Tuesday, May 22, 2007

ความเจ็บป่วยที่บางบาล - 1

บันทึกการเดินทางของคณะจิตอาสาวันพุธที่ 16 พฤษภาคม 2550
คณะเดินทาง 1. คุณอรวรรณ ปลื้มสามเณร (จอม) 2. คุณอนุสสรา แกมเกตุ (ปุ้ย) 3. คุณสมศรี ทะคำสอน (พี่สมศรี)


ยายสำแร สุริยันต์
พาไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาดวงตาจากโรงพยาบาลอยุธยาการอ่านตัวอักษรในระยะไกล คุณยายสามารถมองเห็นตัวอักษรในแถวที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่านั้น ระดับความดันลูกตาอยู่ในเกณฑ์ปกติคุณหมอสรุปผลการตรวจว่าเป็นต้อเนื้อ หลังจากการลอกต้อแล้วอาจจะมีแผลเป็นที่ใต้ตาดำบ้าง ให้คุณยายมาปรึกษากับญาติก่อนว่าจะรับการลอกต้อหรือไม่ ถ้าต้องการลอกให้กลับไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลอีกครั้งหนึ่งเพื่อนัดวันลอก แต่ถ้าคุณยายไม่ต้องการลอกแพทย์ก็จะจ่ายยาหยอดตาให้ยายไปเรื่อยๆ หลังจากนั้นพาคุณยายไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเสนาเพื่อรับการรักษาเกี่ยวกับอาการปวดขา - หลังและอาการคันที่ผิวหนัง คุณหมอจ่ายยาแก้ปวด - ยาแก้แพ้ - ยาทาแก้คันให้




ลุงสมัคร ประสันทวงษ์
ไปเยี่ยมเยียนที่วัดน้ำเต้า ลุงเล่าให้ฟังว่าก่อนหน้านี้ลุงเกิดการติดเชื้อจากสายยางท่อปัสสาวะทำให้เกิดการอักเสบของลูกอัณฑะ ต้องผ่าตัดลูกอัณฑะออก 1 ข้าง ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์แล้วเจาะหน้าท้องเพื่อเสียบสายปัสสาวะ คุณหมอนัดเปลี่ยนสายปัสสาวะใหม่วันที่ 24 พฤษภาคม นี้ลุงอยากรบกวนทางโรงเรียนให้รับ - ส่ง ลุงในการเดินทางไปโรงพยาล เพราะลุงไม่มีรถ จากการพูดคุย สังเกตุได้ว่าลุงมีสุขภาพจิตดีร่าเริงแจ่มใส ไม่ค่อยวิตกกังวลกับการผ่าตัดที่ผ่านมาเท่าไรนัก






ลุงสมชาย พรหมมาต
ทางคณะได้เข้าไปเยี่ยมเยียนและพูดคุยกับลุงลุงเล่าให้ฟังว่าได้รับบัตรผู้พิการที่โรงเรียนดำเนินการประสานงานขอบัตรใหม่แล้ว อาการแผลเรื้อรังโดยทั่วไปของลุงยังคงเดิม ลุงเล่าให้ฟังว่าตอนนี้ต้มน้ำเกลือล้างแผลใช้เอง ส่วนยาและอุปกรณ์ทำแผลอื่นๆ ตอนนี้หมดแล้ว การเปลี่ยนสายปัสสาวะและถุง uric bag ตอนนี้ลุงยังจ้างเจ้าหน้าที่สถานีอนามัยมาทำให้อยู่ครั้งละ300 บาท เพราะถึงมีบัตรผู้พิการแล้ว ทางโรงพยาบาลก็ยังไม่ประสานงานให้เจ้าหน้าที่ของสถานีอนามัยมาเปลี่ยนหรือทำความสะอาดแผลให้

Friday, May 11, 2007

พี่เลี้ยงอาสาสมัคร


บันทึกจากการเดินทาง นันทินี จันทพลาบูรณ์
อบรมทักษะการปรึกษาเชิงจิตวิทยาสำหรับพี่เลี้ยงอาสาสมัคร
ณ บ้านครูกาจ-ครูเลขา โฮมสเตย์ จ.นครนายก
วันที่ ๑๗-๑๙ มีนาคม ๒๕๕๐
ก่อนเดินทาง
ในฐานะผู้ประสานงานกลางชมรมจิตอาสารุ่งอรุณ เมื่อได้รับอีเมล์แจ้งข่าวว่าจะมีการอบรมสำหรับพี่เลี้ยงอาสาสมัคร (ได้รับการสนับสนุนทุนจากศูนย์ส่งเสริมคุณธรรม ดำเนินงานโดยศูนย์ปลูกรัก) ฉันรู้สึกว่าตัวเองน่าจะร่วมการอบรมครั้งนี้ เพราะจากการทำงานบางครั้งฉันพบว่าการสื่อสารกับครูอาสาเป็นเรื่องละเอียดอ่อน หลายครั้งที่ฉัน “พยายามใส่” ข้อมูล วิธีการ วิธีการจัดการ อาจเกินเลยไปถึง วิธีคิด ทัศนคติ ของฉันให้กับบรรดาคุณครูที่จะลงไปทำงาน และด้วยธรรมชาติที่ฉันมักคิดเร็ว ลงมือทำในทันที ทำให้การสื่อสารพูดจา (ครูอาสาบางคนก็เคยสะท้อนว่า) ผู้ฟังรู้สึกเหมือนถูกจู่โจม นอกจากนี้ฉันรู้สึกว่าตัวเองยังขาดทักษะการลงพูดคุยกับชาวบ้านในพื้นที่ แม้จะดูครูจอม ครูสมชาย เป็นตัวอย่าง แต่ก็ยังรู้สึกเคอะเขิน พูดไม่ออกบอกไม่ถูก เมื่อพบปัญหาในพื้นที่ มีความลังเลไม่แน่ใจ ฉันควรวางตัว วางใจอย่างไร
ในการเดินทางครั้งนี้มีเพื่อนๆ อาสาสมัครที่ทำงานในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง คือ ครูจอม ครูปุ้ย และ ครูสมพร (ซึ่งเสียดายที่ครูอดิเรกติดสอนวันจันทร์หลายคาบไม่สามารถร่วมเดินทางไปในครั้งนี้ได้) ร่วมเดินทางไปด้วยกัน

เดินเครื่อง
เราออกเดินทางเย็นวันเสาร์ที่ ๑๗ มีนาคม ต่างคนต่างมาพบกันที่จุดนัดคือ ท็อปส์ซูเปอร์มาร์เก็ต ตรงข้าม ม.เกษตรศาสตร์ เจ้าหน้าที่ที่มาคอยดูแลขึ้นรถดูเหมือนนักศึกษา ผู้ร่วมอบรมทั้งหมด ๑๕ คน เดินทางด้วยรถตู้ ๒ คัน บนรถเราได้พูดคุยทักทายกับคนอื่นๆ พบว่าต่างมาจากองค์กร หน่วยงานที่ทำงานอาสาสมัครช่วยผู้คนในรูปแบบต่างๆ อาทิ มูลนิธิกระจกเงา ADRA มูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมฯ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.) ฯลฯ ถึงที่พักเดิมทีฉันเข้าใจว่าเราคงไปพักกับชาวบ้านเพราะแจ้งไว้ว่าเป็น
โฮมสเตย์ แต่บ้านครูกาจ-ครูเลขา ก็ไม่ต่างอะไรกับรีสอร์ททั่วไป ที่มีเรือนพักรับรองติดเครื่องปรับอากาศ มีห้องน้ำ ห้องประชุม สะดวกสบาย (หรือว่าโฮมสเตย์ในเมืองไทยหมายความเช่นนี้ไปเสียแล้ว)
แต่ที่หลายคนรู้สึกประทับใจคือ เหมือนเราไปพักอยู่ในสวนผลไม้ เพราะรอบๆ บ้านตลอดจนทางเดิน เต็มไปด้วยต้นไม้นานาชนิด เงาะ มังคุด มะปราง ชมพู่ และมะยงชิด (หน้าตาคล้ายมะปรางแต่มีขนาดใหญ่เหมือนไข่ไก่ ผลไม้ขึ้นชื่อของที่นี่) ผลที่สุกแล้วบางส่วนได้รับอนุญาตให้เก็บรับประทานสดๆ จากต้น เป็นสินค้าตัวอย่างให้ชิมก่อนตัดสินใจสั่งซื้อกลับบ้าน
พวกเราเข้าที่พัก รับประทานอาหารเย็น และพักผ่อนเพื่อร่วมการอบรมในเช้าวันอาทิตย์

ฉัน คนอื่น และ กระบวนการ
การอบรมครั้งนี้มีวิทยากรหลัก ๒ คน คือ คุณเอ๋ (ดร.พงษธร ตันติฤทธิ์ศักดิ์) และคุณกิ๊ก (อภิฤดี พานทอง) จากศูนย์ปลูกรัก ทั้งคู่อายุน่าจะไม่เกิน ๓๐ ต้นๆ คุณเอ๋เพิ่งจะจบด็อกเตอร์มาไม่กี่เดือน ส่วนคุณกิ๊กมีประสบการณ์จิตวิทยาที่ปรึกษามาพอสมควร ผู้เข้าอบรมส่วนใหญ่น่าจะอายุมากกว่าวิทยากรทั้งคู่ แต่ฉันคิดว่าวัยวุฒิไม่ใช่อุปสรรค เพราะสิ่งสำคัญที่ดึงดูดให้ผู้ที่มีทั้งวัยวุฒิ และประสบการณ์ตรงมารวมกันในทีนี้ คือความต้องการแสวงหาองค์ความรู้เพื่อพัฒนาตนเองและเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่เราจะให้ความช่วยเหลือมากที่สุด

เนื้อหาการอบรมประกอบไปด้วยการทำความเข้าใจ ๓ ฐาน คือ ฐานกาย ฐานใจ ฐานปัญญา (ซึ่งครูสมพรเทียบเคียงว่าก็คือ ไตรสิกขา ศีล สมาธิ ปัญญา นั่นเอง) ผ่านการทำกิจกรรมต่างๆ โดย ฐานกาย ใช้ชี่กง การผ่อนคลายกล้ามเนื้อทั่วร่างกาย หรือการผ่อนคลายอย่างสมบูรณ์ (total relaxation) ฐานใจ เปิดโอกาสให้ใช้เวลาอยู่กับตัวเอง ใคร่ครวญ หรือจับคู่กับเพื่อนผลัดกันเป็นผู้ฟัง ผู้พูด ตามโจทย์ที่ได้รับ ส่วนฐานปัญญาฝึกผ่านการเล่นเกมเป็นทีมเพื่อแก้ปริศนา (คล้ายๆ รายการโทรทัศน์อัจฉริยะข้ามคืน)
เนื้อหาที่สำคัญอีกส่วนหนึ่งที่วิทยากรพาเราทำความเข้าใจควบคู่กันไป คือ ๓ ทัศน์ คือ ทัศน์ของฉัน ทัศน์ของคนอื่น และ ทัศน์ของกระบวนการ ซึ่งล้วนดำเนินอยู่ในชีวิตของเราทุกคนอยู่แล้วตามธรรมชาติ
ซึ่งฉันขอเล่าสิ่งที่ฉันเรียนรู้ตัวเองผ่านการทำกิจกรรมต่างๆไล่เรียงตามลำดับดังนี้


· อยู่กับตัวเอง
วิทยากรให้แต่ละคนเดินไปรอบๆ ฝึกให้สังเกตร่างกายสื่อสารกับเราอย่างไร
ในช่วงแรกฉันเดินตามช่องสี่เหลี่ยมบนพื้นไปเรื่อยๆ และก็เปลี่ยนเป็นเดินทแยงบ้าง แต่สมองก็ยังสั่งอัตโนมัติให้เดินเป็นรูปแบบ ฉันพบว่าการอยู่กับตัวเองคนเดียว ฉันต้องใช้เวลาสักพักจึงจะค่อยๆ ปลดรูปแบบการเคลื่อนไหวที่สั่งการจากสมอง แต่เวลาที่ได้รับก็ยังไม่มากพอให้สื่อสารกับร่างกายได้ชัดเจนนัก จากนั้นวิทยากรให้จับกลุ่ม ๔ คน


· เช็คอิน
วิทยากรให้รวมกลุ่ม ๔ คน และให้ผลัดกันทีละคนพูดถึงสิ่งที่ค้างคาในใจ ความกังวลต่างๆ เพื่อปล่อยวางก่อนเริ่มการอบรม และขณะที่เพื่อนพูดอยู่ (ซึ่งเป็นกติกาตลอดการอบรมคือคนที่เหลือคือผู้ฟัง และให้สังเกตความรู้สึกตัวเอง (อยากพูดบ้าง อยากถาม อยากตอบโต้) โดยคนที่พูดแล้ว ต้องเว้นนั่งฟังเพื่อนไปอีก ๒ คน จึงจะพูดได้อีกครั้ง)


