Friday, May 11, 2007

เรื่องเล่าของครูอ้อ

๑.
ฉันยังจำได้ว่า สมัยเด็กๆ ที่หน้าบ้านมักจะมีคนที่จนกว่าเราเดินเท้าเปล่าเอาไข่มาแลกกับเสื้อผ้า
จำได้ว่าเคยถามแม่ ว่าเราจะช่วยดูแลคนแก่ และเลี้ยงสุนัขจรจัดที่บ้านได้ไหม ยังจำได้แม่นว่าเคยมีผู้ชายคนหนึ่งมานั่งแอบอยู่ที่ตุ่มน้ำหลังบ้าน ข้างๆ ตัวเขามีมีดปลายแหลมเก่าๆ เขาขอเสื้อผ้าสำหรับเปลี่ยน แม่ขึ้นไปเอาเสื้อของพ่อมาให้โดยไม่ถามอะไร พอเขาเปลี่ยนเสร็จก็รีบออกจากบ้านของเราไป ทิ้งมีดเล่มนั้นไว้ด้วย และความฝันในวัยเด็กของฉันอย่างหนึ่งที่แจ่มชัดคือ ฝันว่าตัวเองถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ ๑ (ทั้งๆที่ไม่เคยซื้อ) เพราะฉันคิดว่าถ้ามีเงินเยอะๆ ฉันน่าจะทำอะไรได้มากมาย
สมัยเรียนในมหาวิทยาลัยกิจกรรมหนึ่งที่ได้ฉันรู้สึกสะดุดและสนใจแต่ไม่เคยมีโอกาสทำเลยสักครั้งคือ ชมรมค่ายอาสาพัฒนาชนบท ด้วยกิจกรรมที่ทางบ้านอนุญาตให้ฉันทำได้ต้องอยู่ในกรุงเทพเท่านั้น ทำให้ตลอดชีวิต ๔ปีในมหาวิทยาลัยของฉันเต็มไปด้วยกิจกรรมบันเทิงเริงใจ ไม่ว่าจะเป็นงานเชียร์กีฬา จัดละคร หาสปอนเซอร์ ขายของออกร้าน แนะนำสินค้า ฯลฯ เรียกว่าประวัติการทำกิจกรรมระหว่างเรียนทำให้ฉันสามารถหางานด้านการตลาดในบริษัทชั้นนำได้ไม่ยากนัก แต่สิ่งที่เคยสะดุดใจนั้นยังคงอยู่
เวลาผ่านไป ฉันเติบโตขึ้นมากับงานที่ต้องสร้างยอดขาย ปรุงแต่งภาพลักษณ์ของสินค้าให้ดูดี จัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อดึงดูดใจลูกค้า สมัยที่เศรษฐกิจเฟื่องฟูราวฟองสบู่หลากสี การยื่นข้อเสนอเพิ่มเงินเดือนกระโดดเป็นสองสามเท่า ด้วยตัวเลขห้าหกหลักเป็นเรื่องธรรมดาในธุรกิจการตลาดหรือโฆษณา ๕-๖ปีการทำงานของฉันผ่านไปอย่างน่าตื่นเต้น สิ้นปีได้โบนัสก้อนโต ปีนี้ผ่อนรถแล้ว ปีหน้าต้องซื้อคอนโดฯ เต็มเปี่ยมไปด้วยความมั่นใจว่าฉันสามารถก้าวสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้นไม่ยาก ฉันไม่เคยหวังรวยจากลอตเตอรี่อีก พร้อมๆ กับภาพคนแก่ สุนัขริมถนน ชายจรจัด หรือโรงเรียนในชนบท ก็เลือนลางเต็มที
โชคดีที่โลกไม่เหวี่ยงฉันเร็วไปกว่านี้ จังหวะชีวิตของฉันช้าลงได้เพราะฉันเริ่มบทบาทใหม่คือการเป็น “แม่” และคงเป็นเพราะสะสมบุญเก่ามาระดับหนึ่งทำให้ฉันได้เริ่มต้นการเป็นแม่ที่รุ่งอรุณ ที่พูดเช่นนี้ไม่ได้ยกยอโรงเรียนจนเกินความจริง เพราะจากวิถีชีวิตที่ก้าวถลำตามกระแสฉันมีภาพ “แม่สำเร็จรูป” อยู่ในใจแล้ว แน่นอนลูกฉันต้องมีพี่เลี้ยง และฉันจะเพียงลาพักงานชั่วคราวเพื่อกลับไปเป็นคุณแม่ยังสาว นักทำงานในเร็ววัน ลูกๆ จะสามารถเติบโตได้จากการดูแลของพี่เลี้ยง คนขับรถ และการเรียนพิเศษอย่างที่ฉันโตมา ฉันไม่เคยมีความคิดเลยว่าการเป็น แม่ คืออาชีพที่สำคัญที่สุดของมนุษย์ผู้หญิง จนกระทั่งเด็กชายตัวเล็กๆ ที่ฉันคลอดออกมาต้องการเวลาคุณภาพและการดูแลเป็นพิเศษ นั่นคือจุดเริ่มต้นที่หยุดฉัน
