Friday, May 11, 2007

ไปทำงาน...ก่อนสงกรานต์ ๒๕๕๐









บันทึกการทำงานชมรมจิตอาสารุ่งอรุณ
การซ่อมแซมบ้านที่ จ.พระนครศรีอยุธยา
ระหว่างวันที่ ๒๓ - ๒๔ มีนาคม ๙ – ๑๑ และ ๑๘ เมษายน ๒๕๕๐

บันทึกการทำงานชมรมจิตอาสารุ่งอรุณ

๑.กลับมาฝึกเรื่องสื่อสารกันใหม่
หลังจากที่เราพักยกการลงพื้นที่มาตั้งแต่วันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐ (คือการปิดพื้นที่ซ่อมแซมบ้านในโครงการที่ ๑ และสำรวจบ้านที่เราเห็นควรซ่อมแซมเพิ่มเติม) คณะทำงานมีโอกาสพบปะพูดคุยกันบ้าง และวางแผนการทำงานต่อไว้คร่าวๆ ในช่วงกลางเดือนมีนาคม
๘ มีนาคม ๕๐ คณะทำงานรวบรวมข้อมูลการทำงานทั้งหมดเพื่อนำเสนอกับครูทั้ง ๓ โรงเรียนโดยหวังว่าจะช่วยให้ครูในแต่ละร.ร.ที่ไม่เคยลงพื้นที่ได้เห็นภาพชัดเจนขึ้น และจะช่วยกระตุ้นโครงการครอบครัวอุปถัมภ์อีกทางหนึ่ง น่าเสียดายที่มีเพียงครูร.ร.เล็กส่วนหนึ่งเท่านั้นที่เข้าร่วมงาน ครูประถมและครูมัธยมติดประชุมกับผู้ปกครอง และผู้ที่เข้าร่วมก็รับฟังข้อมูลโดยที่ไม่ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นแต่อย่างใด คณะทำงานจึงคุยกันว่าจะเดินหน้าเรื่องงานก่อสร้างและความเจ็บป่วยไปก่อน สำหรับโครงการครอบครัวอุปถัมภ์เราพักไว้และจะติดตามจากครูแกนนำในแต่ละโรงเรียนต่อไป
เมื่อสรุปว่าจะทำงานซ่อมแซมบ้านก่อน พี่สมชายฝ่ายอาคารจึงได้ทยอยส่งร่างแบบบ้านที่จะซ่อมแซมเพิ่มเติมจำนวน ๖ หลัง คือ ๒ หลังแรกเป็นการเก็บตกงานจากโครงการที่ ๑ (บ้านคุณยายธัน คุณน้าสุชาดา) และอีก ๔ หลังใหม่จากการไปสำรวจเพิ่มเติม (บ้านคุณยายสะอาด คุณยายทองหยิบ คุณยายฟัก และ น้องเจม - น้องกลิ้ง) พร้อมทั้งเสนองบประมาณเพื่อพิจารณาอนุมัติซึ่งก็ผ่านเรียบร้อย จากประมาณการเราน่าจะใช้เงินบริจาคเกือบหมดในการทำงานครั้งนี้
ระหว่างนั้นพี่สมชายยังไม่ได้กำหนดวันลงพื้นที่ เพราะเราไม่ค่อยแน่ใจว่าควรรอให้ผ่านช่วงงานหยดน้ำไปก่อน ครูปิดเทอมค่อยจัดกำลังลงไป หรือว่าควรลุยเลย เอาตามจริงใครหน้างานสะดวกก็ลง สุดท้ายพี่สมชายสรุปวางวันการทำงานให้คือลง พฤหัสฯ-ศุกร์-เสาร์(ไปเช้า-เย็นกลับเหมือนเดิม) ติดกัน ๓ สัปดาห์ คือ ๒๓ - ๒๔ มี.ค. ๓๐ - ๓๑ มี.ค. และ ๕ - ๗ เม.ย. โดยมีเบื้องหลังหรือเหตุผลของคณะทำงานสนับสนุนดังนี้
(๑) เราไม่อยากให้การทำงานเลยไปช่วงหลังสงกรานต์หรือเปิดเทอมใหม่ เพราะไม่อยากให้บ้านบางหลังต้องโดนพายุฤดูร้อน หรือเข้าสู่ฤดูฝนเพราะโดยสภาพบ้านเดิมที่เราไปสำรวจมานั้นเสี่ยงต่ออันตราย
(๒) การจัดวันลงพื้นที่ทั้งวันทำงานและวันหยุด เพื่อเป็นทางเลือกให้อาสาสมัคร ขณะเดียวกันฝ่ายอาคารซึ่งมีหน้างานเร่งด่วนของโรงเรียนก็น่าจะสามารถจัดสรรเวลาทำงานให้โรงเรียนได้