ฉันพูดคนแรก ปลดความกังวลเรื่องลูกที่ต้องไปภาคสนามช่วงเช้าฝากให้เพื่อนผู้ปกครองมารับ และลูกอีกคนต้องอยู่บ้านเองกับคุณยาย จะทำการบ้านหรือเปล่า เป็นแค่ความกังวลเล็กน้อยที่ฉันรู้สึกและพูดออกมาตามโจทย์ ในขณะที่ในกลุ่มอีก ๓ คน ฉันจำเรื่องของพี่น้ำเย็น (นักวิจัยอิสระ ประเมินโครงการต่างๆ) เล่าได้มากที่สุดเพราะพี่มีความกังวลเรื่องงานและรู้สึกเหนื่อยมาก รวมไปถึงปัญหาสุขภาพที่พี่น้ำเย็นเพิ่งพบว่าตัวเองเป็นมะเร็งในระยะแรกเริ่ม แต่ก็ยังวางงานในมือไม่ได้ต้องจัดการให้เสร็จก่อนจะเข้ารับการรักษา ฉันรู้สึกเห็นใจ และถามตัวเองว่าถ้าเป็นตัวเองจะเลือกอย่างพี่เขาไหม อีก๒คนในกลุ่มชื่อจอมเหมือนกัน คือจอมจากรุ่งอรุณ และ จอมจากคนใจดี (หน่วยงานของรัฐที่ตั้งขึ้นเพื่อประสานให้ฝ่ายที่ต้องการความช่วยเหลือและฝ่ายให้ความช่วยเหลือมาพบกัน) ทั้งคู่พูดเรื่องงานบางส่วน แต่ดูไม่ใช่ความกังวล เป็นเหมือนเรื่องเล่าเพื่อแนะนำตัวเองส่วนหนึ่ง


· ตามล่าหาคน...สุดๆ
จากกลุ่ม ๔ คน วิทยากรให้ทั้งหมดรวมกันเข้าสู่กิจกรรม “ตามล่าหาคนสุดๆ” ซึ่งมีทั้งหมด ๑๐ ประเภท อาทิ ตามล่าหาคนอายุมากที่สุด อายุน้อยที่สุด มีความสุขที่สุด สวยที่สุด หล่อที่สุด มีความรักสุดๆ มาไกลสุดๆ ท่องเที่ยวสุดๆ เป็นต้น เราทั้งหมดจึงต้องใช้เวลาแลกเปลี่ยนข้อมูลกับเพิ่มเติม มีการเสนอชื่อเพื่อนและให้ข้อมูลจากที่ฟังมาในกลุ่มย่อย และโหวตในบางหัวข้อ สุดท้ายแต่ละคนจะส่งรายชื่อเพื่อนที่เราเห็นว่าตรงสุดๆ กับหัวข้อนั้นๆ จากนั้นวิทยากรขอให้คนที่ลงคะแนนให้เหตุผลว่าทำไมเราจึงเลือกเพื่อนในหัวข้อนั้น โดยที่เราแลกเปลี่ยนกันเพียงหัวข้อ ใครบ้างานสุดๆ ก็หมดเวลาแล้ว ซึ่งคนที่ได้คะแนนสูงสุดคือ พี่น้ำเย็นนั่นเอง เมื่อพี่น้ำเย็นฟังเสียงสะท้อนจากคนที่ลงคะแนนให้แล้ว ก็บอกว่ารู้สึกไม่อยากได้ตำแหน่งนี้ และตัวเองก็ไม่รู้สึกว่าเป็นคนบ้างาน แต่การได้ฟังเสียงสะท้อนก็ทำให้จะกลับไปทบทวนว่าการพูด การกระทำ ที่ผ่านมาเป็นอย่างไร จึงทำให้คนเข้าใจอย่างนั้น ครูสมพรของเราก็เข้ารอบในหัวข้อบ้างานสุดๆ ด้วย มีคนให้คะแนนเพราะฟังเรื่องเล่าของครูสมพรมีความกังวลเพราะโทรศัพท์ตกน้ำ ทำให้ไม่สามารถติดต่อฝากชั้นเรียน(วันจันทร์) กับเพื่อนครูที่ห้องได้ (ภายหลังมีการสรุปคะแนนมาติดให้ดู แต่ไม่ได้แลกเปลี่ยน ครูปุ้ยเข้ารอบในเรื่องมีความรักสุดๆ เพราะทุกคนรู้ว่าปุ้ยจะแต่งงานในเดือนหน้า ส่วนฉันรู้สึกดีใจที่ได้คะแนนเรื่องเป็นคนมีความสุขสุดๆ แม้จะเพียง ๑คะแนนเสียง ซึ่งไม่รู้มาจากพวกเรากันเองหรือเปล่า)


· TRUST
จากกิจกรรมในช่วงเช้านี้ วิทยากรนำเข้าสู่เนื้อหา เรื่อง ทัศน์ของฉัน ทัศน์ของคนอื่น ซึ่งมีความแตกต่างกัน ซึ่งฉันเข้าใจว่าเราต้องรักษาสมดุล รู้จักเข้าใจตัวเอง มีความคิด ทัศนคติของตนเอง ที่มิได้อ่อนลู่ไปตามคำบอกเล่า ความคาดหวังของผู้อื่น แต่ขณะเดียวกันก็มิได้ยึดตนเองเป็นศูนย์กลางไม่ฟังใคร วิทยากรตั้งคำถามว่า ใครที่เรารู้สึกไว้ใจ เมื่อมีเรื่องที่อยากหาที่ปรึกษาเรานึกถึงใคร เขามีลักษณะอย่างไร (ฉันนึกถึงครูจิ๋ว ท่าทีที่สงบ รับฟัง ไม่ตัดสินความคิดคนอื่น) โดยวิทยากรนำพวกเราเข้าสู่ประเด็นสำคัญของการดูแลให้ความช่วยเหลืออาสาสมัครว่ามีหัวใจสำคัญ คือ ความไว้วางใจ (ศรัทธา) หรือ TRUST ซึ่งการจะสร้างความไว้วางใจวิทยากรแยกเป็นองค์ประกอบย่อย และผู้ร่วมอบรมช่วยกันระบุคุณสมบัติ ดังนี้


T = Tuning in
วิทยากรใช้คำว่า “ปรับคลื่นใจ” และเพื่อนๆ ช่วยกันระบุ ท่าทีที่เป็นมิตร พร้อมรับฟัง มีรอยยิ้ม ไม่เคร่งเครียด เป็นฝ่ายเปิดตัวเองก่อน ได้ยินสิ่งที่เพื่อนพูดจริงๆ ครูสมพรเสริมว่าคือมีจิตที่ว่าง พร้อมเปิดรับ ซึ่งฉันขอควบรวมว่า มีจิตเป็นกุศล ซึ่งจะส่งผลถึงท่าทีต่างๆ โดยธรรมชาติสามารถปรับคลื่นจูนติดได้ง่าย
แต่ตลอดกิจกรรม ๒ วัน ฉับพบว่าตัวเองใช้เวลามากกว่าคนอื่นๆ ในการที่เปิดตัวเองได้จริงๆ เหมือนกับเวลาลงพื้นที่ โดยเฉพาะกับบ้านที่มีข้อเรียกร้อง ฉันมักปิดเครื่องรับสัญญาณ


R= Respect
เห็นคุณค่าในความเป็นมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน มีความอดทนให้เวลาผู้พูดโดยเชื่อว่าเขาสามารถหาทางออกได้ด้วยตนเอง (แม้จะรู้สึกว่าตัวเองเข้าใจเรื่องนี้ดี แต่ต้องไม่เผลอเพราะฉันพร่องในข้อ S ด้านล่าง ซึ่งอาจส่งผลถึงข้อนี้)


U= Unconditional positive regard
การยอมรับอย่างไม่มีเงื่อนไข ซึ่งต้องละวางอคติ การตัดสินจากประสบการณ์เดิม ระบุให้ชัดคือ การอยู่กับปัจจุบัน ซึ่งวิทยากรให้คำจำกัดความภาวะของใจว่า เป็นใจที่ยืดหยุ่น พร้อมเรียนรู้ตลอดเวลา
ก่อนที่เราจะยอมรับผู้อื่นอย่างไม่มีเงื่อนไข ฉันคงต้องเริ่มต้นที่ละวางเงื่อนไขต่างๆ ที่วางให้ตัวเองลงก่อน


S= Suspension
คือการเปิดพื้นที่ให้คนอื่น โดยหยุดความคิดของเราเพื่อที่จะฟังผู้อื่นให้ได้ยินจริงๆ ซึ่งฉันคิดว่าคือ ตัวสตินั่นเอง หลายครั้งที่เหมือนว่าเราฟังอีกคนอยู่ แต่ที่จริงแล้วภายในกลับได้ยินแต่ความคิดของตัวเอง และที่สุด หากไม่มีสติรู้ตัวเราก็จะปล่อยปากให้ขยับไปตามความคิด


T= Truthfulness
จริงแท้ ซื่อสัตย์กับความรู้สึกของตนเอง และ ผู้อื่น ซึ่งวิทยากรกล่าวว่า หากความไว้วางใจเกิดขึ้นแล้ว เราในข้อนี้จะทำหน้าที่สะท้อนภาพ เป็นเหมือนกระจก สะท้อนความจริงกลับไปยังผู้ที่เราให้ความช่วยเหลือ
การมีจิตเป็นกุศล และ ฝึกฝนสติรู้ตัวเป็นต้นทุนที่สำคัญ ในขณะที่ TRUST ที่วิทยากรไล่เรียงให้เห็น เสมือนตัวเตือน (check lists) ที่เราควรนำมาทบทวนตัวเองอยู่เสมอ


· Total Relaxation
ทั้งหมดนอนลงกับพื้นมีหมอนคนละใบ เรากลับมาอยู่กับตัวเองอีกครั้งในกิจกรรมนี้ แต่ฉันไม่รู้สึกสงบนัก ไม่รู้เป็นเพราะลักษณะเพลงที่เปิดหรือเสียงวิทยากรที่ผ่านไมโครโฟนที่มีระดับเสียงไม่สม่ำเสมอ ทำให้รู้สึกเหมือนถูกกระตุกเป็นช่วงๆ


· Photo Reflection
มีภาพถ่ายวางอยู่บนพื้น วิทยากรให้เราเดินดูให้ทั่วๆ และเลือกภาพที่สามารถสื่อสารกับเราได้คนละ ๑ ภาพ ฉันไม่รีบร้อนนัก พบ ๒-๓ ภาพที่ชอบใจ ส่วนใหญ่เป็นภาพสถานที่ที่ดูสงบ เป็นที่ที่ฉันรู้สึกอยากเข้าไปอยู่ (comfort zone) ซึ่งเวลานึกภาพ ฉันนึกภาพตัวฉันคนเดียวอยู่ในสถานที่นั้น แต่ก็ไม่ได้ตัดสินใจหยิบขึ้นมาทันที เมื่อจะย้อนกลับไป ๒ ภาพนั้นมีคนหยิบไปเสียแล้ว ฉันจึงดูภาพที่เหลืออยู่ และเลือกภาพม้า ๒ ตัว ถ่ายระยะใกล้ตัวเล็กกว่าอิงหัวเข้าหาตัวใหญ่กว่า ทั้งคู่อยู่ในคอก เบื้องหลังเป็นท้องฟ้าสดใส
เมื่อเลือกได้แล้ว วิทยากรให้เราจับคู่คนที่เราอยากจะบอกความรู้สึกที่เรามีต่อภาพนี้ โดยผลัดกันเป็นผู้เล่า และ ผู้ฟัง (ฝึกใช้ TRUST) ฉันจับคู่กับจอม (ซึ่งเราจับคู่กันอีกในเกือบทุกกิจกรรมที่ต้องเปิดเผยตัวเอง กับคนที่เราไว้วางใจ) ฉันเล่าให้จอมฟังว่า แรกเลยอาจมองม้าสองตัวนี้แล้วคิดถึงลูก ครอบครัว แต่สิ่งที่ภาพนี้สื่อสารกับฉันคือมิตรภาพ และ แม้ม้ามิได้วิ่งอยู่อิสระอยู่ในทุ่งกว้าง แต่รู้สึกถึงความสุขที่มันมีกันและกัน ฉันดีใจที่ไม่ได้หยิบภาพสถานที่ที่ดูอบอุ่นปลอดภัย แต่เลือกหยิบภาพที่มีสัมพันธ์ของชีวิตนี้ขึ้นมาแทน
ในขณะที่จอมเลือกภาพตุ๊กตาหมีที่หลับตา มีน้ำตาไหล ๑ หยด ทั้งตัวเต็มไปด้วยผ้าพันแผล พื้นหลังเป็นสีดำ หากแต่มีกรอบล้อมรอบเป็นช่อดอกไม้ ฉันตั้งใจฟังจอมพูด จอมสละภาพที่ชอบให้ปุ้ยที่เดินมาดูพร้อมกัน จึงเหลือเพียงภาพนี้ และเพิ่งหยิบมาดูใกล้ๆ (ไม่ได้ใส่แว่นสายตา) ถึงพบรายละเอียดของภาพ ประโยคที่ฉันได้ยินแสดงตัวตนของจอมชัดเจนมาก “นี่ถ้าเจ้าหมีมันลืมตาขึ้น มันคงเห็นว่ารอบๆ ตัวมันไม่ได้มีแต่ความมืดมิด แต่ยังมีสีสันสวยงามของดอกไม้อยู่” จอมเป็นเช่นนี้เสมอ มองหาความงามของชีวิตได้ ในขณะที่ฉันมักมองไปที่ความมืดมิดก่อน