ขณะที่ฉันก้าวออกจากวงจรชีวิตเดิม หันกลับมาใช้เวลาคุณภาพกับลูกๆ และมองหาพื้นที่ ที่เปิดโอกาสให้มนุษย์ตัวเล็กๆได้พัฒนาศักยภาพของเขาที่อาจต้องใช้เวลามากกว่าปกติ ฉันพบโรงเรียนรุ่งอรุณ ที่ซึ่งเชื่อมั่นในศักยภาพของมนุษย์ทุกคนว่าสามารถพัฒนาตนเองผ่านการเรียนรู้ตลอดชีวิต จากวันนั้นถึงวันนี้เป็นเวลา ๗ ปี และแม้ฉันจะเริ่มต้นที่รุ่งอรุณเพราะต้องการสิ่งที่ดีที่สุดให้ลูก หากแต่ฉันกลับได้รู้จักตัวเองมากขึ้นที่นี่เช่นกัน

๒.
ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๗ เหตุการณ์ธรณีพิบัติ(สึนามิ) เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย พร้อมๆ กับอาสาสมัครในรูปแบบต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง ก่อเป็นกระแสถาโถมในปี ๒๕๔๘ อยู่พักใหญ่
ขณะนั้นฉันเพิ่งเริ่มทำงานฝ่ายประชาสัมพันธ์ที่รุ่งอรุณได้ไม่นานนัก ในการประชุมรวมของคณะคุณครูและเจ้าหน้าที่ก่อนเปิดเทอมที่ ๓ สึนามิ กลายเป็นวาระหลักที่ทุกคนต่างมีความรู้สึกร่วมกันเป็นหนึ่ง คือ เราจะให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างไร ในขณะที่คณะครูและเจ้าหน้าที่กลุ่มแรกลงไปสำรวจพื้นที่ประสบภัย ฉันได้ประกาศรับของบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย ยังจำได้ว่าตอนที่
อ.ประภาภัทรเปรยว่าอย่าเพิ่งประกาศรับของบริจาคนั้น ปรากฏว่าหน้าห้องทำงานของฉันมีภูเขาเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วหลายลูก ข้าวของสารพัดอย่างกองเต็มไปหมดเสียแล้ว อันที่จริงก็เป็นเรื่องพอเข้าใจได้ว่าคนเมืองอย่างเราๆ นั้นเมื่อเห็นภาพที่ปรากฏในโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ ว่าพื้นที่ประสบภัยนั้นไม่เหลืออะไรเลย ของบริจาคจึงมีตั้งแต่บะหมี่สำเร็จรูป จานชาม รองเท้า เสื้อผ้า เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน กระทั่งชุดน้ำชาอย่างดี ฯลฯ
และในการลงพื้นที่ครั้งแรกของฉันที่ศูนย์ดูแลผู้ประสบภัยบ้านทุ่งละออง จ.พังงา ฉันพบทั้ง “ภูเขาและทะเล...