แต่ความคิดเหล่านี้เป็นความคิดที่ปรึกษากันในวงเล็กๆ เท่านั้น คือ อ้อ จอม พี่สมชาย ปุ้ย เมื่อคิดเสร็จก็สรุปเรื่องวันและแจ้งกำหนดการไปยังครูทั้ง ๓ ร.ร.เลย ซึ่งเราก็ไม่คาดหวังว่าครูจะอาสาเป็นจำนวนมากเนื่องจากอยู่ในช่วงงานหยดน้ำและการทำประเมินผล แต่เรามองว่างานหลักคือการซ่อมแซมก่อสร้างซึ่งอาศัยแรงช่างเป็นหลักจึงไม่น่าจะต้องรีรออะไร ขณะนั้นเราเข้าใจเอาเองว่าทีมช่างเองก็พร้อม
การซ่อมแซมบ้านโครงการ ๒ นี้เริ่มที่บ้านคุณยายธันและคุณน้าสุชาดา ซึ่งถือว่าเป็นงานเล็ก คือมุงหลังคาที่ชำรุดให้ วันศุกร์ที่ ๒๓ มี.ค. พี่สมชาย ขอแรงก้อง กะเล ลงไปเปิดงานพร้อมด้วยอาสาสมัครอีก ๒ แรง คือ ครูตู่ และวันใหม่ ส่วนวันเสาร์ที่ ๒๔ มี.ค. เหลือเพียง ก้อง และ กะเล ช่วยกันกับลูกเขยคุณยายธัน ปิดงานจนเสร็จ วันจันทร์ที่๒๖ มี.ค. อ้อและจอมนัดคุยกับพี่สมชายเพื่อสรุปงานสัปดาห์แรกและวางงานในสัปดาห์ต่อไป การพูดคุยกันในวันนั้นพี่สมชายดูไม่ปกตินัก จับความได้ว่าฝ่ายช่างรู้สึกว่าไม่มีอาสาสมัครไปคึกคักเหมือนโครงการแรก และ “ขอแรง” ก้องและกะเล ส่อเค้าว่าทีมช่างคนอื่นๆ ยังไม่รู้ หรือ อาจไม่เอาด้วย เพราะมีประเด็นเรื่องไม่สะดวกลงพื้นที่ในวันหยุดมาตั้งแต่โครงการแรกแล้ว ทำให้เราคิดว่าเราควรหาเวลาพูดคุยกับพี่ๆ ฝ่ายช่างเหมือนกับที่เราชวนครูอาสาคุยกันบ่อยๆ
ซึ่งเรื่องนี้ อ.ประภาภัทรและฝ่ายบริหารก็ย้ำว่าเป็นเรื่องสำคัญที่เราควรสื่อสารทำความเข้าใจกันอย่างสม่ำเสมอ อย่าปล่อยให้เจตนาที่จะทำเรื่องดีๆ กลายเป็นการสร้างความกังวลสงสัย เพียงเพราะเราละเลยการพูดคุยบอกกล่าวโดยคิดเอาว่าทุกคนน่าจะรู้และเข้าใจแล้ว
คณะทำงานจึงมีโอกาสนั่งล้อมวงเปิดใจคุยกับพี่ๆ ฝ่ายช่าง รวม ๓ รอบ ก่อนลงมือทำงานต่อ เรามีโอกาสได้แสดงความชื่นชมในสิ่งที่พี่ๆ ให้ใจ ลงแรง เต็มที่กับงานจิตอาสาโครงการที่ ๑ ทั้งๆ ที่จากการตั้งประเด็นคำถามก็เห็นได้ชัดว่าพี่ๆ หลายคนรู้สึกว่า เป็นการลงไปทำงานตามสั่ง มิได้รู้สึกว่าเป็นงานจิตอาสา แต่ทุกคนก็มุ่งมั่นทำงานอย่างดีที่สุด การที่เราได้มีโอกาสลงไปแลกเปลี่ยน ตอบข้อสงสัยทั้ง ที่มาของโครงการ ปัจจัยในการเลือกบ้านแต่ละหลัง ทำไมเราจึงกำหนดทำงานในวันหยุด รวมถึงแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความรู้สึก คุณค่าที่เราได้รับจากการได้ทำงาน ก็พบว่าพี่ๆ ทุกคนมีใจที่อยากจะช่วยเหลือเป็นทุนอยู่แล้ว
เมื่อรู้ถึงที่มาที่ไป เหตุผลของการทำงาน และที่สำคัญคือเขารู้สึกว่ามีคนรับฟัง ความเห็นของเขามีความหมาย ความรู้สึกเป็นเจ้าของงาน จัดวางตัวเองลงไปทำก็เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ
เราจึงร่วมกันปรับตารางการทำงานกันใหม่ ครั้งนี้พี่ๆ จัดทีมทำงานกันเองให้เหมาะกับลักษณะงานแต่ละหลัง ช่วยกันมองหน้างานว่าต้องจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์อะไรเพิ่มเติมจากที่พี่สมชายวางไว้...