หลังจากได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ การฟัง ในวงใหญ่แล้ว วิทยากรให้เรามอบภาพที่เราเลือกเขียนความรู้สึกที่เกิดขึ้นขณะที่เพื่อนรับฟังเรื่องราวของเรา และมอบภาพพร้อมข้อความนั้นให้เพื่อน มีบางคนสะท้อนว่า ก่อนที่จะฟังเรื่องราวในภาพของเพื่อน มองไม่เห็นความงาม หรือ ไม่สามารถสื่อสารกับภาพนั้นเลย แต่เมื่อได้รับฟังมุมมองของเพื่อนที่มีต่อภาพนั้น และ บัดนั้นภาพนั้นได้กลายมาเป็นภาพของเรา และเรามองเห็นความงามของภาพนั้นได้ ฉันก็รู้สึกเช่นกัน หรือนี่คือพลังของการรับฟังแบบ TRUST


· เล่นเกมแก้ปริศนา “มันอยู่ที่ไหน”
เป็นกิจกรรมที่ฝึกฐานปัญญา วิทยากรให้เราแบ่งกลุ่ม ๔ คนอีกครั้ง แนะนำมาว่าควรแยกจากคนที่มาด้วยกัน ด้วยข้อสันนิษฐานว่า มาจากองค์กรเดียวกันมักคิดเหมือนกัน ไม่หลากหลาย การเล่นเกมนี้ต้องอาศัยวิธีคิดที่แตกต่างหลากหลายในการช่วยกันแก้ปริศนา
ฉันแยกจากจอม ครูสมพร และ ปุ้ย เกมนี้เป็นโจทย์ซ้อนโจทย์ มีตัวใบ้ให้หาคำใบ้ต่อๆ ไป กว่าจะพบประโยคที่ต้องตีความ เราต้องอาศัยทั้งการตีความปริศนา แอบฟังจากกลุ่มอื่นๆ บ้าง ต้องเดินหน้าหาโจทย์ที่เหลือไปเรื่อยๆ ทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่าที่หามาได้ เราได้แก้ปริศนาถูกหรือยัง ได้คำใบ้อะไรมาก็แก้เฉพาะหน้าไปก่อน สุดท้ายกลุ่มที่ชนะ (ปุ้ยอยู่ในกลุ่มนั้น) ได้คำ ๘ คำ มาเรียงกัน คือ “ยิ่งฉันหนี มันยิ่งวิ่งตาม” คำเฉลยคือ “เงา” ซึ่งวิทยากรจะขยายความเรื่องเงาในวันที่สองของการอบรม


กลุ่มที่ชนะเล่าว่า เขาแบ่งเป็นกลุ่มย่อยให้ช่วยกันหาปริศนา และมิได้ไขปริศนาในทุกๆ ข้อ แต่ลองนำคำมาเรียงเท่าที่มี ก็สามารถไขปริศนาหลักได้ ในขณะที่กลุ่มฉันไปไหนไปด้วยกันในช่วงแรก มาแยกกันช่วงหลัง (มิได้นัดหมาย) และพยายามไขปริศนาให้ครบทุกข้อ แต่เมื่อไม่สามารถไขบางคำได้ ทำให้ติดอยู่แค่นั้น
มีปริศนาข้อหนึ่งที่สะท้อนให้ฉันมองเห็นวิธีคิดซับซ้อนของตัวเอง คือ ฉันตีโจทย์ที่หนึ่งได้ว่าต้องไปเอาโจทย์ปัญหาที่สองจากวิทยากร วิทยากรมอบโจทย์ที่สองให้พร้อมกับ dictionary English-Thai ๑ เล่ม โจทย์สั้นๆ ว่า “อารมณ์ขัน สอบตก และโชคดี (เกี่ยวกับตัวเลข)” ฉันก็เปิดหาทั้ง ๓ คำ จาก dictionary และจดเลขหน้าไว้ ทั้ง ๓ คำ พบว่ามาจากเลขหน้าที่เป็นเลขคี่ ทั้งหมด ฉันคิดว่านี่คือคำตอบ “คี่ หรือ ขี้” แต่ปรากฏว่าคำตอบที่ถูกต้องคือ คำว่า “วิ่ง” ซึ่งอยู่ในหน้า ๕๐๙ (๕ มาจาก ๕๕๕ มีความสุข ๐ คือ สอบตก และ ๙ คือ โชคดี) ขำก็ขำ และบอกตัวเองว่า จะทะลุตัวเองควรมองสิ่งที่อยู่ตรงหน้าง่ายๆ บ้าง


· ชมภาพยนตร์ Dreamer
เป็นภาพยนตร์ความสัมพันธ์ในครอบครัว ที่วิทยากรต้องการนำเสนอเรื่อง TRUST ที่ตัวเอกของเรื่อง คือ ลูกสาว และ พ่อ มีต่อม้าแข่งตัวหนึ่ง ประเด็นที่ครูสมพรชี้ให้เห็นชัดเจนมาก ว่าในขณะที่ลูกสาว ไม่ติดกรอบประสบการณ์เดิมมีความกล้าและเชื่อมั่นในตัวม้า พ่อที่ติดกับประสบการณ์เดิม ความลังเล อคติ ทำให้ไม่กล้าก้าวข้ามความกลัว (กลัวแพ้ กลัวล้มเหลว ไม่กล้าเสี่ยง) สุดท้ายต้องเปิดใจตัวเองเรียนรู้จากลูก


· ชี่กง
คุณเอ๋นำฝึกเพื่อพัฒนาฐานกาย ฉันได้เรียนรู้ถึงการหายใจในระดับที่ ๓ คือ หายใจเข้าท้องแฟบ (ลมไปอยู่ที่หลัง) หายใจออกท้องป่อง ซึ่งเป็นการหายใจแบบเก็บพลัง (หายใจระดับที่ ๑ หายใจผ่านปอด หายใจระดับที่ ๒ หายใจด้วยท้อง หายใจเข้าท้องป่อง หายใจออกท้องแฟบ) และการฝึกให้ร่างกายได้จดจำการเคลื่อนไหว (ไม่ได้ใช้สมองจำ) ร่ายรำอย่างเป็นธรรมชาติ


· กระบวนการปฏิเสธ 1-2-3 (เงา)
ในชีวิตของเราแต่ละคน ตั้งแต่ช่วงที่ยังเป็นเด็ก มีข้อมูล ความรู้สึกหลากหลายที่เราเลือกที่จะรับหรือปฏิเสธ ทั้งๆ ที่ทั้งหมดคือ ตัวตน ของเราเอง กระบวนการที่วิทยากรยกเป็นตัวอย่าง คือ ๑.เป็นตัวฉัน ๒.แม่บอกซ้ำๆ ว่าฉันไม่ดี ฉันเริ่มแยกตัวตนออกมามี ฉันดี กับ ฉันไม่ดี
๓.การที่เป็นฉันดี คือ ต้องเชื่อฟังแม่ ซึ่งแม่บอกว่า ฉันไม่ดี ขั้นที่ ๓ นี้ ฉันปฏิเสธตัวตน “ฉันดี” แยกออกจากตัวฉัน และ ต่อต้าน คือ รู้สึกว่าฉันไม่เคยดีพอเลย ถ้าดีไม่ใช่ฉันแน่
และขั้นที่ ๓ นี้จึงเสมือนเรามีเงาที่ติดตามตัวเราไปตลอดเวลา

มนุษย์มีกลไกลการป้องกันตัวเอง ๓ ประเภท คือ
๑.โยนความผิดออกจากตัวเอง (โทษคนอื่น)
๒.เอาความผิดเข้าตัวเอง (โทษตัวเองว่าไม่ดี)
๓.ลังเล สับวน หาเหตุผลมาอ้างข้างๆ คูๆ

วิทยากรให้แต่ละคนอยู่กับตัวเองเพื่อระบุตัวอย่างประสบการณ์การถกเถียงภายในตัวเอง (มี ๒เสียงต่างให้เหตุผลในปัญหาที่เผชิญ และเสียงไหนชนะ) และให้เราลองดูว่ากลไกการปฏิเสธตัวเองของเรามักจะเป็นประเภทไหน

ฉันพบว่าฉันเป็นประเภทที่ ๑ เสียส่วนใหญ่ คือ พยายามให้ตัวเองเป็นคนดี และโทษคนอื่น หรือ เหตุผลข้างๆ คู มาอ้าง ยกตัวอย่าง เวลา ขับรถฉันมักคาดหวังให้คนอื่นขับดีๆ มีน้ำใจ ทำตามกฎจราจร ทำให้ต้องหงุดหงิดบ่อยๆ และฉันมักชอบโทษว่าถ้าเป็นผู้ชายขับรถ มักเห็นแก่ตัว เรื่องนี้ส่งผลเวลานั่งรถที่แฟนขับรถ ฉันก็มักรู้สึกอย่างนี้ นึกย้อนไปต้องแต่เล็กๆ พ่อของฉันมักว่าคนขับรถที่ไม่ถูกใจเช่นกัน และมักบอกว่า ผู้หญิงมักขับรถอย่างนี้ ฉันจึงพยายามขับรถให้คล่องแคล่วเหมือนผู้ชาย (เพื่อไม่ให้ถูกว่าว่าเพราะเป็นผู้หญิง) ในขณะเดียวกันเวลาที่ฉันขับรถไม่ดีก็จะมีข้ออ้างสารพัด เพราะรีบ แค่หนนี้ครั้งเดียว ฯลฯ เรื่องนี้นอกจากจะโทษพ่อแล้ว ยังโทษผู้ชายทั่วไปอีกด้วย (รู้สึกน่ากลัวจัง)


· กระบวนการยอมรับ 3-2-1
วิทยากรต้องการให้เราเข้าใจกระบวนการปฏิเสธตนเอง เพื่อให้เราเข้าใจว่าทุกๆ คนเป็นเหมือนกัน และหากเรารู้ตัว เข้าใจแล้ว เมื่อเรารับฟัง สื่อสารกับผู้อื่น เราก็อาจเห็นกระบวนการปฏิเสธตนเองในคนอื่นๆ เช่นกัน เราจึงควรเข้าใจ เปิดใจยอมรับผู้อื่น โดยเริ่มจากการยอมรับตัวตนที่เราปฏิเสธแยกออกไปก่อน ว่าเงานั้นคือ ตัวของเราเอง


ฝึกกระบวนการยอมรับผ่านการจับคู่อีกครั้ง โดยผลัดกันเล่าเรื่องราวที่เราค้นพบกระบวนการที่เราปฏิเสธ ปกป้องตนเอง โดยอีกฝ่ายจะทำหน้าที่รับฟังโดยใช้ TRUST ตลอดกระบวนการ ฉับพบว่าตัวเองสามารถระบุการปกป้องตนเองได้ ตามเรื่องราวข้างบน เมื่อเรียบเรียงให้ตัวเองเข้าใจได้ ฉันรู้สึกผ่อนคลายตัวเองลง จอมที่เป็นผู้รับฟังทำหน้าที่สุดท้ายคือสะท้อนความจริงให้ฉันรับรู้คือ ไม่ว่าใครก็ขับรถแย่ๆ ได้ ฉันไม่จำเป็นที่ต้องส่งต่อความคิดนี้ไปยังลูกๆ ของฉัน เหมือนที่ฉันรับความรู้สึกนี้มาจากพ่อ เมื่อแยกแยะได้ ฉันไม่ต้องโทษพ่อ หรือ ผู้ชาย แต่ยอมรับความไม่ดีที่ฉันแยกออกไปเพราะนั่นคือส่วนหนึ่งของตัวฉันเอง เมื่อเข้าใจตัวเองแล้ว ก็ตระหนักรู้เปิดโอกาสให้ตัวเองพัฒนาปรับปรุงตัวต่อไป


· ประมวลความรู้และพันธะสัญญา
ฉันระบุสิ่งตัวเองได้เรียนรู้และตั้งใจจะพัฒนาปรับปรุงต่อไป โดยเฉพาะเรื่อง TRUST ซึ่งคงมิได้นำมาใช้เฉพาะในงานจิตอาสาเท่านั้น แต่จะเป็นประโยชน์ทุกวันในชีวิตของเรา
สิ่งหนึ่งที่ถือเป็นกำไรจากการเข้าอบรมครั้งนี้ คือ นอกจากจะได้รับรู้ประสบการณ์งานอาสาสมัครจากเพื่อนใหม่ๆ แล้ว ฉันยังได้เรียนรู้จากคนที่ฉันคิดว่ารู้จักอยู่แล้วมากขึ้น
ฉันเข้าใจแล้วว่าทำไมจอมถึงเข้าชุมชนได้ดี เพราะเขาเป็นผู้ที่รับฟังที่ไม่แทรกแซง สะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา


ปุ้ยเองก็เปิดความรู้สึกของตัวเองมากขึ้นกับฉัน จากที่ทำงานร่วมกันมาตลอด ปุ้ยไม่เคยให้ความเห็นส่วนตัวว่า บ้านหลังไหนควรช่วยมากกว่าบ้านไหน รายงานแต่ข้อมูลทั่วไป ขากลับปุ้ยเริ่มเปิดความรู้สึกส่วนตัวว่าเขารู้สึกอย่างไรกับบางบ้าน ซึ่งฉันก็รับฟังอย่างมิได้ตัดสินใดๆ ให้เกียรติกับสิ่งที่น้องรู้สึก


ฉันประทับใจในตัวครูสมพร สามารถพูดได้อย่างภูมิใจว่าคนนี้เป็นครูรุ่งอรุณ ในวงที่แบ่งปันประสบการณ์ ครูสมพรมิได้อวดอ้างในงานที่ทำ หากแต่จะรู้จังหวะที่เหมาะสม เล่าประสบการณ์ และแลกเปลี่ยนประเด็นที่เป็นประโยชน์กับวงสนทนารวม

ฉันเดินทางกลับบ้านด้วยความรู้สึกที่ดี การพบปะแลกเปลี่ยนทั้งความรู้ ประสบการณ์ รวมถึงทัศนคติเชิงบวก ของอาสาสมัครในครั้งนี้ ถือเป็นการถ่ายเทพลังให้กัน และมั่นใจว่าพลังบวกนี้จะขยายผลส่งต่อไปยังคนรอบข้างของพวกเราแน่นอน.