เสื้อผ้า” ฉันรู้สึกอึ้งไปพักใหญ่ก่อนที่จะลงไปช่วยเพื่อนๆ จัดหมวดหมู่ประเภทของเสื้อผ้า เราผลัดกันดึงเสื้อผ้าบางชิ้นมาชูให้กันดู บ้างก็เป็นเสื้อฉลุแบบมองทะลุเนื้อใน บ้างก็เป็นกางเกงแฟชั่นอย่างเก๋ไก๋ และมีหลายชิ้นที่ควรนำไปเป็นผ้าขี้ริ้ว หรือลงไปอยู่ในถังขยะพิษ ชาวบ้านที่อยู่กับทะเลพยายามมาขุด คุ้ย หาเสื้อผ้าเนื้อเบา แห้งไว คอกระเช้า ผ้าถุง กางเกงเล คือสิ่งที่เขาต้องการ น้ำใจของคนไทยนั้นมหาศาลและขจรขจายไปทั่วโลกจากเหตุการณ์นี้ แต่ฉันได้บทเรียนที่๑ ว่าการให้ที่ประณีตนั้นเป็นเช่นไร ย่อมไม่ใช่การโละของไม่ใช้แล้วในบ้าน ย่อมไม่ใช่แค่การหยิบยื่นของที่เราคิดว่าดี แต่ผู้รับไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์อันใดได้
ระหว่างเส้นทางไปกลับ รุ่งอรุณ - เกาะพระทอง จ.พังงา - เกาะหน้าใน จ.ระนอง - เกาะลันตา
จ.กระบี่ ของชาวรุ่งอรุณมากหน้าหลายตาที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปเป็นครูอาสา ไปทำงานก่อสร้าง ไปให้กำลังใจ งานของฉันคือการรวบรวมเรื่องราวจากอาสาสมัคร ถ่ายเท ส่งต่อ การเรียนรู้ของพวกเขาไปยังคนอื่นๆ ภายในชุมชนรุ่งอรุณ และสิ่งที่ฉันได้ยินจากอาสาสมัครบ่อยที่สุดคือ พวกเขาเรียนรู้ว่า เครื่องมือช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ดีที่สุด ไม่ใช่เงิน ไม่ใช่บ้าน ไม่ใช่เรือ สิ่งเหล่านี้ต่างนำมาซึ่งความขัดแย้งแคลงใจกันของชาวบ้าน หากแต่สิ่งที่อาสาสมัครทุกคนสามารถทำให้ผู้ประสบภัยได้คือ การรับฟัง ความทุกข์ใจ ปัญหาที่รุมเร้า ความกังวลอนาคตที่ยังมองไม่เห็น โดยผู้ฟังไม่จำเป็นต้องหาทางแก้ปัญหาเบ็ดเสร็จไปมอบให้ หากแต่การฟังอย่างละเอียด ตั้งคำถามเพื่อช่วยเรียบเรียงความคิด และการให้กำลังใจ สามารถพาให้เจ้าของความทุกข์นั้นผ่อนคลายลงพอที่จะมองเห็นคำตอบของตัวเองได้
การทำงานจิตอาสาต่อเนื่องตลอดทั้งปีของชาวรุ่งอรุณเข้มแข็งในระดับหนึ่ง ก่อให้เกิดเครือข่ายคนทำงานทั้ง คุณครู เจ้าหน้าที่ ผู้ปกครอง รวมทั้งนักเรียนหลายระดับ อย่างไรก็ตามการทำงานและการเรียนรู้ครั้งนี้ของฉันยังยืนอยู่บนจุดของผู้สังเกตการณ์เป็นส่วนใหญ่
๓.
ตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๙ อุทกภัยในหลายจังหวัดที่เป็นทางผ่านน้ำยังไม่มีทีท่าจะคลี่คลาย ทั้งที่เป็นปลายฝนแล้ว แต่คนไทยยังต้องระทึกใจทุกครั้งที่ฝนตก และภาวนาขอให้พายุลูกแล้วลูกเล่าอย่าถล่มซ้ำเติมอีก ภาพที่เห็นจากสื่อต่างๆ คือระดับน้ำที่ท่วมสูงกว่าปกติ ระยะเวลาที่ท่วมขังนานกว่าทุกครั้ง ผู้คนต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบากถูกตัดขาดอยู่ท่ามกลางทุ่งน้ำ บ้างอยู่บนหลังคา อีกมากต้องอพยพมาอาศัยอยู่ในเต็นท์ริมถนน พวกเขาเหล่านี้จะด้วยความยินยอมหรือไม่ก็ตาม คือผู้ต้องรับปริมาณน้ำที่ไหล่บ่าเอาไว้ เพื่อมิให้ จ.กรุงเทพฯได้รับความเสียหายจากอุทกภัยครั้งนี้
คุณครูเอก ครูผู้สืบสานภูมิปัญญาไทยและนำนักเรียนกระบี่ กระบอง มวยไทย เดินสายแสดงในหลายจังหวัด ปรารภขึ้นในวงประชุมว่านักเรียนของเราน่าจะใช้โอกาสนี้ นำความสามารถที่มีอยู่ระดมทุนเพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย บรรยากาศของการร่วมแรงร่วมใจจัดงาน รุ่งอรุณรวมน้ำใจช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ครั้งที่ ๑ จึงก่อตัวขึ้น ซึ่งได้รับการสนับสนุนทั้งกิจกรรม และ เงินบริจาคมากมาย
ครั้งนี้ก็เช่นกันที่ อ.ประภาภัทร ปรารภขึ้นว่าแม้การหาเงินเพื่อไปช่วยเหลือจะเป็นกระแสความเมตตาที่เกิดขึ้นในชุมชน หากแต่ยังมิใช่การทำบุญที่ถึงพร้อม ควรที่คณะทำงานผู้ริเริ่มจะช่วยกันสร้างวัฒนธรรมเมตตาด้วยปัญญาผ่านการทำงานด้วยสองมือของอาสาสมัครเอง
พร้อมๆ กับการอาสาของเพื่อนๆ ซึ่งส่วนใหญ่มีประสบการณ์ในงานอาสาสมัครช่วงสึนามิมาแล้ว ฉันรับอาสาจัดการเรื่องข้อมูล และการประสานงาน ขณะนั้นพื้นที่ที่จมน้ำอยู่ในช่วงนั้นมีหลายจังหวัด แต่พวกเราเริ่มต้นสำรวจที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ด้วยเหตุผลหลักคือ งานจิตอาสารุ่งอรุณมีเป้าหมายให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง มิได้ไปเพื่อแจกของแล้วกลับ จึงควรเป็นพื้นที่ที่เราเดินทางไป กลับ ได้ไม่ยากนัก ประกอบกับเรามีคุณครูเปิ้ล ฝ่ายทะเบียนและประเมินผล เป็นคนในพื้นที่ผู้ให้ข้อมูลความเดือดร้อนในเบื้องต้นได้
การทำงานช่วงสัปดาห์แรกเป็นงานสำรวจเพื่อให้ได้ข้อมูลความจำเป็นเร่งด่วน ความเดือดร้อนของแต่ละบ้าน ซึ่งพวกเราต่างต้องเป็นหลักให้กันและกันเพราะจะมีคำถามทั้งจากคนในพื้นที่ และ อาสาสมัครที่เวียนกันลงไปช่วยงานว่า เราเอาอะไรมาวัดว่าจะให้ความช่วยเหลือบ้านใด เพราะทุกบ้านต่างก็ได้รับความเดือดร้อนจากน้ำท่วมทั้งสิ้น ด้วยทรัพยากรอันจำกัดของเราหากจะจัดถุงยังชีพแจกจ่ายไปทั่วทุกหลังคา เราก็คงเสร็จภารกิจในเวลาอันรวดเร็ว แต่สภาพจริงที่เราลงไปเห็น ถุงยังชีพจากทั้งภาครัฐ เอกชน ถูกวางกองอยู่ในเต็นท์อำนวยการจำนวนมาก แต่ผู้ที่มารับ บางคนที่บ้านก็มีอยู่แล้วหลายถุงแต่เขาไม่อาจแน่ใจว่าระดับน้ำจะท่วมขังอีกยาวนานแค่ไหน ใครเอาของมาให้ก็อยากรับไว้ก่อน และไม่ใช่ทุกหลังคาเรือนจะสามารถเดินทางมารับความช่วยเหลือได้ บ้านบางหลังถูกตัดขาดด้วยกระแสน้ำ บางหลังมีแต่คนแก่ คนพิการ ช่วยตัวเองได้เพียงดื่ม ใช้น้ำที่ท่วมขังรอบๆ บ้าน ดังนั้นเป้าหมายหลักของเราจึงมุ่งให้ความช่วยเหลือผู้ที่ไม่มีกำลังในการช่วยเหลือตัวเองเป็นอันดับแรก อันได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้เจ็บป่วย ซึ่งส่วนใหญ่มีฐานะยากจนเป็นทุนเดิม ซึ่งก็มิได้ไล่ตามทะเบียนบ้าน แต่ธรรมะจัดสรรให้เราได้พบกัน
๔.
การที่เราตั้งต้นว่าจะลงไปช่วยชาวบ้านที่ถูกน้ำท่วมทำให้ในช่วงแรกเรามุ่งให้ความช่วยเหลือเฉพาะหน้า เช่น การจัดถุงยังชีพ ซึ่งจากการสำรวจหาข้อมูลเชิงลึกในแต่ละหลังทำให้เราจัดถุงยังชีพในการลงพื้นที่แต่ละครั้งเฉพาะเจาะจงมากขึ้น เช่น แม้ทุกถุงจะมีข้าวสารและน้ำดื่ม แต่จะไม่มีบะหมี่สำเร็จรูปและเครื่องกระป๋อง เพราะชาวบ้านได้รับบริจาคและต้องกินกันจนเบื่อ ทั้งๆ ที่สารอาหารก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย เราแวะซื้อผักสด ผลไม้ ไข่สด เพราะหลายหลังยกเตาหนีน้ำทัน ทำอาหารปรุงสุกได้แต่ออกไปตลาดไม่ได้ สำหรับผู้สูงอายุเราจัดน้ำพริก ไข่เค็ม และอาหารที่อยู่ได้หลายวัน ซึ่งเราจะลงไปเพิ่มเติมให้ในการเยี่ยมครั้งต่อไป ของที่ต้องจัดพิเศษก็มีอยู่หลายหลัง เช่น อุปกรณ์ทำแผล ยาลม ยามดม ยาหอม ยาทาน้ำกัดเท้า ยาทาคลายกล้ามเนื้อ ยากันยุง เลยไปถึง การจัดที่นอน หมอน มุ้ง ลงไปให้ในบางหลัง
การส่งต่อข้อมูลเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้อาสาสมัครสามารถปะติดปะต่อเพื่อให้การช่วยเหลือทันสถานการณ์ในการลงพื้นที่แต่ละครั้ง เช่น การจัดปริมาณน้ำดื่มตามจำนวนคนในบ้าน การจัดเตรียมยารักษาโรคที่มากับน้ำ รวมทั้งยาเฉพาะโรคสำหรับบางหลัง ซึ่งการขออาสาสมัครแพทย์ พยาบาล บุคลากรทางสาธารณสุข ซึ่งเป็นผู้ปกครองในโรงเรียน ก็เป็นทางหนึ่งที่ทำให้เราได้รับรู้ถึงความเจ็บป่วย และ วิธีการช่วยเหลือที่เหมาะสม
ระหว่างที่เรามุ่งให้ความช่วยเหลือเฉพาะหน้า เราพบปัญหาเชิงคุณภาพชีวิตมากมายที่จะคงอยู่ต่อไปแม้น้ำแห้ง ทั้งความเจ็บป่วย ความพิการ ความยากจน อุทกภัยครั้งนี้เสมือนแว่นขยายทำให้ปัญหาที่ย่ำแย่อยู่แล้ว หนักขึ้น ชัดเจนขึ้น
อ.ประภาภัทร ได้ตั้งคำถามสำคัญกับคณะทำงานอีกครั้งว่า หากปัญหาที่เราพบเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับพ่อแม่ของเรา เราจะดูแลท่านอย่างไร และถ้าเราไม่ช่วย ไม่ลงมือทำ จะมีใครทำไหม
ในช่วงเวลานั้น เรารู้วิธีการหาข้อมูลด้วยการฟังอย่างละเอียด การสังเกต ซักถาม ทำให้เรารับรู้ว่าปัญหาของพวกเขาคืออะไร จากคำถามของอ.ประภาภัทร ทำให้เรามองเห็นหัวใจสำคัญของการทำงานจิตอาสารุ่งอรุณ ว่า ไม่ได้อยู่ที่ว่าเรามีเงินเหลืออีกเท่าไร หรือ คอยตั้งคำถามว่าทำไมหน่วยงานของรัฐไม่จัดการเรื่องเหล่านี้ แต่เป็นงานตรงหน้า ที่เราสามารถทำได้ด้วยสองมือของเราเอง เมื่อพบคุณตาป่วยไม่สามารถไปโรงพยาบาลได้เอง เราพาไป พบหมอแล้วคุณยายเกรงใจไม่กล้าถาม เราพูดคุยกับหมอในฐานะลูกหลานเพื่อจะได้ดูแล พารักษาได้ถูกต้อง พบบ้านคุณลุงไร้คนช่วยปัดกวาด เราช่วยจัดเก็บ คุณป้าไม่มีเพื่อนคุยถูกลูกหลานทอดทิ้ง เราดูแลจัดสำรับข้าวมานั่งล้อมวงทานเป็นเพื่อน คุณตาเป็นภูมิแพ้ เสื้อผ้า เครื่องนอนมีแต่ฝุ่น เราพาอาบน้ำ ซักเสื้อผ้า ทำความสะอาดบ้านให้ ฯลฯ ซึ่งไม่ได้ใช้เงินอะไรมากไปกว่าค่าน้ำมันใส่รถตู้ที่พาเราไป และ ค่าอาหารกลางวันที่เราต้องใช้อยู่แล้ว เพียงแต่เราได้ช่วยกันทำให้อาหารมื้อนั้นมีคุณค่ามากขึ้น คือเป็นอาหารใจให้คุณตาคุณยาย
แม้สิ่งที่เราทำนั้นจะเป็นเรื่องพื้นๆ ง่ายๆ แต่เรารู้สึกว่าได้ใส่ชีวิตจิตใจลงไปในงานอาสาสมัคร

๕.
ตลอดระยะเวลา ๕ เดือน ที่ฉันประสานงานทั้งด้านข้อมูล ผู้คน ลงพื้นที่ด้วยตัวเอง จัดหากำลังคน ประชุมครั้งแล้วครั้งเล่า ฟังเรื่องราวจากอาสาสมัคร รับโทรศัพท์จากคุณลุงคุณป้าในพื้นที่ เจ้าหน้าที่ของรัฐ ประมวลสถานการณ์เขียนรายงาน สัมภาษณ์ อ่านบทความถอดการเรียนรู้ทั้งนักเรียน คุณครู เจ้าหน้าที่
ฉันมองเห็นบางอย่างแตกต่างไปจากเดิม
เงินเพียง ๑๖๐บาท ที่โรงเรียนวัดหนองปลาหมอสามารถนำมาทำเป็นอาหารกลางวันเลี้ยงนักเรียน ๓๕ คน ครู ๓ คน เท่ากับ ๓๘ คนได้ ในขณะที่อาจไม่พอจ่ายสำหรับอาหารบางมื้อของครอบครัวฉันเพียง ๕ คน เรากำลังเสพบริโภคอะไรกันแน่ คุณค่าทางอาหาร หรือ ความหรูหราฟุ่มเฟือย
ฉันพบคนแก่ถูกทอดทิ้งมากมาย และส่วนใหญ่มีปัญหาสุขภาพทั้งกายและจิตใจ แน่นอนเมื่อสอบถามถึงลูกๆ คนเป็นพ่อแม่จะเข้าใจให้อภัย และแก้ตัวให้ว่า เขามีการงาน ภาระชีวิตครอบครัวส่วนตัว ทำให้ไม่มีเวลา แม้ตนเองไม่สบายก็ต้องรอจนกว่าลูกจะว่าง หรือเห็นความสำคัญ ซึ่งบางครั้งวันนั้นก็มาไม่ถึง หรือ สายเกินไป แม้คุณแม่จะอยู่กับฉัน แต่ฉันยังต้องกลับมาทบทวนตัวเองว่าได้ดูแลท่านอย่างดี ทั้ง ทางสุขภาพกาย สุขภาพใจแล้วหรือยัง และไม่ลืมว่าลูกๆ ของฉันเองควรได้รับโอกาสในการดูแลคุณปู่คุณย่าและคุณยายมากขึ้น
ครั้งแรกที่รู้ว่าต้องพาคนป่วยไปโรงพยาบาลของรัฐในพื้นที่ ฉันเตรียมใจ (ตั้งท่า) ว่าต้องไปพบความหนาแน่นของผู้ป่วย และความเฉยชาของเจ้าหน้าที่ แต่ที่โรงพยาบาลเสนา จ.พระนครศรีอยุธยา แม้คนไข้จะรอคิวจำนวนมาก แต่พยาบาลและบุคลากรใส่ใจกับความเจ็บป่วยของคนไข้ ในขณะที่พวกเขาตั้งคำถามว่าเรามาจากมูลนิธิอะไร ทำไมคนกรุงเทพฯ ถึงพาคนแก่แถวนี้มาโรงพยาบาล ฉันก็พบคำตอบว่า รัฐ หรือ เอกชน ไม่ใช่ปัจจัยตัดสิน ความเมตตา กรุณา พื้นฐานสำคัญของคนไทยมีอยู่ในทุกๆ ที่ อยู่ที่ตัวเราเองจะมองเห็นหรือไม่ อย่าปล่อยให้อคติครอบงำ หรือ เหมารวม
คนส่วนใหญ่ (รวมฉันด้วย) มองว่าเงินเท่านั้นที่จะแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว ฉะนั้นบางคนจึงอดไม่ได้ที่จะปันเงินส่วนตัวให้คุณป้าหลังนั้น คุณยายหลังนี้ ด้วยสงสารตามเรื่องราวที่ได้ฟัง แต่ฉันก็ได้รู้ว่า เงินไม่สามารถทำให้ความทุกข์ที่แท้จริงของเขาเหล่านั้นหายไป เงินหมดก็ทุกข์อีก บางครั้งแม้มีเงินอยู่ในมือ หน้าของป้าก็ยังทุกข์เหมือนเดิม และที่แย่ที่สุดก็คือ เงินที่เราให้ไปนึกว่าได้บุญกลับสร้างกรรมใหม่ให้ผู้รับ เช่น ความขัดแย้งในครอบครัว ญาติ เจ้าหนี้ เพื่อนบ้าน หรือ อบต. ความเชื่อที่ว่าเงินน่าจะช่วยให้ทุกอย่างดีขึ้นจึงไม่จริงสำหรับฉันอีกต่อไป เราต้องฝึกใช้ปัญญามากขึ้นต่างหาก
ฉันได้เรียนรู้จากงานจิตอาสาว่า เมื่อทุกคนอาสามาทำงานด้วยใจ ความคาดหวัง ไปถึงการคาดคั้น
ระหว่างคนทำงานนั้นน้อยมาก ทำให้เรามีความสุขในการทำงาน แต่บางครั้งฉันก็อดเผลอไม่ได้ที่หมายจะเอางานสำเร็จและสมบูรณ์ เมื่อฉันได้พูดคุยและช่วยพิมพ์บทความของคุณครูตู่ ที่กล่าวถึงทัศนะของพี่ขอดในการทำงานก่อสร้างซ่อมแซมบ้านว่า “ไม่สามารถวางแผนล่วงหน้าแบบเสร็จสรรพได้ ต้องไปปรับเอาตามหน้างานจริง และแม้จะเตรียมการไปอย่างดีวัสดุอุปกรณ์ที่ซื้อมาก็ยังมีคุณภาพมาตรฐานแตกต่างกัน” พี่ขอดสอนให้ฉันเห็นธรรม เพราะทุกๆ วันของชีวิตก็เป็นเช่นนั้น เมื่อมองมุมนี้ อุปสรรคปัญหาใดๆ ก็คือเครื่องมือพัฒนาสติปัญญานั่นเอง

๖.
ยังคงมีงานจิตอาสาที่เราจะช่วยกันทำต่อไปตามกำลัง คำถามที่ฉันพบบ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนในรุ่งอรุณ หรือผู้ที่เราไปเยี่ยมเยียนเป็นประจำมักถามเราว่า เหนื่อยไหม ? ฉันมองย้อนกลับมาช่วงที่ทำงาน ทุกๆ ครั้งที่ลงพื้นที่เรามีรถตู้ปรับอากาศนั่งสบาย มีเจ้าหน้าที่ขับรถที่ไว้ใจได้ในเส้นทาง แถมช่วยลงแรงทุกๆ ครั้ง มีอาหารการกินไม่อัตคัด ไปในพื้นที่ก็มีคนให้ความช่วยเหลือ อำนวยความสะดวกเราอยู่เสมอ ฉันได้เพื่อนเยอะขึ้นมีโอกาสเรียนรู้หลากหลาย
เหนื่อยไหม? ฉันตอบตัวเองในใจว่า สงสัยเราคงทำบุญมาดี จึงได้รับโอกาสลงไปฝึกฝนตนเอง ได้เปิดมุมมองเรียนรู้จากชีวิตคนอื่น และหากการทำงานด้วยจิตที่เป็นกุศลจะเกิดประโยชน์แก่ผู้อื่นด้วยก็ขออุทิศบุญกุศลแก่ชาวรุ่งอรุณทุกคน เพราะที่นี่สอนให้ฉันเลิกคลางแคลงใจกับความคิดที่ว่า “ไม่มีใครทำอะไรให้ใครโดยไม่หวังประโยชน์กลับคืน”

สุดท้ายฉันหันไปกระซิบบอก ด.ญ.อ้อ เบาๆ ว่า “ทีนี้หนูคงรู้แล้วซินะว่าหากหนูอยากช่วยใคร ให้ลงมือทำเลย ไม่ต้องรอถูกลอตเตอรี่”

No comments: