Tuesday, November 13, 2007

เมื่อใจผลิบาน



บทความโดย คุณครูสมพร รู้แสวง


หากเราก็กำลังเหน็ดเหนื่อยจากการทำงานประจำ รู้สึกว่าเป็นวิถีชีวิตซ้ำรอยเดิมของการก้าวย่างพบความรู้สึกเดิมๆอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน แล้วต้องการสลัดความเหนื่อยล้านั้นบ้าง หากมีเวลาได้หยุดพักผ่อน วันเสาร์-อาทิตย์ จึงเป็นวันที่ฟ้ากำหนดให้เราได้ตื่นสาย ได้ทำอย่างอื่นที่อยากทำ นอกเหนือไปจากงานประจำ ใครหลายคนคงคิดเช่นนั้น ผมเองก็เหมือนกัน บางเวลาเราก็ต้องการปลุกจิตของเราให้สดชื่นแจ่มใสพร้อมเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ในสัปดาห์ต่อไป





แต่วิธีการเช่นนี้ผมก็รู้สึกว่าผมกำลังดำเนินวิถีชีวิตซ้ำรอยเดิมของวันเสาร์-อาทิตย์ ปล่อยเวลาให้ผ่านเลย โดยไม่ค่อยได้ประโยชน์อะไรมาก อันนี้ผมประเมินจากความรู้สึกเสียดายทุกครั้งเมื่อวันเสาร์-อาทิตย์ผ่านเลยไปเสียแล้ว


ผมคิดว่าวิธีการเติมใจให้เต็มของผมน่าจะต้องมีประโยชน์ต่อผู้อื่นได้ด้วย เหมือนเช่นที่ผมเคยทำเมื่อคราวไปเป็นจิตอาสาช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่อยุธยา ความรู้สึกที่ว่าเหนื่อยกาย แต่อิ่มใจ ยังเป็นความรู้สึกที่ผมจำได้ดี และยังเคยชวนเพื่อนๆ ที่ทำงานจิตอาสาลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมชาวบ้าน ผมอยากรู้ว่าวิถีชีวิตเขาดีขึ้นแค่ไหน แต่ก็ยังไม่ได้ทำ




จนมาวันนี้ (๑๐ พ.ย. ๕๐)มีโครงการจิตอาสาเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโรคตาที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด ในโรงพยาบาลบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ผมจึงเข้าร่วมเป็นอาสาสมัคร แม้ไม่รู้ว่างานจะหนักแค่ไหน ไม่รู้ว่าต้องทำอะไร แต่ผมก็รู้ว่าผมจะได้ทำประโยชน์ให้ผู้อื่น




แค่คิด.. ผมก็เห็นรอยยิ้มในใจตนเองแล้ว คำว่าเหนื่อยกาย แต่อิ่มใจ กำลังจะกลับมาหาผมอีก






คณะจิตอาสาคราวนี้ รับรู้ร่วมกันว่าจะต้องไปทำหน้าที่ช่วยเหลือผู้ป่วยโรคตา เราก็ได้สมาชิกพร้อมเดินทางจำนวน ๙ คน ประกอบด้วย คุณแม่ปุณฑาริกา คุณแม่ไวน์ ครูรัตน์และน้องแนน น้องแน็ต ลูกสาว ครูบี ครูหนู(จากอนุบาล) วันใหม่ และผม(ครูสมพร) มีพี่ถวิลเป็นพลขับ






พวกเราไปถึงโรงพยาบาลบ้านแพ้วตามเวลาที่กำหนด คือ แปดโมงครึ่ง แล้วขึ้นไปพบคุณชิว เจ้าหน้าที่จากมูลนิธิฉือจี้ผู้ใจดี ที่ห้องประชุมใหญ่ ชั้น ๕ อาคารสมเด็จย่า เราทักทายกันแบบรวบรัดแล้วคุณชิวก็แจกบัตรพนักงานให้พวกเราแยกตามสีของกลุ่มผู้ป่วย จากนั้นแจกเสื้อกั๊กของมูลนิธิให้พวกเราคนละตัว พร้อมกับอธิบายการทำงานคร่าวๆ ว่า “ ให้พวกเราไปเข้าสีตามกลุ่มผู้ป่วย ช่วยดูแล ซักถาม และช่วยเหลือเวลาเขาจะเข้าห้องน้ำ หรือนวดให้ผู้ป่วยก็ได้ ” นี่เป็นการอธิบายขั้นตอนการทำงานที่สั้นๆ แต่ก็ได้ใจความ เพราะสถานการณ์ตรงหน้าคุณชิวรวมถึงพวกเรา คือ ความชุลมุนของผู้ป่วยกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ รวมถึงญาติผู้ป่วยด้วย

ผมได้รับมอบหมายให้อยู่กลุ่มผู้ป่วยสีเขียว จึงเดินไปหากลุ่มสีเขียว สังเกตว่ากลุ่มนี้มีผู้ป่วยกี่คน ถามคนที่อยู่ใกล้ที่สุดว่ามาจากไหน จึงได้รู้ว่ากลุ่มนี้ทั้งกลุ่มมาจากเพชรบุรี จากนั้นมีคนให้ผมไปช่วยอ่านเรียกขานชื่อผู้ป่วย แล้วแจกแฟ้มประวัติให้ไว้กับตัวผู้ป่วย ช่วงนี้สับสนมากในหมู่ผู้ป่วยและคนเรียกชื่อ สีแฟ้มกับรายชื่อไม่ตรงกัน ทั้งๆ ที่แบ่งสีตามประเภทผู้ป่วย ทำให้ผมรู้ว่ากลุ่มสีเขียวคือกลุ่มที่ต้องผ่าตัดต่อเนื้อ ส่วนสีอื่นก็เป็นต้อกระจกบ้าง ต้อหินบ้าง เท่าที่สังเกตบวกกับพูดคุยกับผู้ป่วยเองด้วย ผมคิดว่าปัญหาที่เกิดมาจากเจ้าหน้าที่ไม่ได้จัดระบบงานเอกสาร เวลาต้องแจกแฟ้มประวัติจึงค่อนข้างสับสน ประกอบกับมีเจ้าหน้าที่มาจากหลายฝ่าย หลายหน่วยงาน เช่น เจ้าหน้าที่โรงพยาบาล เจ้าหน้าที่จากสโมสร

ไลอ้อน เจ้าหน้าที่จากมูลนิธิฉือจี้ และอื่นๆ ที่ผมไม่รู้จัก


ส่วนพวกเราจะทำงานตามหน้างานที่ได้รับ และผมสังเกตว่าคณะของเรากระโจนเข้าหางานกันทุกคน โดยไม่ได้นัดหมาย ใครทำอะไรได้ก็ทำ ใครเห็นว่าควรทำอะไรก็ทำอย่างตั้งใจ แม้แนนกับแน็ต ลูกสาวครูรัตน์ก็ช่วยแม่เสิร์ฟน้ำบ้าง นวดให้ผู้ป่วยบ้าง หรือใช้พัดมือพัดให้ผู้ป่วยบ้าง ลักษณะงานส่วนใหญ่ก็จะเป็นการอำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วย เช่น จัดคิว คอยช่วยพยุงคนสูงอายุซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นคนสูงอายุ บริการน้ำดื่ม อาหารว่าง เช่น ขนม บริการนวดผ่อนคลายระหว่างผู้ป่วยนั่งรอนาน หรือแม้แต่บริการตัดเล็บให้ด้วย แต่ละภาพที่ผมเห็นล้วนสร้างความสุขใจให้ทั้งนั้น จนหลายครั้งต้องถ่ายภาพเก็บไว้


โดยเฉพาะสังเกตจากการทำงานของคณะชาวฉือจี้ จริงๆ รวมพวกเราด้วยเหมือนกัน ทุกคนจะยิ้มแย้มแจ่มใส คอยพูดจาให้ผู้ป่วยสบายใจ เพราะผู้ป่วยสูงอายุหลายคนเกิดอาการเครียดที่จะต้องผ่าตัด บางคนความดันขึ้นมากจนไม่สามารถผ่าตัดได้ ต้องนำกลับมาคอยพูดให้กำลังใจ ป้อนน้ำป้อนขนม ช่วงเวลาแบบนี้ ผมได้เห็นรอยยิ้มของจิตอาสาทุกคน โดยเฉพาะคุณชิว นับว่าเป็นครูที่ดีมาก คุณชิวจะปฏิบัติต่อผู้ป่วยด้วยรอยยิ้มอย่างเบิกบาน และก็ชวนให้พวกเราทำตาม โดยจะบอกให้พวกเรายิ้มก่อนเสมอ เช่น ก่อนจะเสิร์ฟน้ำก็ให้ยิ้มก่อน แล้วค่อยยื่นแก้วน้ำให้







อีกอย่างหนึ่งที่ผมสังเกตเห็น คือ การรู้คุณค่าของน้ำที่นำมาให้ผู้ป่วย คุณชิวบอกว่า “ผู้ป่วยดื่มไม่เยอะ แต่ต้องดื่มบ่อย ดังนั้นเวลารินน้ำก็ให้รินพอประมาณ คือ หนึ่งในสามของแก้ว เพราะไม่เช่นนั้นเขาก็ต้องเททิ้ง เป็นที่น่าเสียดาย” พวกเราทำหน้าที่เสิร์ฟอาหารเที่ยงให้ผู้ป่วยจนครบทุกคนและรอให้รับประทานเสร็จ จึงช่วยเก็บและบริการน้ำ ล้างแก้ว เสร็จแล้วจึงบอกคุณชิวว่าเราจะไปทานข้าวเที่ยงกัน


ระหว่างทานข้าวเที่ยงก็มีคนนำน้ำสตอร์เบอรี่โซดามาเสิร์ฟให้พวกเรา โดยบอกว่าพี่ผู้หญิงฉือจี้คนหนึ่งเลี้ยงน้ำพวกเรา แต่ไม่บอกว่าชื่ออะไร พวกเรารู้สึกดีใจมาก ทานข้าวกันอย่างออกรสออกชาติ ระหว่างนี้แต่ละคนก็เริ่มอยากรู้ว่าใครเป็นใคร เพราะในตอนแรกเราแทบจะไม่ได้แนะนำตัวเองกันเลย ต่างคนต่างทำหน้าที่ ท้องอิ่มแล้วจึงค่อยถามกัน เด็กๆ สองคนก็สร้างสีสันให้วงกับข้าวดีไม่น้อย บรรยากาศเหมือนครอบครัวใหญ่ทานข้าวร่วมกัน เสร็จจากรับประทานอาหารเที่ยงพวกเราก็มาช่วยงานต่อ

แต่ช่วงบ่ายไม่ค่อยมีงานให้ทำมาก เหมือนตอนเช้า เพราะผู้ป่วยส่วนหนึ่งเข้าห้องผ่าตัด ส่วนหนึ่งรออยู่ในห้องประชุมใหญ่ ส่วนที่ผ่าตัดเสร็จแล้วก็กลับมานอนพักผ่อนรวมกันบริเวณห้องประชุมแห่งนี้ พวกเราได้รับมอบหมายให้ไปสัมภาษณ์ผู้ป่วยตามแบบฟอร์มที่แจกให้ แล้วนำกลับมาให้คุณชิวๆ จะถามว่า มีใครที่มีชีวิตน่าสงสารมากๆ หรือเปล่า ในส่วนที่ผมสัมภาษณ์ก็เห็นว่ามีครอบครัวอบอุ่น เพราะคุณตาอยู่กับลูกสาวถึงสองคน แล้วก็มีหลานๆ ให้เลี้ยงอีกจึงไม่ค่อยเหงาอะไร

มีคำถามข้อสุดท้ายที่ถามว่า “คิดว่าอยากทำความดีอะไร” คุณตาท่านนั้นก็บอกว่า “ส่วนใหญ่ก็เข้าวัดทำบุญไม่ได้ขาดอยู่แล้ว” บางคนก็บอกว่า “อยากทำอย่างที่เราทำ คือช่วยเหลือคนอื่นให้เขาพ้นทุกข์”


ประมาณบ่ายสามโมงพวกก็ขอลากลับ เพราะเห็นว่าไม่ค่อยมีงานให้ทำแล้ว จึงถ่ายรูปหมู่ไว้เป็นที่ระลึก คุณชิวก็มาร่วมถ่ายกับเราด้วย พร้อมทั้งกล่าวขอบคุณและให้ข้อคิดกับพวกเราหลายอย่าง โดยเฉพาะคำพูดที่ว่า


“ที่พวกเราทำวันนี้ เหมือนเป็นการสรงน้ำพระให้สะอาด เพราะผู้ป่วยเหมือนพระให้เราได้ทำความดี ทำให้เขาหายป่วยด้วย ทำให้ใจเราสะอาดด้วย” คุณชิวยังได้ขอชื่อพวกเรา พร้อมเบอร์โทรศัพท์ไว้ติดต่อ หากต้องการร่วมงานกันอีก




ท้ายที่สุด ผมก็ได้ในสิ่งที่ผมตั้งใจก่อนจะมา ซึ่งไม่ทำให้ผมผิดหวังเลย นั่นก็คือ “รอยยิ้ม” ที่ได้เห็นหัวใจผมผลิบานรับความดี “เหนื่อยกาย แต่อิ่มใจ”

------------------------------------------------------------------------------------------------





ครูอ้อคะ

เป็นกิจกรรมอาสาที่ดีมากมากค่ะ ไปแล้วประทับใจ ได้เจอผู้ร่วมทีมจากรุ่งอรุณที่น่ารัก และที่สำคัญ อาสาสมัครที่เราได้เจอก็น่ารัก และมีจิตใจดีมากๆ เป็นชาวใต้หวันที่มาทำงานนี้ด้วยใจจริงๆ เห็นทุกๆอย่างที่เค้าทำ แล้วให้ย้อนนึกถึงตัวเองค่ะว่า เราทำให้แม่เราที่บ้านอย่างนี้บ้างรึป่าว แต่เค้าซะอีก ที่ไม่ได้เป็นคนไทยเหมือนเรา แต่ทำได้ดียิ่งกว่าเราที่เป็นคนไทยด้วยกัน

ได้คำสอนจากคุณชิว มาปฏิบัติ และสอนลูกได้ด้วยค่ะ
ถ้าลูกของมดโตพอที่จะสามารถพาไปได้ รับรองว่าไม่พลาดแน่ๆค่ะ

ขอบคุณครูอ้อที่ส่งข่าวกิจกรรมดีดีแบบนี้มาให้นะคะ
วันนี้ (ถ้าไม่ลืม) จะเอากล้องไปให้ครูอ้อ ดึงรูปทั้งหมดที่คุณแม่ถ่ายมานะคะ

คุณแม่มด แม่น้องไม้หม่อน อนุบาล 1/3 ค่ะ

Friday, October 12, 2007

รับอาสาสมัครช่วยดูแลผู้ป่วยฯ

ชมรมจิตอาสา
ชวน ชาวรุ่งอรุณ ~ อาศรมศิลป์
ร่วมเป็นอาสาสมัครช่วยดูแลผู้ป่วย(สูงอายุ) ผ่าตัดโรคตา
ณ ร.พ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร
วันที่ ๑๐ และ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๐
สอบถามเพิ่มเติม – ลงชื่อ ที่
ครูอ้อ ประชาสัมพันธ์ (หมายเลขภายใน ๑๑๐)

*************************************************

ในการทำงานครั้งนี้ทางชมรมฯ จะได้มีโอกาสร่วมงานกับมูลนิธิพุทธฉือจี้
ซึ่งดำเนินงานช่วยเหลือ ผู้สูงอายุ ที่เจ็บป่วยด้วยโรคตา อาทิ ต้อประเภทต่างๆ
ให้ได้มีโอกาสผ่าตัด ณ โรงพยาบาลบ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร
ผู้ที่สนใจร่วมเป็นอาสาสมัคร สามารถเลือกว่าจะไปช่วยวันที่ ๑๐ หรือ ๑๑
หรือ จะไปทั้ง ๒ วันก็ได้นะคะ
งานของอาสาสมัครก็คือ ช่วยดูแลผู้ป่วย อำนวยความสะดวกในการติดต่อ แสดงเอกสาร
พูดคุยกับคุณตา คุณยาย ให้รู้สึกผ่อนคลายความกังวลใจ

ครั้งนี้จะมีผู้ป่วยสูงอายุ เข้ารับการผ่าตัดกว่า ๓๐๐ คนค่ะ
สนใจจดลงปฏิทินของคุณแล้วโทรมาลงชื่อได้เลยนะ

ครูอ้อ

Friday, September 21, 2007

ไว้อาลัยคุณยายส้มลิ้ม


วันศุกร์ที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๕๐

ครูอ้อได้รับโทรศัพท์จาก กบ ชาวบ้านจากชุมชนหลังวัดบ้านแพน

แจ้งข่าวว่า คุณยายส้มลิ้ม ได้เสียชีวิตลงแล้ว

คุณยายส้มลิ้ม ล้มป่วยด้วยโรคเบาหวาน ขามีอาการลีบไม่มีแรง

พวกเราไปพบช่วงที่น้ำท่วมสูงใน อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา

ได้ให้ความช่วยเหลือด้านอาหารการกินและสิ่งจำเป็นในช่วงน้ำท่วม

และ แวะไปเยี่ยมเยียนหลังจากน้ำลด ทำความสะอาดบ้าน

ครั้งล่าสุดที่พบคุณยายมีอาการตัวบวม เนื่องจากไม่สามารถขับถ่ายได้



การจากไปของคุณยายส้มลิ้ม พวกเราขอร่วมอุทิศส่วนกุศล

ขอให้ดวงวิญญาณของคุณยายส้มลิ้มไปสู่สุคติเทอญ.

Tuesday, May 22, 2007

ความเจ็บป่วยที่บางบาล - 1

บันทึกการเดินทางของคณะจิตอาสาวันพุธที่ 16 พฤษภาคม 2550
คณะเดินทาง 1. คุณอรวรรณ ปลื้มสามเณร (จอม) 2. คุณอนุสสรา แกมเกตุ (ปุ้ย) 3. คุณสมศรี ทะคำสอน (พี่สมศรี)


ยายสำแร สุริยันต์
พาไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาดวงตาจากโรงพยาบาลอยุธยาการอ่านตัวอักษรในระยะไกล คุณยายสามารถมองเห็นตัวอักษรในแถวที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่านั้น ระดับความดันลูกตาอยู่ในเกณฑ์ปกติคุณหมอสรุปผลการตรวจว่าเป็นต้อเนื้อ หลังจากการลอกต้อแล้วอาจจะมีแผลเป็นที่ใต้ตาดำบ้าง ให้คุณยายมาปรึกษากับญาติก่อนว่าจะรับการลอกต้อหรือไม่ ถ้าต้องการลอกให้กลับไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลอีกครั้งหนึ่งเพื่อนัดวันลอก แต่ถ้าคุณยายไม่ต้องการลอกแพทย์ก็จะจ่ายยาหยอดตาให้ยายไปเรื่อยๆ หลังจากนั้นพาคุณยายไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเสนาเพื่อรับการรักษาเกี่ยวกับอาการปวดขา - หลังและอาการคันที่ผิวหนัง คุณหมอจ่ายยาแก้ปวด - ยาแก้แพ้ - ยาทาแก้คันให้




ลุงสมัคร ประสันทวงษ์
ไปเยี่ยมเยียนที่วัดน้ำเต้า ลุงเล่าให้ฟังว่าก่อนหน้านี้ลุงเกิดการติดเชื้อจากสายยางท่อปัสสาวะทำให้เกิดการอักเสบของลูกอัณฑะ ต้องผ่าตัดลูกอัณฑะออก 1 ข้าง ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์แล้วเจาะหน้าท้องเพื่อเสียบสายปัสสาวะ คุณหมอนัดเปลี่ยนสายปัสสาวะใหม่วันที่ 24 พฤษภาคม นี้ลุงอยากรบกวนทางโรงเรียนให้รับ - ส่ง ลุงในการเดินทางไปโรงพยาล เพราะลุงไม่มีรถ จากการพูดคุย สังเกตุได้ว่าลุงมีสุขภาพจิตดีร่าเริงแจ่มใส ไม่ค่อยวิตกกังวลกับการผ่าตัดที่ผ่านมาเท่าไรนัก






ลุงสมชาย พรหมมาต
ทางคณะได้เข้าไปเยี่ยมเยียนและพูดคุยกับลุงลุงเล่าให้ฟังว่าได้รับบัตรผู้พิการที่โรงเรียนดำเนินการประสานงานขอบัตรใหม่แล้ว อาการแผลเรื้อรังโดยทั่วไปของลุงยังคงเดิม ลุงเล่าให้ฟังว่าตอนนี้ต้มน้ำเกลือล้างแผลใช้เอง ส่วนยาและอุปกรณ์ทำแผลอื่นๆ ตอนนี้หมดแล้ว การเปลี่ยนสายปัสสาวะและถุง uric bag ตอนนี้ลุงยังจ้างเจ้าหน้าที่สถานีอนามัยมาทำให้อยู่ครั้งละ300 บาท เพราะถึงมีบัตรผู้พิการแล้ว ทางโรงพยาบาลก็ยังไม่ประสานงานให้เจ้าหน้าที่ของสถานีอนามัยมาเปลี่ยนหรือทำความสะอาดแผลให้

Friday, May 11, 2007

พี่เลี้ยงอาสาสมัคร


บันทึกจากการเดินทาง นันทินี จันทพลาบูรณ์
อบรมทักษะการปรึกษาเชิงจิตวิทยาสำหรับพี่เลี้ยงอาสาสมัคร
ณ บ้านครูกาจ-ครูเลขา โฮมสเตย์ จ.นครนายก
วันที่ ๑๗-๑๙ มีนาคม ๒๕๕๐
ก่อนเดินทาง
ในฐานะผู้ประสานงานกลางชมรมจิตอาสารุ่งอรุณ เมื่อได้รับอีเมล์แจ้งข่าวว่าจะมีการอบรมสำหรับพี่เลี้ยงอาสาสมัคร (ได้รับการสนับสนุนทุนจากศูนย์ส่งเสริมคุณธรรม ดำเนินงานโดยศูนย์ปลูกรัก) ฉันรู้สึกว่าตัวเองน่าจะร่วมการอบรมครั้งนี้ เพราะจากการทำงานบางครั้งฉันพบว่าการสื่อสารกับครูอาสาเป็นเรื่องละเอียดอ่อน หลายครั้งที่ฉัน “พยายามใส่” ข้อมูล วิธีการ วิธีการจัดการ อาจเกินเลยไปถึง วิธีคิด ทัศนคติ ของฉันให้กับบรรดาคุณครูที่จะลงไปทำงาน และด้วยธรรมชาติที่ฉันมักคิดเร็ว ลงมือทำในทันที ทำให้การสื่อสารพูดจา (ครูอาสาบางคนก็เคยสะท้อนว่า) ผู้ฟังรู้สึกเหมือนถูกจู่โจม นอกจากนี้ฉันรู้สึกว่าตัวเองยังขาดทักษะการลงพูดคุยกับชาวบ้านในพื้นที่ แม้จะดูครูจอม ครูสมชาย เป็นตัวอย่าง แต่ก็ยังรู้สึกเคอะเขิน พูดไม่ออกบอกไม่ถูก เมื่อพบปัญหาในพื้นที่ มีความลังเลไม่แน่ใจ ฉันควรวางตัว วางใจอย่างไร
ในการเดินทางครั้งนี้มีเพื่อนๆ อาสาสมัครที่ทำงานในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง คือ ครูจอม ครูปุ้ย และ ครูสมพร (ซึ่งเสียดายที่ครูอดิเรกติดสอนวันจันทร์หลายคาบไม่สามารถร่วมเดินทางไปในครั้งนี้ได้) ร่วมเดินทางไปด้วยกัน

เดินเครื่อง
เราออกเดินทางเย็นวันเสาร์ที่ ๑๗ มีนาคม ต่างคนต่างมาพบกันที่จุดนัดคือ ท็อปส์ซูเปอร์มาร์เก็ต ตรงข้าม ม.เกษตรศาสตร์ เจ้าหน้าที่ที่มาคอยดูแลขึ้นรถดูเหมือนนักศึกษา ผู้ร่วมอบรมทั้งหมด ๑๕ คน เดินทางด้วยรถตู้ ๒ คัน บนรถเราได้พูดคุยทักทายกับคนอื่นๆ พบว่าต่างมาจากองค์กร หน่วยงานที่ทำงานอาสาสมัครช่วยผู้คนในรูปแบบต่างๆ อาทิ มูลนิธิกระจกเงา ADRA มูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมฯ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.) ฯลฯ ถึงที่พักเดิมทีฉันเข้าใจว่าเราคงไปพักกับชาวบ้านเพราะแจ้งไว้ว่าเป็น
โฮมสเตย์ แต่บ้านครูกาจ-ครูเลขา ก็ไม่ต่างอะไรกับรีสอร์ททั่วไป ที่มีเรือนพักรับรองติดเครื่องปรับอากาศ มีห้องน้ำ ห้องประชุม สะดวกสบาย (หรือว่าโฮมสเตย์ในเมืองไทยหมายความเช่นนี้ไปเสียแล้ว)
แต่ที่หลายคนรู้สึกประทับใจคือ เหมือนเราไปพักอยู่ในสวนผลไม้ เพราะรอบๆ บ้านตลอดจนทางเดิน เต็มไปด้วยต้นไม้นานาชนิด เงาะ มังคุด มะปราง ชมพู่ และมะยงชิด (หน้าตาคล้ายมะปรางแต่มีขนาดใหญ่เหมือนไข่ไก่ ผลไม้ขึ้นชื่อของที่นี่) ผลที่สุกแล้วบางส่วนได้รับอนุญาตให้เก็บรับประทานสดๆ จากต้น เป็นสินค้าตัวอย่างให้ชิมก่อนตัดสินใจสั่งซื้อกลับบ้าน
พวกเราเข้าที่พัก รับประทานอาหารเย็น และพักผ่อนเพื่อร่วมการอบรมในเช้าวันอาทิตย์

ฉัน คนอื่น และ กระบวนการ
การอบรมครั้งนี้มีวิทยากรหลัก ๒ คน คือ คุณเอ๋ (ดร.พงษธร ตันติฤทธิ์ศักดิ์) และคุณกิ๊ก (อภิฤดี พานทอง) จากศูนย์ปลูกรัก ทั้งคู่อายุน่าจะไม่เกิน ๓๐ ต้นๆ คุณเอ๋เพิ่งจะจบด็อกเตอร์มาไม่กี่เดือน ส่วนคุณกิ๊กมีประสบการณ์จิตวิทยาที่ปรึกษามาพอสมควร ผู้เข้าอบรมส่วนใหญ่น่าจะอายุมากกว่าวิทยากรทั้งคู่ แต่ฉันคิดว่าวัยวุฒิไม่ใช่อุปสรรค เพราะสิ่งสำคัญที่ดึงดูดให้ผู้ที่มีทั้งวัยวุฒิ และประสบการณ์ตรงมารวมกันในทีนี้ คือความต้องการแสวงหาองค์ความรู้เพื่อพัฒนาตนเองและเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่เราจะให้ความช่วยเหลือมากที่สุด

เนื้อหาการอบรมประกอบไปด้วยการทำความเข้าใจ ๓ ฐาน คือ ฐานกาย ฐานใจ ฐานปัญญา (ซึ่งครูสมพรเทียบเคียงว่าก็คือ ไตรสิกขา ศีล สมาธิ ปัญญา นั่นเอง) ผ่านการทำกิจกรรมต่างๆ โดย ฐานกาย ใช้ชี่กง การผ่อนคลายกล้ามเนื้อทั่วร่างกาย หรือการผ่อนคลายอย่างสมบูรณ์ (total relaxation) ฐานใจ เปิดโอกาสให้ใช้เวลาอยู่กับตัวเอง ใคร่ครวญ หรือจับคู่กับเพื่อนผลัดกันเป็นผู้ฟัง ผู้พูด ตามโจทย์ที่ได้รับ ส่วนฐานปัญญาฝึกผ่านการเล่นเกมเป็นทีมเพื่อแก้ปริศนา (คล้ายๆ รายการโทรทัศน์อัจฉริยะข้ามคืน)
เนื้อหาที่สำคัญอีกส่วนหนึ่งที่วิทยากรพาเราทำความเข้าใจควบคู่กันไป คือ ๓ ทัศน์ คือ ทัศน์ของฉัน ทัศน์ของคนอื่น และ ทัศน์ของกระบวนการ ซึ่งล้วนดำเนินอยู่ในชีวิตของเราทุกคนอยู่แล้วตามธรรมชาติ
ซึ่งฉันขอเล่าสิ่งที่ฉันเรียนรู้ตัวเองผ่านการทำกิจกรรมต่างๆไล่เรียงตามลำดับดังนี้


· อยู่กับตัวเอง
วิทยากรให้แต่ละคนเดินไปรอบๆ ฝึกให้สังเกตร่างกายสื่อสารกับเราอย่างไร
ในช่วงแรกฉันเดินตามช่องสี่เหลี่ยมบนพื้นไปเรื่อยๆ และก็เปลี่ยนเป็นเดินทแยงบ้าง แต่สมองก็ยังสั่งอัตโนมัติให้เดินเป็นรูปแบบ ฉันพบว่าการอยู่กับตัวเองคนเดียว ฉันต้องใช้เวลาสักพักจึงจะค่อยๆ ปลดรูปแบบการเคลื่อนไหวที่สั่งการจากสมอง แต่เวลาที่ได้รับก็ยังไม่มากพอให้สื่อสารกับร่างกายได้ชัดเจนนัก จากนั้นวิทยากรให้จับกลุ่ม ๔ คน


· เช็คอิน
วิทยากรให้รวมกลุ่ม ๔ คน และให้ผลัดกันทีละคนพูดถึงสิ่งที่ค้างคาในใจ ความกังวลต่างๆ เพื่อปล่อยวางก่อนเริ่มการอบรม และขณะที่เพื่อนพูดอยู่ (ซึ่งเป็นกติกาตลอดการอบรมคือคนที่เหลือคือผู้ฟัง และให้สังเกตความรู้สึกตัวเอง (อยากพูดบ้าง อยากถาม อยากตอบโต้) โดยคนที่พูดแล้ว ต้องเว้นนั่งฟังเพื่อนไปอีก ๒ คน จึงจะพูดได้อีกครั้ง)


ฉันพูดคนแรก ปลดความกังวลเรื่องลูกที่ต้องไปภาคสนามช่วงเช้าฝากให้เพื่อนผู้ปกครองมารับ และลูกอีกคนต้องอยู่บ้านเองกับคุณยาย จะทำการบ้านหรือเปล่า เป็นแค่ความกังวลเล็กน้อยที่ฉันรู้สึกและพูดออกมาตามโจทย์ ในขณะที่ในกลุ่มอีก ๓ คน ฉันจำเรื่องของพี่น้ำเย็น (นักวิจัยอิสระ ประเมินโครงการต่างๆ) เล่าได้มากที่สุดเพราะพี่มีความกังวลเรื่องงานและรู้สึกเหนื่อยมาก รวมไปถึงปัญหาสุขภาพที่พี่น้ำเย็นเพิ่งพบว่าตัวเองเป็นมะเร็งในระยะแรกเริ่ม แต่ก็ยังวางงานในมือไม่ได้ต้องจัดการให้เสร็จก่อนจะเข้ารับการรักษา ฉันรู้สึกเห็นใจ และถามตัวเองว่าถ้าเป็นตัวเองจะเลือกอย่างพี่เขาไหม อีก๒คนในกลุ่มชื่อจอมเหมือนกัน คือจอมจากรุ่งอรุณ และ จอมจากคนใจดี (หน่วยงานของรัฐที่ตั้งขึ้นเพื่อประสานให้ฝ่ายที่ต้องการความช่วยเหลือและฝ่ายให้ความช่วยเหลือมาพบกัน) ทั้งคู่พูดเรื่องงานบางส่วน แต่ดูไม่ใช่ความกังวล เป็นเหมือนเรื่องเล่าเพื่อแนะนำตัวเองส่วนหนึ่ง


· ตามล่าหาคน...สุดๆ
จากกลุ่ม ๔ คน วิทยากรให้ทั้งหมดรวมกันเข้าสู่กิจกรรม “ตามล่าหาคนสุดๆ” ซึ่งมีทั้งหมด ๑๐ ประเภท อาทิ ตามล่าหาคนอายุมากที่สุด อายุน้อยที่สุด มีความสุขที่สุด สวยที่สุด หล่อที่สุด มีความรักสุดๆ มาไกลสุดๆ ท่องเที่ยวสุดๆ เป็นต้น เราทั้งหมดจึงต้องใช้เวลาแลกเปลี่ยนข้อมูลกับเพิ่มเติม มีการเสนอชื่อเพื่อนและให้ข้อมูลจากที่ฟังมาในกลุ่มย่อย และโหวตในบางหัวข้อ สุดท้ายแต่ละคนจะส่งรายชื่อเพื่อนที่เราเห็นว่าตรงสุดๆ กับหัวข้อนั้นๆ จากนั้นวิทยากรขอให้คนที่ลงคะแนนให้เหตุผลว่าทำไมเราจึงเลือกเพื่อนในหัวข้อนั้น โดยที่เราแลกเปลี่ยนกันเพียงหัวข้อ ใครบ้างานสุดๆ ก็หมดเวลาแล้ว ซึ่งคนที่ได้คะแนนสูงสุดคือ พี่น้ำเย็นนั่นเอง เมื่อพี่น้ำเย็นฟังเสียงสะท้อนจากคนที่ลงคะแนนให้แล้ว ก็บอกว่ารู้สึกไม่อยากได้ตำแหน่งนี้ และตัวเองก็ไม่รู้สึกว่าเป็นคนบ้างาน แต่การได้ฟังเสียงสะท้อนก็ทำให้จะกลับไปทบทวนว่าการพูด การกระทำ ที่ผ่านมาเป็นอย่างไร จึงทำให้คนเข้าใจอย่างนั้น ครูสมพรของเราก็เข้ารอบในหัวข้อบ้างานสุดๆ ด้วย มีคนให้คะแนนเพราะฟังเรื่องเล่าของครูสมพรมีความกังวลเพราะโทรศัพท์ตกน้ำ ทำให้ไม่สามารถติดต่อฝากชั้นเรียน(วันจันทร์) กับเพื่อนครูที่ห้องได้ (ภายหลังมีการสรุปคะแนนมาติดให้ดู แต่ไม่ได้แลกเปลี่ยน ครูปุ้ยเข้ารอบในเรื่องมีความรักสุดๆ เพราะทุกคนรู้ว่าปุ้ยจะแต่งงานในเดือนหน้า ส่วนฉันรู้สึกดีใจที่ได้คะแนนเรื่องเป็นคนมีความสุขสุดๆ แม้จะเพียง ๑คะแนนเสียง ซึ่งไม่รู้มาจากพวกเรากันเองหรือเปล่า)


· TRUST
จากกิจกรรมในช่วงเช้านี้ วิทยากรนำเข้าสู่เนื้อหา เรื่อง ทัศน์ของฉัน ทัศน์ของคนอื่น ซึ่งมีความแตกต่างกัน ซึ่งฉันเข้าใจว่าเราต้องรักษาสมดุล รู้จักเข้าใจตัวเอง มีความคิด ทัศนคติของตนเอง ที่มิได้อ่อนลู่ไปตามคำบอกเล่า ความคาดหวังของผู้อื่น แต่ขณะเดียวกันก็มิได้ยึดตนเองเป็นศูนย์กลางไม่ฟังใคร วิทยากรตั้งคำถามว่า ใครที่เรารู้สึกไว้ใจ เมื่อมีเรื่องที่อยากหาที่ปรึกษาเรานึกถึงใคร เขามีลักษณะอย่างไร (ฉันนึกถึงครูจิ๋ว ท่าทีที่สงบ รับฟัง ไม่ตัดสินความคิดคนอื่น) โดยวิทยากรนำพวกเราเข้าสู่ประเด็นสำคัญของการดูแลให้ความช่วยเหลืออาสาสมัครว่ามีหัวใจสำคัญ คือ ความไว้วางใจ (ศรัทธา) หรือ TRUST ซึ่งการจะสร้างความไว้วางใจวิทยากรแยกเป็นองค์ประกอบย่อย และผู้ร่วมอบรมช่วยกันระบุคุณสมบัติ ดังนี้


T = Tuning in
วิทยากรใช้คำว่า “ปรับคลื่นใจ” และเพื่อนๆ ช่วยกันระบุ ท่าทีที่เป็นมิตร พร้อมรับฟัง มีรอยยิ้ม ไม่เคร่งเครียด เป็นฝ่ายเปิดตัวเองก่อน ได้ยินสิ่งที่เพื่อนพูดจริงๆ ครูสมพรเสริมว่าคือมีจิตที่ว่าง พร้อมเปิดรับ ซึ่งฉันขอควบรวมว่า มีจิตเป็นกุศล ซึ่งจะส่งผลถึงท่าทีต่างๆ โดยธรรมชาติสามารถปรับคลื่นจูนติดได้ง่าย
แต่ตลอดกิจกรรม ๒ วัน ฉับพบว่าตัวเองใช้เวลามากกว่าคนอื่นๆ ในการที่เปิดตัวเองได้จริงๆ เหมือนกับเวลาลงพื้นที่ โดยเฉพาะกับบ้านที่มีข้อเรียกร้อง ฉันมักปิดเครื่องรับสัญญาณ


R= Respect
เห็นคุณค่าในความเป็นมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน มีความอดทนให้เวลาผู้พูดโดยเชื่อว่าเขาสามารถหาทางออกได้ด้วยตนเอง (แม้จะรู้สึกว่าตัวเองเข้าใจเรื่องนี้ดี แต่ต้องไม่เผลอเพราะฉันพร่องในข้อ S ด้านล่าง ซึ่งอาจส่งผลถึงข้อนี้)


U= Unconditional positive regard
การยอมรับอย่างไม่มีเงื่อนไข ซึ่งต้องละวางอคติ การตัดสินจากประสบการณ์เดิม ระบุให้ชัดคือ การอยู่กับปัจจุบัน ซึ่งวิทยากรให้คำจำกัดความภาวะของใจว่า เป็นใจที่ยืดหยุ่น พร้อมเรียนรู้ตลอดเวลา
ก่อนที่เราจะยอมรับผู้อื่นอย่างไม่มีเงื่อนไข ฉันคงต้องเริ่มต้นที่ละวางเงื่อนไขต่างๆ ที่วางให้ตัวเองลงก่อน


S= Suspension
คือการเปิดพื้นที่ให้คนอื่น โดยหยุดความคิดของเราเพื่อที่จะฟังผู้อื่นให้ได้ยินจริงๆ ซึ่งฉันคิดว่าคือ ตัวสตินั่นเอง หลายครั้งที่เหมือนว่าเราฟังอีกคนอยู่ แต่ที่จริงแล้วภายในกลับได้ยินแต่ความคิดของตัวเอง และที่สุด หากไม่มีสติรู้ตัวเราก็จะปล่อยปากให้ขยับไปตามความคิด


T= Truthfulness
จริงแท้ ซื่อสัตย์กับความรู้สึกของตนเอง และ ผู้อื่น ซึ่งวิทยากรกล่าวว่า หากความไว้วางใจเกิดขึ้นแล้ว เราในข้อนี้จะทำหน้าที่สะท้อนภาพ เป็นเหมือนกระจก สะท้อนความจริงกลับไปยังผู้ที่เราให้ความช่วยเหลือ
การมีจิตเป็นกุศล และ ฝึกฝนสติรู้ตัวเป็นต้นทุนที่สำคัญ ในขณะที่ TRUST ที่วิทยากรไล่เรียงให้เห็น เสมือนตัวเตือน (check lists) ที่เราควรนำมาทบทวนตัวเองอยู่เสมอ


· Total Relaxation
ทั้งหมดนอนลงกับพื้นมีหมอนคนละใบ เรากลับมาอยู่กับตัวเองอีกครั้งในกิจกรรมนี้ แต่ฉันไม่รู้สึกสงบนัก ไม่รู้เป็นเพราะลักษณะเพลงที่เปิดหรือเสียงวิทยากรที่ผ่านไมโครโฟนที่มีระดับเสียงไม่สม่ำเสมอ ทำให้รู้สึกเหมือนถูกกระตุกเป็นช่วงๆ


· Photo Reflection
มีภาพถ่ายวางอยู่บนพื้น วิทยากรให้เราเดินดูให้ทั่วๆ และเลือกภาพที่สามารถสื่อสารกับเราได้คนละ ๑ ภาพ ฉันไม่รีบร้อนนัก พบ ๒-๓ ภาพที่ชอบใจ ส่วนใหญ่เป็นภาพสถานที่ที่ดูสงบ เป็นที่ที่ฉันรู้สึกอยากเข้าไปอยู่ (comfort zone) ซึ่งเวลานึกภาพ ฉันนึกภาพตัวฉันคนเดียวอยู่ในสถานที่นั้น แต่ก็ไม่ได้ตัดสินใจหยิบขึ้นมาทันที เมื่อจะย้อนกลับไป ๒ ภาพนั้นมีคนหยิบไปเสียแล้ว ฉันจึงดูภาพที่เหลืออยู่ และเลือกภาพม้า ๒ ตัว ถ่ายระยะใกล้ตัวเล็กกว่าอิงหัวเข้าหาตัวใหญ่กว่า ทั้งคู่อยู่ในคอก เบื้องหลังเป็นท้องฟ้าสดใส
เมื่อเลือกได้แล้ว วิทยากรให้เราจับคู่คนที่เราอยากจะบอกความรู้สึกที่เรามีต่อภาพนี้ โดยผลัดกันเป็นผู้เล่า และ ผู้ฟัง (ฝึกใช้ TRUST) ฉันจับคู่กับจอม (ซึ่งเราจับคู่กันอีกในเกือบทุกกิจกรรมที่ต้องเปิดเผยตัวเอง กับคนที่เราไว้วางใจ) ฉันเล่าให้จอมฟังว่า แรกเลยอาจมองม้าสองตัวนี้แล้วคิดถึงลูก ครอบครัว แต่สิ่งที่ภาพนี้สื่อสารกับฉันคือมิตรภาพ และ แม้ม้ามิได้วิ่งอยู่อิสระอยู่ในทุ่งกว้าง แต่รู้สึกถึงความสุขที่มันมีกันและกัน ฉันดีใจที่ไม่ได้หยิบภาพสถานที่ที่ดูอบอุ่นปลอดภัย แต่เลือกหยิบภาพที่มีสัมพันธ์ของชีวิตนี้ขึ้นมาแทน
ในขณะที่จอมเลือกภาพตุ๊กตาหมีที่หลับตา มีน้ำตาไหล ๑ หยด ทั้งตัวเต็มไปด้วยผ้าพันแผล พื้นหลังเป็นสีดำ หากแต่มีกรอบล้อมรอบเป็นช่อดอกไม้ ฉันตั้งใจฟังจอมพูด จอมสละภาพที่ชอบให้ปุ้ยที่เดินมาดูพร้อมกัน จึงเหลือเพียงภาพนี้ และเพิ่งหยิบมาดูใกล้ๆ (ไม่ได้ใส่แว่นสายตา) ถึงพบรายละเอียดของภาพ ประโยคที่ฉันได้ยินแสดงตัวตนของจอมชัดเจนมาก “นี่ถ้าเจ้าหมีมันลืมตาขึ้น มันคงเห็นว่ารอบๆ ตัวมันไม่ได้มีแต่ความมืดมิด แต่ยังมีสีสันสวยงามของดอกไม้อยู่” จอมเป็นเช่นนี้เสมอ มองหาความงามของชีวิตได้ ในขณะที่ฉันมักมองไปที่ความมืดมิดก่อน


หลังจากได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ การฟัง ในวงใหญ่แล้ว วิทยากรให้เรามอบภาพที่เราเลือกเขียนความรู้สึกที่เกิดขึ้นขณะที่เพื่อนรับฟังเรื่องราวของเรา และมอบภาพพร้อมข้อความนั้นให้เพื่อน มีบางคนสะท้อนว่า ก่อนที่จะฟังเรื่องราวในภาพของเพื่อน มองไม่เห็นความงาม หรือ ไม่สามารถสื่อสารกับภาพนั้นเลย แต่เมื่อได้รับฟังมุมมองของเพื่อนที่มีต่อภาพนั้น และ บัดนั้นภาพนั้นได้กลายมาเป็นภาพของเรา และเรามองเห็นความงามของภาพนั้นได้ ฉันก็รู้สึกเช่นกัน หรือนี่คือพลังของการรับฟังแบบ TRUST


· เล่นเกมแก้ปริศนา “มันอยู่ที่ไหน”
เป็นกิจกรรมที่ฝึกฐานปัญญา วิทยากรให้เราแบ่งกลุ่ม ๔ คนอีกครั้ง แนะนำมาว่าควรแยกจากคนที่มาด้วยกัน ด้วยข้อสันนิษฐานว่า มาจากองค์กรเดียวกันมักคิดเหมือนกัน ไม่หลากหลาย การเล่นเกมนี้ต้องอาศัยวิธีคิดที่แตกต่างหลากหลายในการช่วยกันแก้ปริศนา
ฉันแยกจากจอม ครูสมพร และ ปุ้ย เกมนี้เป็นโจทย์ซ้อนโจทย์ มีตัวใบ้ให้หาคำใบ้ต่อๆ ไป กว่าจะพบประโยคที่ต้องตีความ เราต้องอาศัยทั้งการตีความปริศนา แอบฟังจากกลุ่มอื่นๆ บ้าง ต้องเดินหน้าหาโจทย์ที่เหลือไปเรื่อยๆ ทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่าที่หามาได้ เราได้แก้ปริศนาถูกหรือยัง ได้คำใบ้อะไรมาก็แก้เฉพาะหน้าไปก่อน สุดท้ายกลุ่มที่ชนะ (ปุ้ยอยู่ในกลุ่มนั้น) ได้คำ ๘ คำ มาเรียงกัน คือ “ยิ่งฉันหนี มันยิ่งวิ่งตาม” คำเฉลยคือ “เงา” ซึ่งวิทยากรจะขยายความเรื่องเงาในวันที่สองของการอบรม


กลุ่มที่ชนะเล่าว่า เขาแบ่งเป็นกลุ่มย่อยให้ช่วยกันหาปริศนา และมิได้ไขปริศนาในทุกๆ ข้อ แต่ลองนำคำมาเรียงเท่าที่มี ก็สามารถไขปริศนาหลักได้ ในขณะที่กลุ่มฉันไปไหนไปด้วยกันในช่วงแรก มาแยกกันช่วงหลัง (มิได้นัดหมาย) และพยายามไขปริศนาให้ครบทุกข้อ แต่เมื่อไม่สามารถไขบางคำได้ ทำให้ติดอยู่แค่นั้น
มีปริศนาข้อหนึ่งที่สะท้อนให้ฉันมองเห็นวิธีคิดซับซ้อนของตัวเอง คือ ฉันตีโจทย์ที่หนึ่งได้ว่าต้องไปเอาโจทย์ปัญหาที่สองจากวิทยากร วิทยากรมอบโจทย์ที่สองให้พร้อมกับ dictionary English-Thai ๑ เล่ม โจทย์สั้นๆ ว่า “อารมณ์ขัน สอบตก และโชคดี (เกี่ยวกับตัวเลข)” ฉันก็เปิดหาทั้ง ๓ คำ จาก dictionary และจดเลขหน้าไว้ ทั้ง ๓ คำ พบว่ามาจากเลขหน้าที่เป็นเลขคี่ ทั้งหมด ฉันคิดว่านี่คือคำตอบ “คี่ หรือ ขี้” แต่ปรากฏว่าคำตอบที่ถูกต้องคือ คำว่า “วิ่ง” ซึ่งอยู่ในหน้า ๕๐๙ (๕ มาจาก ๕๕๕ มีความสุข ๐ คือ สอบตก และ ๙ คือ โชคดี) ขำก็ขำ และบอกตัวเองว่า จะทะลุตัวเองควรมองสิ่งที่อยู่ตรงหน้าง่ายๆ บ้าง


· ชมภาพยนตร์ Dreamer
เป็นภาพยนตร์ความสัมพันธ์ในครอบครัว ที่วิทยากรต้องการนำเสนอเรื่อง TRUST ที่ตัวเอกของเรื่อง คือ ลูกสาว และ พ่อ มีต่อม้าแข่งตัวหนึ่ง ประเด็นที่ครูสมพรชี้ให้เห็นชัดเจนมาก ว่าในขณะที่ลูกสาว ไม่ติดกรอบประสบการณ์เดิมมีความกล้าและเชื่อมั่นในตัวม้า พ่อที่ติดกับประสบการณ์เดิม ความลังเล อคติ ทำให้ไม่กล้าก้าวข้ามความกลัว (กลัวแพ้ กลัวล้มเหลว ไม่กล้าเสี่ยง) สุดท้ายต้องเปิดใจตัวเองเรียนรู้จากลูก


· ชี่กง
คุณเอ๋นำฝึกเพื่อพัฒนาฐานกาย ฉันได้เรียนรู้ถึงการหายใจในระดับที่ ๓ คือ หายใจเข้าท้องแฟบ (ลมไปอยู่ที่หลัง) หายใจออกท้องป่อง ซึ่งเป็นการหายใจแบบเก็บพลัง (หายใจระดับที่ ๑ หายใจผ่านปอด หายใจระดับที่ ๒ หายใจด้วยท้อง หายใจเข้าท้องป่อง หายใจออกท้องแฟบ) และการฝึกให้ร่างกายได้จดจำการเคลื่อนไหว (ไม่ได้ใช้สมองจำ) ร่ายรำอย่างเป็นธรรมชาติ


· กระบวนการปฏิเสธ 1-2-3 (เงา)
ในชีวิตของเราแต่ละคน ตั้งแต่ช่วงที่ยังเป็นเด็ก มีข้อมูล ความรู้สึกหลากหลายที่เราเลือกที่จะรับหรือปฏิเสธ ทั้งๆ ที่ทั้งหมดคือ ตัวตน ของเราเอง กระบวนการที่วิทยากรยกเป็นตัวอย่าง คือ ๑.เป็นตัวฉัน ๒.แม่บอกซ้ำๆ ว่าฉันไม่ดี ฉันเริ่มแยกตัวตนออกมามี ฉันดี กับ ฉันไม่ดี
๓.การที่เป็นฉันดี คือ ต้องเชื่อฟังแม่ ซึ่งแม่บอกว่า ฉันไม่ดี ขั้นที่ ๓ นี้ ฉันปฏิเสธตัวตน “ฉันดี” แยกออกจากตัวฉัน และ ต่อต้าน คือ รู้สึกว่าฉันไม่เคยดีพอเลย ถ้าดีไม่ใช่ฉันแน่
และขั้นที่ ๓ นี้จึงเสมือนเรามีเงาที่ติดตามตัวเราไปตลอดเวลา

มนุษย์มีกลไกลการป้องกันตัวเอง ๓ ประเภท คือ
๑.โยนความผิดออกจากตัวเอง (โทษคนอื่น)
๒.เอาความผิดเข้าตัวเอง (โทษตัวเองว่าไม่ดี)
๓.ลังเล สับวน หาเหตุผลมาอ้างข้างๆ คูๆ

วิทยากรให้แต่ละคนอยู่กับตัวเองเพื่อระบุตัวอย่างประสบการณ์การถกเถียงภายในตัวเอง (มี ๒เสียงต่างให้เหตุผลในปัญหาที่เผชิญ และเสียงไหนชนะ) และให้เราลองดูว่ากลไกการปฏิเสธตัวเองของเรามักจะเป็นประเภทไหน

ฉันพบว่าฉันเป็นประเภทที่ ๑ เสียส่วนใหญ่ คือ พยายามให้ตัวเองเป็นคนดี และโทษคนอื่น หรือ เหตุผลข้างๆ คู มาอ้าง ยกตัวอย่าง เวลา ขับรถฉันมักคาดหวังให้คนอื่นขับดีๆ มีน้ำใจ ทำตามกฎจราจร ทำให้ต้องหงุดหงิดบ่อยๆ และฉันมักชอบโทษว่าถ้าเป็นผู้ชายขับรถ มักเห็นแก่ตัว เรื่องนี้ส่งผลเวลานั่งรถที่แฟนขับรถ ฉันก็มักรู้สึกอย่างนี้ นึกย้อนไปต้องแต่เล็กๆ พ่อของฉันมักว่าคนขับรถที่ไม่ถูกใจเช่นกัน และมักบอกว่า ผู้หญิงมักขับรถอย่างนี้ ฉันจึงพยายามขับรถให้คล่องแคล่วเหมือนผู้ชาย (เพื่อไม่ให้ถูกว่าว่าเพราะเป็นผู้หญิง) ในขณะเดียวกันเวลาที่ฉันขับรถไม่ดีก็จะมีข้ออ้างสารพัด เพราะรีบ แค่หนนี้ครั้งเดียว ฯลฯ เรื่องนี้นอกจากจะโทษพ่อแล้ว ยังโทษผู้ชายทั่วไปอีกด้วย (รู้สึกน่ากลัวจัง)


· กระบวนการยอมรับ 3-2-1
วิทยากรต้องการให้เราเข้าใจกระบวนการปฏิเสธตนเอง เพื่อให้เราเข้าใจว่าทุกๆ คนเป็นเหมือนกัน และหากเรารู้ตัว เข้าใจแล้ว เมื่อเรารับฟัง สื่อสารกับผู้อื่น เราก็อาจเห็นกระบวนการปฏิเสธตนเองในคนอื่นๆ เช่นกัน เราจึงควรเข้าใจ เปิดใจยอมรับผู้อื่น โดยเริ่มจากการยอมรับตัวตนที่เราปฏิเสธแยกออกไปก่อน ว่าเงานั้นคือ ตัวของเราเอง


ฝึกกระบวนการยอมรับผ่านการจับคู่อีกครั้ง โดยผลัดกันเล่าเรื่องราวที่เราค้นพบกระบวนการที่เราปฏิเสธ ปกป้องตนเอง โดยอีกฝ่ายจะทำหน้าที่รับฟังโดยใช้ TRUST ตลอดกระบวนการ ฉับพบว่าตัวเองสามารถระบุการปกป้องตนเองได้ ตามเรื่องราวข้างบน เมื่อเรียบเรียงให้ตัวเองเข้าใจได้ ฉันรู้สึกผ่อนคลายตัวเองลง จอมที่เป็นผู้รับฟังทำหน้าที่สุดท้ายคือสะท้อนความจริงให้ฉันรับรู้คือ ไม่ว่าใครก็ขับรถแย่ๆ ได้ ฉันไม่จำเป็นที่ต้องส่งต่อความคิดนี้ไปยังลูกๆ ของฉัน เหมือนที่ฉันรับความรู้สึกนี้มาจากพ่อ เมื่อแยกแยะได้ ฉันไม่ต้องโทษพ่อ หรือ ผู้ชาย แต่ยอมรับความไม่ดีที่ฉันแยกออกไปเพราะนั่นคือส่วนหนึ่งของตัวฉันเอง เมื่อเข้าใจตัวเองแล้ว ก็ตระหนักรู้เปิดโอกาสให้ตัวเองพัฒนาปรับปรุงตัวต่อไป


· ประมวลความรู้และพันธะสัญญา
ฉันระบุสิ่งตัวเองได้เรียนรู้และตั้งใจจะพัฒนาปรับปรุงต่อไป โดยเฉพาะเรื่อง TRUST ซึ่งคงมิได้นำมาใช้เฉพาะในงานจิตอาสาเท่านั้น แต่จะเป็นประโยชน์ทุกวันในชีวิตของเรา
สิ่งหนึ่งที่ถือเป็นกำไรจากการเข้าอบรมครั้งนี้ คือ นอกจากจะได้รับรู้ประสบการณ์งานอาสาสมัครจากเพื่อนใหม่ๆ แล้ว ฉันยังได้เรียนรู้จากคนที่ฉันคิดว่ารู้จักอยู่แล้วมากขึ้น
ฉันเข้าใจแล้วว่าทำไมจอมถึงเข้าชุมชนได้ดี เพราะเขาเป็นผู้ที่รับฟังที่ไม่แทรกแซง สะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา


ปุ้ยเองก็เปิดความรู้สึกของตัวเองมากขึ้นกับฉัน จากที่ทำงานร่วมกันมาตลอด ปุ้ยไม่เคยให้ความเห็นส่วนตัวว่า บ้านหลังไหนควรช่วยมากกว่าบ้านไหน รายงานแต่ข้อมูลทั่วไป ขากลับปุ้ยเริ่มเปิดความรู้สึกส่วนตัวว่าเขารู้สึกอย่างไรกับบางบ้าน ซึ่งฉันก็รับฟังอย่างมิได้ตัดสินใดๆ ให้เกียรติกับสิ่งที่น้องรู้สึก


ฉันประทับใจในตัวครูสมพร สามารถพูดได้อย่างภูมิใจว่าคนนี้เป็นครูรุ่งอรุณ ในวงที่แบ่งปันประสบการณ์ ครูสมพรมิได้อวดอ้างในงานที่ทำ หากแต่จะรู้จังหวะที่เหมาะสม เล่าประสบการณ์ และแลกเปลี่ยนประเด็นที่เป็นประโยชน์กับวงสนทนารวม

ฉันเดินทางกลับบ้านด้วยความรู้สึกที่ดี การพบปะแลกเปลี่ยนทั้งความรู้ ประสบการณ์ รวมถึงทัศนคติเชิงบวก ของอาสาสมัครในครั้งนี้ ถือเป็นการถ่ายเทพลังให้กัน และมั่นใจว่าพลังบวกนี้จะขยายผลส่งต่อไปยังคนรอบข้างของพวกเราแน่นอน.

เรื่องเล่าของครูอ้อ

๑.
ฉันยังจำได้ว่า สมัยเด็กๆ ที่หน้าบ้านมักจะมีคนที่จนกว่าเราเดินเท้าเปล่าเอาไข่มาแลกกับเสื้อผ้า
จำได้ว่าเคยถามแม่ ว่าเราจะช่วยดูแลคนแก่ และเลี้ยงสุนัขจรจัดที่บ้านได้ไหม ยังจำได้แม่นว่าเคยมีผู้ชายคนหนึ่งมานั่งแอบอยู่ที่ตุ่มน้ำหลังบ้าน ข้างๆ ตัวเขามีมีดปลายแหลมเก่าๆ เขาขอเสื้อผ้าสำหรับเปลี่ยน แม่ขึ้นไปเอาเสื้อของพ่อมาให้โดยไม่ถามอะไร พอเขาเปลี่ยนเสร็จก็รีบออกจากบ้านของเราไป ทิ้งมีดเล่มนั้นไว้ด้วย และความฝันในวัยเด็กของฉันอย่างหนึ่งที่แจ่มชัดคือ ฝันว่าตัวเองถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ ๑ (ทั้งๆที่ไม่เคยซื้อ) เพราะฉันคิดว่าถ้ามีเงินเยอะๆ ฉันน่าจะทำอะไรได้มากมาย
สมัยเรียนในมหาวิทยาลัยกิจกรรมหนึ่งที่ได้ฉันรู้สึกสะดุดและสนใจแต่ไม่เคยมีโอกาสทำเลยสักครั้งคือ ชมรมค่ายอาสาพัฒนาชนบท ด้วยกิจกรรมที่ทางบ้านอนุญาตให้ฉันทำได้ต้องอยู่ในกรุงเทพเท่านั้น ทำให้ตลอดชีวิต ๔ปีในมหาวิทยาลัยของฉันเต็มไปด้วยกิจกรรมบันเทิงเริงใจ ไม่ว่าจะเป็นงานเชียร์กีฬา จัดละคร หาสปอนเซอร์ ขายของออกร้าน แนะนำสินค้า ฯลฯ เรียกว่าประวัติการทำกิจกรรมระหว่างเรียนทำให้ฉันสามารถหางานด้านการตลาดในบริษัทชั้นนำได้ไม่ยากนัก แต่สิ่งที่เคยสะดุดใจนั้นยังคงอยู่
เวลาผ่านไป ฉันเติบโตขึ้นมากับงานที่ต้องสร้างยอดขาย ปรุงแต่งภาพลักษณ์ของสินค้าให้ดูดี จัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อดึงดูดใจลูกค้า สมัยที่เศรษฐกิจเฟื่องฟูราวฟองสบู่หลากสี การยื่นข้อเสนอเพิ่มเงินเดือนกระโดดเป็นสองสามเท่า ด้วยตัวเลขห้าหกหลักเป็นเรื่องธรรมดาในธุรกิจการตลาดหรือโฆษณา ๕-๖ปีการทำงานของฉันผ่านไปอย่างน่าตื่นเต้น สิ้นปีได้โบนัสก้อนโต ปีนี้ผ่อนรถแล้ว ปีหน้าต้องซื้อคอนโดฯ เต็มเปี่ยมไปด้วยความมั่นใจว่าฉันสามารถก้าวสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้นไม่ยาก ฉันไม่เคยหวังรวยจากลอตเตอรี่อีก พร้อมๆ กับภาพคนแก่ สุนัขริมถนน ชายจรจัด หรือโรงเรียนในชนบท ก็เลือนลางเต็มที
โชคดีที่โลกไม่เหวี่ยงฉันเร็วไปกว่านี้ จังหวะชีวิตของฉันช้าลงได้เพราะฉันเริ่มบทบาทใหม่คือการเป็น “แม่” และคงเป็นเพราะสะสมบุญเก่ามาระดับหนึ่งทำให้ฉันได้เริ่มต้นการเป็นแม่ที่รุ่งอรุณ ที่พูดเช่นนี้ไม่ได้ยกยอโรงเรียนจนเกินความจริง เพราะจากวิถีชีวิตที่ก้าวถลำตามกระแสฉันมีภาพ “แม่สำเร็จรูป” อยู่ในใจแล้ว แน่นอนลูกฉันต้องมีพี่เลี้ยง และฉันจะเพียงลาพักงานชั่วคราวเพื่อกลับไปเป็นคุณแม่ยังสาว นักทำงานในเร็ววัน ลูกๆ จะสามารถเติบโตได้จากการดูแลของพี่เลี้ยง คนขับรถ และการเรียนพิเศษอย่างที่ฉันโตมา ฉันไม่เคยมีความคิดเลยว่าการเป็น แม่ คืออาชีพที่สำคัญที่สุดของมนุษย์ผู้หญิง จนกระทั่งเด็กชายตัวเล็กๆ ที่ฉันคลอดออกมาต้องการเวลาคุณภาพและการดูแลเป็นพิเศษ นั่นคือจุดเริ่มต้นที่หยุดฉัน
ขณะที่ฉันก้าวออกจากวงจรชีวิตเดิม หันกลับมาใช้เวลาคุณภาพกับลูกๆ และมองหาพื้นที่ ที่เปิดโอกาสให้มนุษย์ตัวเล็กๆได้พัฒนาศักยภาพของเขาที่อาจต้องใช้เวลามากกว่าปกติ ฉันพบโรงเรียนรุ่งอรุณ ที่ซึ่งเชื่อมั่นในศักยภาพของมนุษย์ทุกคนว่าสามารถพัฒนาตนเองผ่านการเรียนรู้ตลอดชีวิต จากวันนั้นถึงวันนี้เป็นเวลา ๗ ปี และแม้ฉันจะเริ่มต้นที่รุ่งอรุณเพราะต้องการสิ่งที่ดีที่สุดให้ลูก หากแต่ฉันกลับได้รู้จักตัวเองมากขึ้นที่นี่เช่นกัน

๒.
ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๗ เหตุการณ์ธรณีพิบัติ(สึนามิ) เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย พร้อมๆ กับอาสาสมัครในรูปแบบต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง ก่อเป็นกระแสถาโถมในปี ๒๕๔๘ อยู่พักใหญ่
ขณะนั้นฉันเพิ่งเริ่มทำงานฝ่ายประชาสัมพันธ์ที่รุ่งอรุณได้ไม่นานนัก ในการประชุมรวมของคณะคุณครูและเจ้าหน้าที่ก่อนเปิดเทอมที่ ๓ สึนามิ กลายเป็นวาระหลักที่ทุกคนต่างมีความรู้สึกร่วมกันเป็นหนึ่ง คือ เราจะให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างไร ในขณะที่คณะครูและเจ้าหน้าที่กลุ่มแรกลงไปสำรวจพื้นที่ประสบภัย ฉันได้ประกาศรับของบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย ยังจำได้ว่าตอนที่
อ.ประภาภัทรเปรยว่าอย่าเพิ่งประกาศรับของบริจาคนั้น ปรากฏว่าหน้าห้องทำงานของฉันมีภูเขาเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วหลายลูก ข้าวของสารพัดอย่างกองเต็มไปหมดเสียแล้ว อันที่จริงก็เป็นเรื่องพอเข้าใจได้ว่าคนเมืองอย่างเราๆ นั้นเมื่อเห็นภาพที่ปรากฏในโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ ว่าพื้นที่ประสบภัยนั้นไม่เหลืออะไรเลย ของบริจาคจึงมีตั้งแต่บะหมี่สำเร็จรูป จานชาม รองเท้า เสื้อผ้า เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน กระทั่งชุดน้ำชาอย่างดี ฯลฯ
และในการลงพื้นที่ครั้งแรกของฉันที่ศูนย์ดูแลผู้ประสบภัยบ้านทุ่งละออง จ.พังงา ฉันพบทั้ง “ภูเขาและทะเล...เสื้อผ้า” ฉันรู้สึกอึ้งไปพักใหญ่ก่อนที่จะลงไปช่วยเพื่อนๆ จัดหมวดหมู่ประเภทของเสื้อผ้า เราผลัดกันดึงเสื้อผ้าบางชิ้นมาชูให้กันดู บ้างก็เป็นเสื้อฉลุแบบมองทะลุเนื้อใน บ้างก็เป็นกางเกงแฟชั่นอย่างเก๋ไก๋ และมีหลายชิ้นที่ควรนำไปเป็นผ้าขี้ริ้ว หรือลงไปอยู่ในถังขยะพิษ ชาวบ้านที่อยู่กับทะเลพยายามมาขุด คุ้ย หาเสื้อผ้าเนื้อเบา แห้งไว คอกระเช้า ผ้าถุง กางเกงเล คือสิ่งที่เขาต้องการ น้ำใจของคนไทยนั้นมหาศาลและขจรขจายไปทั่วโลกจากเหตุการณ์นี้ แต่ฉันได้บทเรียนที่๑ ว่าการให้ที่ประณีตนั้นเป็นเช่นไร ย่อมไม่ใช่การโละของไม่ใช้แล้วในบ้าน ย่อมไม่ใช่แค่การหยิบยื่นของที่เราคิดว่าดี แต่ผู้รับไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์อันใดได้
ระหว่างเส้นทางไปกลับ รุ่งอรุณ - เกาะพระทอง จ.พังงา - เกาะหน้าใน จ.ระนอง - เกาะลันตา
จ.กระบี่ ของชาวรุ่งอรุณมากหน้าหลายตาที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปเป็นครูอาสา ไปทำงานก่อสร้าง ไปให้กำลังใจ งานของฉันคือการรวบรวมเรื่องราวจากอาสาสมัคร ถ่ายเท ส่งต่อ การเรียนรู้ของพวกเขาไปยังคนอื่นๆ ภายในชุมชนรุ่งอรุณ และสิ่งที่ฉันได้ยินจากอาสาสมัครบ่อยที่สุดคือ พวกเขาเรียนรู้ว่า เครื่องมือช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ดีที่สุด ไม่ใช่เงิน ไม่ใช่บ้าน ไม่ใช่เรือ สิ่งเหล่านี้ต่างนำมาซึ่งความขัดแย้งแคลงใจกันของชาวบ้าน หากแต่สิ่งที่อาสาสมัครทุกคนสามารถทำให้ผู้ประสบภัยได้คือ การรับฟัง ความทุกข์ใจ ปัญหาที่รุมเร้า ความกังวลอนาคตที่ยังมองไม่เห็น โดยผู้ฟังไม่จำเป็นต้องหาทางแก้ปัญหาเบ็ดเสร็จไปมอบให้ หากแต่การฟังอย่างละเอียด ตั้งคำถามเพื่อช่วยเรียบเรียงความคิด และการให้กำลังใจ สามารถพาให้เจ้าของความทุกข์นั้นผ่อนคลายลงพอที่จะมองเห็นคำตอบของตัวเองได้
การทำงานจิตอาสาต่อเนื่องตลอดทั้งปีของชาวรุ่งอรุณเข้มแข็งในระดับหนึ่ง ก่อให้เกิดเครือข่ายคนทำงานทั้ง คุณครู เจ้าหน้าที่ ผู้ปกครอง รวมทั้งนักเรียนหลายระดับ อย่างไรก็ตามการทำงานและการเรียนรู้ครั้งนี้ของฉันยังยืนอยู่บนจุดของผู้สังเกตการณ์เป็นส่วนใหญ่
๓.
ตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๙ อุทกภัยในหลายจังหวัดที่เป็นทางผ่านน้ำยังไม่มีทีท่าจะคลี่คลาย ทั้งที่เป็นปลายฝนแล้ว แต่คนไทยยังต้องระทึกใจทุกครั้งที่ฝนตก และภาวนาขอให้พายุลูกแล้วลูกเล่าอย่าถล่มซ้ำเติมอีก ภาพที่เห็นจากสื่อต่างๆ คือระดับน้ำที่ท่วมสูงกว่าปกติ ระยะเวลาที่ท่วมขังนานกว่าทุกครั้ง ผู้คนต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบากถูกตัดขาดอยู่ท่ามกลางทุ่งน้ำ บ้างอยู่บนหลังคา อีกมากต้องอพยพมาอาศัยอยู่ในเต็นท์ริมถนน พวกเขาเหล่านี้จะด้วยความยินยอมหรือไม่ก็ตาม คือผู้ต้องรับปริมาณน้ำที่ไหล่บ่าเอาไว้ เพื่อมิให้ จ.กรุงเทพฯได้รับความเสียหายจากอุทกภัยครั้งนี้
คุณครูเอก ครูผู้สืบสานภูมิปัญญาไทยและนำนักเรียนกระบี่ กระบอง มวยไทย เดินสายแสดงในหลายจังหวัด ปรารภขึ้นในวงประชุมว่านักเรียนของเราน่าจะใช้โอกาสนี้ นำความสามารถที่มีอยู่ระดมทุนเพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย บรรยากาศของการร่วมแรงร่วมใจจัดงาน รุ่งอรุณรวมน้ำใจช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ครั้งที่ ๑ จึงก่อตัวขึ้น ซึ่งได้รับการสนับสนุนทั้งกิจกรรม และ เงินบริจาคมากมาย
ครั้งนี้ก็เช่นกันที่ อ.ประภาภัทร ปรารภขึ้นว่าแม้การหาเงินเพื่อไปช่วยเหลือจะเป็นกระแสความเมตตาที่เกิดขึ้นในชุมชน หากแต่ยังมิใช่การทำบุญที่ถึงพร้อม ควรที่คณะทำงานผู้ริเริ่มจะช่วยกันสร้างวัฒนธรรมเมตตาด้วยปัญญาผ่านการทำงานด้วยสองมือของอาสาสมัครเอง
พร้อมๆ กับการอาสาของเพื่อนๆ ซึ่งส่วนใหญ่มีประสบการณ์ในงานอาสาสมัครช่วงสึนามิมาแล้ว ฉันรับอาสาจัดการเรื่องข้อมูล และการประสานงาน ขณะนั้นพื้นที่ที่จมน้ำอยู่ในช่วงนั้นมีหลายจังหวัด แต่พวกเราเริ่มต้นสำรวจที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ด้วยเหตุผลหลักคือ งานจิตอาสารุ่งอรุณมีเป้าหมายให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง มิได้ไปเพื่อแจกของแล้วกลับ จึงควรเป็นพื้นที่ที่เราเดินทางไป กลับ ได้ไม่ยากนัก ประกอบกับเรามีคุณครูเปิ้ล ฝ่ายทะเบียนและประเมินผล เป็นคนในพื้นที่ผู้ให้ข้อมูลความเดือดร้อนในเบื้องต้นได้
การทำงานช่วงสัปดาห์แรกเป็นงานสำรวจเพื่อให้ได้ข้อมูลความจำเป็นเร่งด่วน ความเดือดร้อนของแต่ละบ้าน ซึ่งพวกเราต่างต้องเป็นหลักให้กันและกันเพราะจะมีคำถามทั้งจากคนในพื้นที่ และ อาสาสมัครที่เวียนกันลงไปช่วยงานว่า เราเอาอะไรมาวัดว่าจะให้ความช่วยเหลือบ้านใด เพราะทุกบ้านต่างก็ได้รับความเดือดร้อนจากน้ำท่วมทั้งสิ้น ด้วยทรัพยากรอันจำกัดของเราหากจะจัดถุงยังชีพแจกจ่ายไปทั่วทุกหลังคา เราก็คงเสร็จภารกิจในเวลาอันรวดเร็ว แต่สภาพจริงที่เราลงไปเห็น ถุงยังชีพจากทั้งภาครัฐ เอกชน ถูกวางกองอยู่ในเต็นท์อำนวยการจำนวนมาก แต่ผู้ที่มารับ บางคนที่บ้านก็มีอยู่แล้วหลายถุงแต่เขาไม่อาจแน่ใจว่าระดับน้ำจะท่วมขังอีกยาวนานแค่ไหน ใครเอาของมาให้ก็อยากรับไว้ก่อน และไม่ใช่ทุกหลังคาเรือนจะสามารถเดินทางมารับความช่วยเหลือได้ บ้านบางหลังถูกตัดขาดด้วยกระแสน้ำ บางหลังมีแต่คนแก่ คนพิการ ช่วยตัวเองได้เพียงดื่ม ใช้น้ำที่ท่วมขังรอบๆ บ้าน ดังนั้นเป้าหมายหลักของเราจึงมุ่งให้ความช่วยเหลือผู้ที่ไม่มีกำลังในการช่วยเหลือตัวเองเป็นอันดับแรก อันได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้เจ็บป่วย ซึ่งส่วนใหญ่มีฐานะยากจนเป็นทุนเดิม ซึ่งก็มิได้ไล่ตามทะเบียนบ้าน แต่ธรรมะจัดสรรให้เราได้พบกัน
๔.
การที่เราตั้งต้นว่าจะลงไปช่วยชาวบ้านที่ถูกน้ำท่วมทำให้ในช่วงแรกเรามุ่งให้ความช่วยเหลือเฉพาะหน้า เช่น การจัดถุงยังชีพ ซึ่งจากการสำรวจหาข้อมูลเชิงลึกในแต่ละหลังทำให้เราจัดถุงยังชีพในการลงพื้นที่แต่ละครั้งเฉพาะเจาะจงมากขึ้น เช่น แม้ทุกถุงจะมีข้าวสารและน้ำดื่ม แต่จะไม่มีบะหมี่สำเร็จรูปและเครื่องกระป๋อง เพราะชาวบ้านได้รับบริจาคและต้องกินกันจนเบื่อ ทั้งๆ ที่สารอาหารก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย เราแวะซื้อผักสด ผลไม้ ไข่สด เพราะหลายหลังยกเตาหนีน้ำทัน ทำอาหารปรุงสุกได้แต่ออกไปตลาดไม่ได้ สำหรับผู้สูงอายุเราจัดน้ำพริก ไข่เค็ม และอาหารที่อยู่ได้หลายวัน ซึ่งเราจะลงไปเพิ่มเติมให้ในการเยี่ยมครั้งต่อไป ของที่ต้องจัดพิเศษก็มีอยู่หลายหลัง เช่น อุปกรณ์ทำแผล ยาลม ยามดม ยาหอม ยาทาน้ำกัดเท้า ยาทาคลายกล้ามเนื้อ ยากันยุง เลยไปถึง การจัดที่นอน หมอน มุ้ง ลงไปให้ในบางหลัง
การส่งต่อข้อมูลเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้อาสาสมัครสามารถปะติดปะต่อเพื่อให้การช่วยเหลือทันสถานการณ์ในการลงพื้นที่แต่ละครั้ง เช่น การจัดปริมาณน้ำดื่มตามจำนวนคนในบ้าน การจัดเตรียมยารักษาโรคที่มากับน้ำ รวมทั้งยาเฉพาะโรคสำหรับบางหลัง ซึ่งการขออาสาสมัครแพทย์ พยาบาล บุคลากรทางสาธารณสุข ซึ่งเป็นผู้ปกครองในโรงเรียน ก็เป็นทางหนึ่งที่ทำให้เราได้รับรู้ถึงความเจ็บป่วย และ วิธีการช่วยเหลือที่เหมาะสม
ระหว่างที่เรามุ่งให้ความช่วยเหลือเฉพาะหน้า เราพบปัญหาเชิงคุณภาพชีวิตมากมายที่จะคงอยู่ต่อไปแม้น้ำแห้ง ทั้งความเจ็บป่วย ความพิการ ความยากจน อุทกภัยครั้งนี้เสมือนแว่นขยายทำให้ปัญหาที่ย่ำแย่อยู่แล้ว หนักขึ้น ชัดเจนขึ้น
อ.ประภาภัทร ได้ตั้งคำถามสำคัญกับคณะทำงานอีกครั้งว่า หากปัญหาที่เราพบเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับพ่อแม่ของเรา เราจะดูแลท่านอย่างไร และถ้าเราไม่ช่วย ไม่ลงมือทำ จะมีใครทำไหม
ในช่วงเวลานั้น เรารู้วิธีการหาข้อมูลด้วยการฟังอย่างละเอียด การสังเกต ซักถาม ทำให้เรารับรู้ว่าปัญหาของพวกเขาคืออะไร จากคำถามของอ.ประภาภัทร ทำให้เรามองเห็นหัวใจสำคัญของการทำงานจิตอาสารุ่งอรุณ ว่า ไม่ได้อยู่ที่ว่าเรามีเงินเหลืออีกเท่าไร หรือ คอยตั้งคำถามว่าทำไมหน่วยงานของรัฐไม่จัดการเรื่องเหล่านี้ แต่เป็นงานตรงหน้า ที่เราสามารถทำได้ด้วยสองมือของเราเอง เมื่อพบคุณตาป่วยไม่สามารถไปโรงพยาบาลได้เอง เราพาไป พบหมอแล้วคุณยายเกรงใจไม่กล้าถาม เราพูดคุยกับหมอในฐานะลูกหลานเพื่อจะได้ดูแล พารักษาได้ถูกต้อง พบบ้านคุณลุงไร้คนช่วยปัดกวาด เราช่วยจัดเก็บ คุณป้าไม่มีเพื่อนคุยถูกลูกหลานทอดทิ้ง เราดูแลจัดสำรับข้าวมานั่งล้อมวงทานเป็นเพื่อน คุณตาเป็นภูมิแพ้ เสื้อผ้า เครื่องนอนมีแต่ฝุ่น เราพาอาบน้ำ ซักเสื้อผ้า ทำความสะอาดบ้านให้ ฯลฯ ซึ่งไม่ได้ใช้เงินอะไรมากไปกว่าค่าน้ำมันใส่รถตู้ที่พาเราไป และ ค่าอาหารกลางวันที่เราต้องใช้อยู่แล้ว เพียงแต่เราได้ช่วยกันทำให้อาหารมื้อนั้นมีคุณค่ามากขึ้น คือเป็นอาหารใจให้คุณตาคุณยาย
แม้สิ่งที่เราทำนั้นจะเป็นเรื่องพื้นๆ ง่ายๆ แต่เรารู้สึกว่าได้ใส่ชีวิตจิตใจลงไปในงานอาสาสมัคร

๕.
ตลอดระยะเวลา ๕ เดือน ที่ฉันประสานงานทั้งด้านข้อมูล ผู้คน ลงพื้นที่ด้วยตัวเอง จัดหากำลังคน ประชุมครั้งแล้วครั้งเล่า ฟังเรื่องราวจากอาสาสมัคร รับโทรศัพท์จากคุณลุงคุณป้าในพื้นที่ เจ้าหน้าที่ของรัฐ ประมวลสถานการณ์เขียนรายงาน สัมภาษณ์ อ่านบทความถอดการเรียนรู้ทั้งนักเรียน คุณครู เจ้าหน้าที่
ฉันมองเห็นบางอย่างแตกต่างไปจากเดิม
เงินเพียง ๑๖๐บาท ที่โรงเรียนวัดหนองปลาหมอสามารถนำมาทำเป็นอาหารกลางวันเลี้ยงนักเรียน ๓๕ คน ครู ๓ คน เท่ากับ ๓๘ คนได้ ในขณะที่อาจไม่พอจ่ายสำหรับอาหารบางมื้อของครอบครัวฉันเพียง ๕ คน เรากำลังเสพบริโภคอะไรกันแน่ คุณค่าทางอาหาร หรือ ความหรูหราฟุ่มเฟือย
ฉันพบคนแก่ถูกทอดทิ้งมากมาย และส่วนใหญ่มีปัญหาสุขภาพทั้งกายและจิตใจ แน่นอนเมื่อสอบถามถึงลูกๆ คนเป็นพ่อแม่จะเข้าใจให้อภัย และแก้ตัวให้ว่า เขามีการงาน ภาระชีวิตครอบครัวส่วนตัว ทำให้ไม่มีเวลา แม้ตนเองไม่สบายก็ต้องรอจนกว่าลูกจะว่าง หรือเห็นความสำคัญ ซึ่งบางครั้งวันนั้นก็มาไม่ถึง หรือ สายเกินไป แม้คุณแม่จะอยู่กับฉัน แต่ฉันยังต้องกลับมาทบทวนตัวเองว่าได้ดูแลท่านอย่างดี ทั้ง ทางสุขภาพกาย สุขภาพใจแล้วหรือยัง และไม่ลืมว่าลูกๆ ของฉันเองควรได้รับโอกาสในการดูแลคุณปู่คุณย่าและคุณยายมากขึ้น
ครั้งแรกที่รู้ว่าต้องพาคนป่วยไปโรงพยาบาลของรัฐในพื้นที่ ฉันเตรียมใจ (ตั้งท่า) ว่าต้องไปพบความหนาแน่นของผู้ป่วย และความเฉยชาของเจ้าหน้าที่ แต่ที่โรงพยาบาลเสนา จ.พระนครศรีอยุธยา แม้คนไข้จะรอคิวจำนวนมาก แต่พยาบาลและบุคลากรใส่ใจกับความเจ็บป่วยของคนไข้ ในขณะที่พวกเขาตั้งคำถามว่าเรามาจากมูลนิธิอะไร ทำไมคนกรุงเทพฯ ถึงพาคนแก่แถวนี้มาโรงพยาบาล ฉันก็พบคำตอบว่า รัฐ หรือ เอกชน ไม่ใช่ปัจจัยตัดสิน ความเมตตา กรุณา พื้นฐานสำคัญของคนไทยมีอยู่ในทุกๆ ที่ อยู่ที่ตัวเราเองจะมองเห็นหรือไม่ อย่าปล่อยให้อคติครอบงำ หรือ เหมารวม
คนส่วนใหญ่ (รวมฉันด้วย) มองว่าเงินเท่านั้นที่จะแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว ฉะนั้นบางคนจึงอดไม่ได้ที่จะปันเงินส่วนตัวให้คุณป้าหลังนั้น คุณยายหลังนี้ ด้วยสงสารตามเรื่องราวที่ได้ฟัง แต่ฉันก็ได้รู้ว่า เงินไม่สามารถทำให้ความทุกข์ที่แท้จริงของเขาเหล่านั้นหายไป เงินหมดก็ทุกข์อีก บางครั้งแม้มีเงินอยู่ในมือ หน้าของป้าก็ยังทุกข์เหมือนเดิม และที่แย่ที่สุดก็คือ เงินที่เราให้ไปนึกว่าได้บุญกลับสร้างกรรมใหม่ให้ผู้รับ เช่น ความขัดแย้งในครอบครัว ญาติ เจ้าหนี้ เพื่อนบ้าน หรือ อบต. ความเชื่อที่ว่าเงินน่าจะช่วยให้ทุกอย่างดีขึ้นจึงไม่จริงสำหรับฉันอีกต่อไป เราต้องฝึกใช้ปัญญามากขึ้นต่างหาก
ฉันได้เรียนรู้จากงานจิตอาสาว่า เมื่อทุกคนอาสามาทำงานด้วยใจ ความคาดหวัง ไปถึงการคาดคั้น
ระหว่างคนทำงานนั้นน้อยมาก ทำให้เรามีความสุขในการทำงาน แต่บางครั้งฉันก็อดเผลอไม่ได้ที่หมายจะเอางานสำเร็จและสมบูรณ์ เมื่อฉันได้พูดคุยและช่วยพิมพ์บทความของคุณครูตู่ ที่กล่าวถึงทัศนะของพี่ขอดในการทำงานก่อสร้างซ่อมแซมบ้านว่า “ไม่สามารถวางแผนล่วงหน้าแบบเสร็จสรรพได้ ต้องไปปรับเอาตามหน้างานจริง และแม้จะเตรียมการไปอย่างดีวัสดุอุปกรณ์ที่ซื้อมาก็ยังมีคุณภาพมาตรฐานแตกต่างกัน” พี่ขอดสอนให้ฉันเห็นธรรม เพราะทุกๆ วันของชีวิตก็เป็นเช่นนั้น เมื่อมองมุมนี้ อุปสรรคปัญหาใดๆ ก็คือเครื่องมือพัฒนาสติปัญญานั่นเอง

๖.
ยังคงมีงานจิตอาสาที่เราจะช่วยกันทำต่อไปตามกำลัง คำถามที่ฉันพบบ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนในรุ่งอรุณ หรือผู้ที่เราไปเยี่ยมเยียนเป็นประจำมักถามเราว่า เหนื่อยไหม ? ฉันมองย้อนกลับมาช่วงที่ทำงาน ทุกๆ ครั้งที่ลงพื้นที่เรามีรถตู้ปรับอากาศนั่งสบาย มีเจ้าหน้าที่ขับรถที่ไว้ใจได้ในเส้นทาง แถมช่วยลงแรงทุกๆ ครั้ง มีอาหารการกินไม่อัตคัด ไปในพื้นที่ก็มีคนให้ความช่วยเหลือ อำนวยความสะดวกเราอยู่เสมอ ฉันได้เพื่อนเยอะขึ้นมีโอกาสเรียนรู้หลากหลาย
เหนื่อยไหม? ฉันตอบตัวเองในใจว่า สงสัยเราคงทำบุญมาดี จึงได้รับโอกาสลงไปฝึกฝนตนเอง ได้เปิดมุมมองเรียนรู้จากชีวิตคนอื่น และหากการทำงานด้วยจิตที่เป็นกุศลจะเกิดประโยชน์แก่ผู้อื่นด้วยก็ขออุทิศบุญกุศลแก่ชาวรุ่งอรุณทุกคน เพราะที่นี่สอนให้ฉันเลิกคลางแคลงใจกับความคิดที่ว่า “ไม่มีใครทำอะไรให้ใครโดยไม่หวังประโยชน์กลับคืน”

สุดท้ายฉันหันไปกระซิบบอก ด.ญ.อ้อ เบาๆ ว่า “ทีนี้หนูคงรู้แล้วซินะว่าหากหนูอยากช่วยใคร ให้ลงมือทำเลย ไม่ต้องรอถูกลอตเตอรี่”

ไปทำงาน...ก่อนสงกรานต์ ๒๕๕๐









บันทึกการทำงานชมรมจิตอาสารุ่งอรุณ
การซ่อมแซมบ้านที่ จ.พระนครศรีอยุธยา
ระหว่างวันที่ ๒๓ - ๒๔ มีนาคม ๙ – ๑๑ และ ๑๘ เมษายน ๒๕๕๐

บันทึกการทำงานชมรมจิตอาสารุ่งอรุณ

๑.กลับมาฝึกเรื่องสื่อสารกันใหม่
หลังจากที่เราพักยกการลงพื้นที่มาตั้งแต่วันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐ (คือการปิดพื้นที่ซ่อมแซมบ้านในโครงการที่ ๑ และสำรวจบ้านที่เราเห็นควรซ่อมแซมเพิ่มเติม) คณะทำงานมีโอกาสพบปะพูดคุยกันบ้าง และวางแผนการทำงานต่อไว้คร่าวๆ ในช่วงกลางเดือนมีนาคม
๘ มีนาคม ๕๐ คณะทำงานรวบรวมข้อมูลการทำงานทั้งหมดเพื่อนำเสนอกับครูทั้ง ๓ โรงเรียนโดยหวังว่าจะช่วยให้ครูในแต่ละร.ร.ที่ไม่เคยลงพื้นที่ได้เห็นภาพชัดเจนขึ้น และจะช่วยกระตุ้นโครงการครอบครัวอุปถัมภ์อีกทางหนึ่ง น่าเสียดายที่มีเพียงครูร.ร.เล็กส่วนหนึ่งเท่านั้นที่เข้าร่วมงาน ครูประถมและครูมัธยมติดประชุมกับผู้ปกครอง และผู้ที่เข้าร่วมก็รับฟังข้อมูลโดยที่ไม่ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นแต่อย่างใด คณะทำงานจึงคุยกันว่าจะเดินหน้าเรื่องงานก่อสร้างและความเจ็บป่วยไปก่อน สำหรับโครงการครอบครัวอุปถัมภ์เราพักไว้และจะติดตามจากครูแกนนำในแต่ละโรงเรียนต่อไป
เมื่อสรุปว่าจะทำงานซ่อมแซมบ้านก่อน พี่สมชายฝ่ายอาคารจึงได้ทยอยส่งร่างแบบบ้านที่จะซ่อมแซมเพิ่มเติมจำนวน ๖ หลัง คือ ๒ หลังแรกเป็นการเก็บตกงานจากโครงการที่ ๑ (บ้านคุณยายธัน คุณน้าสุชาดา) และอีก ๔ หลังใหม่จากการไปสำรวจเพิ่มเติม (บ้านคุณยายสะอาด คุณยายทองหยิบ คุณยายฟัก และ น้องเจม - น้องกลิ้ง) พร้อมทั้งเสนองบประมาณเพื่อพิจารณาอนุมัติซึ่งก็ผ่านเรียบร้อย จากประมาณการเราน่าจะใช้เงินบริจาคเกือบหมดในการทำงานครั้งนี้
ระหว่างนั้นพี่สมชายยังไม่ได้กำหนดวันลงพื้นที่ เพราะเราไม่ค่อยแน่ใจว่าควรรอให้ผ่านช่วงงานหยดน้ำไปก่อน ครูปิดเทอมค่อยจัดกำลังลงไป หรือว่าควรลุยเลย เอาตามจริงใครหน้างานสะดวกก็ลง สุดท้ายพี่สมชายสรุปวางวันการทำงานให้คือลง พฤหัสฯ-ศุกร์-เสาร์(ไปเช้า-เย็นกลับเหมือนเดิม) ติดกัน ๓ สัปดาห์ คือ ๒๓ - ๒๔ มี.ค. ๓๐ - ๓๑ มี.ค. และ ๕ - ๗ เม.ย. โดยมีเบื้องหลังหรือเหตุผลของคณะทำงานสนับสนุนดังนี้
(๑) เราไม่อยากให้การทำงานเลยไปช่วงหลังสงกรานต์หรือเปิดเทอมใหม่ เพราะไม่อยากให้บ้านบางหลังต้องโดนพายุฤดูร้อน หรือเข้าสู่ฤดูฝนเพราะโดยสภาพบ้านเดิมที่เราไปสำรวจมานั้นเสี่ยงต่ออันตราย
(๒) การจัดวันลงพื้นที่ทั้งวันทำงานและวันหยุด เพื่อเป็นทางเลือกให้อาสาสมัคร ขณะเดียวกันฝ่ายอาคารซึ่งมีหน้างานเร่งด่วนของโรงเรียนก็น่าจะสามารถจัดสรรเวลาทำงานให้โรงเรียนได้
แต่ความคิดเหล่านี้เป็นความคิดที่ปรึกษากันในวงเล็กๆ เท่านั้น คือ อ้อ จอม พี่สมชาย ปุ้ย เมื่อคิดเสร็จก็สรุปเรื่องวันและแจ้งกำหนดการไปยังครูทั้ง ๓ ร.ร.เลย ซึ่งเราก็ไม่คาดหวังว่าครูจะอาสาเป็นจำนวนมากเนื่องจากอยู่ในช่วงงานหยดน้ำและการทำประเมินผล แต่เรามองว่างานหลักคือการซ่อมแซมก่อสร้างซึ่งอาศัยแรงช่างเป็นหลักจึงไม่น่าจะต้องรีรออะไร ขณะนั้นเราเข้าใจเอาเองว่าทีมช่างเองก็พร้อม
การซ่อมแซมบ้านโครงการ ๒ นี้เริ่มที่บ้านคุณยายธันและคุณน้าสุชาดา ซึ่งถือว่าเป็นงานเล็ก คือมุงหลังคาที่ชำรุดให้ วันศุกร์ที่ ๒๓ มี.ค. พี่สมชาย ขอแรงก้อง กะเล ลงไปเปิดงานพร้อมด้วยอาสาสมัครอีก ๒ แรง คือ ครูตู่ และวันใหม่ ส่วนวันเสาร์ที่ ๒๔ มี.ค. เหลือเพียง ก้อง และ กะเล ช่วยกันกับลูกเขยคุณยายธัน ปิดงานจนเสร็จ วันจันทร์ที่๒๖ มี.ค. อ้อและจอมนัดคุยกับพี่สมชายเพื่อสรุปงานสัปดาห์แรกและวางงานในสัปดาห์ต่อไป การพูดคุยกันในวันนั้นพี่สมชายดูไม่ปกตินัก จับความได้ว่าฝ่ายช่างรู้สึกว่าไม่มีอาสาสมัครไปคึกคักเหมือนโครงการแรก และ “ขอแรง” ก้องและกะเล ส่อเค้าว่าทีมช่างคนอื่นๆ ยังไม่รู้ หรือ อาจไม่เอาด้วย เพราะมีประเด็นเรื่องไม่สะดวกลงพื้นที่ในวันหยุดมาตั้งแต่โครงการแรกแล้ว ทำให้เราคิดว่าเราควรหาเวลาพูดคุยกับพี่ๆ ฝ่ายช่างเหมือนกับที่เราชวนครูอาสาคุยกันบ่อยๆ
ซึ่งเรื่องนี้ อ.ประภาภัทรและฝ่ายบริหารก็ย้ำว่าเป็นเรื่องสำคัญที่เราควรสื่อสารทำความเข้าใจกันอย่างสม่ำเสมอ อย่าปล่อยให้เจตนาที่จะทำเรื่องดีๆ กลายเป็นการสร้างความกังวลสงสัย เพียงเพราะเราละเลยการพูดคุยบอกกล่าวโดยคิดเอาว่าทุกคนน่าจะรู้และเข้าใจแล้ว
คณะทำงานจึงมีโอกาสนั่งล้อมวงเปิดใจคุยกับพี่ๆ ฝ่ายช่าง รวม ๓ รอบ ก่อนลงมือทำงานต่อ เรามีโอกาสได้แสดงความชื่นชมในสิ่งที่พี่ๆ ให้ใจ ลงแรง เต็มที่กับงานจิตอาสาโครงการที่ ๑ ทั้งๆ ที่จากการตั้งประเด็นคำถามก็เห็นได้ชัดว่าพี่ๆ หลายคนรู้สึกว่า เป็นการลงไปทำงานตามสั่ง มิได้รู้สึกว่าเป็นงานจิตอาสา แต่ทุกคนก็มุ่งมั่นทำงานอย่างดีที่สุด การที่เราได้มีโอกาสลงไปแลกเปลี่ยน ตอบข้อสงสัยทั้ง ที่มาของโครงการ ปัจจัยในการเลือกบ้านแต่ละหลัง ทำไมเราจึงกำหนดทำงานในวันหยุด รวมถึงแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความรู้สึก คุณค่าที่เราได้รับจากการได้ทำงาน ก็พบว่าพี่ๆ ทุกคนมีใจที่อยากจะช่วยเหลือเป็นทุนอยู่แล้ว
เมื่อรู้ถึงที่มาที่ไป เหตุผลของการทำงาน และที่สำคัญคือเขารู้สึกว่ามีคนรับฟัง ความเห็นของเขามีความหมาย ความรู้สึกเป็นเจ้าของงาน จัดวางตัวเองลงไปทำก็เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ
เราจึงร่วมกันปรับตารางการทำงานกันใหม่ ครั้งนี้พี่ๆ จัดทีมทำงานกันเองให้เหมาะกับลักษณะงานแต่ละหลัง ช่วยกันมองหน้างานว่าต้องจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์อะไรเพิ่มเติมจากที่พี่สมชายวางไว้...
เมื่อมีพลังขับเคลื่อนมาจากการสื่อสาร จิตอาสาจึงเกิดใหม่อีกครั้ง

๒.เดินหน้าต่อไป
๙-๑๐-๑๑ เมษายน คือช่วงเวลาที่เราวางแผนลงไปซ่อมแซมบ้านพร้อมกันใน ๒ พื้นที่ คือ บ้านคุณยายสะอาด- คุณยายทองหยิบ และ ป้าแดง ที่ อ.เสนา และบ้านคุณยายฟัก-คุณสมชาย (ลูกชาย) ที่ อ.บางบาล ซึ่งเมื่อฝ่ายช่างลงรายละเอียดในงานซ่อมแซมแล้วจึงจัดแบ่งทีมช่างเป็น ๒ ทีม แตกต่างกันคือ
บ้านคุณยายสะอาด - คุณยายทองหยิบและป้าแดง เป็นงานที่ต้องอาศัยกำลังคนช่วยกันดึงบ้านที่ทรุดเอียง และมีงานพัฒนาพื้นที่รอบๆ จึงเหมาะที่จะพาอาสาสมัครลงไปช่วยงาน โดยมีช่างก้อง กะเล ตี๋ เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลัก
ในขณะที่บ้านคุณยายฟัก-คุณสมชาย เป็นงานทำห้องน้ำต่อเติมขึ้นไปบนบ้านชั้น ๒ ต้องอาศัยความชำนาญของช่าง เป็นงานละเอียด ประกอบพื้นที่ทำงานค่อนข้างคับแคบ ที่นี่จึงจัดช่างล้วนๆ ลงไปทำงานถึง ๖ คน คือ พี่ขอด พี่โก๊ะ ศักดิ์ จิม พิเชษฐ์ และลุงอุทิน ทั้ง ๒ พื้นที่มีเวลาทำงาน ๓ วันก่อนทุกคนจะหยุดยาวช่วงสงกรานต์
และเมื่อได้อาสาสมัครมาสมทบเราไม่ลืมชวนคุยก่อนลงพื้นที่ เพื่อให้ข้อมูลที่มาของบ้านแต่ละหลัง แผนการทำงานคร่าวๆ ในการทำงานที่จะยืดหยุ่นไปตามสถานการณ์จริง ซึ่งทั้ง ๓ วันนี้ เราได้อาสาสมัครจากหลายๆ ฝ่ายในชุมชน คือ วันแรกครูสาวๆจาก ร.ร.เล็ก ครูแอน ครูอีฟ๑ ครูอีฟ๒ ครูไพ และครูปรางค์ ครูหนุ่มแรงดีจากมัธยม ครูแจ๊ะ ครูเจน พร้อมด้วย ด.ช.หมูแฮม (รายนี้เพิ่งกลับจากฉือจี้เหมาลงทั้ง ๓วัน)
สำหรับวันที่ ๒ - ๓ ได้น้องๆ จากทีมสถาปนิกจัดสลับสับเปลี่ยนกันลงวันละ ๙-๑๐คน ทำเอาช่างเบาแรงไปเยอะ ยังมีวันใหม่มาช่วยเสริมในวันที่ ๒ และวันสุดท้ายเรายังได้กำลังเสริมจากครอบครัวของคุณแม่เหล่งซึ่งขับรถตามมากับน้องชายลูกและหลานเต็มคันรถ ส่วนจอมก็ชวนอ้วนอดีตครูอาสาจากทุ่งดาบ และอ้อก็ชวนเจลลี่มาร่วมขบวนกับเขาด้วย
· บ้านคุณยายสะอาด
เดิมเราต้องซ่อมแซมบ้าน ๒ หลัง คือ หลังเล็กของคุณยายทองหยิบ มุงหลังคา ทำประตูให้ ส่วนหลังใหญ่ของคุณยายสะอาดอยู่กับป้าแดง ลักษณะบ้านเอียงทรุด สภาพสังกะสีดูเหมือนของมือ๒-มือ๓ คือเก่ามากแล้วรวบมาปะจนเป็นบ้าน แต่ก่อนไปซ่อมจอมโทรนัดหมายล่วงหน้าจึงทราบว่าคุณยายทองหยิบมีหลานมารับกลับไปอยู่ด้วยแล้ว (สาธุ)
เราจึงวางแผนเพื่อไปซ่อมบ้านคุณยายสะอาดเป็นหลัก วันแรกช่างและแรงงานหนุ่มๆ ไม่รีรอ งัดทั้งพื้น ทั้งฝาบ้านออกจนโล่ง ขณะที่สาวๆ จากร.ร.เล็กแม้จะเอวบางร่างน้อยแต่ไม่มีใครแพ้แดด ลงจอบทำแปลงผักอีก ๕ ร่องทันที ในพื้นที่ใหม่ที่ป้าแดงชี้ให้ (โดยแปลงผักเดิมที่ครูต้นพาเด็กชั้นคละไปทำให้ขาดน้ำแห้งไปหมดแล้ว เพราะแม้จะอยู่หลังบ้านก็จริงแต่ต้องลงไปตักน้ำที่คลองชลประทาน เดินมาหลังบ้านอีกไกล) แม้ที่ใหม่จะใกล้น้ำ แต่อากาศที่ทั้งร้อนจนแล้งขณะนี้ทำให้สาวๆ ต้องปรึกษากันว่าต้องหากากมะพร้าวมารองใต้แปลงเพื่อช่วยอุ้มน้ำนานขึ้น และช่วยกันย้ายโอ่งมาไว้ใกล้ๆ เพื่อสำรองน้ำที่จะใช้รดในแปลงทุ่นแรงป้า เมื่อเปิดหน้าดิน ยกร่อง รดน้ำเรียบร้อย ก็รอจะออกไปซื้ออาหารกลางวันให้ทุกคน แต่รถตู้ไปส่งจอมที่บางบาลเพื่อจัดการเรื่องวัสดุอุปกรณ์บ้านคุณยายฟัก ส่วนรถกระบะของก้องถูกนำมาดึงสลิงที่ผูกยึดบ้านไว้ไม่ให้ล้มจนกว่าเสาใหม่ที่สั่งร้านวัสดุไว้จะมาส่ง สาวๆ คุยกันเล่นๆ แต่เอาจริงว่า “หรือเราจะโบกรถไป?” บ้านคุณยายสะอาดอยู่ติดถนน (จริงๆ คือบุกรุกที่หลวงอยู่) มายืนรอรถสองแถวสักพัก แต่ก็ไม่เห็นแวว ครูอีฟ๒ ส่งสายตาขอความเห็นใจรถกระบะที่ออกมาจากทางเข้าวัดเจ้าแปดฝั่งตรงข้าม เป็นผล ได้ติดรถคนใจดีไปลงที่ตลาด หลังจากซื้อข้าวกล่องแล้ว ก็ไปหาซื้อเมล็ดพันธุ์ ส่วนดินและกากมะพร้าวในตลาดไม่มี ชาวบ้านก็บอกทางว่าอยู่เลยร้านน้องเจไป อยู่ไหนเราก็นึกไม่ออก เลยเหมารถกระบะหวังจะได้ไม่หลงและมีรถขนดินเข้าพื้นที่ รถมาส่งที่ร้านขายดินและกากมะพร้าว โธ่...อยู่ริมถนนตรงกันข้ามกับบ้านคุณยายสะอาดนั่นเอง ผลของการไม่ถามป้าแดงให้รู้เรื่อง
กลับมาถึงหนุ่มๆ ทานข้าว แต่สาวๆ ไม่ยอมพักลงดินและกากมะพร้าวในแปลงต่อจนเสร็จ ป้าแดงเอาไม้มาให้พวกเราช่วยกั้นคันดินไม่ให้ดินไหลลงคลองหากฝนมา เสร็จแล้วก็ไปนั่งพักเอาแรง สังเกตดูหนุ่มน้อยอย่างหมูแฮม จดๆ จ้องๆ จะตอกตะปู ก็ยังเบี้ยวๆ อยู่ ต้องคอยช่วยหยิบส่งของ(แต่ต้องติดตามดูจนถึงวันสุดท้าย หมูแฮมลีลาคล่องแคล่วคล้ายช่างมากขึ้น) ช่างก้องบอกว่าวันแรกนี้ต้องระวัง สภาพบ้านที่รื้อถอนค่อนข้างอันตราย บางช่วงจึงได้แต่นั่งดูช่างทำงานเป็นหลัก
มีเวลาคุยกับป้าแดงเป็นระยะ ทราบว่าคุณยายสะอาดเพิ่งอออกจากโรงพยาบาลเนื่องจากเบาหวานขึ้น และหมอยังตรวจพบว่าเป็นโรคไต ซึ่งทั้งคู่อาศัยดื่มใช้น้ำจากคลองชลประทาน จึงสอบถามเรื่องการซื้อน้ำสะอาดมาไว้ดื่ม ป้าแดงว่ามีส่งเลยฝากคุณครูสมพรที่จะมารับประสานงานต่อในวันที่ ๒ ช่วยจัดการ
ที่ใต้ถุนบ้านมีลูกหมาอยู่หลายตัว ป้าแดงต้องไล่ให้ออกมากลัวบ้านจะทรุดทับ สังเกตว่าป้าแดงรักหมามาก ข้าวที่ซื้อไปฝากคุณยายสะอาดและป้าแดง กล่องของป้าแดงแบ่งเป็นกองเล็กๆ ให้ลูกหมากินก่อน ป้าแดงค่อยกินในกล่องที่เหลือ เย็นวันนั้นกะเลขอลูกหมากลับไปเลี้ยง ๑ ตัว
วันที่ ๒ มีครูสมพรเป็นผู้ประสานงานในพื้นที่ พร้อมด้วยน้องๆ ทีมสถาปนิกและทีมช่างก้อง ตี๋ และ กะเล +หมูแฮมและพี่วันใหม่ ซึ่งในวันนี้ทุกคนได้ลงแรงเต็มที่เพราะเป็นการรื้อถอนและลงเสาใหม่(ไม้) ให้แข็งแรง ครูสมพรได้พาป้าแดงไปสั่งน้ำสะอาดมาใส่ตุ่มไว้ดื่มใช้ แต่จนเย็นแล้วก็ยังไม่มาส่ง
วันสุดท้ายเราต้องออกเช้ากว่าเดิมคือ ๘.๐๐น. มาเป็น ๗.๓๐น. เพื่อให้จอมและแม่เหล่งนำรถไปรับคุณยายสำแรที่บางบาลไปพบจักษุแพทย์ที่ร.พ.อยุธยา ได้ทันการตรวจเช็คและทำนัดการผ่าตัดถ้าจำเป็น ตามที่เจ้าหน้าที่ร.พ.อยุธยาที่เราประสานงานไปได้แจ้งกลับมา
อ้อและเจลลี่เดินทางไปเองด้วยรถส่วนตัว ไปถึงเสนาก่อนเวลานัดหมาย จึงแวะเข้าไปเยี่ยมบ้านต่างๆ ที่หลังวัดบ้านแพน พบกบซึ่งยังคงมาช่วยงานที่วัดบ้านแพนลูกสาวทั้ง ๓ คนจะเปิดเทอมใหม่มีค่าชุดนักเรียนที่ต้องเตรียมโดยเฉพาะคนกลางที่ขึ้น ป.๕ ต้องใช้เครื่องแบบคอซองซึ่งท้ายรถอ้อได้นำเสื้อผ้ามือสองบางส่วนเตรียมไปให้อยู่แล้ว แต่ไม่มีชุดนักเรียนคอซอง ปรึกษาครูปิ่นหทัยที่ร.ร.วัดบ้านแพน ถึงความจำเป็นของกบจึงตัดสินใจจัดซื้อไปให้ (ได้นำหนังสือที่ได้จากงาน book day สำหรับเด็กเล็กไปมอบให้ศูนย์เด็กเล็กวัดบ้านแพนด้วย) จากนั้นไปแวะเยี่ยมคุณยายบุญธรรมซึ่งดีใจมากที่ไปเยี่ยม เจลลี่เห็นแม่ต้องไปพูดดังๆ ข้างๆ หูคุณยายก็ขำ คุณยายว่าข้าวสารที่เอาไปฝากจะหุงไปทำบุญที่วัดช่วงสงกรานต์ (สาธุ) ซื้อผ้าถุงผืนใหม่ไปฝากด้วยได้ใส่ไปวัดพอดี ส่วนคุณป้าจำลองซึ่งบ้านติดกับคุณยายบุญธรรมไม่อยู่จึงฝากทั้งข้าวสาร ผ้าถุงไว้ให้ ย้อนกลับมาหาคุณตาแกละ(เพราะช่วงเช้าผ่านมายังไม่ตื่น)นั่งอยู่หน้าบ้าน ถามสารทุกข์กันพักหนึ่งจึงเห็นว่าตาขาวข้างหนึ่งของคุณตาแดงมาก คุณตาบอกว่าคันมาก แต่ไม่ยอมไปหาหมอจึงโทรปรึกษากับเภสัชกรร้านของคุณแม่มล ได้ชื่อยาหยอดตาแก้แพ้ ซื้อและไปหยอดให้คุณตา ไม่รู้ว่าจะหยอดต่อเองได้มากน้อยแค่ไหน คุณตาแกละถามถึงไอ้อ้วน (ครูอดิเรก) ด้วย อ้อบอกว่ายังตรวจข้อสอบไม่เสร็จ
มุ่งรถต่อไปที่บ้านคุณยายสะอาด ซึ่งทั้งช่าง พร้อมอาสาสมัครน้องๆ สถาปนิก ลงมือทำงานต่อแล้ว รถคุณแม่เหล่งมาถึง ส่งน้องชาย ลูก และหลาน ไว้ช่วยงานที่นี่ ส่วนตัวคุณแม่เหล่งนั่งรถตู้ไปกับจอมและอ้วน เพื่อไปดำเนินการเรื่องโรงพยาบาล (คุณยายสำแร พบหมอตาที่ร.พ.อยุธยา (ยังไม่ต้องผ่าตัดได้คิวนัดตรวจครั้งต่อไป) หมอกระดูกที่ร.พ.เสนา) และสำนักงานสวัสดิการผู้พิการ (คุณยายฟัก และคุณสมชาย) รวมทั้งแวะเอานมไปให้น้องฟิล์มและหลานคุณยายธัน ช่วงบ่ายจึงกลับมารับขบวนการเด็ก คือ การบูร ป.๖ บอม ป.๕ และเจลลี่ ป.๓ ไปช่วยกันเก็บกวาดบ้านคุณยายฟักเนื่องจากช่างทำห้องน้ำเสร็จเรียบร้อยแล้ว
จอมได้ฝากใบนัดจากโรงพยาบาลอยุธยาให้อ้อแวะไปหาป้าสังเวียนและลุงสนิทเนื่องจากป้าสังเวียนและลุงพิมพ์ไม่ได้ไปตามนัดเดิมคือ ๘ ก.พ. ทางร.พ.จึงนัดให้ใหม่คือ ๕ ก.ค. ซึ่งหากไปตามนัดจะได้คิวผ่าตัดภายใน ๒ เดือน และทางร.พ.จะไม่ออกเอกสารส่งต่อผู้ป่วยไปที่อื่นให้ เพราะยืนยันว่าสามารถรักษาได้ เพียงแต่ขอให้มาตามนัด ซึ่งจากการที่อ้อได้แวะเอาเอกสารไปให้พร้อมทั้งอธิบายและชักชวนให้คุณป้าและคุณลุงไปรักษาต่อพบว่าคุณป้าได้รักษาอยู่กับคลินิกใกล้บ้าน ได้ยาหยอดตาประทังอาการไป ส่วนลุงสนิทยังไม่ได้ไปพบแพทย์แต่อย่างใด โดยรวมคุณป้าสังเวียนรู้ไม่แน่ใจเรื่องการผ่าตัด เพราะได้รับข้อมูลจากจักษุแพทย์เดิมที่ ร.พ.เสนาเดิม และแพทย์ที่คลินิก คุณป้าเข้าใจว่าตาข้างหนึ่งเป็นทั้งต้อหินและต้อกระจก การผ่าตัดจะไม่ช่วยให้ดีขึ้น ประกอบกับอายุมากแล้วจึงค่อนข้างกลัว และการเดินทางไปร.พ.อยุธยาทั้งคู่ไม่มีลูกหลานพาไปจึงไม่สะดวก อ้อจึงให้บัตรนัดไว้และเสนอว่าหากคุณป้าและคุณลุงจะไปร.พ.อยุธยา จะมารับ-ส่ง ให้ แต่ขอให้เป็นความสมัครใจ และแสดงความเห็นว่าน่าจะลองรักษาดู ก่อนที่อาการจะลุกลามมากกว่านี้ โดยเฉพาะลุงสนิทที่ยังไม่เคยไปตรวจเลย
กลับมาที่บ้านคุณยายสะอาด ยังเหลืองานอีกพอสมควรแต่ช่างก้องว่าน่าจะเสร็จหากเลิกค่ำหน่อย ก่อนอาหารเที่ยงมีรถกรมทางหลวงเลี้ยวเข้ามาจอด ทุกคนนิ่งดูท่าที มีเจ้าหน้าที่คนหนึ่งลงมาแจ้งเรื่อง (ที่เราอยู่แล้วว่า) เส้นทางหรือพื้นที่ที่บ้านคุณยายสะอาดปลูกอยู่นี่กำลังถูกทางหลวงเวนคืน หัวหน้าจึงไม่อยากให้มีการปลูกสร้างใหม่ ซึ่งเราก็ยืนยันไปว่าเราไม่ได้ต่อเติมหรือสร้างบ้านแบบถาวร เพียงแต่ซ่อมแซมบางส่วนให้เพราะสภาพเดิมนั้นเป็นอันตรายแก่ผู้อาศัย (ซึ่งทั้งชราและเจ็บป่วย) ที่รีบทำเพราะกำลังจะฤดูฝนและอาจมีพายุฤดูร้อนเข้าและได้ปรึกษาและประสานงานไว้กับทางอบต.สามกอแล้วว่าพื้นที่จะถูกเวนคืนดังนั้นการซ่อมแซมบ้านจะดำเนินการเพื่อการอยู่อาศัยอีกประมาณ ๑ ปี เจ้าหน้าที่กรมทางหลวงก็เข้าใจในประเด็นมนุษยธรรม และบอกว่าตนมาแจ้งตามหน้าที่ แต่ละคนมีหน้าที่อะไรก็ทำไปก็แล้วกัน
ช่วงบ่ายระหว่างที่ทุกคนลุยงานกันต่อ อ้อพาป้าแดงไปซื้อน้ำใส่ตุ่ม (เต็มตุ่มใช้น้ำ๑๐ถัง*ถังละ ๒๐ลิตร) ไปตลาดเติมแก๊ส ซื้อข้าวสาร ชวนป้าแดงให้พาคุณยายสะอาดไปหาหมอตามนัด แต่ป้าแดงว่าไปก็ตรวจไม่ได้เพราะคุณยายสะอาดไม่ได้งดน้ำอาหาร
กลับมาที่บ้าน ฟ้าเริ่มครึ้ม ลมแรง ต้องเอาของหนักๆ ทับสังกะสีเก่าๆ ที่กองไว้กลัวจะปลิว ๓ โมงกว่าๆ ฝนก็เทลงมาหนักมาก แต่ไม่มีใครหยุด จนฝนหนักกว่าเดิมมากๆ ทำให้ดินเหลว ยืนทำงานต่อไม่ได้ ทุกคนจึงขึ้นไปนั่งบนบ้าน กะเล กับ ตี๋วิ่งเอาสังกะสีมาคลุมของในบ้านหลังเล็ก (บ้านคุณยายทองหยิบ) ที่ป้าแดงขนมาเก็บชั่วคราว อ้อเอาผ้าห่มมาคลุมตัวให้คุณยายสะอาดเพราะเรานั่งหลบฝนอยู่ในเพิงเก็บของเก่า แรงฝนก็สาดเข้ามาจนเสื้อชื้นเหมือนกัน
ฝนหยุดเราปรึกษากัน ช่างก้องตัดสินใจหยุดงานโดยขอป้าแดงว่าจะกลับมาทำให้เสร็จในวันที่ ๑๘ เม.ย. (อีก ๗วัน) ป้าแดงเข้าใจ ไม่ขัดข้อง ซึ่งวันที่ ๑๘ ก้องก็ทำตามสัญญา โดยมี กะเล และน้องมิน สถาปนิก ไปช่วยกันปิดงานให้เรียบร้อย
· บ้านคุณยายฟัก-คุณสมชาย
งานตามแบบร่างที่พี่สมชายวางไว้จากการไปสำรวจพูดคุยกับคุณยายฟักและคุณสมชาย(ลูกชาย) คือเปลี่ยนหลังคา ซ่อมพื้นและชานบ้านชั้นบน พร้อมทั้งสร้างห้องน้ำยกขึ้นไปบนชั้น ๒ เพื่อใช้งานช่วงที่น้ำท่วม (ซึ่งท่วมทุกปีเพราะบ้านอยู่ริมแม่น้ำท่วมก่อน ลดทีหลัง) พร้อมทั้งเปลี่ยนฝาบ้านส่วนที่สังกะสีผุให้ใหม่ และซ่อมรางซักล้างให้ แต่เมื่อฝ่ายช่างซึ่งนำทีมโดย พี่ขอด พี่โก๊ะ พิเชษฐ์ ลุงอุทิน ศักดิ์ และ จิม ไปถึงพื้นที่พบว่าเจ้าของบ้านและญาติเข้าใจไม่ตรงกับเรา คือคิดว่านอกจากห้องน้ำชั้นบนแล้วจะมีการต่อระเบียงออกไปให้ด้วย เมื่อจอมแวะไปเพื่อประสานเรื่องวัสดุอุปกรณ์ให้ช่างจึงใช้เวลาพูดคุยทำความเข้าใจกับคุณยายฟัก และคุณสมชาย ถึงแบบ และงบประมาณ เมื่อเจ้าของบ้านเข้าใจจึงได้เริ่มงาน
ซึ่งตลอดทั้ง ๓ วัน ช่างของเราได้รับการดูแลเอาใจใส่จากคุณยายซึ่งจัดหาเครื่องดื่ม ผลไม้ มาบำรุงเต็มที่
จอมที่ลงไปประสานงานในวันที่ ๙ และ ๑๑ เล่าว่าคุณยายฟักยิ้มแย้มมีความสุขที่ได้พูดคุยกับเรา เมื่อพาเด็กๆ ไปช่วยกันทำความสะอาดบ้านในวันสุดท้าย ด้วยงานก่อสร้างเสร็จเรียบร้อย และกล่าวลาคุณยายและลูกชายขอบอกขอบใจพวกเรา พร้อมๆกับน้ำตาแห่งความยินดี ที่ยายยกมือปาดออกพร้อมรอยยิ้ม จอมบอกว่า อย่างนี้เองที่เขาเรียกว่า "ยิ้มทั้งน้ำตา"
จิตอาสาก่อนสงกรานต์ครั้งนี้จึงอิ่มอกอิ่มใจกันไป
ต้องขออนุโมทนาบุญทุกๆ คนที่ร่วมแรงร่วมใจกันอย่างเข้มแข็ง

๓.กลับมาคุยกัน...อีก

เราหาโอกาสแลกเปลี่ยนการทำงานกันในวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๕๐ ช่วงเช้าก่อนที่พี่ๆ ช่างจะต้องแยกย้ายกันไปทำงาน เพื่อสรุปภาพรวมของงานและประเด็นที่ควรนำมาเพิ่มเติมในกระบวนการทำงานของพวกเรา ซึ่งรวมๆ เราพบว่าก็ไม่พ้นเรื่องการสื่อสาร...
o ควรเพิ่มขั้นตอนการสรุปแบบร่างงานซ่อมแซม ก่อสร้าง กลับไปที่เจ้าของบ้านเพื่อตรวจสอบความเข้าใจให้ตรงกัน หากไม่มีเวลาจริงๆ อย่างน้อยควรมีโอกาสพูดคุยกันทางโทรศัพท์ ก่อนลงพื้นที่
o วัสดุที่ใช้ ช่างบางคนรู้สึกว่ายังไม่ได้มาตรฐานน่าจะใช้ของดีที่มีอายุใช้งานยาวๆ หรือ วัสดุบางส่วนดึงจากงานอื่นมาใช้ทำให้ไม่พอดีต้องใช้เวลามาดัดแปลงหน้างาน ซึ่งส่วนนี้เกิดจากการพิจารณาเรื่องงบประมาณที่มีอยู่จำกัดร่วมกันของคณะทำงาน รวมทั้งปรับแบบ วัสดุ ให้สามารถใช้งานได้ในระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งควรใช้เวลาสื่อสารกันในรายละเอียด แต่การทำงานครั้งนี้ไม่ได้ติดขัดแต่อย่างใดเพราะทีมช่างเองก็วางใจกันพร้อมจัดปรับกันไปตามบริบท
o ควรทำความเข้าใจในเป้าหมายของการช่วยเหลือแบบยั่งยืนกันอย่างสม่ำเสมอเพราะเราพบว่า หลายๆ คนให้การช่วยเหลือเฉพาะหน้าไปด้วยเงินส่วนตัว ตามที่คนในพื้นที่ขอ เช่น ขอเงินเป็นค่านมลูก ซึ่งก็พบว่าเงินที่ได้ไปไม่ได้ถูกนำไปช่วยเหลือเด็กที่เหมาะสม แต่ถูกนำไปใช้เชิงบริโภคของผู้ใหญ่มากกว่า
o บ้านที่เหลืออยู่หลังสุดท้ายที่เราไปสำรวจเพื่อซ่อมแซม คือ บ้านของน้องเจม-กลิ้ง แม้เราจะได้รับการอนุมัติงบประมาณเรียบร้อยแล้ว แต่เรายังไม่เคยพบตัวเจ้าของบ้านคือ คุณลุงของเด็กเลย การมุ่งจะลงไปซ่อมแซมบ้านจึงไม่อาจแน่ใจได้ว่าเป็นการแก้ปัญหา ช่วยเหลือ ครอบครัวนี้ได้ตรงจุดจริงหรือไม่ คณะทำงานจึงขอเวลาในการประสานงานปรึกษากับทางอบต.และเจ้าของบ้านก่อนการนัดหมายอาสาสมัครต่อไป

Friday, March 9, 2007

ประสบการณ์ของดีดี

บันทึกทัศนคติและความคิดเห็นจากการออกภาคสนามวิชาสังคมศึกษาระดับชั้นม.๕
ณ ต.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ระหว่างวันที่ ๖-๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐
น.ส.อภิชญา อภิรักษ์โชติศิริ ม.๕/๑ (ดีดี)
การออกภาคสนามครั้งนี้เป็นระยะที่สั้นที่สุดที่เคยไป(ที่อยู่ร.ร.รุ่งอรุณ) แต่เป็นภาคสนามที่เหนื่อยที่สุดที่เคยไป โดยส่วนตัวแล้วเพราะเลือกที่จะทำงานหนัก จึงต้องใช้แรงมากหน่อย แต่ก็เป็นประสบการณ์ที่ดีเพราะในชีวิตประจำวันแล้วคงไม่มีโอกาสมาทำเช่นนี้
การทำงานก่อสร้างอาคารนั้นใช่ว่าจะได้แค่ความสนุกสนาน แต่ได้รับรู้ความรู้สึกของคนงานก่อสร้าง ความเหนื่อยล้าจากการทำงานแค่ ๓วันนี้ก็ทำให้ร่างกายอ่อนเพลียจนถึงเป็นไข้ได้ ณ ตอนนี้เทียบกับพวกกรรมกรนั้นคงไม่ได้เพราะคงเกินกว่าคำบรรยายว่าลำบากลำบนแค่ไหน และไม่สามารถเลือกอาชีพที่ดีกว่าได้ เพราะเกิดมาในสถานะที่มีโอกาสและทางเลือกน้อย ที่อยู่และบุตรหลานต้องย้ายที่ไปที่ต่างๆ เพื่อรับจ้างก่อสร้าง ย้ายโรงเรียนบ่อย ซึ่งไม่มีหลักประกัน และการศึกษาที่ไม่ต่อเนื่อง (ปัจจุบันแต่ละโรงเรียนสอนไม่เหมือนกัน)
พูดถึงการศึกษาที่ไร้จุดประสงค์ หรือเรียกว่าไร้สาระ หรือมีสาระน้อยนิดสำหรับอนาคตต่อไปของเยาวชน ซึ่งหมายความว่า เรียนไปทำไม ไม่ได้เอาไปใช้เลย ใช้เพียงมันสมองแค่ระยะสั้น เพื่อเรียนให้ได้ปริญญาซึ่งเอาไปสมัครงานทำเท่านั้นชีวิต แต่ก็จริงเพราะคนเรา ณ ปัจจุบันนั้นวงจรก็เป็นเช่นนี้ เพราะสังคมกำหนดให้เป็นไป เกิด เรียน เอ็นทรานซ์ ทำงาน หาเงิน เก็บเงิน มีครอบครัว มีลูก และ ทำงานๆๆๆๆ เพื่อหา “เงิน”
สำหรับลักษณะของชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่อยู่ในฐานะยากจน ซึ่งใช้แรงงานหาเงินจำพวกรับจ้างในโรงงานอิฐ ที่พบเห็นได้จากลูกสาว ลูกชายของคุณยายแร ทำงานรับจ้างที่นั่นด้วย เป็นการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เห็นได้ชัด โดยพื้นฐานเดิมอาชีพของชาวบ้าน ทำนา ปลูกข้าว แต่ปัจจุบันแม้แต่ที่นาสักผืนยังไม่มี บางคนรักที่จะขยัน สู้ชีวิต ก็ทำงานมาก หลายอาชีพ เช้า สาย บ่าย เย็น ค่ำ ทำเกือบทุกอย่าง เช่นคุณยายฟักที่ท่านได้เล่าเรื่องตอนที่ลูกชายท่านอยู่ว่าทำงานแทบทุกอย่าง ตั้งแต่เด็กไม่เคยขอเงินแม่เกินบาทหนึ่ง เพราะจะทำงานหาเงินเอง มื่อโตมาก็เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงให้ครอบครัว ด้วยความขยันนี้ทำให้มีเงินบ้าง คุณยายฟักคือคุณยายที่ลำบากมาก่อน และลูกชายที่ว่ามานี้ ได้เสียชีวิตไปเมื่อ ๓ปีที่แล้ว ซึ่งข้าพเจ้าได้มีโอกาสไปเยี่ยมคุณยาย ตอนนี้คุณยาอยู่กับลูกชายอีกคนที่เป็นโปลิโอ ดูเหมือนคุณยายไม่ต้องการอะไรในชีวิตนี้แล้ว “มีก็กิน ไม่มีก็ไม่กิน” แต่ถึงกระนั้นชีวิตก็ต้องดำเนินต่อไป เพราะถึงแม้คุณยายจะไม่จำเป็นต้องใช้เงิน แต่ลูกชายของคุณยายก็ต้องใช้ แม้จะมีเงินจากค่ากวาดขยะในตลาดจากลูกสาว แต่คงไม่พอกับค่าใช้จ่ายเมื่อต้องเข้าโรงพยาบาลครั้งหนึ่งๆ
ความเป็นทุนนิยม หรือ ความไม่เท่าเทียมกัน เกิดขึ้นในสังคมนี้ และทุกๆ สังคม เช่น แค่เงินซ่อมบ้านจากน้ำท่วม หรือเพียงแค่สร้างบันไดขึ้นบ้านใหม่ของชาวบ้านก็ไม่มี เทียบกับรถเก๋งของอ.บ.ต.นั้น เทียบกันไม่ติด หมายความว่า ความเหลื่อมล้ำในสังคมมีมากจน ไม่มีความยุติธรรมในโลก โลกสำหรับกรรมกรยังไม่มี
คุณยายเล่าว่าตอนไปรักษาตัวที่ร.พ. ตอนที่ผ่าตัดนิ่ว คุณยายต้องโกหกพยาบาล บอกว่าไม่มีบัตรประกันสุขภาพเพื่อจะได้รับการรักษาที่ดีขึ้น หากมีบัตรจะไม่ได้ผ่าตัด สุดท้ายเมื่อรักษาเสร็จจึงค่อยบอกและยื่นบัตรไปเสียเงินเพียง ๒๕ บาทเท่านั้น
สิ่งที่ผ่านเข้ามาทำให้เรารู้ว่า ความจริงไม่ใช่แค่ความฟุ้งเฟ้ออย่างเดียว แต่สิ่งที่ชาวบ้านเผชิญคือ วังวนของความยากจน และสิ่งล่อใจให้นำไปสู่ทางตันของความจน “เราจะช่วยอะไรได้บ้าง” “คอมมิวนิสต์หรือ”
ในความคิดส่วนตัวคือยังไม่กล้าการันตี หรือแม้จะเลือกวิธีการของคอมมิวนิสต์ เพราะบทเรียนที่ได้รับรู้จากประวัติศาสตร์ คือ การที่นำหลักการไปใช้แบบผิดๆ ทำให้คนล้มตายไปไม่น้อย
สิ่งที่ทำได้ตอนนี้ คือที่เราเข้าไปช่วยเขาอย่างนี้ แม้เราจะเป็นลูกนายทุนแต่ก็ประสงค์จะแบ่งปันแก่ผู้อื่นบ้าง

จิตอาสากับการเรียนรู้ของนักเรียน

จิตอาสากับการเรียนรู้ของนักเรียน
สุรพล ธรรมร่มดี

ในการเรียนการสอนสังคมศึกษา นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่๕ช่วงสองเทอมที่ผ่านมา ผมพบว่าแม้ว่านักเรียนจะได้เรียนรู้ถึงปัญหาสังคมอันเกิดขึ้นจากระบบสังคมที่มีความไม่เท่าเทียมในการแบ่งปันผลผลิต การเอารัดเอาเปรียบในการใช้แรงงานคนชั้นล่าง การรุกรานล่าอาณานิคมและสงครามโลกเพื่อสนองการเติบโตของระบบทุนนิยม ทว่าประสบการณ์เหล่านี้ยังไม่อาจนำพานักเรียนไปถึงคุณค่าของการเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยแก้ไขปัญหาสังคมได้ เพราะประสบการณ์เหล่านั้นยังเป็นสิ่งที่นักเรียนได้เรียนทางอ้อมผ่านการอ่าน การฟัง และการแลกเปลี่ยนในห้องเรียน จึงมีผลที่จะเปลี่ยนความเคยชินในการคิด และการกระทำประจำวันของนักเรียนได้น้อย
ทางออกทางหนึ่งต่อปัญหาดังกล่าวคือ ต้องนำพานักเรียนไปมีประสบการณ์ตรงในการสัมผัสกับปัญหาสังคมและได้เห็นบทบาทของตนต่อปัญหาดังกล่าว เมื่อนักเรียนมีประสบการณ์นี้แล้ว การเชื่อมโยงประสบการณ์ดังกล่าวไปสู่การตระหนักถึงปัญหาสังคมตามที่ได้เรียนมาก็ดี การทำความเข้าใจถึงสาเหตุของปัญหาก็ดี การคิดถึงทางออกต่อปัญหาสังคมนั้นโดยมีบทบาทของตนร่วมอยู่ด้วยก็ดี จึงเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การคลี่คลายจากประสบการณ์ไปสู่ความรับรู้ จากความรับรู้ไปสู่ความเข้าใจ จากความเข้าใจไปสู่คุณค่า และจากคุณค่าไปสู่การตกลงปลงใจปฏิบัติการในทางใดทางหนึ่ง เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ต้องอาศัยประสบการณ์เป็นปฐมฐาน ยิ่งเป็นประสบการณ์ตรงด้วยแล้ว ยิ่งเกิดความรู้ในเนื้อในตัวของนักเรียน(Tacit Knowledge) มากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้เองกิจกรรมที่ทำให้นักเรียนมีประสบการณ์ตรงจึงสำคัญอย่างมากในการเร้ากุศลให้นักเรียนสนใจใคร่รู้ และรักในคุณค่าที่ได้รับ
ด้วยการตระหนักถึงสิ่งนี้ ผมจึงวางแผนการสอนโดยจัดให้มีกิจกรรมที่นักเรียนได้มีโอกาสออกภาคสนามจิตอาสาช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาระหว่างวันที่ 6 – 8 กุมภาพันธ์ 2550
ในช่วงเวลาดังกล่าว นักเรียนทุกคนร่วมงานได้ดีโดยอาสาเข้าทำงานอย่างต่อเนื่อง เช่น ช่วงเช้าระหว่างรอทีมงานจากโรงเรียนเดินทางมา นักเรียนริเริ่มช่วยทำความสะอาดวัดอย่างแข็งขันที่บริเวณพระอุโบสถที่เต็มไปด้วยขี้นกพิราบ หรือช่วยกันล้างส้วมของวัดทั้ง10ห้องหลังจากที่ได้ใช้ตลอดช่วงที่ใช้วัดเป็นที่พัก จากนั้นจึงแบ่งหน้าที่กันไปช่วยงานซ่อมบ้าน ทำความสะอาดบ้านของชาวบ้าน ทำครัวเลี้ยงทีมงานทั้งหมด พาผู้ป่วยไปโรงพยาบาล เป็นต้น ทุกคนริเริ่มร่วมลงแรงอย่างเต็มที่และน่าประทับใจอย่างมาก
นอกจากนี้ในช่วงเช้าและหัวค่ำของทุกวัน นักเรียนยังได้ทำกิจวัตรเพื่อเรียนรู้ธรรมะผ่านการทำวัตรเช้าและเย็นทุกวัน โดยเป็นการสวดมนต์แปลซึ่งช่วยให้นักเรียนเข้าใจความหมาย และฝึกความอดทน ทั้งนี้พระอาจารย์ที่เป็นเจ้าอาวาสได้เมตตากรุณานำสวดและสนทนาธรรมทุกครั้ง
นักเรียนยังได้เรียนรู้มุมมองทางสังคมโดยผ่านการแลกเปลี่ยนสรุปงานก่อนนอนทุกวัน ประเด็นที่น่าสนใจและช่วงเปิดมุมมองได้แก่ ประเด็นคำถามที่ว่า ทำอย่างไรให้การช่วยเหลือของเรามีความยั่งยืน คือชาวบ้านสานต่อได้เช่น การช่วยทำความสะอาดบ้าน จะมีส่วนให้คนในครอบครัวของพวกเขาดูแลรักษาความสะอาดต่อไปได้อย่างไร เพราะบางครอบครัวก็ขาดหัวหน้าครอบครัว อยู่กันเพียงลุงกับหลานเล็กๆเช่นครอบครัวของเจมส์และกลิ้ง นักเรียนหลายคนร่วมอภิปรายปัญหานี้อย่างตั้งใจด้วยใจที่อยากให้ดอกผลของการช่วยเหลือยังคงชูช่อต่อยอดต่อไปอีก บางคนเสนอให้ไปแนะนำให้คุณครูของเจมส์กับกลิ้งคอยสั่งสอนและดูแลให้เด็กสองคนนี้ฝึกทำงานบ้านดูแลรักษาความสะอาด เป็นต้น
นอกจากนี้นักเรียนยังเรียนรู้ถึงปัญหาสังคมของชาวบ้านอีกด้วย อาทิ การพบว่าชาวบ้านที่ยากจนที่พวกเขาไปช่วยเหลือนั้นไม่ใช่ชาวนา แต่เป็นกรรมกรที่รับจ้างใช้แรงงาน เช่น ลูกคุณยายแรห์ทำงานในโรงทำอิฐ บางคนไปทำงานกวาดถนนที่ตลาดไท บางคนเป็นคนงานโรงงานทำรองเท้า เป็นต้น พวกเขาไม่มีที่นาเป็นของตนเอง ต้องเช่าที่วัดปลูกบ้านอาศัย และทำงานเช้าจรดค่ำ ได้ค่าจ้างไม่เพียงพอที่จะดูแลรักษาผู้ป่วยในบ้าน
นอกจากนี้ นักเรียนยังระบุปัญหาตามที่พวกเขาได้รับฟังจากชาวบ้าน เช่น มอสเล่าเรื่องราวของคุณยายแรห์สะท้อนถึงความยากจนที่ไม่สามารถมีเงินรักษาตาที่เป็นโรคต้อได้ทันท่วงที ทำให้ดวงตาข้างขวาใกล้จะบอดสนิทแล้ว ในขณะที่นักเรียนทั้งหมดได้รับฟังจากนายกอบต.ว่า ในเรื่องการช่วยเหลือชาวบ้านนั้น อบต.เองติดขัดระเบียบกฎเกณฑ์ของอบต.เอง ทำให้ไม่สามารถขยับลงมาช่วยเหลือได้อย่างเต็มที่ สิ่งเหล่านี้กระตุ้นให้นักเรียนตระหนักถึงปัญหาความเท่าเทียมทางสังคม และวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของภาครัฐ เป็นต้น
ประสบการณ์ที่ดีเหล่านี้ได้ช่วยปรับท่าทีการเรียนของนักเรียน กล่าวคือ เมื่อครูนำปัญหาความไม่เท่าเทียม และความเดือดร้อนของชาวบ้านมาเป็นประเด็นอภิปรายเข้ากับเนื้อหาการสอน นักเรียนสามารถเข้าร่วมอภิปรายได้อย่างกว้างขาง โดยระบุตัวอย่างที่สอดคล้องกับประเด็นความเห็นของตนได้ ยิ่งไปกว่านั้น ในกระบวนการแลกเปลี่ยน นักเรียนยังจะได้ค้นพบตนเองว่า ในขณะที่ตนเห็นด้วยกับหลักการเสรีภาพ เสมอภาคและภารดรภาพ แต่กลับเห็นว่า คนงานพม่าในกิจการของตนได้รับค่าจ้าง สวัสดิการ และเสรีภาพต่างๆดีแล้ว หรือบางคนอาจไม่เห็นด้วยหากคนงานพม่าลุกขึ้นมาเรียกร้องให้พวกเขาได้รับค่าจ้างขั้นต่ำเท่าเทียมกับคนงานไทย ด้วยเหตุผลว่าพวกเขาเป็นชาติพม่าไม่ใช่ชาติไทย เป็นต้น
ด้วยกระบวนการแลกเปลี่ยนเช่นนี้ ได้ทำให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้และทำความเข้าใจจากประสบการณ์ของตน จากนั้นเมื่อได้เทียบเคียงเหตุผลที่แลกเปลี่ยนกัน และได้ไตร่ตรองย้อนคิดมากขึ้น นักเรียนบางคนจะเกิดแง่มุมในใจ แง่มุมนี้แหละที่จะกระตุ้นให้พวกเขาเกิดความสนใจที่จะเรียนรู้เพิ่มเติม เช่น มะตูม มอส อาร์ต ภูมิ ธันว์ มักจะมาขอแลกเปลี่ยนกับครูเสมอๆแม้นอกเวลาเรียน เป็นต้น อาการความสนใจนี้ทำให้พวกเขาพาตัวเองไปเรียนโดยไม่ต้องรอการบอกกล่าวหรือจัดการจากครู ตรงกันข้าม เริ่มรู้จักพึ่งตนเองได้ และคิดถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้เพิ่มว่ามีความหมายกับตัวของพวกเขาอย่างยิ่ง
สำหรับสังคมศึกษาแล้ว จิตอาสาจึงเป็นประสบการณ์ที่ขาดเสียมิได้ในการเรียนการสอน กิจกรรมช่วยเหลือไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ล้วนเป็นห้องเรียนแบบใหม่ที่ไม่มีฝาห้องสี่เหลี่ยมมากางกั้น และไม่มีครูมาคอยเป็นผู้บอกกล่าวให้เชื่อตามแล้วรอการทดสอบความรู้ตามที่ถูกบอกมาจากครู ตรงกันข้าม มันคือกิจกรรมการเรียนรู้สังคมจากชุมชนด้วยการลงมือทำการช่วยเหลือจากแรงกายและแรงใจของตนเอง ดอกผลของสิ่งนี้คือ ประสบการณ์ที่จะนำไปสู่การต่อยอดเป็นความเข้าใจ และคุณค่าต่อไป คุณค่าที่สั่งสมในตัวนักเรียนนี้เองที่จะเป็นบ่อเกิดแห่งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและท่าทีในการเรียนรู้และใช้ชีวิตของตนในท้ายที่สุด
ดังนั้น จึงคงไม่เป็นการกล่าวที่เกินเลยว่า ถ้าขาดจิตอาสา มานุษย์และสังคมศึกษาย่อมไม่อาจเป็นเบ้าหลอมที่ดีได้

Tuesday, February 27, 2007

ดวงใจที่ไม่มีใครรู้จัก : ครูอดิเรก




ดวงใจที่ไม่มีใครรู้จัก
อดิเรก สมบัติวงค์

ในบุพพัณหสมัยใกล้สางของปลายเหมันตฤดู แสงสุริยาอ่อน ๆ กำลังแผ่ขยายส่องผ่านม่านหมอกใสบริสุทธิ์ผุดผ่อง ความยะเยือกเย็นหนาวในนภากาศกำลังแผ่ซ่านไปทั่วโลกธาตุกำลังสดชื่นระรื่นรมณีย์ยิ่งนัก เมฆหมอกสีขาวราวปุยนุ่นปกคลุมไปทั่วพื้นพสุธาดังทิพยวิมานบนสรวงสวรรค์ หยาดน้ำค้างประดุจน้ำตาของกาลเวลาค่อย ๆ พรมพราวไปทั่วพื้นปฐพี พระพายพัดโชยโปรยประทิ่นกลิ่นสุคันธชาติของมวลบุปผาหอมหวลไปทั่วนภากาศ

ในเหมันตฤดูเช่นนี้ หลายคนคงนึกถึงที่นอนอันอ่อนนุ่มและผ้าห่มหนา ๆ บางคนคงนึกถึงพระสงฆ์องค์เจ้ากำลังออกรับบิณฑบาต บางคนคงนึกถึงการตระเตรียมข้าวปลาอาหารสำหรับใส่บาตรพระสงฆ์ บางคนคงนึกถึงความสับสนวุ่นวายที่กำลังย่างกรายเข้ามาในชีวิต บางคนจะนึกถึงความดีงามที่จะบำเพ็ญเพียรต่อในฐานะที่เกิดเป็นมนุษย์และอยู่ใต้ร่มเงาของพระพุทธศาสนาที่ให้ความสงบร่มเย็น บางคนคงนึกถึงการอ่านหนังสือดีๆ เล่มหนึ่งบนที่นอนอันอ่อนนุ่นละมุนละไมดังคนรู้ใจที่อยู่ใกล้ชิด บางคนคงนึกถึงการนอนคลุมโปรงสบายๆ ดูดดื่มกับความหอมหวานของกลิ่นไอธรรมชาติที่ขจรขจายไปตามสายลมทั่วสารทิศ บางคนคงนึกถึงเสียงดุเหว่าที่เร่าร้องอยู่บนปลายแมกไม้ใหญ่อยู่เจื้อยแจ้วแล้วบินจากไป บางคนนึกถึงปลาทูสักตัวที่มาประทังชีวิตของตนและสัตว์เลี้ยงภายในบ้าน

ขณะที่ทุกคนต่างก็มีวัฏจักรของชีวิตผ่านวนเวียนเข้ามาในแต่ละวัน ได้มีครูกลุ่มหนึ่งที่เรียกตัวเองว่า กลุ่มจิตอาสา ที่ไม่ยอมหยุดนิ่งปล่อยเวลาอันมีค่าให้สูญหายไปดังสายหมอกที่กำลังสูญหายไปกับสายลม แม้ความห่วงหาอาทรในแสงศศิธรอันอ่อนหวานเย็นซาบซ่านเข้าไปในร่างกายและจิตใจมิอาจบั่นทอนความตั้งใจของพวกเขาได้แต่ประการใด พวกเขาได้ตื่นจากภวังค์แห่งการหลับสนิทประหนึ่งวิสัญญีได้อุทิศร่างกาย จิตใจ และเวลา นำพาตนไปฝึกฝนบนงานจิตอาสา ณ อำเภอเสนา อยุธยาเมืองเดิม
ข้าพเจ้าก็เป็นครูหนุ่มผู้หนึ่งที่มีจิตอาสาอยากจะช่วยเหลือผู้อื่นที่มีความลำบากยากแค้นมากกว่าตน อยากให้เขามีความสุขทั้งร่างกายและจิตใจ จึงอาสาร่วมทีมงานไปกับครูผู้เปี่ยมล้นไปด้วยเมตตาธรรมและอาสาทำในครั้งนี้

เช้าวันนั้น ข้าพเจ้าป่วยเป็นไข้หวัดเนื่องจากอากาศเเปรปรวน แต่ด้วยเจตจำนงอันแน่วแน่ ข้าพเจ้าไม่เคยปรวนแปรพ่ายแพ้ให้กับโรคภัยไข้เจ็บที่กำลังเข้ามารังครวนแต่อย่างใด วินาทีนี้ ยาทิฟฟี่คือเพื่อนสนิทมิตรสหายที่รู้ใจข้าพเจ้ามากที่สุด เมื่อทานเข้าไปก็เกิดอาการง่วงซึม แต่เดชะบุญที่เบาะท้ายรถตู้ว่างเปล่าสำหรับให้นอนพักผ่อนในยามนี้ ข้าพเจ้าจึงเอนกายลงบนเบาอ่อนนุ่ม กระเป๋าที่มีสีดำสำหรับใส่เสื้อผ้าไปเปลี่ยนคือหมอนอันวิเศษที่คอยรองรับศีรษะเหมือนคนรู้ใจที่คอยเอาใจใส่อยู่ใกล้ พอรถลงสะพานหรือตกหลุมคลื่นแต่ละครั้งแทบจะกระเด็นขึ้นลอยกระแทกหลังคารถ มาตื่นขึ้นมาอีกทีปรากฏว่ามาถึงเคหสถานของตาสีและยายลิ้มราวกับฝัน

ภาพที่ปรากฏอยู่ข้างหน้าของข้าพเจ้า เป็นภาพของบ้านไม้เก่าๆ มุงด้วยสังกะสีที่ดารดาษไปด้วยสนิมสีน้ำตาลแก่ๆ เป็นบ้านยกพื้นสูง ๒ ชั้น ๒ ห้อง จำนวนเสา ๙ ต้น และมีบันไดหน้าผุพังใช้การไม่ค่อยได้ ส่วนบันไดด้านข้างก็ผุพังเช่นกัน แต่ยังใช้เดินขึ้นลงได้บ้าง มุขหน้าบ้านมีห้องน้ำชำรุดใช้การไม่ได้ ท่อส้วมที่ก่อขึ้นจากพื้นดินไปชั้น ๒ ของบ้านมีรูแตกขนาดใหญ่เหมือนถูกทุบด้วยค้อนปอนด์ ไม้คานของชานหน้าบ้านหักเอนลงมาด้านล่าง ถุนใต้บ้านเต็มไปด้วยถุงพลาสติกทั้งเก่าและใหม่เป็นจำนวนมาก มองขึ้นไปจากใต้ถุนบ้านเห็นช่องไม้ที่เชื่อมต่อกันไม่สนิทและช่องสำหรับขับถ่ายอาจม ซึ่งมีหลักฐานปรากฏอยู่ตรงช่องนั้น กลิ่นอันไร้สุคันธรสของน้ำครำและน้ำมูตรเน่าฟุ้งไปทั่วอาณาบริเวณ




บนบ้านมีร่างของคุณยายและคุณตาอายุราว ๘๐ ปีกำลังนั่งอยู่นิ่ง ๆ คุณยายเอาห่มสีเขียวปกคลุมสรีระร่างกายเอาไว้เพียงเพื่อบรรเทาความหนาวในยามนี้ ก้มหน้าไม่ยอมพูดจากับใคร ช่วยเหลือตนเองไม่ค่อยได้ บางครั้งมีอาการผวาร้องขึ้นมาทันทีทันใด แต่เสียงนั้นก็แสดงให้เห็นถึงความดีใจที่อยากจะพูดกับพวกเรา นัยน์ตาของข้าพเจ้าได้มองไปที่นัยน์ตาของคุณยายคนนั้น จ้องมองด้วยความสงสารประมาณครู่ใหญ่ แววตาที่เปล่งประกายออกมาบอกให้ข้าพเจ้ารู้ว่า เขาดีใจที่พวกเรามาเยี่ยมและช่วยเยียวยาร่างกาย จิตใจ และที่อยู่อาศัยของเขา ประกอบกับรอยยิ้มที่อยากจะบอกอะไรบางอย่างกับพวกเรา

ส่วนคุณตาที่ไม่ค่อยพูดจาปราศรัยกับใครมานานหลายเพลา ลุกเดินไปมาได้ แต่จะอยู่เฉพาะบริเวณหลังบ้านที่กระดานแนบสนิทกันพอเดินได้สะดวก ขณะที่ข้าพเจ้ากวาดสายดูสภาพความเป็นอยู่ภายในบ้านกับหยากไย่ขาวดำผสมกลมกลืนกันเป็นยวงผูกพันกับพัดลมบนหลังคาบ้าน พื้นที่ของห้องบนบ้านเป็นห้องว่างเปล่าไม่มีสมบัติพัสถานอะไร มีเพียงเครื่องโทรทัศน์ขนาด ๒๑ นิ้วที่เปิดอยู่ แต่ไม่มีภาพ มีเพียงเสียงพอเป็นเพื่อนของคุณตาและคุณยายในบรรยากาศที่เหงาๆ เท่านั้น จานข้าวเก่าๆ คลุกด้วยผัดผัก ๑ ใบ มีช้อนส้อม ๑ คู่วางอยู่บนจาน เสมือนหนึ่งว่ามีคนเอามาวางไว้ให้คุณตาคุณยายได้รับประทานกัน ทราบภายหลังว่าข้าวจานนั้นเป็นข้าวที่ลูกๆ ที่อาศัยอยู่บริเวณนั้นนำมาให้พอประทังชีวิต ดูแล้วช่างน่าอเน็จอนาถใจเสียเหลือเกิน

คุณตาและคุณยายมีลูก ๕ คน บ้านของลูกก็อยู่ติดกัน แต่เหตุไฉน เขาจึงไม่ค่อยเอาใจใส่ดูแลแม้กระทั่งพ่อแม่ผู้บังเกิดเกล้าของตน ทั้งๆ ที่ทุกคนก็อยู่บ้านพร้อมหน้าพร้อมตากัน ขยะมูลฝอยและถุงพลาสติกจากโรงงานย่างปลาดุกลานหน้าบ้านของคุณตาคุณยายที่ถมด้วยดิน ราดด้วยปูนซีเมนต์สูงกว่าบ้านประมาณ ๑ เมตร รวมทั้งน้ำล้างปลาและเครื่องในปลาดุกถูกชำระล้างไหลลงมารวมเป็นน้ำครำอยู่ใต้ถุนบ้านของคุณตาคุณยาย แมลงวันนับหมื่นตัวมากินเศษอาหารเป็นภัตตาคารอันโอชะ ในขณะที่กลิ่นเหม็นฟุ้งไปทั่วอาณาบริเวณบ้าน ซึ่งเป็นภาพที่ทุกคนที่อาศัยอยู่บริเวณนั้นคุ้นชินจนกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา

ขณะที่ข้าพเจ้ายืนคิดอยู่นั้น คณะครูผู้เปี่ยมไปด้วยจิตอาสาไม่ได้นิ่งนอนใจกับภาพบรรยากาศเช่นนั้น กลับมองเห็นขยะเป็นอสุภารมณ์ และมองเป็นสุนทรียภาพ รีบคว้าถุงมือพลาสติกสีส้มคนละ ๑ คู่ พร้อมด้วยถุงพลาสติกสีดำที่ตระเตรียมไปคนละใบ แล้วเก็บขยะและถุงพลาสติกใบแล้วใบเล่าก็ไม่มีวันลดลง มีทั้งขยะเปียกและแห้ง จึงหาทางกำจัดขยะเปียกโดยการฝัง เบื้องต้นหาพื้นที่โล่งบนลานข้างบ้านซึ่งต่ำมาก คิดว่าน่าจะขุดง่าย แต่ให้ตายเหอะพอจอบขุดปักลงไปในดิน ๒ – ๓ หน จอบเกิดอาการท้อแท้ยอมจำนนกับดินที่แข็งราวกับหิน ต้องหักงอลงทันใด จึงหาที่ขุดใหม่
จนได้ที่เหมาะน่าจะขุดง่าย เลยปักจอบขุดลงไป แต่ดินก็แข็งไม่แพ้ไปกว่าหลุมแรก พอขุดลงไปได้ ๑ ฟุต ดินที่แข็งก็เปลี่ยนเป็นชั้นทรายเลยขุดง่าย ขุดลงไปราว ๑.๕ เมตร ชั้นน้ำเริ่มซึมออกมาตามหน้าดิน มดงานไม่ยอมหยุดต่างก็ช่วยขุดเอาขยะจากร่องน้ำมาลงหลุมครั้งแล้วครั้งเล่าอย่างสนุกสนาน มีการพูดคุยกันตลกเฮฮาบ้าง บางทีก็ต้องเอามือเก็บถุงพลาสติกจากร่องน้ำครำ

ขณะที่ลูกสาวของเจ้าของบ้านผู้ทิ้งขยะเหล่านี้กลับยืนดูอย่างเพิกเฉยทอดทิ้งธุระไปแบบมิใช่หน้าที่ ลุงทองหล่อซึ่งเป็นช่างจากพื้นที่อำเภอบางบาลมาช่วยงานพวกเราได้ถามข้าพเจ้าว่า “ครูต้องทำขนาดนี้เชียวหรือ” ข้าพเจ้านึกในใจสักพักแล้วตอบไปแบบเร้ากุศลว่า “ เราทำแล้ว เราได้ขัดเกลาใจตน ทำแล้วสบายใจ ก็ควรจะทำ" ทันใดนั้นลุงทองหล่อก็รีบยกมือทั้ง ๒ ข้างพร้อมกับอนุโมทนาสาธุกับกุศลเจตนาของครูทุกท่าน ข้าพเจ้าก็รีบยกมือสาธุกับคุณลุงไปด้วย แล้วต่างคนต่างก็ทำงานต่อไปด้วยความเบิกบาน

ในขณะที่เก็บขยะปฏิกูลอยู่นั้น หยาดเหงื่อก็ไหลออกมาตามรูขุมขนผสมผสานกับน้ำครำที่กระเซ็นมาเกาะตามมือและเท้าแทบแยกแยะไม่ออกว่า อันไหนคือกลิ่นเหงื่อ อันไหนคือกลิ่นน้ำครำ อันไหนคือกลิ่นขยะ รู้เพียงอย่างเดียวว่า บัดนี้ พวกเราได้ถอดเกราะของความเป็นครูมาเป็นเทศกิจผู้พิทักษ์สิ่งแวดล้อมของโลก

ถุงพลาสติกก็ค่อยๆ หายไปในหลุมขนาดใหญ่ บางส่วนที่แห้งก็ถูกบรรจุลงไปในถุงดำประมาณ ๓๐ ถุงใหญ่ และแล้วความสะอาดโล่งเตียนของบริเวณบ้านของคุณตาสีและคุณยายลิ้มก็กลับคืนสู่ความเป็นบ้านอันน่าอยู่อีกครั้งหนึ่ง

แมลงวันที่ตอมขยะเน่าเสียก็ค่อยๆ บินหายไปทีละตัวสองตัว กลิ่นอันไร้ความหอมหวนกลับมีสุคันธรสชาติ ภาพแห่งขยะแขยงที่เคยปรากฏแก่สายตาของพวกเรามาบัดนี้ได้อันตรธานหายไปแล้ว ความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าของพวกเราก็มลายหายไปพร้อมกับขยะเสมือนหนึ่ง พวกเราได้ขัดเกลาใจตนไปพร้อมกับการขจัดขยะกองมหึมาให้มลายหายไปด้วยสองมือและหนึ่งดวงใจที่พวกเราได้หลอมกันเป็นหนึ่งเดียว ลมหายใจแห่งธรรมชาติก็ได้กลับฟื้นคืนมาอีกครั้งหนึ่ง


ก่อนจะเดินทางกลับ ข้าพเจ้าได้ปลีกตัวไปเยี่ยมคุณตาแกละพร้อมกับนำเสื้อสีเหลืองของในหลวงไปฝากคุณตาด้วย คุณตามีอายุ ๘๖ ปี อาศัยอยู่บ้านเก่าๆ ลำพังเพียงคนเดียว บ้านของคุณตาจะอยู่ห่างจากบ้านของคุณตาสีและคุณยายลิ้มประมาณ ๑๐๐ เมตร ขณะที่ข้าพเจ้าไปถึงได้พบคุณตาแกละหย่อนเท้าทั้ง ๒ ข้างลงมาตามขั้นบันไดเหมือนจะรู้ว่ากำลังจะมีคนมาเยี่ยม ขณะเดียวกันก็มีสุนัข ๓ ตัว คอยอารักขาอยู่ใกล้ชิด

พอข้าพเจ้าปรากฏกายขึ้น คุณตายิ้มแย้มเหมือนมีญาติมาเยี่ยมพร้อมกับทักทายด้วยความเป็นกันเองกับข้าพเจ้า ข้าพเจ้ายืนคุยกับคุณตาอยู่ตรงบันไดหน้าบ้านได้สักพักหนึ่ง คุณตาก็เชิญขึ้นมาบนบ้าน พร้อมกับขังสุนัขไว้ระเบียงหน้าบ้านด้วยกระดานไม้อัดเก่าๆ และไม้ไผ่ ๒ ลำ ตอกตะปูกันเอาไว้ ปกติคุณตาจะไม่ยอมให้ใครขึ้นมาบนบ้าน เพราะเคยมีคนมาขโมยมาลักของ ดังนั้นจึงเลี้ยงสุนัขเอาไว้เพื่อป้องกันขโมยขึ้นบ้าน แต่คุณตาคงคุ้นเคยกับข้าพเจ้าเป็นอย่างดีจึงเชิญข้าพเจ้าขึ้นไปบนบ้าน ข้าพเจ้าไปช่วยหายาทาแก้ปวดแล้วเอามานวดตามลำแข้งของคุณตาที่เมื่อยล้าอยู่หลายวัน ขณะที่ข้าพเจ้านวดไป คุณตาก็จะถามสารทุกข์สุขดิบไปด้วย

ข้าพเจ้ามองเห็นเล็บมือและเล็บเท้าของคุณตายาวและดำมาก ข้าพเจ้าเลยขออนุญาตตัดให้ คุณตาก็ลุกขึ้นไปเอากรรไกรตัดเล็บพร้อมกับยื่นมาทีละข้าง เล็บของคุณตาหนามากและมีดินสีดำติดอยู่ตามซอกของเล็บ ข้าพเจ้าตัดด้วยความประณีตระมัดระวังที่สุด เพราะกลัวเล็บฉีก ข้าพเจ้าถามคุณตาว่า ไม่ได้ตัดเล็บนานหรือยัง คุณตาตอบว่านานแล้ว ตัดเองไม่ค่อยได้ ไม่ค่อยมีแรง ถ้าจะตัดทีก็ต้องค่อยๆ ตัด แต่ตัดแล้วเล็บก็ฉีก จึงไม่อยากตัด จะไม่ให้ฉีกได้ยังไงครับ ก็ในเมื่อเล็บของคุณตายาวและหุ้มหนังปลายเล็บไปราว ๑ ซม. แล้วก็แข็งเสียด้วย มาบัดนี้ ข้าพเจ้าก็รู้สึกว่าตัวเองทำได้แม้กระทั่งแต่งเล็บของคนแก่ได้อีกด้วย แต่ยังไม่ถึงกับมืออาชีพ

จากนั้น ก็ขออนุญาตให้กับคุณตา ตอนแรกคุณตาก็รู้สึกเกรงใจข้าพเจ้ามาก อ้างว่าน้ำเย็นบ้าง เกรงใจบ้าง ข้าพเจ้าบอกกับคุณตาว่า ไม่ต้องเกรงใจคิดเสียว่าเป็นลูกหลานของคุณตาคนหนึ่ง ตอนนี้แหละคุณตาก็รีบลุกขึ้นเปลี่ยนเสื้อผ้า นุ่งกางเกงเลเก่าๆ มานั่งอยู่ตรงบันไดด้านข้างของบ้าน ข้าพเจ้ายกมือไหว้ขอขมาโทษพร้อมกับตักน้ำราดไปบนร่างกายของคุณตาพร้อมกับลูบไล้ด้วยสบู่ตรานกแก้วสีเขียว อาบอยู่ ๓ รอบ จากนั้นก็ใช้ผ้าขนหนูสีเหลือง (พระสงฆ์จากวัดท่านให้คุณตามา) มาเช็ดตัวให้พร้อมกับเปลี่ยนกางเกงเลเป็นผ้าขาวม้าลายสก๊อต คุณตารีบขึ้นไปบนบ้านพร้อมกับนุ่งกางเกงสีกากีและเสื้อกล้ามสีขาวมาใส่ ดูแล้วคุณตาดูหล่อเหลาขึ้นมาก แม่ค้าที่นั่งขายก๋วยเตี๋ยวอยู่หน้าบ้านคอยแซวเป็นระยะ

เมื่ออาบน้ำเสร็จก็ได้ขอซักเสื้อแขนยาว ๒ ตัว และกางเกงเลที่คุณตานุ่งอาบน้ำ ต้องซัก ๔ น้ำแฟ๊บและล้างน้ำเปล่าอีก ๓ น้ำ จึงนำไปตากบนราวระเบียงหน้าบ้าน เสื้อผ้าของคุณตามีฝุ่นเยอะมากต้องซักหลายรอบจึงจะสะอาด เมื่อข้าพเจ้าตากผ้าเสร็จจึงไปนั่งคุยกับคุณตาต่อ


ทุกครั้งที่ข้าพเจ้าได้แวะเวียนไปเยี่ยมคุณตา คุณตาจะดีใจมาก สังเกตได้จากรอยยิ้มการพูดจาถามไถ่ และการขอให้อยู่พูดคุยเป็นเพื่อนนาน ๆ จากการที่พวกเราชาวจิตอาสาลงไปในพื้นที่ทุกครั้ง มักจะมีเรื่องดีๆ ที่ได้เรียนรู้และทำกันอยู่มิขาดสาย มีทั้งงานการฟื้นฟูทางจิตใจ การเยียวยารักษาโรคและการนำตัวส่งโรงพยาบาล การซ่อมแซมที่อยู่อาศัย การสอนวิชาชีพเย็บปักถักร้อย การปลูกพื้นสวนครัว ฯลฯ มีความเหน็ดเหนื่อยเป็นบางครั้ง แต่ทุกอย่างสอนให้เรารู้จักคุณค่าของความเป็นมนุษย์ผู้มีจิตวิญญาณของความใฝ่รู้กอปรด้วยเมตตาจิต เป็นการอบรมบ่มเพาะและขัดเกลาใจตนบนพื้นฐานของงานอาสาสมัคร ความทระนงหลงตัวเองค่อยๆ ลดลงทีละเล็กทีละน้อย ความหยิ่งผยองยโสโอหังว่า ตนมีฐานะเป็นครูผู้สอนหนังสืออันเป็นพันธนาการทางความคิดได้ถูกถอดออกไปด้วย มาบัดนี้พวกเราได้ดำเนินตามรอยวิถีของครูไทยในครั้งอดีตที่มีจิตวิญญาณอุทิศตนเพื่อผู้อื่นปราศจากเงื่อนไขของเงินตราและผลประโยชน์ส่วนตน และทำได้ทุกอย่างบนพื้นฐานความดีงาม เพื่อจรรโลงโลกใบนี้ให้มีแต่ความสงบสุขร่มเย็นตลอดจิรัฏฐิติกาล…

เปลี่ยวเหงาและเดียวดาย : ครูแจ๊ะ










เปลี่ยวเหงาและเดียวดาย
โดย นิมิตร พลเยี่ยม

๑. เปลี่ยวเหงากลางฝูงชน

ก่อนเคารพธงชาติของเช้าวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๕๐ รถตู้สีขาวติดสติ๊กเกอร์ตราพระอาทิตย์ทอแสง สัญลักษณ์โรงเรียนรุ่งอรุณเป็นพาหนะให้คณะครูหลายชีวิตที่เปี่ยมด้วยจิตอาสาร่วมโดยสาร มีครูอ้อฝ่ายประชาสัมพันธ์ และครูสมชายฝ่ายอาคารสถานที่ เป็นหัวหน้าทีม มุ่งหน้าสู่กรุงเก่าอดีตราชธานีที่รุ่งเรืองมาหลายร้อยปี
‘จิตอาสา’ แน่นอนคำนี้ไม่ได้มีความหมายที่ข้องแวะกับการท่องเที่ยวแม้แต่น้อย ดังนั้นเป้าหมายของรถยนต์คันนี้จึงอยู่ที่ชุมชนหลังวัดบ้านแพน อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แทนที่จะเป็นโบราณสถานกลางเกาะตามโปรแกรมของผู้ชื่นชอบและใฝ่ศึกษาประวัติศาสตร์

เมื่อเข้าเขตชุมชน ถวิล ชายหนุ่มผิวคล้ำในชุดซาฟารีสีเข้ม ทำหน้าที่สารถีบังคับพวง มาลัยและปรับเส้นทางให้รถวิ่งลัดเลาะไปบนถนนแคบๆตามแนวกำแพงด้านนอกของวัดบ้านแพน แม้ระยะทางไม่ไกลมากแต่ก็เพียงพอที่จะให้ผู้โดยสารสังเกตเห็นความต่างของแนวกำแพงช่วงบนมีสีขาวสะอาดช่วงล่างมีรอยคล้ำ ซึ่งสามารถแปลความหมายได้ว่านั่นคือสัญลักษณ์ ที่ธรรมชาติทิ้งไว้เพื่อแจ้งบอกถึงระดับความตื้นลึกของอุทกภัยปีนี้ สัญลักษณ์เช่นนี้มีปรากฏตามอาคารบ้านเรือนและต้นไม้

ทันทีที่ล้อรถหยุดหมุน ผู้โดยสารทยอยก้าวลงจากรถ ผมสังเกตลักษณะทางภูมิศาสตร์ก็พอจะเดาได้ว่าชุมชนแห่งนี้ตั้งอยู่ในที่ลุ่มและน่าจะเป็นคลองน้ำมาก่อน มีต้นสะตือขนาดใหญ่ขึ้นเรียงรายเป็นแนวยาวอย่างมีระเบียบทิ้งระยะถี่ห่างที่เหมาะสมราวกับมีผู้จงใจกระทำให้เกิดความงดงาม
“ต้นสะตือเหล่านี้ ตั้งแต่ลุงจำความได้ก็เห็นมันโตเท่านี้แล้ว เมื่อก่อนอยู่ริมคลอง ตอนนี้คลองหายไปเพราะคนปลูกบ้านจนกลายเป็นชุมชนนี้”
ลุงแกละ เจ้าของบ้านอันเป็นเป้าหมายในการลงพื้นที่ครั้งนี้ บอกเล่าความเป็นมาซึ่งก็ไม่ต่างจากสมมติฐานที่ผมตั้งไว้มากนัก คือ พวกเขาสร้างที่อาศัยขวางทางเดินของน้ำ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องปกติเมื่อถึงฤดูน้ำหลากของแต่ละปี บ้านเรือนที่เป็นสมาชิกของชุมชนแห่งนี้จะจมอยู่ใต้น้ำ ซึ่งจะตื้นหรือลึกมากน้อยขึ้นอยู่กับสภาพที่ตั้งของแต่ละหลัง เกินมาตรฐานปกติก็เพียงเพราะปีนี้น้ำหลากมามากกว่าปีก่อนๆ จนทำให้บ้านบางหลังโผล่เหนือน้ำเฉพาะส่วนที่เป็นหลังคา มีหลายหลังที่ผ่านอายุการใช้งานมานานเมื่อจมอยู่ใต้น้ำเกือบ ๒ เดือนก็เกิดการผุกร่อนเสียหาย บ้านลุงแกละเป็นอีกหลังที่จะต้องได้รับการบูรณะเป็นกรณีเร่งด่วน





ลุงแกละชายวัยไม้ใกล้ฝั่ง อยู่คนเดียวมาหลายสิบปีตั้งแต่ภรรยาเสียชีวิต ซึ่งลุงเองก็มีความจำรางเลือนเต็มทีกับเดือนปีที่แน่นอน อดีตเคยมีที่ทางทำมาหากินก็ถูกญาติฝ่ายภรรยานำไปขายแล้วเจียดเงินบางส่วนให้ลุงปลูกบ้านบนผืนดินของวัดบ้านแพนพอได้อาศัยหลับนอนในช่วงชีวิตที่เหลืออยู่บนโลกนี้ โดยลุงมีเงินสงเคราะห์คนชราจากประชาสงเคราะห์จังหวัด จำนวน ๓๐๐ บาท เป็นมาตรฐานตายตัวในการประทังชีวิตให้ผ่านไปได้แต่ละเดือน

เงินจำนวนนี้ หมายถึง อำนาจการจับจ่ายสินค้าเพื่อบริโภคซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่เท่านั้น ส่วนอีก ๓ ปัจจัยแทบจะไม่ต้องเอ่ยถึง กล่าวโดยย่อ คือ ลุงแกละสามารถซื้อปลาทูได้วันละ ๑ ตัว ในขณะเดียวกันก็ต้องใช้เทคนิคเชิงปริมาณเข้าช่วยด้วยการคลุกใส่ข้าวให้มากพอที่จะเผื่อแผ่ไปถึงเพื่อนต่างสปีชีส์ (species) อีก ๓-๔ ตัว ที่คอยส่งเสียงเห่าหอนขับไล่ความเงียบจากจิตใจได้ในห้วงยามที่เพื่อนเผ่าพันธุ์เดียวกันหมางเมินเหินห่าง

๓๐๐ บาท จึงถูกใช้อย่างจำกัดเฉพาะในสิ่งที่ขาดไม่ได้เท่านั้น และไม่มีที่ว่างให้กับความฟุ่มเฟือยแม้แต่บาทเดียว ปลาทูจึงเป็นอาหารราคาถูกที่สุดที่ลุงแกละพอจะมีปัญญาจ่าย แม้บางครั้งกลิ่นก๋วยเตี๋ยวจากร้าน (เพิง) หน้าบ้านจะโชยมาก็ทำได้แค่แอบกลืนน้ำลาย เพราะมันเป็นของแพง เป็นของฟุ่มเฟือย เป็นของต้องห้าม ลุงจะกินตามใจปรารถนาของตัวเองไม่ได้ พูดให้เข้าใจง่ายคือมีเพียงปลาทูเท่านั้นที่สอดคล้องกับค่าครองชีพมากที่สุด

ลำพังการประคองให้ชีวิตวัย ๘๗ ปี ให้ผ่านพ้นไปแต่ละวันก็นับว่าเป็นเรื่องใหญ่พออยู่แล้วสำหรับลุงแกละ สภาพของหลังคาบ้านถูกจำกัดให้ใช้ประโยชน์เฉพาะกันแดด ส่วนฝนกันไม่ได้มาหลายขวบปีแล้ว ซ้ำร้ายการซ่อมแซมยังต้องถูกจำกัดทั้งโดยสภาพร่างกายและงบประมาณ

ผมไปที่นั่นพร้อมกับกลุ่มครูจิตอาสา เพื่อรับภาระที่ไม่อยู่ในวิสัยของผู้เฒ่าจะจัดการเองได้ ด้วยจิตใจที่อยากสงเคราะห์เพื่อนมนุษย์คนหนึ่งให้ได้นอนหลับสบายในช่วงเวลาที่เหลือนับแต่นี้ โดยไม่ต้องสะดุ้งตื่นยามค่ำคืนเพื่อหลบฝนตามซอกมุมที่น้ำหยดน้อยที่สุดด้วยความทุกข์ทรมาน เหมือนช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา

ทุกข์... ใช่ คนเราแบกทุกข์มาตั้งแต่เกิดจริงๆ อาจจะกล่าวได้ว่าทุกข์ คือ เพื่อนร่วมน้ำสาบานของชีวิตทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นทุกข์จากการเจ็บไข้ได้ป่วย ทุกข์จากการหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ทุกข์เพราะกินไม่ได้ถ่ายไม่ออก ทุกข์เพราะอยากได้อยากมีอยากเป็น ทุกข์จิปาถะ ยิ่งชีวิตล่วงเลยสู่วัยดึกความทุกข์ยิ่งตอกย้ำบาดลึกเข้าไปในจิตวิญญาณ แค่มองไปเบื้องหน้าเห็นเงามืดหลังม่านดำบนเวทีของความตายก็ชวนให้หวั่นหวาดกับสิ่งที่รออยู่หลังม่านอันมืดดำนั้น

จะทำอย่างไรได้ในเมื่อทุกข์ คือ สัจธรรมที่ทุกรูปทุกนามซึ่งยังเวียนว่ายในห้วงวัฏสงสารปฏิเสธไม่ได้ หลีกก็ไม่พ้น
แต่ถ้าจะลดปริมาณความเข้มข้นของทุกข์ให้จางลงบ้างก็ใช่ว่าจะปิดโอกาสเสียทีเดียว มันขึ้นอยู่กับว่าสังคมที่เราเป็นสมาชิกมีสภาพเช่นใด เป็นสังคมที่อบอุ่นหรือเปลี่ยวเหงา เอื้ออาทรหรือเห็นแก่ตัว เป็นกัลยาณมิตรหรือเอาตัวรอด สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นเงื่อนไขที่จะอำนวยให้เราอดทนต่อทุกข์และก้าวข้ามห้วงทิวาราตรีบนโลกนี้ไปได้ง่ายดายหรือยากลำบาก…

กว่าคณะครูจิตอาสาจะได้ลงมือทำงานเวลาก็ล่วงเลยเกือบพระฉันเพล เพราะต้องรอวัสดุอุปกรณ์จากทางร้านที่มาส่งช้ากว่ากำหนด กระนั้นก็ไม่เป็นอุปสรรคใดๆ ทุกคนล้วนพกพาจิตที่มุ่งมั่นและชัดเจนในเป้าหมายจึงไม่จำต้องแบ่งหน้าที่หรือตั้งกฎเกณฑ์ตายตัว ต่างช่วยกันจับช่วยกันแบกหามตามที่เห็นว่าสามารถทำได้ บรรยากาศการทำงานถูกปกคลุมด้วยความครื้นเครงจนไม่มีพื้นที่ให้ความกังวลใจใดๆ เข้ามาครอบครอง

กระเบื้องแตกๆ สังกะสีผุๆ ถูกแทนที่ด้วยวัสดุชิ้นใหม่ พวกเราทำงานท่ามกลางสายตาหลายสิบคู่ของคนในชุมชนที่มามุงดูโดยมีเจ้าของสายตาหลายคู่เข้ามามีบทบาทร่วมในกิจกรรมครั้งนี้ด้วย บ้างก็ช่วยเก็บกวาดพื้น บ้างก็ติดต่อประสานงานกับทางร้านวัสดุก่อสร้าง สรุปว่างานจบลงด้วยฝีมือของคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่เคยรู้จักมักคุ้นกับลุงแกละมาก่อน โดยมีกลุ่มคนที่สนิทสนมกับลุงแกละสมัครใจเป็นกองเชียร์และช่วยงาน

ผมก็ไม่กล้าคิดไปถึงว่าคนเหล่านี้เป็นลูกหลานของบรรพชนผู้ต่อสู้กับอริราชศัตรูปกป้องกรุงศรีอยุธยา หลั่งเลือดชโลมกายพลีชีพสังเวยแผ่นดินเพื่อรักษาบ้านเมืองไว้ มีหรือพวกเขาจะกล้าเฉยเมยกับความทุกข์ร้อนของคนคุ้นเคยใกล้ตัว ปล่อยให้ฝ่าวิบากตามยถากรรมอย่างไม่มีเยื่อใย
อย่างน้อยวันนี้...อยุธยายังไม่สิ้นคนดี

พวกเรามาที่นี่เพียงเพราะต้องการให้คนแก่คนหนึ่งนอนหลับเต็มตาได้ทุกฤดูกาล ต้องการแบ่งเบาความทุกข์ของคนแก่คนหนึ่งให้ลดความเข้มข้นลงบ้าง และต้องการให้คนแก่คนหนึ่งดำรงอยู่ได้ในสภาพที่สามารถก้าวผ่านวันคืนที่เหลือได้ง่ายขึ้น โดยพวกเราไม่ได้หวังสิ่งใดๆตอบแทน..แม้แต่คำขอบคุณ รอยยิ้มและแววตาที่เปี่ยมด้วยความสุขของลุงแกละเป็นรางวัลมากพอที่จะจ่ายค่าแรงครั้งนี้ ยิ่งได้ยินเสียงหัวเราะที่คนละแวกนั้นไม่ได้ยินมานานแล้วก็เท่ากับว่าเราได้โบนัสก้อนโตมาช่วยขับไล่ความเหน็ดเหนื่อยทางกายให้หายไปได้ รวมทั้งความอ่อนล้าทางจิตใจที่ได้สัมผัสสัจธรรมชีวิตที่ฉายผ่านม่านตาของลุงแกละ ใช่ มันคือความเงียบเหงาที่ต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวกลางชุมชน มีเพียงสุนัขคอยเป็นเพื่อนใกล้ชิด ความอ้างว้างเดียวดายไร้ญาติขาดมิตรช่างโหดร้ายกับลุงมากกว่าการตื่นขึ้นมาหลบฝนกลางดึกหลายเท่านัก


๒. เดียวดายใต้ถุนเรือน

ชีวิตของลุงแกละเป็นภาพเปรียบเทียบที่ฉายทาบทับกับหญิงชราคนหนึ่งซึ่งนั่งเดียวดายใต้ถุนบ้านริมฝั่งแม่น้ำน้อย อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จนแทบจะเป็นเนื้อเดียวกัน... ป้าสำแร คือ หญิงชราผู้มีพระอาทิตย์เป็นเพียงเครื่องมือบอกว่ากลางวันหรือกลางคืน นอกจากนี้แล้วก็ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียใดๆ กับการหมุนรอบตัวเอง ๑ รอบของโลก เพราะการก้าวข้ามเวลา ๒๔ ชั่วโมงของเธอถูกจำกัดเพียงการอยู่บนบ้านและใต้ถุนบ้านอย่างละครึ่ง

ชีวิตจำนวนเท่ากับโลกวิ่งวนพระอาทิตย์ ๘๑ รอบทำให้เห็นเรือนร่างของเธอเต็มไปด้วยร่องรอยที่ถูกกาลเวลากัดเซาะ เหลือเรี่ยวแรงพอได้ปีนขึ้นลงบันไดทุกเช้าเย็นอย่างทุลักทุเล เหลือความทรงจำกะท่อนกะแท่นไว้สื่อสารเรื่องราว ส่วนสภาพการมองเห็นและการได้ยินนับว่าเลือนรางแผ่วเบา แค่พอได้จดจำใบหน้า ได้ฟังเสียงของลูกสาวผู้ห่วงหาอาทรคอยป้อนข้าวป้อนน้ำและอุ้มลงสู่สายธารยามเย็น

ชีวิตของป้าสำแรวันนี้ คงความหมายที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง จากใครอีกหลายคนที่นอนรอวันพรุ่งนี้เพื่อเซ็นสัญญาทางธุรกิจนับร้อยนับพันล้าน แต่เธอเพียงนอนรอให้พระอาทิตย์ขึ้นเพื่อจะได้ลงไปนั่งใต้ถุนบ้านและนั่งรอให้พระอาทิตย์ตกเพื่อจะได้ขึ้นไปบนบ้าน วันเวลาของเธอทำได้เท่านี้...จริงๆ...



พวกเราชาวรุ่งอรุณมุ่งหน้ามาที่บ้านป้าสำแร ด้วยจุดประสงค์เช่นเดียวกับบ้านลุงแกละ จะต่างบ้างก็เพียงทีมงานที่สลับสับเปลี่ยนกำลังพล หัวหน้าฝ่ายช่างยังคงเป็นครูสมชาย ฝ่ายอาคารสถานที่ มีครูผู้หญิงจากฝั่งอนุบาลและประถมอีกหลายคนมารับงานตระเวนพื้นที่ชนบทเพื่อเยี่ยมเยียนเด็กๆ และคนชราตามบัญชีรายชื่อของฝ่ายสำรวจ

เป้าหมายคือแบ่งเบาความทุกข์แบ่งปันความสุข โดยมีจิตอาสา จิตที่มีความงดงามไปมอบให้ผ่านเนื้องานทางวัตถุและการกระทำอย่างคุณธรรมน้ำมิตร ด้วยความยึดมั่นศรัทธาว่าความดีงามเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการอยู่ร่วมกันของคนในสังคม จะแยกแยะว่าใครเมืองใครชนบทไม่ได้ หรือใครรวยใครจนก็ยิ่งไม่ได้ แค่มองหน้ากันได้อย่างอาทรไม่มีความหวาดระแวงมาเจือปนก็น่าจะเพียงพอ…

บ้าน..มีนัยบอกว่าใครบางคนต้องใช้เวลาเกือบทั้งชีวิตเพื่อให้ตัวเองมีที่อยู่ที่กิน กระทั่งมีที่ไว้นอนตาย
บ้าน..ถ้าใช้นิยามศัพท์เฉพาะว่าเป็นที่หลับนอนเพื่อรอเวลาให้พระอาทิตย์ขึ้นก็คงพอจะเอ่ยอ้างได้บ้างสำหรับที่อยู่ของป้าสำแร แต่ถ้าล้อมกรอบความหมายดั่งคฤหาสน์ของผู้มีอันจะกินแล้วไซร้ ที่อยู่ของป้าสำแร คงอยู่ห่างจากความหมายนี้ไกลโข
บ้านของป้าสำแรเป็นเพียงกระต๊อบโรงนา ยกตัวสูงหนีน้ำด้วยเสาขนาด ๕ นิ้ว ใช้สังกะสีเป็นหลังคาและฝากั้นพอคุ้มแดดคุ้มฝน บนบ้านนอกจากที่นอนหมอนมุ้งสมบัติอื่นก็นับชิ้นได้ การจมอยู่ใต้น้ำแรมเดือนทำให้เสาที่ผ่านการใช้งานมาหลายสิบปีทรุดเอียงและแตกร้าวเผยให้เห็นเหล็กเส้นชัดเจน มันเป็นลางบอกเตือนให้หญิงชราและคนรอบข้างรู้ว่าอันตรายใกล้จะมาถึงแล้ว

ที่ดิน..การถือครองที่ดินซึ่งในอดีตมีกฎเกณฑ์ตามชั้นยศในระบบศักดินาฐานันดร แต่ปัจจุบันเปลี่ยนมาถือสิทธิยึดครองได้อย่างเสรีตามอำนาจเงินตราเมื่อระบบทุนนิยมเข้าครอบงำ
ที่ดิน..เมื่อไม่มีทั้งยศถาบรรดาศักดิ์และทรัพย์สินเงินทองพอที่จะเข้าครอบครองสักผืน ป้าสำแรจำต้องเช่าที่ดินของวัดอนงคาราม เพื่อปลูกสิ่งที่เรียกว่าบ้านตามความหมายที่เข้าใจของคนทั่วไปเพื่อให้มีที่หลับนอน โดยจ่ายเงินค่าเช่าเป็นรายปีเช่นเดียวกับคนส่วนใหญ่ในละแวกนั้น ปริมาณมากน้อยกว้างยาวของพื้นที่จะเป็นตัวกำหนดราคาค่าเช่า

๓๐๐ บาทต่อปี สำหรับผู้หญิงที่มีเรี่ยวแรงเพียงขึ้นลงบันไดนับว่าเป็นเรื่องใหญ่และเกินกำลังจะหามาได้ จึงเป็นภาระของลูกสาววัย ๕๐ ที่มีรายรับจากการทำงานปั้นอิฐวันละ ๑๓๕ บาท เข้ามาแบกรับค่าใช้จ่ายแทนบุพการี ส่วนการซ่อมแซมบ้านเพื่อให้มั่นคงปลอดภัยพวกเราชาวชุมชนรุ่งอรุณรับทำหน้าที่นี้…

ต้องยอมรับว่าจิตวิญญาณของผมยังเป็นปุถุชนที่เต็มเปี่ยมด้วยกิเลส บางวันทำงานด้วยอาการท้อแท้ตามหน้าที่และความเคยชิน บางวันก็เอาเป็นเอาตายแทบไม่ลืมหูลืมตา แต่กับการที่ได้มีโอกาสช่วยคนแก่คนหนึ่งให้ได้มีที่อยู่อาศัยมั่นคงแข็งแรง ความรู้สึกกลับอยู่เหนือความเคยชิน อยู่นอกกรอบกติกาของหน้าที่ ทุกครั้งที่จอบกระทบปักลงพื้นขุดดินขึ้นมาให้เป็นหลุมตามมาตรฐานที่ฝ่ายช่างกำหนด วิญญาณของเรือจ้างที่วางไม้พายชั่วคราวเพื่อมาจับจอบเสียม ยังรู้สึกเหน็ดเหนื่อยเช่นทุกครั้งที่ออกแรงมากเกินปกติ ยังรู้สึกถึงความร้อนของเปลวแดดในวันที่ท้องนภาเกลี้ยงเกลาไร้เงาเมฆ แต่ความท้อถอยกลับไม่ย่างกรายปรากฏ

“เป่านกหวีดอยู่โรงเรียนยังเหนื่อยกว่านี้เลย” คำพูดทีเล่นทีจริงของครูตู่ ครูพละที่วันนี้แขวนนกหวีดมาจับค้อนตีตะปูเอ่ยขึ้นเพื่อสร้างบรรยากาศกลางไอแดด ถึงกระนั้นยังมีเสียงเปล่าลมออกจากปากอยู่บ่อยๆ ซึ่งแน่นอนไม่ใช่ภาวะความเคยชินกับนกหวีดจนติดเป็นนิสัย

เสียงเย้าแหย่ของกลุ่มจิตอาสาอย่างสนิทสนมคุ้นเคยมีอยู่ตลอดเวลาบ่งชี้ให้เห็นถึงสภาวะการส่งจิตเชื่อมสายใยอย่างแน่นแฟ้น ”เรียกพี่… เรียกน้อง” ได้สนิทปาก ทั้งที่จริงแล้วพวกเราก็เคยประสานงานร่วมกิจกรรมกันอยู่บ่อยๆในองค์กร ซึ่งก็ต่างทุ่มเทบริหารจัดการตามศักยภาพของตนเพื่อให้ภาระหน้าที่เกิดประสิทธิภาพสูงสุด แต่การยกมือไหว้ ส่งยิ้มทักทายกลับไม่เพียงพอที่จะก่อให้เกิดความอบอุ่นได้เท่ากับภารกิจพิเศษนี้

นับเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ ชีวิตที่ถูกกดทับด้วยหน้าที่บางครั้งอาจจะทำให้ต้องสำรวมเกินเหตุ ครั้นหลุดกรอบกรงที่อุปาทานกักขังพลันเริงร่าอิสระ ทุกขั้นตอนเคลื่อนไปอย่างราบรื่นเบิกบานจนเปิดพื้นที่อันอุดมสมบูรณ์เหมาะสมกับการไถหว่านพืชพันธุ์แห่งความทรงจำที่ดีให้งอกงามเพื่อเสริมสร้างปัญญาแห่งการเรียนรู้ร่วมกันในวันหน้า…

ที่แท้ปัญญาหาใช่เกิดเพราะความหนักเบาของเนื้องาน อยู่กลางแดดหรือห้องปรับอากาศ จิตอิสระต่างหากเป็นพรอันประเสริฐที่สวรรค์ประทานมา เพื่อให้มนุษย์มีปัญญานำไปใช้อะไรได้สารพัด การมุงหลังคาบ้านลุงแกละและเชื่อมต่อขื่อคานบ้านป้าสำแร ช่วยเสริมสร้างสายสัมพันธ์เชื่อมใจของพวกเราได้อย่างมีประสิทธิภาพ นับเป็นพฤติกรรมเชิงบวกที่อยู่นอกเหนือสมมติฐานของคนที่มองแต่เป้าหมายงานเป็นที่ตั้ง อย่างน้อยผมเป็นคนหนึ่งที่ไม่กล้าคิดถึงเรื่องอย่างนี้
ใช่ การมุงหลังคายกเสาบ้านทำให้ผมมีโอกาสได้ยกระดับปัญญาขึ้นมาได้บ้างจริงๆ..

คนเรารู้จักแต่การดูแลเรื่องภายนอกจนหลงลืมที่จะศึกษาภายใน มุ่งแต่จะแสวงหาสิ่งภายนอก รู้จักปล่อยนกปล่อยปลาแต่กับเพื่อนมนุษย์ด้วยกันกลับเว้นวรรคออกห่างจนเชื่อมต่อไม่ถึง ยึดถือครอบครองสรรพสิ่งจนลืมคนรอบข้าง กระทั่งลืมความชั่วคราวของชีวิต สุดท้ายการมีชีวิตชั่วคราวก็แห้งแล้งไร้ความหมาย.. ไร้ปัญญา บอกตามตรง รู้สึกดีใจที่ผมยังไม่สายเกินไปที่เกาะกลุ่มจิตอาสาขบวนสุดท้ายได้ทัน…

ภาพเวิ้งว้างของท้องทุ่งอันเขียวขจี ถูกทิ้งห่างออกไปตามอัตราเร่งของรถยนต์ขากลับ แม้จะเป็นภาพแทนค่าของความอุดมสมบูรณ์แต่ก็เป็นจิตรกรรมที่ชี้ชวนให้ความรู้สึกเปลี่ยวเหงามาเข้ายึดพื้นที่ในจิตใจได้ไม่น้อย “เมื่อไหร่จะมาอีก.. เมื่อไหร่จะมาอีก...” คำถามซ้ำแล้วซ้ำอีกของชายหญิงคู่นั้น ยังดังกึกก้องอยู่ในโสตประสาท แม้เขาและเธอจะอยู่ต่างสถานที่ กลับเอ่ยถามคำเดียวกัน เป็นคำถามสั้นๆ ง่ายๆ แต่ใช่ว่าจะตอบได้ตามแบบที่เคยชินหรือขอไปที ในเมื่อดวงตาของผู้ถามฉายแววจริงจังและอยากได้ยินคำตอบที่จริงใจ ดวงตาทั้งสองคู่จะหม่นหมองแค่ไหนถ้าได้ยินคำตอบที่น่าผิดหวัง

“ครับ...ผมจะพยายามมาเยี่ยมลุงป้าอีกถ้ามีโอกาส...” แม้จะไม่ได้เอ่ยตอบออกมาดังๆ แต่ผมจะเก็บคำตอบนี้ให้ก้องอยู่ในความทรงจำ
ลาก่อน...ลุงป้าผู้เปลี่ยวเหงาเดียวดาย...