เมื่อมีพลังขับเคลื่อนมาจากการสื่อสาร จิตอาสาจึงเกิดใหม่อีกครั้ง

๒.เดินหน้าต่อไป
๙-๑๐-๑๑ เมษายน คือช่วงเวลาที่เราวางแผนลงไปซ่อมแซมบ้านพร้อมกันใน ๒ พื้นที่ คือ บ้านคุณยายสะอาด- คุณยายทองหยิบ และ ป้าแดง ที่ อ.เสนา และบ้านคุณยายฟัก-คุณสมชาย (ลูกชาย) ที่ อ.บางบาล ซึ่งเมื่อฝ่ายช่างลงรายละเอียดในงานซ่อมแซมแล้วจึงจัดแบ่งทีมช่างเป็น ๒ ทีม แตกต่างกันคือ
บ้านคุณยายสะอาด - คุณยายทองหยิบและป้าแดง เป็นงานที่ต้องอาศัยกำลังคนช่วยกันดึงบ้านที่ทรุดเอียง และมีงานพัฒนาพื้นที่รอบๆ จึงเหมาะที่จะพาอาสาสมัครลงไปช่วยงาน โดยมีช่างก้อง กะเล ตี๋ เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลัก
ในขณะที่บ้านคุณยายฟัก-คุณสมชาย เป็นงานทำห้องน้ำต่อเติมขึ้นไปบนบ้านชั้น ๒ ต้องอาศัยความชำนาญของช่าง เป็นงานละเอียด ประกอบพื้นที่ทำงานค่อนข้างคับแคบ ที่นี่จึงจัดช่างล้วนๆ ลงไปทำงานถึง ๖ คน คือ พี่ขอด พี่โก๊ะ ศักดิ์ จิม พิเชษฐ์ และลุงอุทิน ทั้ง ๒ พื้นที่มีเวลาทำงาน ๓ วันก่อนทุกคนจะหยุดยาวช่วงสงกรานต์
และเมื่อได้อาสาสมัครมาสมทบเราไม่ลืมชวนคุยก่อนลงพื้นที่ เพื่อให้ข้อมูลที่มาของบ้านแต่ละหลัง แผนการทำงานคร่าวๆ ในการทำงานที่จะยืดหยุ่นไปตามสถานการณ์จริง ซึ่งทั้ง ๓ วันนี้ เราได้อาสาสมัครจากหลายๆ ฝ่ายในชุมชน คือ วันแรกครูสาวๆจาก ร.ร.เล็ก ครูแอน ครูอีฟ๑ ครูอีฟ๒ ครูไพ และครูปรางค์ ครูหนุ่มแรงดีจากมัธยม ครูแจ๊ะ ครูเจน พร้อมด้วย ด.ช.หมูแฮม (รายนี้เพิ่งกลับจากฉือจี้เหมาลงทั้ง ๓วัน)
สำหรับวันที่ ๒ - ๓ ได้น้องๆ จากทีมสถาปนิกจัดสลับสับเปลี่ยนกันลงวันละ ๙-๑๐คน ทำเอาช่างเบาแรงไปเยอะ ยังมีวันใหม่มาช่วยเสริมในวันที่ ๒ และวันสุดท้ายเรายังได้กำลังเสริมจากครอบครัวของคุณแม่เหล่งซึ่งขับรถตามมากับน้องชายลูกและหลานเต็มคันรถ ส่วนจอมก็ชวนอ้วนอดีตครูอาสาจากทุ่งดาบ และอ้อก็ชวนเจลลี่มาร่วมขบวนกับเขาด้วย
· บ้านคุณยายสะอาด
เดิมเราต้องซ่อมแซมบ้าน ๒ หลัง คือ หลังเล็กของคุณยายทองหยิบ มุงหลังคา ทำประตูให้ ส่วนหลังใหญ่ของคุณยายสะอาดอยู่กับป้าแดง ลักษณะบ้านเอียงทรุด สภาพสังกะสีดูเหมือนของมือ๒-มือ๓ คือเก่ามากแล้วรวบมาปะจนเป็นบ้าน แต่ก่อนไปซ่อมจอมโทรนัดหมายล่วงหน้าจึงทราบว่าคุณยายทองหยิบมีหลานมารับกลับไปอยู่ด้วยแล้ว (สาธุ)
