมาณ
ผมไปที่นั่นพร้อมกับกลุ่มครูจิตอาสา เพื่อรับภาระที่ไม่อยู่ในวิสัยของผู้เฒ่าจะจัดการเองได้ ด้วยจิตใจที่อยากสงเคราะห์เพื่อนมนุษย์คนหนึ่งให้ได้นอนหลับสบายในช่วงเวลาที่เหลือนับแต่นี้ โดยไม่ต้องสะดุ้งตื่นยามค่ำคืนเพื่อหลบฝนตามซอกมุมที่น้ำหยดน้อยที่สุดด้วยความทุกข์ทรมาน เหมือนช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา
ทุกข์... ใช่ คนเราแบกทุกข์มาตั้งแต่เกิดจริงๆ อาจจะกล่าวได้ว่าทุกข์ คือ เพื่อนร่วมน้ำสาบานของชีวิตทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นทุกข์จากการเจ็บไข้ได้ป่วย ทุกข์จากการหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ทุกข์เพราะกินไม่ได้ถ่ายไม่ออก ทุกข์เพราะอยากได้อยากมีอยากเป็น ทุกข์จิปาถะ ยิ่งชีวิตล่วงเลยสู่วัยดึกความทุกข์ยิ่งตอกย้ำบาดลึกเข้าไปในจิตวิญญาณ แค่มองไปเบื้องหน้าเห็นเงามืดหลังม่านดำบนเวทีของความตายก็ชวนให้หวั่นหวาดกับสิ่งที่รออยู่หลังม่านอันมืดดำนั้น
จะทำอย่างไรได้ในเมื่อทุกข์ คือ สัจธรรมที่ทุกรูปทุกนามซึ่งยังเวียนว่ายในห้วงวัฏสงสารปฏิเสธไม่ได้ หลีกก็ไม่พ้น
แต่ถ้าจะลดปริมาณความเข้มข้นของทุกข์ให้จางลงบ้างก็ใช่ว่าจะปิดโอกาสเสียทีเดียว มันขึ้นอยู่กับว่าสังคมที่เราเป็นสมาชิกมีสภาพเช่นใด เป็นสังคมที่อบอุ่นหรือเปลี่ยวเหงา เอื้ออาทรหรือเห็นแก่ตัว เป็นกัลยาณมิตรหรือเอาตัวรอด สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นเงื่อนไขที่จะอำนวยให้เราอดทนต่อทุกข์และก้าวข้ามห้วงทิวาราตรีบนโลกนี้ไปได้ง่ายดายหรือยากลำบาก…
กว่าคณะครูจิตอาสาจะได้ลงมือทำงานเวลาก็ล่วงเลยเกือบพระฉันเพล เพราะต้องรอวัสดุอุปกรณ์จากทางร้านที่มาส่งช้ากว่ากำหนด กระนั้นก็ไม่เป็นอุปสรรคใดๆ ทุกคนล้วนพกพาจิตที่มุ่งมั่นและชัดเจนในเป้าหมายจึงไม่จำต้องแบ่งหน้าที่หรือตั้งกฎเกณฑ์ตายตัว ต่างช่วยกันจับช่วยกันแบกหามตามที่เห็นว่าสามารถทำได้ บรรยากาศการทำงานถูกปกคลุมด้วยความครื้นเครงจนไม่มีพื้นที่ให้ความกังวลใจใดๆ เข้ามาครอบครอง
กระเบื้องแตกๆ สังกะสีผุๆ ถูกแทนที่ด้วยวัสดุชิ้นใหม่ พวกเราทำงานท่ามกลางสายตาหลายสิบคู่ของคนในชุมชนที่มามุงดูโดยมีเจ้าของสายตาหลายคู่เข้ามามีบทบาทร่วมในกิจกรรมครั้งนี้ด้วย บ้างก็ช่วยเก็บกวาดพื้น บ้างก็ติดต่อประสานงานกับทางร้านวัสดุก่อสร้าง สรุปว่างานจบลงด้วยฝีมือของคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่เคยรู้จักมักคุ้นกับลุงแกละมาก่อน โดยมีกลุ่มคนที่สนิทสนมกับลุงแกละสมัครใจเป็นกองเชียร์และช่วยงาน