เรื่องเล่าของครูอ้อ

๑.
ฉันยังจำได้ว่า สมัยเด็กๆ ที่หน้าบ้านมักจะมีคนที่จนกว่าเราเดินเท้าเปล่าเอาไข่มาแลกกับเสื้อผ้า
จำได้ว่าเคยถามแม่ ว่าเราจะช่วยดูแลคนแก่ และเลี้ยงสุนัขจรจัดที่บ้านได้ไหม ยังจำได้แม่นว่าเคยมีผู้ชายคนหนึ่งมานั่งแอบอยู่ที่ตุ่มน้ำหลังบ้าน ข้างๆ ตัวเขามีมีดปลายแหลมเก่าๆ เขาขอเสื้อผ้าสำหรับเปลี่ยน แม่ขึ้นไปเอาเสื้อของพ่อมาให้โดยไม่ถามอะไร พอเขาเปลี่ยนเสร็จก็รีบออกจากบ้านของเราไป ทิ้งมีดเล่มนั้นไว้ด้วย และความฝันในวัยเด็กของฉันอย่างหนึ่งที่แจ่มชัดคือ ฝันว่าตัวเองถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ ๑ (ทั้งๆที่ไม่เคยซื้อ) เพราะฉันคิดว่าถ้ามีเงินเยอะๆ ฉันน่าจะทำอะไรได้มากมาย
สมัยเรียนในมหาวิทยาลัยกิจกรรมหนึ่งที่ได้ฉันรู้สึกสะดุดและสนใจแต่ไม่เคยมีโอกาสทำเลยสักครั้งคือ ชมรมค่ายอาสาพัฒนาชนบท ด้วยกิจกรรมที่ทางบ้านอนุญาตให้ฉันทำได้ต้องอยู่ในกรุงเทพเท่านั้น ทำให้ตลอดชีวิต ๔ปีในมหาวิทยาลัยของฉันเต็มไปด้วยกิจกรรมบันเทิงเริงใจ ไม่ว่าจะเป็นงานเชียร์กีฬา จัดละคร หาสปอนเซอร์ ขายของออกร้าน แนะนำสินค้า ฯลฯ เรียกว่าประวัติการทำกิจกรรมระหว่างเรียนทำให้ฉันสามารถหางานด้านการตลาดในบริษัทชั้นนำได้ไม่ยากนัก แต่สิ่งที่เคยสะดุดใจนั้นยังคงอยู่
เวลาผ่านไป ฉันเติบโตขึ้นมากับงานที่ต้องสร้างยอดขาย ปรุงแต่งภาพลักษณ์ของสินค้าให้ดูดี จัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อดึงดูดใจลูกค้า สมัยที่เศรษฐกิจเฟื่องฟูราวฟองสบู่หลากสี การยื่นข้อเสนอเพิ่มเงินเดือนกระโดดเป็นสองสามเท่า ด้วยตัวเลขห้าหกหลักเป็นเรื่องธรรมดาในธุรกิจการตลาดหรือโฆษณา ๕-๖ปีการทำงานของฉันผ่านไปอย่างน่าตื่นเต้น สิ้นปีได้โบนัสก้อนโต ปีนี้ผ่อนรถแล้ว ปีหน้าต้องซื้อคอนโดฯ เต็มเปี่ยมไปด้วยความมั่นใจว่าฉันสามารถก้าวสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้นไม่ยาก ฉันไม่เคยหวังรวยจากลอตเตอรี่อีก พร้อมๆ กับภาพคนแก่ สุนัขริมถนน ชายจรจัด หรือโรงเรียนในชนบท ก็เลือนลางเต็มที
โชคดีที่โลกไม่เหวี่ยงฉันเร็วไปกว่านี้ จังหวะชีวิตของฉันช้าลงได้เพราะฉันเริ่มบทบาทใหม่คือการเป็น “แม่” และคงเป็นเพราะสะสมบุญเก่ามาระดับหนึ่งทำให้ฉันได้เริ่มต้นการเป็นแม่ที่รุ่งอรุณ ที่พูดเช่นนี้ไม่ได้ยกยอโรงเรียนจนเกินความจริง เพราะจากวิถีชีวิตที่ก้าวถลำตามกระแสฉันมีภาพ “แม่สำเร็จรูป” อยู่ในใจแล้ว แน่นอนลูกฉันต้องมีพี่เลี้ยง และฉันจะเพียงลาพักงานชั่วคราวเพื่อกลับไปเป็นคุณแม่ยังสาว นักทำงานในเร็ววัน ลูกๆ จะสามารถเติบโตได้จากการดูแลของพี่เลี้ยง คนขับรถ และการเรียนพิเศษอย่างที่ฉันโตมา ฉันไม่เคยมีความคิดเลยว่าการเป็น แม่ คืออาชีพที่สำคัญที่สุดของมนุษย์ผู้หญิง จนกระทั่งเด็กชายตัวเล็กๆ ที่ฉันคลอดออกมาต้องการเวลาคุณภาพและการดูแลเป็นพิเศษ นั่นคือจุดเริ่มต้นที่หยุดฉัน
ขณะที่ฉันก้าวออกจากวงจรชีวิตเดิม หันกลับมาใช้เวลาคุณภาพกับลูกๆ และมองหาพื้นที่ ที่เปิดโอกาสให้มนุษย์ตัวเล็กๆได้พัฒนาศักยภาพของเขาที่อาจต้องใช้เวลามากกว่าปกติ ฉันพบโรงเรียนรุ่งอรุณ ที่ซึ่งเชื่อมั่นในศักยภาพของมนุษย์ทุกคนว่าสามารถพัฒนาตนเองผ่านการเรียนรู้ตลอดชีวิต จากวันนั้นถึงวันนี้เป็นเวลา ๗ ปี และแม้ฉันจะเริ่มต้นที่รุ่งอรุณเพราะต้องการสิ่งที่ดีที่สุดให้ลูก หากแต่ฉันกลับได้รู้จักตัวเองมากขึ้นที่นี่เช่นกัน

๒.
ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๗ เหตุการณ์ธรณีพิบัติ(สึนามิ) เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย พร้อมๆ กับอาสาสมัครในรูปแบบต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง ก่อเป็นกระแสถาโถมในปี ๒๕๔๘ อยู่พักใหญ่
ขณะนั้นฉันเพิ่งเริ่มทำงานฝ่ายประชาสัมพันธ์ที่รุ่งอรุณได้ไม่นานนัก ในการประชุมรวมของคณะคุณครูและเจ้าหน้าที่ก่อนเปิดเทอมที่ ๓ สึนามิ กลายเป็นวาระหลักที่ทุกคนต่างมีความรู้สึกร่วมกันเป็นหนึ่ง คือ เราจะให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างไร ในขณะที่คณะครูและเจ้าหน้าที่กลุ่มแรกลงไปสำรวจพื้นที่ประสบภัย ฉันได้ประกาศรับของบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย ยังจำได้ว่าตอนที่
อ.ประภาภัทรเปรยว่าอย่าเพิ่งประกาศรับของบริจาคนั้น ปรากฏว่าหน้าห้องทำงานของฉันมีภูเขาเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วหลายลูก ข้าวของสารพัดอย่างกองเต็มไปหมดเสียแล้ว อันที่จริงก็เป็นเรื่องพอเข้าใจได้ว่าคนเมืองอย่างเราๆ นั้นเมื่อเห็นภาพที่ปรากฏในโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ ว่าพื้นที่ประสบภัยนั้นไม่เหลืออะไรเลย ของบริจาคจึงมีตั้งแต่บะหมี่สำเร็จรูป จานชาม รองเท้า เสื้อผ้า เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน กระทั่งชุดน้ำชาอย่างดี ฯลฯ
และในการลงพื้นที่ครั้งแรกของฉันที่ศูนย์ดูแลผู้ประสบภัยบ้านทุ่งละออง จ.พังงา ฉันพบทั้ง “ภูเขาและทะเล...เสื้อผ้า” ฉันรู้สึกอึ้งไปพักใหญ่ก่อนที่จะลงไปช่วยเพื่อนๆ จัดหมวดหมู่ประเภทของเสื้อผ้า เราผลัดกันดึงเสื้อผ้าบางชิ้นมาชูให้กันดู บ้างก็เป็นเสื้อฉลุแบบมองทะลุเนื้อใน บ้างก็เป็นกางเกงแฟชั่นอย่างเก๋ไก๋ และมีหลายชิ้นที่ควรนำไปเป็นผ้าขี้ริ้ว หรือลงไปอยู่ในถังขยะพิษ ชาวบ้านที่อยู่กับทะเลพยายามมาขุด คุ้ย หาเสื้อผ้าเนื้อเบา แห้งไว คอกระเช้า ผ้าถุง กางเกงเล คือสิ่งที่เขาต้องการ น้ำใจของคนไทยนั้นมหาศาลและขจรขจายไปทั่วโลกจากเหตุการณ์นี้ แต่ฉันได้บทเรียนที่๑ ว่าการให้ที่ประณีตนั้นเป็นเช่นไร ย่อมไม่ใช่การโละของไม่ใช้แล้วในบ้าน ย่อมไม่ใช่แค่การหยิบยื่นของที่เราคิดว่าดี แต่ผู้รับไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์อันใดได้
ระหว่างเส้นทางไปกลับ รุ่งอรุณ - เกาะพระทอง จ.พังงา - เกาะหน้าใน จ.ระนอง - เกาะลันตา
จ.กระบี่ ของชาวรุ่งอรุณมากหน้าหลายตาที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปเป็นครูอาสา ไปทำงานก่อสร้าง ไปให้กำลังใจ งานของฉันคือการรวบรวมเรื่องราวจากอาสาสมัคร ถ่ายเท ส่งต่อ การเรียนรู้ของพวกเขาไปยังคนอื่นๆ ภายในชุมชนรุ่งอรุณ และสิ่งที่ฉันได้ยินจากอาสาสมัครบ่อยที่สุดคือ พวกเขาเรียนรู้ว่า เครื่องมือช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ดีที่สุด ไม่ใช่เงิน ไม่ใช่บ้าน ไม่ใช่เรือ สิ่งเหล่านี้ต่างนำมาซึ่งความขัดแย้งแคลงใจกันของชาวบ้าน หากแต่สิ่งที่อาสาสมัครทุกคนสามารถทำให้ผู้ประสบภัยได้คือ การรับฟัง ความทุกข์ใจ ปัญหาที่รุมเร้า ความกังวลอนาคตที่ยังมองไม่เห็น โดยผู้ฟังไม่จำเป็นต้องหาทางแก้ปัญหาเบ็ดเสร็จไปมอบให้ หากแต่การฟังอย่างละเอียด ตั้งคำถามเพื่อช่วยเรียบเรียงความคิด และการให้กำลังใจ สามารถพาให้เจ้าของความทุกข์นั้นผ่อนคลายลงพอที่จะมองเห็นคำตอบของตัวเองได้
การทำงานจิตอาสาต่อเนื่องตลอดทั้งปีของชาวรุ่งอรุณเข้มแข็งในระดับหนึ่ง ก่อให้เกิดเครือข่ายคนทำงานทั้ง คุณครู เจ้าหน้าที่ ผู้ปกครอง รวมทั้งนักเรียนหลายระดับ อย่างไรก็ตามการทำงานและการเรียนรู้ครั้งนี้ของฉันยังยืนอยู่บนจุดของผู้สังเกตการณ์เป็นส่วนใหญ่
๓.
ตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๙ อุทกภัยในหลายจังหวัดที่เป็นทางผ่านน้ำยังไม่มีทีท่าจะคลี่คลาย ทั้งที่เป็นปลายฝนแล้ว แต่คนไทยยังต้องระทึกใจทุกครั้งที่ฝนตก และภาวนาขอให้พายุลูกแล้วลูกเล่าอย่าถล่มซ้ำเติมอีก ภาพที่เห็นจากสื่อต่างๆ คือระดับน้ำที่ท่วมสูงกว่าปกติ ระยะเวลาที่ท่วมขังนานกว่าทุกครั้ง ผู้คนต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบากถูกตัดขาดอยู่ท่ามกลางทุ่งน้ำ บ้างอยู่บนหลังคา อีกมากต้องอพยพมาอาศัยอยู่ในเต็นท์ริมถนน พวกเขาเหล่านี้จะด้วยความยินยอมหรือไม่ก็ตาม คือผู้ต้องรับปริมาณน้ำที่ไหล่บ่าเอาไว้ เพื่อมิให้ จ.กรุงเทพฯได้รับความเสียหายจากอุทกภัยครั้งนี้
คุณครูเอก ครูผู้สืบสานภูมิปัญญาไทยและนำนักเรียนกระบี่ กระบอง มวยไทย เดินสายแสดงในหลายจังหวัด ปรารภขึ้นในวงประชุมว่านักเรียนของเราน่าจะใช้โอกาสนี้ นำความสามารถที่มีอยู่ระดมทุนเพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย บรรยากาศของการร่วมแรงร่วมใจจัดงาน รุ่งอรุณรวมน้ำใจช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ครั้งที่ ๑ จึงก่อตัวขึ้น ซึ่งได้รับการสนับสนุนทั้งกิจกรรม และ เงินบริจาคมากมาย
ครั้งนี้ก็เช่นกันที่ อ.ประภาภัทร ปรารภขึ้นว่าแม้การหาเงินเพื่อไปช่วยเหลือจะเป็นกระแสความเมตตาที่เกิดขึ้นในชุมชน หากแต่ยังมิใช่การทำบุญที่ถึงพร้อม ควรที่คณะทำงานผู้ริเริ่มจะช่วยกันสร้างวัฒนธรรมเมตตาด้วยปัญญาผ่านการทำงานด้วยสองมือของอาสาสมัครเอง
พร้อมๆ กับการอาสาของเพื่อนๆ ซึ่งส่วนใหญ่มีประสบการณ์ในงานอาสาสมัครช่วงสึนามิมาแล้ว ฉันรับอาสาจัดการเรื่องข้อมูล และการประสานงาน ขณะนั้นพื้นที่ที่จมน้ำอยู่ในช่วงนั้นมีหลายจังหวัด แต่พวกเราเริ่มต้นสำรวจที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ด้วยเหตุผลหลักคือ งานจิตอาสารุ่งอรุณมีเป้าหมายให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง มิได้ไปเพื่อแจกของแล้วกลับ จึงควรเป็นพื้นที่ที่เราเดินทางไป กลับ ได้ไม่ยากนัก ประกอบกับเรามีคุณครูเปิ้ล ฝ่ายทะเบียนและประเมินผล เป็นคนในพื้นที่ผู้ให้ข้อมูลความเดือดร้อนในเบื้องต้นได้
การทำงานช่วงสัปดาห์แรกเป็นงานสำรวจเพื่อให้ได้ข้อมูลความจำเป็นเร่งด่วน ความเดือดร้อนของแต่ละบ้าน ซึ่งพวกเราต่างต้องเป็นหลักให้กันและกันเพราะจะมีคำถามทั้งจากคนในพื้นที่ และ อาสาสมัครที่เวียนกันลงไปช่วยงานว่า เราเอาอะไรมาวัดว่าจะให้ความช่วยเหลือบ้านใด เพราะทุกบ้านต่างก็ได้รับความเดือดร้อนจากน้ำท่วมทั้งสิ้น ด้วยทรัพยากรอันจำกัดของเราหากจะจัดถุงยังชีพแจกจ่ายไปทั่วทุกหลังคา เราก็คงเสร็จภารกิจในเวลาอันรวดเร็ว แต่สภาพจริงที่เราลงไปเห็น ถุงยังชีพจากทั้งภาครัฐ เอกชน ถูกวางกองอยู่ในเต็นท์อำนวยการจำนวนมาก แต่ผู้ที่มารับ บางคนที่บ้านก็มีอยู่แล้วหลายถุงแต่เขาไม่อาจแน่ใจว่าระดับน้ำจะท่วมขังอีกยาวนานแค่ไหน ใครเอาของมาให้ก็อยากรับไว้ก่อน และไม่ใช่ทุกหลังคาเรือนจะสามารถเดินทางมารับความช่วยเหลือได้ บ้านบางหลังถูกตัดขาดด้วยกระแสน้ำ บางหลังมีแต่คนแก่ คนพิการ ช่วยตัวเองได้เพียงดื่ม ใช้น้ำที่ท่วมขังรอบๆ บ้าน ดังนั้นเป้าหมายหลักของเราจึงมุ่งให้ความช่วยเหลือผู้ที่ไม่มีกำลังในการช่วยเหลือตัวเองเป็นอันดับแรก อันได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้เจ็บป่วย ซึ่งส่วนใหญ่มีฐานะยากจนเป็นทุนเดิม ซึ่งก็มิได้ไล่ตามทะเบียนบ้าน แต่ธรรมะจัดสรรให้เราได้พบกัน
๔.
การที่เราตั้งต้นว่าจะลงไปช่วยชาวบ้านที่ถูกน้ำท่วมทำให้ในช่วงแรกเรามุ่งให้ความช่วยเหลือเฉพาะหน้า เช่น การจัดถุงยังชีพ ซึ่งจากการสำรวจหาข้อมูลเชิงลึกในแต่ละหลังทำให้เราจัดถุงยังชีพในการลงพื้นที่แต่ละครั้งเฉพาะเจาะจงมากขึ้น เช่น แม้ทุกถุงจะมีข้าวสารและน้ำดื่ม แต่จะไม่มีบะหมี่สำเร็จรูปและเครื่องกระป๋อง เพราะชาวบ้านได้รับบริจาคและต้องกินกันจนเบื่อ ทั้งๆ ที่สารอาหารก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย เราแวะซื้อผักสด ผลไม้ ไข่สด เพราะหลายหลังยกเตาหนีน้ำทัน ทำอาหารปรุงสุกได้แต่ออกไปตลาดไม่ได้ สำหรับผู้สูงอายุเราจัดน้ำพริก ไข่เค็ม และอาหารที่อยู่ได้หลายวัน ซึ่งเราจะลงไปเพิ่มเติมให้ในการเยี่ยมครั้งต่อไป ของที่ต้องจัดพิเศษก็มีอยู่หลายหลัง เช่น อุปกรณ์ทำแผล ยาลม ยามดม ยาหอม ยาทาน้ำกัดเท้า ยาทาคลายกล้ามเนื้อ ยากันยุง เลยไปถึง การจัดที่นอน หมอน มุ้ง ลงไปให้ในบางหลัง
การส่งต่อข้อมูลเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้อาสาสมัครสามารถปะติดปะต่อเพื่อให้การช่วยเหลือทันสถานการณ์ในการลงพื้นที่แต่ละครั้ง เช่น การจัดปริมาณน้ำดื่มตามจำนวนคนในบ้าน การจัดเตรียมยารักษาโรคที่มากับน้ำ รวมทั้งยาเฉพาะโรคสำหรับบางหลัง ซึ่งการขออาสาสมัครแพทย์ พยาบาล บุคลากรทางสาธารณสุข ซึ่งเป็นผู้ปกครองในโรงเรียน ก็เป็นทางหนึ่งที่ทำให้เราได้รับรู้ถึงความเจ็บป่วย และ วิธีการช่วยเหลือที่เหมาะสม
ระหว่างที่เรามุ่งให้ความช่วยเหลือเฉพาะหน้า เราพบปัญหาเชิงคุณภาพชีวิตมากมายที่จะคงอยู่ต่อไปแม้น้ำแห้ง ทั้งความเจ็บป่วย ความพิการ ความยากจน อุทกภัยครั้งนี้เสมือนแว่นขยายทำให้ปัญหาที่ย่ำแย่อยู่แล้ว หนักขึ้น ชัดเจนขึ้น
อ.ประภาภัทร ได้ตั้งคำถามสำคัญกับคณะทำงานอีกครั้งว่า หากปัญหาที่เราพบเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับพ่อแม่ของเรา เราจะดูแลท่านอย่างไร และถ้าเราไม่ช่วย ไม่ลงมือทำ จะมีใครทำไหม
ในช่วงเวลานั้น เรารู้วิธีการหาข้อมูลด้วยการฟังอย่างละเอียด การสังเกต ซักถาม ทำให้เรารับรู้ว่าปัญหาของพวกเขาคืออะไร จากคำถามของอ.ประภาภัทร ทำให้เรามองเห็นหัวใจสำคัญของการทำงานจิตอาสารุ่งอรุณ ว่า ไม่ได้อยู่ที่ว่าเรามีเงินเหลืออีกเท่าไร หรือ คอยตั้งคำถามว่าทำไมหน่วยงานของรัฐไม่จัดการเรื่องเหล่านี้ แต่เป็นงานตรงหน้า ที่เราสามารถทำได้ด้วยสองมือของเราเอง เมื่อพบคุณตาป่วยไม่สามารถไปโรงพยาบาลได้เอง เราพาไป พบหมอแล้วคุณยายเกรงใจไม่กล้าถาม เราพูดคุยกับหมอในฐานะลูกหลานเพื่อจะได้ดูแล พารักษาได้ถูกต้อง พบบ้านคุณลุงไร้คนช่วยปัดกวาด เราช่วยจัดเก็บ คุณป้าไม่มีเพื่อนคุยถูกลูกหลานทอดทิ้ง เราดูแลจัดสำรับข้าวมานั่งล้อมวงทานเป็นเพื่อน คุณตาเป็นภูมิแพ้ เสื้อผ้า เครื่องนอนมีแต่ฝุ่น เราพาอาบน้ำ ซักเสื้อผ้า ทำความสะอาดบ้านให้ ฯลฯ ซึ่งไม่ได้ใช้เงินอะไรมากไปกว่าค่าน้ำมันใส่รถตู้ที่พาเราไป และ ค่าอาหารกลางวันที่เราต้องใช้อยู่แล้ว เพียงแต่เราได้ช่วยกันทำให้อาหารมื้อนั้นมีคุณค่ามากขึ้น คือเป็นอาหารใจให้คุณตาคุณยาย
แม้สิ่งที่เราทำนั้นจะเป็นเรื่องพื้นๆ ง่ายๆ แต่เรารู้สึกว่าได้ใส่ชีวิตจิตใจลงไปในงานอาสาสมัคร

๕.
ตลอดระยะเวลา ๕ เดือน ที่ฉันประสานงานทั้งด้านข้อมูล ผู้คน ลงพื้นที่ด้วยตัวเอง จัดหากำลังคน ประชุมครั้งแล้วครั้งเล่า ฟังเรื่องราวจากอาสาสมัคร รับโทรศัพท์จากคุณลุงคุณป้าในพื้นที่ เจ้าหน้าที่ของรัฐ ประมวลสถานการณ์เขียนรายงาน สัมภาษณ์ อ่านบทความถอดการเรียนรู้ทั้งนักเรียน คุณครู เจ้าหน้าที่
ฉันมองเห็นบางอย่างแตกต่างไปจากเดิม
เงินเพียง ๑๖๐บาท ที่โรงเรียนวัดหนองปลาหมอสามารถนำมาทำเป็นอาหารกลางวันเลี้ยงนักเรียน ๓๕ คน ครู ๓ คน เท่ากับ ๓๘ คนได้ ในขณะที่อาจไม่พอจ่ายสำหรับอาหารบางมื้อของครอบครัวฉันเพียง ๕ คน เรากำลังเสพบริโภคอะไรกันแน่ คุณค่าทางอาหาร หรือ ความหรูหราฟุ่มเฟือย
ฉันพบคนแก่ถูกทอดทิ้งมากมาย และส่วนใหญ่มีปัญหาสุขภาพทั้งกายและจิตใจ แน่นอนเมื่อสอบถามถึงลูกๆ คนเป็นพ่อแม่จะเข้าใจให้อภัย และแก้ตัวให้ว่า เขามีการงาน ภาระชีวิตครอบครัวส่วนตัว ทำให้ไม่มีเวลา แม้ตนเองไม่สบายก็ต้องรอจนกว่าลูกจะว่าง หรือเห็นความสำคัญ ซึ่งบางครั้งวันนั้นก็มาไม่ถึง หรือ สายเกินไป แม้คุณแม่จะอยู่กับฉัน แต่ฉันยังต้องกลับมาทบทวนตัวเองว่าได้ดูแลท่านอย่างดี ทั้ง ทางสุขภาพกาย สุขภาพใจแล้วหรือยัง และไม่ลืมว่าลูกๆ ของฉันเองควรได้รับโอกาสในการดูแลคุณปู่คุณย่าและคุณยายมากขึ้น
ครั้งแรกที่รู้ว่าต้องพาคนป่วยไปโรงพยาบาลของรัฐในพื้นที่ ฉันเตรียมใจ (ตั้งท่า) ว่าต้องไปพบความหนาแน่นของผู้ป่วย และความเฉยชาของเจ้าหน้าที่ แต่ที่โรงพยาบาลเสนา จ.พระนครศรีอยุธยา แม้คนไข้จะรอคิวจำนวนมาก แต่พยาบาลและบุคลากรใส่ใจกับความเจ็บป่วยของคนไข้ ในขณะที่พวกเขาตั้งคำถามว่าเรามาจากมูลนิธิอะไร ทำไมคนกรุงเทพฯ ถึงพาคนแก่แถวนี้มาโรงพยาบาล ฉันก็พบคำตอบว่า รัฐ หรือ เอกชน ไม่ใช่ปัจจัยตัดสิน ความเมตตา กรุณา พื้นฐานสำคัญของคนไทยมีอยู่ในทุกๆ ที่ อยู่ที่ตัวเราเองจะมองเห็นหรือไม่ อย่าปล่อยให้อคติครอบงำ หรือ เหมารวม
คนส่วนใหญ่ (รวมฉันด้วย) มองว่าเงินเท่านั้นที่จะแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว ฉะนั้นบางคนจึงอดไม่ได้ที่จะปันเงินส่วนตัวให้คุณป้าหลังนั้น คุณยายหลังนี้ ด้วยสงสารตามเรื่องราวที่ได้ฟัง แต่ฉันก็ได้รู้ว่า เงินไม่สามารถทำให้ความทุกข์ที่แท้จริงของเขาเหล่านั้นหายไป เงินหมดก็ทุกข์อีก บางครั้งแม้มีเงินอยู่ในมือ หน้าของป้าก็ยังทุกข์เหมือนเดิม และที่แย่ที่สุดก็คือ เงินที่เราให้ไปนึกว่าได้บุญกลับสร้างกรรมใหม่ให้ผู้รับ เช่น ความขัดแย้งในครอบครัว ญาติ เจ้าหนี้ เพื่อนบ้าน หรือ อบต. ความเชื่อที่ว่าเงินน่าจะช่วยให้ทุกอย่างดีขึ้นจึงไม่จริงสำหรับฉันอีกต่อไป เราต้องฝึกใช้ปัญญามากขึ้นต่างหาก
ฉันได้เรียนรู้จากงานจิตอาสาว่า เมื่อทุกคนอาสามาทำงานด้วยใจ ความคาดหวัง ไปถึงการคาดคั้น
ระหว่างคนทำงานนั้นน้อยมาก ทำให้เรามีความสุขในการทำงาน แต่บางครั้งฉันก็อดเผลอไม่ได้ที่หมายจะเอางานสำเร็จและสมบูรณ์ เมื่อฉันได้พูดคุยและช่วยพิมพ์บทความของคุณครูตู่ ที่กล่าวถึงทัศนะของพี่ขอดในการทำงานก่อสร้างซ่อมแซมบ้านว่า “ไม่สามารถวางแผนล่วงหน้าแบบเสร็จสรรพได้ ต้องไปปรับเอาตามหน้างานจริง และแม้จะเตรียมการไปอย่างดีวัสดุอุปกรณ์ที่ซื้อมาก็ยังมีคุณภาพมาตรฐานแตกต่างกัน” พี่ขอดสอนให้ฉันเห็นธรรม เพราะทุกๆ วันของชีวิตก็เป็นเช่นนั้น เมื่อมองมุมนี้ อุปสรรคปัญหาใดๆ ก็คือเครื่องมือพัฒนาสติปัญญานั่นเอง

๖.
ยังคงมีงานจิตอาสาที่เราจะช่วยกันทำต่อไปตามกำลัง คำถามที่ฉันพบบ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนในรุ่งอรุณ หรือผู้ที่เราไปเยี่ยมเยียนเป็นประจำมักถามเราว่า เหนื่อยไหม ? ฉันมองย้อนกลับมาช่วงที่ทำงาน ทุกๆ ครั้งที่ลงพื้นที่เรามีรถตู้ปรับอากาศนั่งสบาย มีเจ้าหน้าที่ขับรถที่ไว้ใจได้ในเส้นทาง แถมช่วยลงแรงทุกๆ ครั้ง มีอาหารการกินไม่อัตคัด ไปในพื้นที่ก็มีคนให้ความช่วยเหลือ อำนวยความสะดวกเราอยู่เสมอ ฉันได้เพื่อนเยอะขึ้นมีโอกาสเรียนรู้หลากหลาย
เหนื่อยไหม? ฉันตอบตัวเองในใจว่า สงสัยเราคงทำบุญมาดี จึงได้รับโอกาสลงไปฝึกฝนตนเอง ได้เปิดมุมมองเรียนรู้จากชีวิตคนอื่น และหากการทำงานด้วยจิตที่เป็นกุศลจะเกิดประโยชน์แก่ผู้อื่นด้วยก็ขออุทิศบุญกุศลแก่ชาวรุ่งอรุณทุกคน เพราะที่นี่สอนให้ฉันเลิกคลางแคลงใจกับความคิดที่ว่า “ไม่มีใครทำอะไรให้ใครโดยไม่หวังประโยชน์กลับคืน”

สุดท้ายฉันหันไปกระซิบบอก ด.ญ.อ้อ เบาๆ ว่า “ทีนี้หนูคงรู้แล้วซินะว่าหากหนูอยากช่วยใคร ให้ลงมือทำเลย ไม่ต้องรอถูกลอตเตอรี่”

ไปทำงาน...ก่อนสงกรานต์ ๒๕๕๐









บันทึกการทำงานชมรมจิตอาสารุ่งอรุณ
การซ่อมแซมบ้านที่ จ.พระนครศรีอยุธยา
ระหว่างวันที่ ๒๓ - ๒๔ มีนาคม ๙ – ๑๑ และ ๑๘ เมษายน ๒๕๕๐

บันทึกการทำงานชมรมจิตอาสารุ่งอรุณ

๑.กลับมาฝึกเรื่องสื่อสารกันใหม่
หลังจากที่เราพักยกการลงพื้นที่มาตั้งแต่วันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐ (คือการปิดพื้นที่ซ่อมแซมบ้านในโครงการที่ ๑ และสำรวจบ้านที่เราเห็นควรซ่อมแซมเพิ่มเติม) คณะทำงานมีโอกาสพบปะพูดคุยกันบ้าง และวางแผนการทำงานต่อไว้คร่าวๆ ในช่วงกลางเดือนมีนาคม
๘ มีนาคม ๕๐ คณะทำงานรวบรวมข้อมูลการทำงานทั้งหมดเพื่อนำเสนอกับครูทั้ง ๓ โรงเรียนโดยหวังว่าจะช่วยให้ครูในแต่ละร.ร.ที่ไม่เคยลงพื้นที่ได้เห็นภาพชัดเจนขึ้น และจะช่วยกระตุ้นโครงการครอบครัวอุปถัมภ์อีกทางหนึ่ง น่าเสียดายที่มีเพียงครูร.ร.เล็กส่วนหนึ่งเท่านั้นที่เข้าร่วมงาน ครูประถมและครูมัธยมติดประชุมกับผู้ปกครอง และผู้ที่เข้าร่วมก็รับฟังข้อมูลโดยที่ไม่ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นแต่อย่างใด คณะทำงานจึงคุยกันว่าจะเดินหน้าเรื่องงานก่อสร้างและความเจ็บป่วยไปก่อน สำหรับโครงการครอบครัวอุปถัมภ์เราพักไว้และจะติดตามจากครูแกนนำในแต่ละโรงเรียนต่อไป
เมื่อสรุปว่าจะทำงานซ่อมแซมบ้านก่อน พี่สมชายฝ่ายอาคารจึงได้ทยอยส่งร่างแบบบ้านที่จะซ่อมแซมเพิ่มเติมจำนวน ๖ หลัง คือ ๒ หลังแรกเป็นการเก็บตกงานจากโครงการที่ ๑ (บ้านคุณยายธัน คุณน้าสุชาดา) และอีก ๔ หลังใหม่จากการไปสำรวจเพิ่มเติม (บ้านคุณยายสะอาด คุณยายทองหยิบ คุณยายฟัก และ น้องเจม - น้องกลิ้ง) พร้อมทั้งเสนองบประมาณเพื่อพิจารณาอนุมัติซึ่งก็ผ่านเรียบร้อย จากประมาณการเราน่าจะใช้เงินบริจาคเกือบหมดในการทำงานครั้งนี้
ระหว่างนั้นพี่สมชายยังไม่ได้กำหนดวันลงพื้นที่ เพราะเราไม่ค่อยแน่ใจว่าควรรอให้ผ่านช่วงงานหยดน้ำไปก่อน ครูปิดเทอมค่อยจัดกำลังลงไป หรือว่าควรลุยเลย เอาตามจริงใครหน้างานสะดวกก็ลง สุดท้ายพี่สมชายสรุปวางวันการทำงานให้คือลง พฤหัสฯ-ศุกร์-เสาร์(ไปเช้า-เย็นกลับเหมือนเดิม) ติดกัน ๓ สัปดาห์ คือ ๒๓ - ๒๔ มี.ค. ๓๐ - ๓๑ มี.ค. และ ๕ - ๗ เม.ย. โดยมีเบื้องหลังหรือเหตุผลของคณะทำงานสนับสนุนดังนี้
(๑) เราไม่อยากให้การทำงานเลยไปช่วงหลังสงกรานต์หรือเปิดเทอมใหม่ เพราะไม่อยากให้บ้านบางหลังต้องโดนพายุฤดูร้อน หรือเข้าสู่ฤดูฝนเพราะโดยสภาพบ้านเดิมที่เราไปสำรวจมานั้นเสี่ยงต่ออันตราย
(๒) การจัดวันลงพื้นที่ทั้งวันทำงานและวันหยุด เพื่อเป็นทางเลือกให้อาสาสมัคร ขณะเดียวกันฝ่ายอาคารซึ่งมีหน้างานเร่งด่วนของโรงเรียนก็น่าจะสามารถจัดสรรเวลาทำงานให้โรงเรียนได้
แต่ความคิดเหล่านี้เป็นความคิดที่ปรึกษากันในวงเล็กๆ เท่านั้น คือ อ้อ จอม พี่สมชาย ปุ้ย เมื่อคิดเสร็จก็สรุปเรื่องวันและแจ้งกำหนดการไปยังครูทั้ง ๓ ร.ร.เลย ซึ่งเราก็ไม่คาดหวังว่าครูจะอาสาเป็นจำนวนมากเนื่องจากอยู่ในช่วงงานหยดน้ำและการทำประเมินผล แต่เรามองว่างานหลักคือการซ่อมแซมก่อสร้างซึ่งอาศัยแรงช่างเป็นหลักจึงไม่น่าจะต้องรีรออะไร ขณะนั้นเราเข้าใจเอาเองว่าทีมช่างเองก็พร้อม
การซ่อมแซมบ้านโครงการ ๒ นี้เริ่มที่บ้านคุณยายธันและคุณน้าสุชาดา ซึ่งถือว่าเป็นงานเล็ก คือมุงหลังคาที่ชำรุดให้ วันศุกร์ที่ ๒๓ มี.ค. พี่สมชาย ขอแรงก้อง กะเล ลงไปเปิดงานพร้อมด้วยอาสาสมัครอีก ๒ แรง คือ ครูตู่ และวันใหม่ ส่วนวันเสาร์ที่ ๒๔ มี.ค. เหลือเพียง ก้อง และ กะเล ช่วยกันกับลูกเขยคุณยายธัน ปิดงานจนเสร็จ วันจันทร์ที่๒๖ มี.ค. อ้อและจอมนัดคุยกับพี่สมชายเพื่อสรุปงานสัปดาห์แรกและวางงานในสัปดาห์ต่อไป การพูดคุยกันในวันนั้นพี่สมชายดูไม่ปกตินัก จับความได้ว่าฝ่ายช่างรู้สึกว่าไม่มีอาสาสมัครไปคึกคักเหมือนโครงการแรก และ “ขอแรง” ก้องและกะเล ส่อเค้าว่าทีมช่างคนอื่นๆ ยังไม่รู้ หรือ อาจไม่เอาด้วย เพราะมีประเด็นเรื่องไม่สะดวกลงพื้นที่ในวันหยุดมาตั้งแต่โครงการแรกแล้ว ทำให้เราคิดว่าเราควรหาเวลาพูดคุยกับพี่ๆ ฝ่ายช่างเหมือนกับที่เราชวนครูอาสาคุยกันบ่อยๆ
ซึ่งเรื่องนี้ อ.ประภาภัทรและฝ่ายบริหารก็ย้ำว่าเป็นเรื่องสำคัญที่เราควรสื่อสารทำความเข้าใจกันอย่างสม่ำเสมอ อย่าปล่อยให้เจตนาที่จะทำเรื่องดีๆ กลายเป็นการสร้างความกังวลสงสัย เพียงเพราะเราละเลยการพูดคุยบอกกล่าวโดยคิดเอาว่าทุกคนน่าจะรู้และเข้าใจแล้ว
คณะทำงานจึงมีโอกาสนั่งล้อมวงเปิดใจคุยกับพี่ๆ ฝ่ายช่าง รวม ๓ รอบ ก่อนลงมือทำงานต่อ เรามีโอกาสได้แสดงความชื่นชมในสิ่งที่พี่ๆ ให้ใจ ลงแรง เต็มที่กับงานจิตอาสาโครงการที่ ๑ ทั้งๆ ที่จากการตั้งประเด็นคำถามก็เห็นได้ชัดว่าพี่ๆ หลายคนรู้สึกว่า เป็นการลงไปทำงานตามสั่ง มิได้รู้สึกว่าเป็นงานจิตอาสา แต่ทุกคนก็มุ่งมั่นทำงานอย่างดีที่สุด การที่เราได้มีโอกาสลงไปแลกเปลี่ยน ตอบข้อสงสัยทั้ง ที่มาของโครงการ ปัจจัยในการเลือกบ้านแต่ละหลัง ทำไมเราจึงกำหนดทำงานในวันหยุด รวมถึงแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความรู้สึก คุณค่าที่เราได้รับจากการได้ทำงาน ก็พบว่าพี่ๆ ทุกคนมีใจที่อยากจะช่วยเหลือเป็นทุนอยู่แล้ว
เมื่อรู้ถึงที่มาที่ไป เหตุผลของการทำงาน และที่สำคัญคือเขารู้สึกว่ามีคนรับฟัง ความเห็นของเขามีความหมาย ความรู้สึกเป็นเจ้าของงาน จัดวางตัวเองลงไปทำก็เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ
เราจึงร่วมกันปรับตารางการทำงานกันใหม่ ครั้งนี้พี่ๆ จัดทีมทำงานกันเองให้เหมาะกับลักษณะงานแต่ละหลัง ช่วยกันมองหน้างานว่าต้องจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์อะไรเพิ่มเติมจากที่พี่สมชายวางไว้...
เมื่อมีพลังขับเคลื่อนมาจากการสื่อสาร จิตอาสาจึงเกิดใหม่อีกครั้ง

๒.เดินหน้าต่อไป
๙-๑๐-๑๑ เมษายน คือช่วงเวลาที่เราวางแผนลงไปซ่อมแซมบ้านพร้อมกันใน ๒ พื้นที่ คือ บ้านคุณยายสะอาด- คุณยายทองหยิบ และ ป้าแดง ที่ อ.เสนา และบ้านคุณยายฟัก-คุณสมชาย (ลูกชาย) ที่ อ.บางบาล ซึ่งเมื่อฝ่ายช่างลงรายละเอียดในงานซ่อมแซมแล้วจึงจัดแบ่งทีมช่างเป็น ๒ ทีม แตกต่างกันคือ
บ้านคุณยายสะอาด - คุณยายทองหยิบและป้าแดง เป็นงานที่ต้องอาศัยกำลังคนช่วยกันดึงบ้านที่ทรุดเอียง และมีงานพัฒนาพื้นที่รอบๆ จึงเหมาะที่จะพาอาสาสมัครลงไปช่วยงาน โดยมีช่างก้อง กะเล ตี๋ เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลัก
ในขณะที่บ้านคุณยายฟัก-คุณสมชาย เป็นงานทำห้องน้ำต่อเติมขึ้นไปบนบ้านชั้น ๒ ต้องอาศัยความชำนาญของช่าง เป็นงานละเอียด ประกอบพื้นที่ทำงานค่อนข้างคับแคบ ที่นี่จึงจัดช่างล้วนๆ ลงไปทำงานถึง ๖ คน คือ พี่ขอด พี่โก๊ะ ศักดิ์ จิม พิเชษฐ์ และลุงอุทิน ทั้ง ๒ พื้นที่มีเวลาทำงาน ๓ วันก่อนทุกคนจะหยุดยาวช่วงสงกรานต์
และเมื่อได้อาสาสมัครมาสมทบเราไม่ลืมชวนคุยก่อนลงพื้นที่ เพื่อให้ข้อมูลที่มาของบ้านแต่ละหลัง แผนการทำงานคร่าวๆ ในการทำงานที่จะยืดหยุ่นไปตามสถานการณ์จริง ซึ่งทั้ง ๓ วันนี้ เราได้อาสาสมัครจากหลายๆ ฝ่ายในชุมชน คือ วันแรกครูสาวๆจาก ร.ร.เล็ก ครูแอน ครูอีฟ๑ ครูอีฟ๒ ครูไพ และครูปรางค์ ครูหนุ่มแรงดีจากมัธยม ครูแจ๊ะ ครูเจน พร้อมด้วย ด.ช.หมูแฮม (รายนี้เพิ่งกลับจากฉือจี้เหมาลงทั้ง ๓วัน)
สำหรับวันที่ ๒ - ๓ ได้น้องๆ จากทีมสถาปนิกจัดสลับสับเปลี่ยนกันลงวันละ ๙-๑๐คน ทำเอาช่างเบาแรงไปเยอะ ยังมีวันใหม่มาช่วยเสริมในวันที่ ๒ และวันสุดท้ายเรายังได้กำลังเสริมจากครอบครัวของคุณแม่เหล่งซึ่งขับรถตามมากับน้องชายลูกและหลานเต็มคันรถ ส่วนจอมก็ชวนอ้วนอดีตครูอาสาจากทุ่งดาบ และอ้อก็ชวนเจลลี่มาร่วมขบวนกับเขาด้วย
· บ้านคุณยายสะอาด
เดิมเราต้องซ่อมแซมบ้าน ๒ หลัง คือ หลังเล็กของคุณยายทองหยิบ มุงหลังคา ทำประตูให้ ส่วนหลังใหญ่ของคุณยายสะอาดอยู่กับป้าแดง ลักษณะบ้านเอียงทรุด สภาพสังกะสีดูเหมือนของมือ๒-มือ๓ คือเก่ามากแล้วรวบมาปะจนเป็นบ้าน แต่ก่อนไปซ่อมจอมโทรนัดหมายล่วงหน้าจึงทราบว่าคุณยายทองหยิบมีหลานมารับกลับไปอยู่ด้วยแล้ว (สาธุ)
เราจึงวางแผนเพื่อไปซ่อมบ้านคุณยายสะอาดเป็นหลัก วันแรกช่างและแรงงานหนุ่มๆ ไม่รีรอ งัดทั้งพื้น ทั้งฝาบ้านออกจนโล่ง ขณะที่สาวๆ จากร.ร.เล็กแม้จะเอวบางร่างน้อยแต่ไม่มีใครแพ้แดด ลงจอบทำแปลงผักอีก ๕ ร่องทันที ในพื้นที่ใหม่ที่ป้าแดงชี้ให้ (โดยแปลงผักเดิมที่ครูต้นพาเด็กชั้นคละไปทำให้ขาดน้ำแห้งไปหมดแล้ว เพราะแม้จะอยู่หลังบ้านก็จริงแต่ต้องลงไปตักน้ำที่คลองชลประทาน เดินมาหลังบ้านอีกไกล) แม้ที่ใหม่จะใกล้น้ำ แต่อากาศที่ทั้งร้อนจนแล้งขณะนี้ทำให้สาวๆ ต้องปรึกษากันว่าต้องหากากมะพร้าวมารองใต้แปลงเพื่อช่วยอุ้มน้ำนานขึ้น และช่วยกันย้ายโอ่งมาไว้ใกล้ๆ เพื่อสำรองน้ำที่จะใช้รดในแปลงทุ่นแรงป้า เมื่อเปิดหน้าดิน ยกร่อง รดน้ำเรียบร้อย ก็รอจะออกไปซื้ออาหารกลางวันให้ทุกคน แต่รถตู้ไปส่งจอมที่บางบาลเพื่อจัดการเรื่องวัสดุอุปกรณ์บ้านคุณยายฟัก ส่วนรถกระบะของก้องถูกนำมาดึงสลิงที่ผูกยึดบ้านไว้ไม่ให้ล้มจนกว่าเสาใหม่ที่สั่งร้านวัสดุไว้จะมาส่ง สาวๆ คุยกันเล่นๆ แต่เอาจริงว่า “หรือเราจะโบกรถไป?” บ้านคุณยายสะอาดอยู่ติดถนน (จริงๆ คือบุกรุกที่หลวงอยู่) มายืนรอรถสองแถวสักพัก แต่ก็ไม่เห็นแวว ครูอีฟ๒ ส่งสายตาขอความเห็นใจรถกระบะที่ออกมาจากทางเข้าวัดเจ้าแปดฝั่งตรงข้าม เป็นผล ได้ติดรถคนใจดีไปลงที่ตลาด หลังจากซื้อข้าวกล่องแล้ว ก็ไปหาซื้อเมล็ดพันธุ์ ส่วนดินและกากมะพร้าวในตลาดไม่มี ชาวบ้านก็บอกทางว่าอยู่เลยร้านน้องเจไป อยู่ไหนเราก็นึกไม่ออก เลยเหมารถกระบะหวังจะได้ไม่หลงและมีรถขนดินเข้าพื้นที่ รถมาส่งที่ร้านขายดินและกากมะพร้าว โธ่...อยู่ริมถนนตรงกันข้ามกับบ้านคุณยายสะอาดนั่นเอง ผลของการไม่ถามป้าแดงให้รู้เรื่อง
กลับมาถึงหนุ่มๆ ทานข้าว แต่สาวๆ ไม่ยอมพักลงดินและกากมะพร้าวในแปลงต่อจนเสร็จ ป้าแดงเอาไม้มาให้พวกเราช่วยกั้นคันดินไม่ให้ดินไหลลงคลองหากฝนมา เสร็จแล้วก็ไปนั่งพักเอาแรง สังเกตดูหนุ่มน้อยอย่างหมูแฮม จดๆ จ้องๆ จะตอกตะปู ก็ยังเบี้ยวๆ อยู่ ต้องคอยช่วยหยิบส่งของ(แต่ต้องติดตามดูจนถึงวันสุดท้าย หมูแฮมลีลาคล่องแคล่วคล้ายช่างมากขึ้น) ช่างก้องบอกว่าวันแรกนี้ต้องระวัง สภาพบ้านที่รื้อถอนค่อนข้างอันตราย บางช่วงจึงได้แต่นั่งดูช่างทำงานเป็นหลัก
มีเวลาคุยกับป้าแดงเป็นระยะ ทราบว่าคุณยายสะอาดเพิ่งอออกจากโรงพยาบาลเนื่องจากเบาหวานขึ้น และหมอยังตรวจพบว่าเป็นโรคไต ซึ่งทั้งคู่อาศัยดื่มใช้น้ำจากคลองชลประทาน จึงสอบถามเรื่องการซื้อน้ำสะอาดมาไว้ดื่ม ป้าแดงว่ามีส่งเลยฝากคุณครูสมพรที่จะมารับประสานงานต่อในวันที่ ๒ ช่วยจัดการ
ที่ใต้ถุนบ้านมีลูกหมาอยู่หลายตัว ป้าแดงต้องไล่ให้ออกมากลัวบ้านจะทรุดทับ สังเกตว่าป้าแดงรักหมามาก ข้าวที่ซื้อไปฝากคุณยายสะอาดและป้าแดง กล่องของป้าแดงแบ่งเป็นกองเล็กๆ ให้ลูกหมากินก่อน ป้าแดงค่อยกินในกล่องที่เหลือ เย็นวันนั้นกะเลขอลูกหมากลับไปเลี้ยง ๑ ตัว
วันที่ ๒ มีครูสมพรเป็นผู้ประสานงานในพื้นที่ พร้อมด้วยน้องๆ ทีมสถาปนิกและทีมช่างก้อง ตี๋ และ กะเล +หมูแฮมและพี่วันใหม่ ซึ่งในวันนี้ทุกคนได้ลงแรงเต็มที่เพราะเป็นการรื้อถอนและลงเสาใหม่(ไม้) ให้แข็งแรง ครูสมพรได้พาป้าแดงไปสั่งน้ำสะอาดมาใส่ตุ่มไว้ดื่มใช้ แต่จนเย็นแล้วก็ยังไม่มาส่ง
วันสุดท้ายเราต้องออกเช้ากว่าเดิมคือ ๘.๐๐น. มาเป็น ๗.๓๐น. เพื่อให้จอมและแม่เหล่งนำรถไปรับคุณยายสำแรที่บางบาลไปพบจักษุแพทย์ที่ร.พ.อยุธยา ได้ทันการตรวจเช็คและทำนัดการผ่าตัดถ้าจำเป็น ตามที่เจ้าหน้าที่ร.พ.อยุธยาที่เราประสานงานไปได้แจ้งกลับมา
อ้อและเจลลี่เดินทางไปเองด้วยรถส่วนตัว ไปถึงเสนาก่อนเวลานัดหมาย จึงแวะเข้าไปเยี่ยมบ้านต่างๆ ที่หลังวัดบ้านแพน พบกบซึ่งยังคงมาช่วยงานที่วัดบ้านแพนลูกสาวทั้ง ๓ คนจะเปิดเทอมใหม่มีค่าชุดนักเรียนที่ต้องเตรียมโดยเฉพาะคนกลางที่ขึ้น ป.๕ ต้องใช้เครื่องแบบคอซองซึ่งท้ายรถอ้อได้นำเสื้อผ้ามือสองบางส่วนเตรียมไปให้อยู่แล้ว แต่ไม่มีชุดนักเรียนคอซอง ปรึกษาครูปิ่นหทัยที่ร.ร.วัดบ้านแพน ถึงความจำเป็นของกบจึงตัดสินใจจัดซื้อไปให้ (ได้นำหนังสือที่ได้จากงาน book day สำหรับเด็กเล็กไปมอบให้ศูนย์เด็กเล็กวัดบ้านแพนด้วย) จากนั้นไปแวะเยี่ยมคุณยายบุญธรรมซึ่งดีใจมากที่ไปเยี่ยม เจลลี่เห็นแม่ต้องไปพูดดังๆ ข้างๆ หูคุณยายก็ขำ คุณยายว่าข้าวสารที่เอาไปฝากจะหุงไปทำบุญที่วัดช่วงสงกรานต์ (สาธุ) ซื้อผ้าถุงผืนใหม่ไปฝากด้วยได้ใส่ไปวัดพอดี ส่วนคุณป้าจำลองซึ่งบ้านติดกับคุณยายบุญธรรมไม่อยู่จึงฝากทั้งข้าวสาร ผ้าถุงไว้ให้ ย้อนกลับมาหาคุณตาแกละ(เพราะช่วงเช้าผ่านมายังไม่ตื่น)นั่งอยู่หน้าบ้าน ถามสารทุกข์กันพักหนึ่งจึงเห็นว่าตาขาวข้างหนึ่งของคุณตาแดงมาก คุณตาบอกว่าคันมาก แต่ไม่ยอมไปหาหมอจึงโทรปรึกษากับเภสัชกรร้านของคุณแม่มล ได้ชื่อยาหยอดตาแก้แพ้ ซื้อและไปหยอดให้คุณตา ไม่รู้ว่าจะหยอดต่อเองได้มากน้อยแค่ไหน คุณตาแกละถามถึงไอ้อ้วน (ครูอดิเรก) ด้วย อ้อบอกว่ายังตรวจข้อสอบไม่เสร็จ
มุ่งรถต่อไปที่บ้านคุณยายสะอาด ซึ่งทั้งช่าง พร้อมอาสาสมัครน้องๆ สถาปนิก ลงมือทำงานต่อแล้ว รถคุณแม่เหล่งมาถึง ส่งน้องชาย ลูก และหลาน ไว้ช่วยงานที่นี่ ส่วนตัวคุณแม่เหล่งนั่งรถตู้ไปกับจอมและอ้วน เพื่อไปดำเนินการเรื่องโรงพยาบาล (คุณยายสำแร พบหมอตาที่ร.พ.อยุธยา (ยังไม่ต้องผ่าตัดได้คิวนัดตรวจครั้งต่อไป) หมอกระดูกที่ร.พ.เสนา) และสำนักงานสวัสดิการผู้พิการ (คุณยายฟัก และคุณสมชาย) รวมทั้งแวะเอานมไปให้น้องฟิล์มและหลานคุณยายธัน ช่วงบ่ายจึงกลับมารับขบวนการเด็ก คือ การบูร ป.๖ บอม ป.๕ และเจลลี่ ป.๓ ไปช่วยกันเก็บกวาดบ้านคุณยายฟักเนื่องจากช่างทำห้องน้ำเสร็จเรียบร้อยแล้ว
จอมได้ฝากใบนัดจากโรงพยาบาลอยุธยาให้อ้อแวะไปหาป้าสังเวียนและลุงสนิทเนื่องจากป้าสังเวียนและลุงพิมพ์ไม่ได้ไปตามนัดเดิมคือ ๘ ก.พ. ทางร.พ.จึงนัดให้ใหม่คือ ๕ ก.ค. ซึ่งหากไปตามนัดจะได้คิวผ่าตัดภายใน ๒ เดือน และทางร.พ.จะไม่ออกเอกสารส่งต่อผู้ป่วยไปที่อื่นให้ เพราะยืนยันว่าสามารถรักษาได้ เพียงแต่ขอให้มาตามนัด ซึ่งจากการที่อ้อได้แวะเอาเอกสารไปให้พร้อมทั้งอธิบายและชักชวนให้คุณป้าและคุณลุงไปรักษาต่อพบว่าคุณป้าได้รักษาอยู่กับคลินิกใกล้บ้าน ได้ยาหยอดตาประทังอาการไป ส่วนลุงสนิทยังไม่ได้ไปพบแพทย์แต่อย่างใด โดยรวมคุณป้าสังเวียนรู้ไม่แน่ใจเรื่องการผ่าตัด เพราะได้รับข้อมูลจากจักษุแพทย์เดิมที่ ร.พ.เสนาเดิม และแพทย์ที่คลินิก คุณป้าเข้าใจว่าตาข้างหนึ่งเป็นทั้งต้อหินและต้อกระจก การผ่าตัดจะไม่ช่วยให้ดีขึ้น ประกอบกับอายุมากแล้วจึงค่อนข้างกลัว และการเดินทางไปร.พ.อยุธยาทั้งคู่ไม่มีลูกหลานพาไปจึงไม่สะดวก อ้อจึงให้บัตรนัดไว้และเสนอว่าหากคุณป้าและคุณลุงจะไปร.พ.อยุธยา จะมารับ-ส่ง ให้ แต่ขอให้เป็นความสมัครใจ และแสดงความเห็นว่าน่าจะลองรักษาดู ก่อนที่อาการจะลุกลามมากกว่านี้ โดยเฉพาะลุงสนิทที่ยังไม่เคยไปตรวจเลย
กลับมาที่บ้านคุณยายสะอาด ยังเหลืองานอีกพอสมควรแต่ช่างก้องว่าน่าจะเสร็จหากเลิกค่ำหน่อย ก่อนอาหารเที่ยงมีรถกรมทางหลวงเลี้ยวเข้ามาจอด ทุกคนนิ่งดูท่าที มีเจ้าหน้าที่คนหนึ่งลงมาแจ้งเรื่อง (ที่เราอยู่แล้วว่า) เส้นทางหรือพื้นที่ที่บ้านคุณยายสะอาดปลูกอยู่นี่กำลังถูกทางหลวงเวนคืน หัวหน้าจึงไม่อยากให้มีการปลูกสร้างใหม่ ซึ่งเราก็ยืนยันไปว่าเราไม่ได้ต่อเติมหรือสร้างบ้านแบบถาวร เพียงแต่ซ่อมแซมบางส่วนให้เพราะสภาพเดิมนั้นเป็นอันตรายแก่ผู้อาศัย (ซึ่งทั้งชราและเจ็บป่วย) ที่รีบทำเพราะกำลังจะฤดูฝนและอาจมีพายุฤดูร้อนเข้าและได้ปรึกษาและประสานงานไว้กับทางอบต.สามกอแล้วว่าพื้นที่จะถูกเวนคืนดังนั้นการซ่อมแซมบ้านจะดำเนินการเพื่อการอยู่อาศัยอีกประมาณ ๑ ปี เจ้าหน้าที่กรมทางหลวงก็เข้าใจในประเด็นมนุษยธรรม และบอกว่าตนมาแจ้งตามหน้าที่ แต่ละคนมีหน้าที่อะไรก็ทำไปก็แล้วกัน
ช่วงบ่ายระหว่างที่ทุกคนลุยงานกันต่อ อ้อพาป้าแดงไปซื้อน้ำใส่ตุ่ม (เต็มตุ่มใช้น้ำ๑๐ถัง*ถังละ ๒๐ลิตร) ไปตลาดเติมแก๊ส ซื้อข้าวสาร ชวนป้าแดงให้พาคุณยายสะอาดไปหาหมอตามนัด แต่ป้าแดงว่าไปก็ตรวจไม่ได้เพราะคุณยายสะอาดไม่ได้งดน้ำอาหาร
กลับมาที่บ้าน ฟ้าเริ่มครึ้ม ลมแรง ต้องเอาของหนักๆ ทับสังกะสีเก่าๆ ที่กองไว้กลัวจะปลิว ๓ โมงกว่าๆ ฝนก็เทลงมาหนักมาก แต่ไม่มีใครหยุด จนฝนหนักกว่าเดิมมากๆ ทำให้ดินเหลว ยืนทำงานต่อไม่ได้ ทุกคนจึงขึ้นไปนั่งบนบ้าน กะเล กับ ตี๋วิ่งเอาสังกะสีมาคลุมของในบ้านหลังเล็ก (บ้านคุณยายทองหยิบ) ที่ป้าแดงขนมาเก็บชั่วคราว อ้อเอาผ้าห่มมาคลุมตัวให้คุณยายสะอาดเพราะเรานั่งหลบฝนอยู่ในเพิงเก็บของเก่า แรงฝนก็สาดเข้ามาจนเสื้อชื้นเหมือนกัน
ฝนหยุดเราปรึกษากัน ช่างก้องตัดสินใจหยุดงานโดยขอป้าแดงว่าจะกลับมาทำให้เสร็จในวันที่ ๑๘ เม.ย. (อีก ๗วัน) ป้าแดงเข้าใจ ไม่ขัดข้อง ซึ่งวันที่ ๑๘ ก้องก็ทำตามสัญญา โดยมี กะเล และน้องมิน สถาปนิก ไปช่วยกันปิดงานให้เรียบร้อย
· บ้านคุณยายฟัก-คุณสมชาย
งานตามแบบร่างที่พี่สมชายวางไว้จากการไปสำรวจพูดคุยกับคุณยายฟักและคุณสมชาย(ลูกชาย) คือเปลี่ยนหลังคา ซ่อมพื้นและชานบ้านชั้นบน พร้อมทั้งสร้างห้องน้ำยกขึ้นไปบนชั้น ๒ เพื่อใช้งานช่วงที่น้ำท่วม (ซึ่งท่วมทุกปีเพราะบ้านอยู่ริมแม่น้ำท่วมก่อน ลดทีหลัง) พร้อมทั้งเปลี่ยนฝาบ้านส่วนที่สังกะสีผุให้ใหม่ และซ่อมรางซักล้างให้ แต่เมื่อฝ่ายช่างซึ่งนำทีมโดย พี่ขอด พี่โก๊ะ พิเชษฐ์ ลุงอุทิน ศักดิ์ และ จิม ไปถึงพื้นที่พบว่าเจ้าของบ้านและญาติเข้าใจไม่ตรงกับเรา คือคิดว่านอกจากห้องน้ำชั้นบนแล้วจะมีการต่อระเบียงออกไปให้ด้วย เมื่อจอมแวะไปเพื่อประสานเรื่องวัสดุอุปกรณ์ให้ช่างจึงใช้เวลาพูดคุยทำความเข้าใจกับคุณยายฟัก และคุณสมชาย ถึงแบบ และงบประมาณ เมื่อเจ้าของบ้านเข้าใจจึงได้เริ่มงาน
ซึ่งตลอดทั้ง ๓ วัน ช่างของเราได้รับการดูแลเอาใจใส่จากคุณยายซึ่งจัดหาเครื่องดื่ม ผลไม้ มาบำรุงเต็มที่
จอมที่ลงไปประสานงานในวันที่ ๙ และ ๑๑ เล่าว่าคุณยายฟักยิ้มแย้มมีความสุขที่ได้พูดคุยกับเรา เมื่อพาเด็กๆ ไปช่วยกันทำความสะอาดบ้านในวันสุดท้าย ด้วยงานก่อสร้างเสร็จเรียบร้อย และกล่าวลาคุณยายและลูกชายขอบอกขอบใจพวกเรา พร้อมๆกับน้ำตาแห่งความยินดี ที่ยายยกมือปาดออกพร้อมรอยยิ้ม จอมบอกว่า อย่างนี้เองที่เขาเรียกว่า "ยิ้มทั้งน้ำตา"
จิตอาสาก่อนสงกรานต์ครั้งนี้จึงอิ่มอกอิ่มใจกันไป
ต้องขออนุโมทนาบุญทุกๆ คนที่ร่วมแรงร่วมใจกันอย่างเข้มแข็ง

๓.กลับมาคุยกัน...อีก

เราหาโอกาสแลกเปลี่ยนการทำงานกันในวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๕๐ ช่วงเช้าก่อนที่พี่ๆ ช่างจะต้องแยกย้ายกันไปทำงาน เพื่อสรุปภาพรวมของงานและประเด็นที่ควรนำมาเพิ่มเติมในกระบวนการทำงานของพวกเรา ซึ่งรวมๆ เราพบว่าก็ไม่พ้นเรื่องการสื่อสาร...
o ควรเพิ่มขั้นตอนการสรุปแบบร่างงานซ่อมแซม ก่อสร้าง กลับไปที่เจ้าของบ้านเพื่อตรวจสอบความเข้าใจให้ตรงกัน หากไม่มีเวลาจริงๆ อย่างน้อยควรมีโอกาสพูดคุยกันทางโทรศัพท์ ก่อนลงพื้นที่
o วัสดุที่ใช้ ช่างบางคนรู้สึกว่ายังไม่ได้มาตรฐานน่าจะใช้ของดีที่มีอายุใช้งานยาวๆ หรือ วัสดุบางส่วนดึงจากงานอื่นมาใช้ทำให้ไม่พอดีต้องใช้เวลามาดัดแปลงหน้างาน ซึ่งส่วนนี้เกิดจากการพิจารณาเรื่องงบประมาณที่มีอยู่จำกัดร่วมกันของคณะทำงาน รวมทั้งปรับแบบ วัสดุ ให้สามารถใช้งานได้ในระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งควรใช้เวลาสื่อสารกันในรายละเอียด แต่การทำงานครั้งนี้ไม่ได้ติดขัดแต่อย่างใดเพราะทีมช่างเองก็วางใจกันพร้อมจัดปรับกันไปตามบริบท
o ควรทำความเข้าใจในเป้าหมายของการช่วยเหลือแบบยั่งยืนกันอย่างสม่ำเสมอเพราะเราพบว่า หลายๆ คนให้การช่วยเหลือเฉพาะหน้าไปด้วยเงินส่วนตัว ตามที่คนในพื้นที่ขอ เช่น ขอเงินเป็นค่านมลูก ซึ่งก็พบว่าเงินที่ได้ไปไม่ได้ถูกนำไปช่วยเหลือเด็กที่เหมาะสม แต่ถูกนำไปใช้เชิงบริโภคของผู้ใหญ่มากกว่า
o บ้านที่เหลืออยู่หลังสุดท้ายที่เราไปสำรวจเพื่อซ่อมแซม คือ บ้านของน้องเจม-กลิ้ง แม้เราจะได้รับการอนุมัติงบประมาณเรียบร้อยแล้ว แต่เรายังไม่เคยพบตัวเจ้าของบ้านคือ คุณลุงของเด็กเลย การมุ่งจะลงไปซ่อมแซมบ้านจึงไม่อาจแน่ใจได้ว่าเป็นการแก้ปัญหา ช่วยเหลือ ครอบครัวนี้ได้ตรงจุดจริงหรือไม่ คณะทำงานจึงขอเวลาในการประสานงานปรึกษากับทางอบต.และเจ้าของบ้านก่อนการนัดหมายอาสาสมัครต่อไป