เราจึงวางแผนเพื่อไปซ่อมบ้านคุณยายสะอาดเป็นหลัก วันแรกช่างและแรงงานหนุ่มๆ ไม่รีรอ งัดทั้งพื้น ทั้งฝาบ้านออกจนโล่ง ขณะที่สาวๆ จากร.ร.เล็กแม้จะเอวบางร่างน้อยแต่ไม่มีใครแพ้แดด ลงจอบทำแปลงผักอีก ๕ ร่องทันที ในพื้นที่ใหม่ที่ป้าแดงชี้ให้ (โดยแปลงผักเดิมที่ครูต้นพาเด็กชั้นคละไปทำให้ขาดน้ำแห้งไปหมดแล้ว เพราะแม้จะอยู่หลังบ้านก็จริงแต่ต้องลงไปตักน้ำที่คลองชลประทาน เดินมาหลังบ้านอีกไกล) แม้ที่ใหม่จะใกล้น้ำ แต่อากาศที่ทั้งร้อนจนแล้งขณะนี้ทำให้สาวๆ ต้องปรึกษากันว่าต้องหากากมะพร้าวมารองใต้แปลงเพื่อช่วยอุ้มน้ำนานขึ้น และช่วยกันย้ายโอ่งมาไว้ใกล้ๆ เพื่อสำรองน้ำที่จะใช้รดในแปลงทุ่นแรงป้า เมื่อเปิดหน้าดิน ยกร่อง รดน้ำเรียบร้อย ก็รอจะออกไปซื้ออาหารกลางวันให้ทุกคน แต่รถตู้ไปส่งจอมที่บางบาลเพื่อจัดการเรื่องวัสดุอุปกรณ์บ้านคุณยายฟัก ส่วนรถกระบะของก้องถูกนำมาดึงสลิงที่ผูกยึดบ้านไว้ไม่ให้ล้มจนกว่าเสาใหม่ที่สั่งร้านวัสดุไว้จะมาส่ง สาวๆ คุยกันเล่นๆ แต่เอาจริงว่า “หรือเราจะโบกรถไป?” บ้านคุณยายสะอาดอยู่ติดถนน (จริงๆ คือบุกรุกที่หลวงอยู่) มายืนรอรถสองแถวสักพัก แต่ก็ไม่เห็นแวว ครูอีฟ๒ ส่งสายตาขอความเห็นใจรถกระบะที่ออกมาจากทางเข้าวัดเจ้าแปดฝั่งตรงข้าม เป็นผล ได้ติดรถคนใจดีไปลงที่ตลาด หลังจากซื้อข้าวกล่องแล้ว ก็ไปหาซื้อเมล็ดพันธุ์ ส่วนดินและกากมะพร้าวในตลาดไม่มี ชาวบ้านก็บอกทางว่าอยู่เลยร้านน้องเจไป อยู่ไหนเราก็นึกไม่ออก เลยเหมารถกระบะหวังจะได้ไม่หลงและมีรถขนดินเข้าพื้นที่ รถมาส่งที่ร้านขายดินและกากมะพร้าว โธ่...อยู่ริมถนนตรงกันข้ามกับบ้านคุณยายสะอาดนั่นเอง ผลของการไม่ถามป้าแดงให้รู้เรื่อง
กลับมาถึงหนุ่มๆ ทานข้าว แต่สาวๆ ไม่ยอมพักลงดินและกากมะพร้าวในแปลงต่อจนเสร็จ ป้าแดงเอาไม้มาให้พวกเราช่วยกั้นคันดินไม่ให้ดินไหลลงคลองหากฝนมา เสร็จแล้วก็ไปนั่งพักเอาแรง สังเกตดูหนุ่มน้อยอย่างหมูแฮม จดๆ จ้องๆ จะตอกตะปู ก็ยังเบี้ยวๆ อยู่ ต้องคอยช่วยหยิบส่งของ(แต่ต้องติดตามดูจนถึงวันสุดท้าย หมูแฮมลีลาคล่องแคล่วคล้ายช่างมากขึ้น) ช่างก้องบอกว่าวันแรกนี้ต้องระวัง สภาพบ้านที่รื้อถอนค่อนข้างอันตราย บางช่วงจึงได้แต่นั่งดูช่างทำงานเป็นหลัก
มีเวลาคุยกับป้าแดงเป็นระยะ ทราบว่าคุณยายสะอาดเพิ่งอออกจากโรงพยาบาลเนื่องจากเบาหวานขึ้น และหมอยังตรวจพบว่าเป็นโรคไต ซึ่งทั้งคู่อาศัยดื่มใช้น้ำจากคลองชลประทาน จึงสอบถามเรื่องการซื้อน้ำสะอาดมาไว้ดื่ม ป้าแดงว่ามีส่งเลยฝากคุณครูสมพรที่จะมารับประสานงานต่อในวันที่ ๒ ช่วยจัดการ