ผมก็ไม่กล้าคิดไปถึงว่าคนเหล่านี้เป็นลูกหลานของบรรพชนผู้ต่อสู้กับอริราชศัตรูปกป้องกรุงศรีอยุธยา หลั่งเลือดชโลมกายพลีชีพสังเวยแผ่นดินเพื่อรักษาบ้านเมืองไว้ มีหรือพวกเขาจะกล้าเฉยเมยกับความทุกข์ร้อนของคนคุ้นเคยใกล้ตัว ปล่อยให้ฝ่าวิบากตามยถากรรมอย่างไม่มีเยื่อใย
อย่างน้อยวันนี้...อยุธยายังไม่สิ้นคนดี
พวกเรามาที่นี่เพียงเพราะต้องการให้คนแก่คนหนึ่งนอนหลับเต็มตาได้ทุกฤดูกาล ต้องการแบ่งเบาความทุกข์ของคนแก่คนหนึ่งให้ลดความเข้มข้นลงบ้าง และต้องการให้คนแก่คนหนึ่งดำรงอยู่ได้ในสภาพที่สามารถก้าวผ่านวันคืนที่เหลือได้ง่ายขึ้น โดยพวกเราไม่ได้หวังสิ่งใดๆตอบแทน..แม้แต่คำขอบคุณ รอยยิ้มและแววตาที่เปี่ยมด้วยความสุขของลุงแกละเป็นรางวัลมากพอที่จะจ่ายค่าแรงครั้งนี้ ยิ่งได้ยินเสียงหัวเราะที่คนละแวกนั้นไม่ได้ยินมานานแล้วก็เท่ากับว่าเราได้โบนัสก้อนโตมาช่วยขับไล่ความเหน็ดเหนื่อยทางกายให้หายไปได้ รวมทั้งความอ่อนล้าทางจิตใจที่ได้สัมผัสสัจธรรมชีวิตที่ฉายผ่านม่านตาของลุงแกละ ใช่ มันคือความเงียบเหงาที่ต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวกลางชุมชน มีเพียงสุนัขคอยเป็นเพื่อนใกล้ชิด ความอ้างว้างเดียวดายไร้ญาติขาดมิตรช่างโหดร้ายกับลุงมากกว่าการตื่นขึ้นมาหลบฝนกลางดึกหลายเท่านัก
๒. เดียวดายใต้ถุนเรือน
ชีวิตของลุงแกละเป็นภาพเปรียบเทียบที่ฉายทาบทับกับหญิงชราคนหนึ่งซึ่งนั่งเดียวดายใต้ถุนบ้านริมฝั่งแม่น้ำน้อย อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จนแทบจะเป็นเนื้อเดียวกัน... ป้าสำแร คือ หญิงชราผู้มีพระอาทิตย์เป็นเพียงเครื่องมือบอกว่ากลางวันหรือกลางคืน นอกจากนี้แล้วก็ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียใดๆ กับการหมุนรอบตัวเอง ๑ รอบของโลก เพราะการก้าวข้ามเวลา ๒๔ ชั่วโมงของเธอถูกจำกัดเพียงการอยู่บนบ้านและใต้ถุนบ้านอย่างละครึ่ง
ชีวิตจำนวนเท่ากับโลกวิ่งวนพระอาทิตย์ ๘๑ รอบทำให้เห็นเรือนร่างของเธอเต็มไปด้วยร่องรอยที่ถูกกาลเวลากัดเซาะ เหลือเรี่ยวแรงพอได้ปีนขึ้นลงบันไดทุกเช้าเย็นอย่างทุลักทุเล เหลือความทรงจำกะท่อนกะแท่นไว้สื่อสารเรื่องราว ส่วนสภาพการมองเห็นและการได้ยินนับว่าเลือนรางแผ่วเบา แค่พอได้จดจำใบหน้า ได้ฟังเสียงของลูกสาวผู้ห่วงหาอาทรคอยป้อนข้าวป้อนน้ำและอุ้มลงสู่สายธารยามเย็น
ชีวิตของป้าสำแรวันนี้ คงความหมายที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง จากใครอีกหลายคนที่นอนรอวันพรุ่งนี้เพื่อเซ็นสัญญาทางธุรกิจนับร้อยนับพันล้าน แต่เธอเพียงนอนรอให้พระอาทิตย์ขึ้นเพื่อจะได้ลงไปนั่งใต้ถุนบ้านและนั่งรอให้พระอาทิตย์ตกเพื่อจะได้ขึ้นไปบนบ้าน วันเวลาของเธอทำได้เท่านี้...จริงๆ...
พวกเราชาวรุ่งอรุณมุ่งหน้ามาที่บ้านป้าสำแร ด้วยจุดประสงค์เช่นเดียวกับบ้านลุงแกละ จะต่างบ้างก็เพียงทีมงานที่สลับสับเปลี่ยนกำลังพล หัวหน้าฝ่ายช่างยังคงเป็นครูสมชาย ฝ่ายอาคารสถานที่ มีครูผู้หญิงจากฝั่งอนุบาลและประถมอีกหลายคนมารับงานตระเวนพื้นที่ชนบทเพื่อเยี่ยมเยียนเด็กๆ และคนชราตามบัญชีรายชื่อของฝ่ายสำรวจ
เป้าหมายคือแบ่งเบาความทุกข์แบ่งปันความสุข โดยมีจิตอาสา จิตที่มีความงดงามไปมอบให้ผ่านเนื้องานทางวัตถุและการกระทำอย่างคุณธรรมน้ำมิตร ด้วยความยึดมั่นศรัทธาว่าความดีงามเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการอยู่ร่วมกันของคนในสังคม จะแยกแยะว่าใครเมืองใครชนบทไม่ได้ หรือใครรวยใครจนก็ยิ่งไม่ได้ แค่มองหน้ากันได้อย่างอาทรไม่มีความหวาดระแวงมาเจือปนก็น่าจะเพียงพอ…
บ้าน..มีนัยบอกว่าใครบางคนต้องใช้เวลาเกือบทั้งชีวิตเพื่อให้ตัวเองมีที่อยู่ที่กิน กระทั่งมีที่ไว้นอนตาย
บ้าน..ถ้าใช้นิยามศัพท์เฉพาะว่าเป็นที่หลับนอนเพื่อรอเวลาให้พระอาทิตย์ขึ้นก็คงพอจะเอ่ยอ้างได้บ้างสำหรับที่อยู่ของป้าสำแร แต่ถ้าล้อมกรอบความหมายดั่งคฤหาสน์ของผู้มีอันจะกินแล้วไซร้ ที่อยู่ของป้าสำแร คงอยู่ห่างจากความหมายนี้ไกลโข
บ้านของป้าสำแรเป็นเพียงกระต๊อบโรงนา ยกตัวสูงหนีน้ำด้วยเสาขนาด ๕ นิ้ว ใช้สังกะสีเป็นหลังคาและฝากั้นพอคุ้มแดดคุ้มฝน บนบ้านนอกจากที่นอนหมอนมุ้งสมบัติอื่นก็นับชิ้นได้ การจมอยู่ใต้น้ำแรมเดือนทำให้เสาที่ผ่านการใช้งานมาหลายสิบปีทรุดเอียงและแตกร้าวเผยให้เห็นเหล็กเส้นชัดเจน มันเป็นลางบอกเตือนให้หญิงชราและคนรอบข้างรู้ว่าอันตรายใกล้จะมาถึงแล้ว
ที่ดิน..การถือครองที่ดินซึ่งในอดีตมีกฎเกณฑ์ตามชั้นยศในระบบศักดินาฐานันดร แต่ปัจจุบันเปลี่ยนมาถือสิทธิยึดครองได้อย่างเสรีตามอำนาจเงินตราเมื่อระบบทุนนิยมเข้าครอบงำ
ที่ดิน..เมื่อไม่มีทั้งยศถาบรรดาศักดิ์และทรัพย์สินเงินทองพอที่จะเข้าครอบครองสักผืน ป้าสำแรจำต้องเช่าที่ดินของวัดอนงคาราม เพื่อปลูกสิ่งที่เรียกว่าบ้านตามความหมายที่เข้าใจของคนทั่วไปเพื่อให้มีที่หลับนอน โดยจ่ายเงินค่าเช่าเป็นรายปีเช่นเดียวกับคนส่วนใหญ่ในละแวกนั้น ปริมาณมากน้อยกว้างยาวของพื้นที่จะเป็นตัวกำหนดราคาค่าเช่า
๓๐๐ บาทต่อปี สำหรับผู้หญิงที่มีเรี่ยวแรงเพียงขึ้นลงบันไดนับว่าเป็นเรื่องใหญ่และเกินกำลังจะหามาได้ จึงเป็นภาระของลูกสาววัย ๕๐ ที่มีรายรับจากการทำงานปั้นอิฐวันละ ๑๓๕ บาท เข้ามาแบกรับค่าใช้จ่ายแทนบุพการี ส่วนการซ่อมแซมบ้านเพื่อให้มั่นคงปลอดภัยพวกเราชาวชุมชนรุ่งอรุณรับทำหน้าที่นี้…
ต้องยอมรับว่าจิตวิญญาณของผมยังเป็นปุถุชนที่เต็มเปี่ยมด้วยกิเลส บางวันทำงานด้วยอาการท้อแท้ตามหน้าที่และความเคยชิน บางวันก็เอาเป็นเอาตายแทบไม่ลืมหูลืมตา แต่กับการที่ได้มีโอกาสช่วยคนแก่คนหนึ่งให้ได้มีที่อยู่อาศัยมั่นคงแข็งแรง ความรู้สึกกลับอยู่เหนือความเคยชิน อยู่นอกกรอบกติกาของหน้าที่ ทุกครั้งที่จอบกระทบปักลงพื้นขุดดินขึ้นมาให้เป็นหลุมตามมาตรฐานที่ฝ่ายช่างกำหนด วิญญาณของเรือจ้างที่วางไม้พายชั่วคราวเพื่อมาจับจอบเสียม ยังรู้สึกเหน็ดเหนื่อยเช่นทุกครั้งที่ออกแรงมากเกินปกติ ยังรู้สึกถึงความร้อนของเปลวแดดในวันที่ท้องนภาเกลี้ยงเกลาไร้เงาเมฆ แต่ความท้อถอยกลับไม่ย่างกรายปรากฏ
“เป่านกหวีดอยู่โรงเรียนยังเหนื่อยกว่านี้เลย” คำพูดทีเล่นทีจริงของครูตู่ ครูพละที่วันนี้แขวนนกหวีดมาจับค้อนตีตะปูเอ่ยขึ้นเพื่อสร้างบรรยากาศกลางไอแดด ถึงกระนั้นยังมีเสียงเปล่าลมออกจากปากอยู่บ่อยๆ ซึ่งแน่นอนไม่ใช่ภาวะความเคยชินกับนกหวีดจนติดเป็นนิสัย
เสียงเย้าแหย่ของกลุ่มจิตอาสาอย่างสนิทสนมคุ้นเคยมีอยู่ตลอดเวลาบ่งชี้ให้เห็นถึงสภาวะการส่งจิตเชื่อมสายใยอย่างแน่นแฟ้น ”เรียกพี่… เรียกน้อง” ได้สนิทปาก ทั้งที่จริงแล้วพวกเราก็เคยประสานงานร่วมกิจกรรมกันอยู่บ่อยๆในองค์กร ซึ่งก็ต่างทุ่มเทบริหารจัดการตามศักยภาพของตนเพื่อให้ภาระหน้าที่เกิดประสิทธิภาพสูงสุด แต่การยกมือไหว้ ส่งยิ้มทักทายกลับไม่เพียงพอที่จะก่อให้เกิดความอบอุ่นได้เท่ากับภารกิจพิเศษนี้
นับเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ ชีวิตที่ถูกกดทับด้วยหน้าที่บางครั้งอาจจะทำให้ต้องสำรวมเกินเหตุ ครั้นหลุดกรอบกรงที่อุปาทานกักขังพลันเริงร่าอิสระ ทุกขั้นตอนเคลื่อนไปอย่างราบรื่นเบิกบานจนเปิดพื้นที่อันอุดมสมบูรณ์เหมาะสมกับการไถหว่านพืชพันธุ์แห่งความทรงจำที่ดีให้งอกงามเพื่อเสริมสร้างปัญญาแห่งการเรียนรู้ร่วมกันในวันหน้า…
ที่แท้ปัญญาหาใช่เกิดเพราะความหนักเบาของเนื้องาน อยู่กลางแดดหรือห้องปรับอากาศ จิตอิสระต่างหากเป็นพรอันประเสริฐที่สวรรค์ประทานมา เพื่อให้มนุษย์มีปัญญานำไปใช้อะไรได้สารพัด การมุงหลังคาบ้านลุงแกละและเชื่อมต่อขื่อคานบ้านป้าสำแร ช่วยเสริมสร้างสายสัมพันธ์เชื่อมใจของพวกเราได้อย่างมีประสิทธิภาพ นับเป็นพฤติกรรมเชิงบวกที่อยู่นอกเหนือสมมติฐานของคนที่มองแต่เป้าหมายงานเป็นที่ตั้ง อย่างน้อยผมเป็นคนหนึ่งที่ไม่กล้าคิดถึงเรื่องอย่างนี้
ใช่ การมุงหลังคายกเสาบ้านทำให้ผมมีโอกาสได้ยกระดับปัญญาขึ้นมาได้บ้างจริงๆ..
คนเรารู้จักแต่การดูแลเรื่องภายนอกจนหลงลืมที่จะศึกษาภายใน มุ่งแต่จะแสวงหาสิ่งภายนอก รู้จักปล่อยนกปล่อยปลาแต่กับเพื่อนมนุษย์ด้วยกันกลับเว้นวรรคออกห่างจนเชื่อมต่อไม่ถึง ยึดถือครอบครองสรรพสิ่งจนลืมคนรอบข้าง กระทั่งลืมความชั่วคราวของชีวิต สุดท้ายการมีชีวิตชั่วคราวก็แห้งแล้งไร้ความหมาย.. ไร้ปัญญา บอกตามตรง รู้สึกดีใจที่ผมยังไม่สายเกินไปที่เกาะกลุ่มจิตอาสาขบวนสุดท้ายได้ทัน…
ภาพเวิ้งว้างของท้องทุ่งอันเขียวขจี ถูกทิ้งห่างออกไปตามอัตราเร่งของรถยนต์ขากลับ แม้จะเป็นภาพแทนค่าของความอุดมสมบูรณ์แต่ก็เป็นจิตรกรรมที่ชี้ชวนให้ความรู้สึกเปลี่ยวเหงามาเข้ายึดพื้นที่ในจิตใจได้ไม่น้อย “เมื่อไหร่จะมาอีก.. เมื่อไหร่จะมาอีก...” คำถามซ้ำแล้วซ้ำอีกของชายหญิงคู่นั้น ยังดังกึกก้องอยู่ในโสตประสาท แม้เขาและเธอจะอยู่ต่างสถานที่ กลับเอ่ยถามคำเดียวกัน เป็นคำถามสั้นๆ ง่ายๆ แต่ใช่ว่าจะตอบได้ตามแบบที่เคยชินหรือขอไปที ในเมื่อดวงตาของผู้ถามฉายแววจริงจังและอยากได้ยินคำตอบที่จริงใจ ดวงตาทั้งสองคู่จะหม่นหมองแค่ไหนถ้าได้ยินคำตอบที่น่าผิดหวัง
“ครับ...ผมจะพยายามมาเยี่ยมลุงป้าอีกถ้ามีโอกาส...” แม้จะไม่ได้เอ่ยตอบออกมาดังๆ แต่ผมจะเก็บคำตอบนี้ให้ก้องอยู่ในความทรงจำ
ลาก่อน...ลุงป้าผู้เปลี่ยวเหงาเดียวดาย...
No comments:
Post a Comment