คุณยายส้มลิ้ม
อายุ ๖๘ ปี เป็นพี่สาวของป้าจำลองป่วยเป็น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง เมื่อ ๒-๓ ปีก่อน ส่งผลให้ร่างกายซีกล่างเป็นอัมพาต เดินไม่ได้ ช่วยเหลือตัวเองไม่ค่อยได้ ซึมเศร้า เวลาถามตอบ มักพูดซ้ำๆ และร้องไห้ตลอดเวลา
คุณตาสี สามีของคุณยายส้มลิ้ม คุณตาเป็นต้อหินมองไม่เห็นแต่ยังเดินได้เคยพบแพทย์นานมาแล้ว และทางบ้านไม่ได้พาไปรักษาต่อ เนื่องจากคิดว่ารักษาไม่ได้แล้ว
ครั้งแรกที่เราไปพบเป็นช่วงน้ำท่วม คุณป้าจำลองซึ่งเป็นน้องสาวของคุณยายส้มลิ้มเป็นคนพายเรือรับจ้างได้พาอาสาสมัครไปแวะที่บ้านลูกเขย ซึ่งรับคุณตาและคุณยายไปอาศัยชั่วคราว เนื่องจากเกรงว่าสองคนตายายอยู่บ้านเองอาจจะตกน้ำได้ แต่สภาพห้องพักที่ไปอาศัยอยู่นั้นอึดอัดคับแคบ มืดและมีกลิ่นเหม็นจากปัสสาวะ ลักษณะห้องที่อยู่คล้ายห้องเก็บของ อยู่หลังห้องน้ำ อาจเนื่องจากคุณยายส้มลิ้มขาลีบต้องใช้การถัด จึงสะดวกสำหรับคนดูแลในการชำระล้างสิ่งขับถ่าย แต่คุณยายมีภาวะเครียดและซึมเศร้า เพราะบ้านเดิมนั้นมีพื้นที่กว้างขวางสามารถเคลื่อนที่ได้สบาย
ครั้งนั้นเราพบว่าคุณตามีปัญหาเรื่องตา เราจึงนัดกับคุณปรานี(ลูกสาว)ว่าจะขอนำคุณตาไปพบแพทย์ที่ร.พ.เสนา เพื่อขอใบส่งตัวไปตรวจรักษาที่ร.พ.อยุธยา เช่นเดียวกับคนชราอีกหลายรายที่เราไปพบ เนื่องจากร.พ.เสนา ช่วงนั้นขาดจักษุแพทย์ ลูกสาวอนุญาตให้เรานำคุณตาไปได้ การติดตามผลครั้งล่าสุดทางบ้านได้ใช้ใบส่งตัวจากร.พ.เสนานำคุณตาไปพบจักษุแพทย์ที่ ร.พ.อยุธยา แล้ว ได้คิวผ่าตัดเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๐
เมื่อน้ำลด... เราได้แวะไปเยี่ยมคุณตาและคุณยาย ซึ่งย้ายกลับมาอาศัยบ้านของตนเองแล้ว พบว่า สภาพบ้านซึ่งมีอายุ ๗๘ ปีทรุดโทรมมาก จุดที่เราซ่อมแซมให้คือ บริเวณบันได้ขึ้นลง ชานเรือนหน้าห้องน้ำ พร้อมพื้นห้องน้ำที่ผุทะลุเป็นอันตรายสำหรับคนตาบอด และ พิการท่อนล่างอย่างคุณตา คุณยาย และยังได้ตีไม้เป็นราวกันตกตรงระเบียงที่คุณตานอน
เราพบว่าแม้มีบ้านลูกหลานอยู่รอบๆ (คุณตาคุณยายมีลูก ๗คน) แต่สภาพแวดล้อมทั้งในและรอบๆ บ้านยังต้องการผู้ดูแลเอาใจใส่เรื่องสุขอนามัย เนื่องจากลูกสาวมีอาชีพทำปลาดุก ปลาหมึกขาย แต่ไม่มีระบบการระบายน้ำ จัดการขยะที่เหมาะสม ทำให้บริเวณโดยรอบมีกลิ่นเหม็นและแมลงวันจำนวนมาก รวมทั้งสภาพจิตใจของคุณยายที่ต้องการคนเอาใจใส่ดูแล เราได้ระดมกำลังอาสาสมัครช่วยกันเก็บกวาดขยะรอบๆ บ้านได้ถึง ๓๐ กว่าถุงดำ ฝังกลบขยะเน่าเหม็น ขุดทำท่อระบายน้ำให้เป็นทางไม่อุดตัน อาสาสมัครสามารถจัดการได้บางส่วน หากแต่คงต้องอาศัยเวลาในการที่จะสนับสนุนลูกๆ หลาน ให้เห็นถึงความสำคัญในการสร้างสุขอนามัยที่ดีให้ครอบครัวและชุมชนของตน เป้าหมายสูงสุดคือให้เกิดระบบการจัดการที่มาจากลูกๆ ที่ใช้พื้นที่บริเวณนั้นเอง
No comments:
Post a Comment