ที่ใต้ถุนบ้านมีลูกหมาอยู่หลายตัว ป้าแดงต้องไล่ให้ออกมากลัวบ้านจะทรุดทับ สังเกตว่าป้าแดงรักหมามาก ข้าวที่ซื้อไปฝากคุณยายสะอาดและป้าแดง กล่องของป้าแดงแบ่งเป็นกองเล็กๆ ให้ลูกหมากินก่อน ป้าแดงค่อยกินในกล่องที่เหลือ เย็นวันนั้นกะเลขอลูกหมากลับไปเลี้ยง ๑ ตัว
วันที่ ๒ มีครูสมพรเป็นผู้ประสานงานในพื้นที่ พร้อมด้วยน้องๆ ทีมสถาปนิกและทีมช่างก้อง ตี๋ และ กะเล +หมูแฮมและพี่วันใหม่ ซึ่งในวันนี้ทุกคนได้ลงแรงเต็มที่เพราะเป็นการรื้อถอนและลงเสาใหม่(ไม้) ให้แข็งแรง ครูสมพรได้พาป้าแดงไปสั่งน้ำสะอาดมาใส่ตุ่มไว้ดื่มใช้ แต่จนเย็นแล้วก็ยังไม่มาส่ง
วันสุดท้ายเราต้องออกเช้ากว่าเดิมคือ ๘.๐๐น. มาเป็น ๗.๓๐น. เพื่อให้จอมและแม่เหล่งนำรถไปรับคุณยายสำแรที่บางบาลไปพบจักษุแพทย์ที่ร.พ.อยุธยา ได้ทันการตรวจเช็คและทำนัดการผ่าตัดถ้าจำเป็น ตามที่เจ้าหน้าที่ร.พ.อยุธยาที่เราประสานงานไปได้แจ้งกลับมา
อ้อและเจลลี่เดินทางไปเองด้วยรถส่วนตัว ไปถึงเสนาก่อนเวลานัดหมาย จึงแวะเข้าไปเยี่ยมบ้านต่างๆ ที่หลังวัดบ้านแพน พบกบซึ่งยังคงมาช่วยงานที่วัดบ้านแพนลูกสาวทั้ง ๓ คนจะเปิดเทอมใหม่มีค่าชุดนักเรียนที่ต้องเตรียมโดยเฉพาะคนกลางที่ขึ้น ป.๕ ต้องใช้เครื่องแบบคอซองซึ่งท้ายรถอ้อได้นำเสื้อผ้ามือสองบางส่วนเตรียมไปให้อยู่แล้ว แต่ไม่มีชุดนักเรียนคอซอง ปรึกษาครูปิ่นหทัยที่ร.ร.วัดบ้านแพน ถึงความจำเป็นของกบจึงตัดสินใจจัดซื้อไปให้ (ได้นำหนังสือที่ได้จากงาน book day สำหรับเด็กเล็กไปมอบให้ศูนย์เด็กเล็กวัดบ้านแพนด้วย) จากนั้นไปแวะเยี่ยมคุณยายบุญธรรมซึ่งดีใจมากที่ไปเยี่ยม เจลลี่เห็นแม่ต้องไปพูดดังๆ ข้างๆ หูคุณยายก็ขำ คุณยายว่าข้าวสารที่เอาไปฝากจะหุงไปทำบุญที่วัดช่วงสงกรานต์ (สาธุ) ซื้อผ้าถุงผืนใหม่ไปฝากด้วยได้ใส่ไปวัดพอดี ส่วนคุณป้าจำลองซึ่งบ้านติดกับคุณยายบุญธรรมไม่อยู่จึงฝากทั้งข้าวสาร ผ้าถุงไว้ให้ ย้อนกลับมาหาคุณตาแกละ(เพราะช่วงเช้าผ่านมายังไม่ตื่น)นั่งอยู่หน้าบ้าน ถามสารทุกข์กันพักหนึ่งจึงเห็นว่าตาขาวข้างหนึ่งของคุณตาแดงมาก คุณตาบอกว่าคันมาก แต่ไม่ยอมไปหาหมอจึงโทรปรึกษากับเภสัชกรร้านของคุณแม่มล ได้ชื่อยาหยอดตาแก้แพ้ ซื้อและไปหยอดให้คุณตา ไม่รู้ว่าจะหยอดต่อเองได้มากน้อยแค่ไหน คุณตาแกละถามถึงไอ้อ้วน (ครูอดิเรก) ด้วย อ้อบอกว่ายังตรวจข้อสอบไม่เสร็จ
มุ่งรถต่อไปที่บ้านคุณยายสะอาด ซึ่งทั้งช่าง พร้อมอาสาสมัครน้องๆ สถาปนิก ลงมือทำงานต่อแล้ว รถคุณแม่เหล่งมาถึง ส่งน้องชาย ลูก และหลาน ไว้ช่วยงานที่นี่ ส่วนตัวคุณแม่เหล่งนั่งรถตู้ไปกับจอมและอ้วน เพื่อไปดำเนินการเรื่องโรงพยาบาล (คุณยายสำแร พบหมอตาที่ร.พ.อยุธยา (ยังไม่ต้องผ่าตัดได้คิวนัดตรวจครั้งต่อไป) หมอกระดูกที่ร.พ.เสนา) และสำนักงานสวัสดิการผู้พิการ (คุณยายฟัก และคุณสมชาย) รวมทั้งแวะเอานมไปให้น้องฟิล์มและหลานคุณยายธัน ช่วงบ่ายจึงกลับมารับขบวนการเด็ก คือ การบูร ป.๖ บอม ป.๕ และเจลลี่ ป.๓ ไปช่วยกันเก็บกวาดบ้านคุณยายฟักเนื่องจากช่างทำห้องน้ำเสร็จเรียบร้อยแล้ว
จอมได้ฝากใบนัดจากโรงพยาบาลอยุธยาให้อ้อแวะไปหาป้าสังเวียนและลุงสนิทเนื่องจากป้าสังเวียนและลุงพิมพ์ไม่ได้ไปตามนัดเดิมคือ ๘ ก.พ. ทางร.พ.จึงนัดให้ใหม่คือ ๕ ก.ค. ซึ่งหากไปตามนัดจะได้คิวผ่าตัดภายใน ๒ เดือน และทางร.พ.จะไม่ออกเอกสารส่งต่อผู้ป่วยไปที่อื่นให้ เพราะยืนยันว่าสามารถรักษาได้ เพียงแต่ขอให้มาตามนัด ซึ่งจากการที่อ้อได้แวะเอาเอกสารไปให้พร้อมทั้งอธิบายและชักชวนให้คุณป้าและคุณลุงไปรักษาต่อพบว่าคุณป้าได้รักษาอยู่กับคลินิกใกล้บ้าน ได้ยาหยอดตาประทังอาการไป ส่วนลุงสนิทยังไม่ได้ไปพบแพทย์แต่อย่างใด โดยรวมคุณป้าสังเวียนรู้ไม่แน่ใจเรื่องการผ่าตัด เพราะได้รับข้อมูลจากจักษุแพทย์เดิมที่ ร.พ.เสนาเดิม และแพทย์ที่คลินิก คุณป้าเข้าใจว่าตาข้างหนึ่งเป็นทั้งต้อหินและต้อกระจก การผ่าตัดจะไม่ช่วยให้ดีขึ้น ประกอบกับอายุมากแล้วจึงค่อนข้างกลัว และการเดินทางไปร.พ.อยุธยาทั้งคู่ไม่มีลูกหลานพาไปจึงไม่สะดวก อ้อจึงให้บัตรนัดไว้และเสนอว่าหากคุณป้าและคุณลุงจะไปร.พ.อยุธยา จะมารับ-ส่ง ให้ แต่ขอให้เป็นความสมัครใจ และแสดงความเห็นว่าน่าจะลองรักษาดู ก่อนที่อาการจะลุกลามมากกว่านี้ โดยเฉพาะลุงสนิทที่ยังไม่เคยไปตรวจเลย
กลับมาที่บ้านคุณยายสะอาด ยังเหลืองานอีกพอสมควรแต่ช่างก้องว่าน่าจะเสร็จหากเลิกค่ำหน่อย ก่อนอาหารเที่ยงมีรถกรมทางหลวงเลี้ยวเข้ามาจอด ทุกคนนิ่งดูท่าที มีเจ้าหน้าที่คนหนึ่งลงมาแจ้งเรื่อง (ที่เราอยู่แล้วว่า) เส้นทางหรือพื้นที่ที่บ้านคุณยายสะอาดปลูกอยู่นี่กำลังถูกทางหลวงเวนคืน หัวหน้าจึงไม่อยากให้มีการปลูกสร้างใหม่ ซึ่งเราก็ยืนยันไปว่าเราไม่ได้ต่อเติมหรือสร้างบ้านแบบถาวร เพียงแต่ซ่อมแซมบางส่วนให้เพราะสภาพเดิมนั้นเป็นอันตรายแก่ผู้อาศัย (ซึ่งทั้งชราและเจ็บป่วย) ที่รีบทำเพราะกำลังจะฤดูฝนและอาจมีพายุฤดูร้อนเข้าและได้ปรึกษาและประสานงานไว้กับทางอบต.สามกอแล้วว่าพื้นที่จะถูกเวนคืนดังนั้นการซ่อมแซมบ้านจะดำเนินการเพื่อการอยู่อาศัยอีกประมาณ ๑ ปี เจ้าหน้าที่กรมทางหลวงก็เข้าใจในประเด็นมนุษยธรรม และบอกว่าตนมาแจ้งตามหน้าที่ แต่ละคนมีหน้าที่อะไรก็ทำไปก็แล้วกัน
ช่วงบ่ายระหว่างที่ทุกคนลุยงานกันต่อ อ้อพาป้าแดงไปซื้อน้ำใส่ตุ่ม (เต็มตุ่มใช้น้ำ๑๐ถัง*ถังละ ๒๐ลิตร) ไปตลาดเติมแก๊ส ซื้อข้าวสาร ชวนป้าแดงให้พาคุณยายสะอาดไปหาหมอตามนัด แต่ป้าแดงว่าไปก็ตรวจไม่ได้เพราะคุณยายสะอาดไม่ได้งดน้ำอาหาร
กลับมาที่บ้าน ฟ้าเริ่มครึ้ม ลมแรง ต้องเอาของหนักๆ ทับสังกะสีเก่าๆ ที่กองไว้กลัวจะปลิว ๓ โมงกว่าๆ ฝนก็เทลงมาหนักมาก แต่ไม่มีใครหยุด จนฝนหนักกว่าเดิมมากๆ ทำให้ดินเหลว ยืนทำงานต่อไม่ได้ ทุกคนจึงขึ้นไปนั่งบนบ้าน กะเล กับ ตี๋วิ่งเอาสังกะสีมาคลุมของในบ้านหลังเล็ก (บ้านคุณยายทองหยิบ) ที่ป้าแดงขนมาเก็บชั่วคราว อ้อเอาผ้าห่มมาคลุมตัวให้คุณยายสะอาดเพราะเรานั่งหลบฝนอยู่ในเพิงเก็บของเก่า แรงฝนก็สาดเข้ามาจนเสื้อชื้นเหมือนกัน
ฝนหยุดเราปรึกษากัน ช่างก้องตัดสินใจหยุดงานโดยขอป้าแดงว่าจะกลับมาทำให้เสร็จในวันที่ ๑๘ เม.ย. (อีก ๗วัน) ป้าแดงเข้าใจ ไม่ขัดข้อง ซึ่งวันที่ ๑๘ ก้องก็ทำตามสัญญา โดยมี กะเล และน้องมิน สถาปนิก ไปช่วยกันปิดงานให้เรียบร้อย
· บ้านคุณยายฟัก-คุณสมชาย
งานตามแบบร่างที่พี่สมชายวางไว้จากการไปสำรวจพูดคุยกับคุณยายฟักและคุณสมชาย(ลูกชาย) คือเปลี่ยนหลังคา ซ่อมพื้นและชานบ้านชั้นบน พร้อมทั้งสร้างห้องน้ำยกขึ้นไปบนชั้น ๒ เพื่อใช้งานช่วงที่น้ำท่วม (ซึ่งท่วมทุกปีเพราะบ้านอยู่ริมแม่น้ำท่วมก่อน ลดทีหลัง) พร้อมทั้งเปลี่ยนฝาบ้านส่วนที่สังกะสีผุให้ใหม่ และซ่อมรางซักล้างให้ แต่เมื่อฝ่ายช่างซึ่งนำทีมโดย พี่ขอด พี่โก๊ะ พิเชษฐ์ ลุงอุทิน ศักดิ์ และ จิม ไปถึงพื้นที่พบว่าเจ้าของบ้านและญาติเข้าใจไม่ตรงกับเรา คือคิดว่านอกจากห้องน้ำชั้นบนแล้วจะมีการต่อระเบียงออกไปให้ด้วย เมื่อจอมแวะไปเพื่อประสานเรื่องวัสดุอุปกรณ์ให้ช่างจึงใช้เวลาพูดคุยทำความเข้าใจกับคุณยายฟัก และคุณสมชาย ถึงแบบ และงบประมาณ เมื่อเจ้าของบ้านเข้าใจจึงได้เริ่มงาน
ซึ่งตลอดทั้ง ๓ วัน ช่างของเราได้รับการดูแลเอาใจใส่จากคุณยายซึ่งจัดหาเครื่องดื่ม ผลไม้ มาบำรุงเต็มที่
จอมที่ลงไปประสานงานในวันที่ ๙ และ ๑๑ เล่าว่าคุณยายฟักยิ้มแย้มมีความสุขที่ได้พูดคุยกับเรา เมื่อพาเด็กๆ ไปช่วยกันทำความสะอาดบ้านในวันสุดท้าย ด้วยงานก่อสร้างเสร็จเรียบร้อย และกล่าวลาคุณยายและลูกชายขอบอกขอบใจพวกเรา พร้อมๆกับน้ำตาแห่งความยินดี ที่ยายยกมือปาดออกพร้อมรอยยิ้ม จอมบอกว่า อย่างนี้เองที่เขาเรียกว่า "ยิ้มทั้งน้ำตา"
จิตอาสาก่อนสงกรานต์ครั้งนี้จึงอิ่มอกอิ่มใจกันไป
ต้องขออนุโมทนาบุญทุกๆ คนที่ร่วมแรงร่วมใจกันอย่างเข้มแข็ง

๓.กลับมาคุยกัน...อีก

เราหาโอกาสแลกเปลี่ยนการทำงานกันในวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๕๐ ช่วงเช้าก่อนที่พี่ๆ ช่างจะต้องแยกย้ายกันไปทำงาน เพื่อสรุปภาพรวมของงานและประเด็นที่ควรนำมาเพิ่มเติมในกระบวนการทำงานของพวกเรา ซึ่งรวมๆ เราพบว่าก็ไม่พ้นเรื่องการสื่อสาร...
o ควรเพิ่มขั้นตอนการสรุปแบบร่างงานซ่อมแซม ก่อสร้าง กลับไปที่เจ้าของบ้านเพื่อตรวจสอบความเข้าใจให้ตรงกัน หากไม่มีเวลาจริงๆ อย่างน้อยควรมีโอกาสพูดคุยกันทางโทรศัพท์ ก่อนลงพื้นที่
o วัสดุที่ใช้ ช่างบางคนรู้สึกว่ายังไม่ได้มาตรฐานน่าจะใช้ของดีที่มีอายุใช้งานยาวๆ หรือ วัสดุบางส่วนดึงจากงานอื่นมาใช้ทำให้ไม่พอดีต้องใช้เวลามาดัดแปลงหน้างาน ซึ่งส่วนนี้เกิดจากการพิจารณาเรื่องงบประมาณที่มีอยู่จำกัดร่วมกันของคณะทำงาน รวมทั้งปรับแบบ วัสดุ ให้สามารถใช้งานได้ในระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งควรใช้เวลาสื่อสารกันในรายละเอียด แต่การทำงานครั้งนี้ไม่ได้ติดขัดแต่อย่างใดเพราะทีมช่างเองก็วางใจกันพร้อมจัดปรับกันไปตามบริบท
o ควรทำความเข้าใจในเป้าหมายของการช่วยเหลือแบบยั่งยืนกันอย่างสม่ำเสมอเพราะเราพบว่า หลายๆ คนให้การช่วยเหลือเฉพาะหน้าไปด้วยเงินส่วนตัว ตามที่คนในพื้นที่ขอ เช่น ขอเงินเป็นค่านมลูก ซึ่งก็พบว่าเงินที่ได้ไปไม่ได้ถูกนำไปช่วยเหลือเด็กที่เหมาะสม แต่ถูกนำไปใช้เชิงบริโภคของผู้ใหญ่มากกว่า
o บ้านที่เหลืออยู่หลังสุดท้ายที่เราไปสำรวจเพื่อซ่อมแซม คือ บ้านของน้องเจม-กลิ้ง แม้เราจะได้รับการอนุมัติงบประมาณเรียบร้อยแล้ว แต่เรายังไม่เคยพบตัวเจ้าของบ้านคือ คุณลุงของเด็กเลย การมุ่งจะลงไปซ่อมแซมบ้านจึงไม่อาจแน่ใจได้ว่าเป็นการแก้ปัญหา ช่วยเหลือ ครอบครัวนี้ได้ตรงจุดจริงหรือไม่ คณะทำงานจึงขอเวลาในการประสานงานปรึกษากับทางอบต.และเจ้าของบ้านก่อนการนัดหมายอาสาสมัครต่อไป

No comments: