ที่มาของชมรมจิตอาสารุ่งอรุณ
สืบเนื่องจากเหตุการณ์ธรณีพิบัติในปี ๒๕๔๗ คณะครู พนักงาน ผู้ปกครอง และ นักเรียน ได้รวมตัวกันเดินทางลงไปให้ความช่วยเหลือในพื้นที่ประสบภัย คือ เกาะพระทอง จังหวัดพังงา และเกาะหน้านอก จังหวัดระนอง อย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดเครือข่ายการทำงานขยายไปทั่วทั้งโรงเรียน รวมไปถึงองค์กรภายนอก อาทิ เจ้าหน้าที่จากบริษัทของผู้ปกครอง เป็นต้น
ในเบื้องต้นคณะทำงานเดินทางไปด้วยความรู้สึกสะเทือนใจ และต้องการให้ความช่วยเหลือ แต่จากการลงมือทำงานอย่างต่อเนื่องคณะทำงานพบว่า ความช่วยเหลือทางด้านวัตถุ ไม่สามารถเยียวยาจิตใจของผู้ประสบภัยได้ บางครั้งกลับจะทำให้เกิดความขัดแย้งในชุมชนเสียด้วยซ้ำ คณะทำงานได้เรียนรู้บทบาทของการเป็นอาสาสมัครในอีกมุมมองหนึ่ง คือการเข้าไปเป็นเพื่อนยามยากกับผู้ประสบภัย ที่มิได้ชี้นำหรือเสนอวิธีแก้ปัญหาอย่างสำเร็จรูป หากแต่ฝึกการเป็นผู้ฟังเป็น รับรู้ความทุกข์หรือความต้องการที่แท้จริงของเขา และร่วมปรึกษา แลกเปลี่ยนความคิด สร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน นำไปสู่วิธีการช่วยเหลือที่เพื่อนผู้ประสบภัยสามารถยืนหยัดด้วยตัวเองได้อย่างยั่งยืน ไม่ยัดเยียดสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในวิถีชีวิตของเขา ซึ่งประสบการณ์ทำงานในครั้งนั้น คณะทำงานได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ถ่ายทอดให้คนในโรงเรียนรุ่งอรุณได้รับรู้ตลอดทุกระยะผ่านสื่อต่างๆ อาทิ วงประชุม รายการวิทยุ หนังสือพิมพ์ วารสารในโรงเรียน
การเรียนรู้ที่เกิดจากการทำงานจิตอาสารุ่งอรุณ
ประสบการณ์ที่ผ่านมาส่งผลให้การทำงานเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในปี ๒๕๔๙ ในจ.พระนครศรีอยุธยา เกิดขึ้นอย่างไม่มีความลังเลสงสัย คณะทำงานมิได้ระดมของบริจาคเหมือนเช่นเคย เพราะเรียนรู้ว่าสิ่งของที่คนนำมาบริจาคจำนวนมาก ไม่ใช่ของสำเร็จรูปที่เหมาะสมกับผู้ประสบภัยทุกๆ ราย แต่ละหลังคาเรือน แต่ละบุคคล มีความลำบากต้องการความช่วยเหลือที่เฉพาะเจาะจง คณะทำงานเริ่มต้นจากการจัดหาเงินทุนเบื้องต้นสำหรับการทำงาน จากนั้นจึงได้จัดคณะอาสาสมัครลงพื้นที่ โดยเป้าหมายแรกคือการช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนที่มีความยากลำบาก แต่มิอาจช่วยเหลือตัวเองได้ หรือ ความช่วยเหลือจากส่วนกลางเข้าไม่ถึง อาทิ ผู้สูงอายุ พิการ ยากจน เป็นต้น โดยกระบวนการทำงานเริ่มต้นจากการเก็บข้อมูลที่ฝึกฝนให้อาสาสมัครต้องใช้การสังเกต การฟัง และการตั้งคำถาม เพื่อให้ได้ข้อมูลอย่างละเอียด รอบด้าน ก่อนที่จะลงมือให้ความช่วยเหลือที่เหมาะสม รวมทั้งต้องสื่อสารประสานข้อมูลกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกโรงเรียนเพื่อก่อให้เกิดความช่วยเหลือที่ทันการณ์ และเหมาะสมแก่ผู้ประสบภัย
คณะทำงานมองเห็นว่า แม้คนที่อยู่ในภาวะลำบากก็สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ หากผู้ให้ความช่วยเหลือใส่ใจในการคัดสรรสิ่งต่างๆ เสมือนว่าเตรียมสำหรับการกินอยู่ของตัวเอง หรือครอบครัว ญาติพี่น้องที่เรารักและห่วงใย ดังนั้นในถุงยังชีพของชมรมจิตอาสารุ่งอรุณจึงจัดซื้ออาหารที่มีคุณค่าและสามารถเก็บรักษาได้ระยะเวลาหนึ่ง ไม่มีปลากระป๋องหรือบะหมี่สำเร็จรูป พร้อมกันนั้นได้เตรียมอาหารปรุงสุกพร้อมรับประทานไปด้วยทุกครั้ง
การที่คณะอาสาเข้าไปรับฟังปัญหาต่างๆ ของผู้ประสบภัยเป็นการช่วยเหลือบำบัดในเบื้องต้น หลายๆ คนผ่อนคลายจากภาวะเครียดรู้สึกว่ายังมีคนที่มองเห็นความทุกข์ของเขา และรับฟัง บางคนมิได้ต้องการให้เราช่วยเหลือด้วยเงินทองใดๆ หากแต่ขอให้เรามาเยี่ยมอีก และขอให้มีเวลาอยู่กับเขานานขึ้น
คณะทำงานรับรู้ถึงภาวะของชาวบ้านที่ดูแลตัวเองตามอัตภาพ ไม่เรียกร้องการบริการทางสาธารณสุขจากภาครัฐ สังเกตจากการถาม-ตอบ ระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยสะท้อนว่าชาวบ้านมีความเกรงใจแพทย์และพยาบาลมาก รวมถึงอุปสรรคในการดำเนินเอกสารต่างๆ ทำให้ชาวบ้านบางส่วนละเลยในการเข้ารับการดูแลรักษาพยาบาลอย่างเหมาะสม ซึ่งคณะทำงานได้รับประสบการณ์การให้ความช่วยเหลือที่ดีจากโรงพยาบาลเสนา และพยายามสื่อสารให้ผู้ป่วยเข้าใจ เพื่อไม่ลังเลในการใช้สิทธิรักษาพยาบาลจากส่วนกลาง
การทำงานอย่างต่อเนื่องของคณะอาสาทำให้ได้รับความร่วมมือจากคนในพื้นที่ ทั้งการอำนวยความสะดวกในการเดินทางไปในบ้านต่างๆ ทางเรือและการให้ยืมรถและสนับสนุนเจ้าหน้าที่ประสานงานจาก อบต. รวมถึงการให้บริการที่อบอุ่นเป็นกันเองจากโรงพยาบาล ความรู้สึกระหว่างคณะอาสาและชาวบ้านนั้น เปรียบเสมือนความสัมพันธ์ของญาติมิตร ดังเช่น คุณลุงสนิทผู้ป่วยโรคตาในพื้นที่อำเภอเสนา ซึ่งคณะทำงานประสานงานเอกสารส่งต่อไปยังโรงพยาบาลอยุธยาได้โทรศัพท์มาเล่าความคืบหน้าว่าคุณลุงพิมพ์ และคุณป้าสังเวียน ได้เดินทางไปติดต่อและได้รับการนัดหมายผ่าตัดจากโรงพยาบาลอยุธยา เรียบร้อยแล้ว ความรู้สึกขอบคุณจากเสียงของลุงสนิทเท่ากับความรู้สึกอิ่มใจที่คณะทำงานได้รับ นอกจากนี้ยังมีเสียงโทรศัพท์จากคุณป้าจำลองโทรมาว่า คุณป้ายังรอพวกเราอยู่ เมื่อไรจะลงไปหาอีก ทำให้คณะอาสารู้สึกมีพลังในการทำงานต่อไป
คุณค่าของงานอาสาสมัครมิได้เฉพาะเจาะจงว่าต้องไปเป็นผู้ให้ เพราะคุณค่าของการให้ที่แท้จริง บางครั้งอยู่ในบทบาทของการเป็นผู้รับ คือรับฟังอย่างละเอียด รับรู้อย่างเข้าใจ
Wednesday, February 21, 2007
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment